Latest

“ขาดเลือด-ตายกะทันหัน-รอด-ล้มเหลว” สูตรของคนรุ่นกินดี-อยู่ดี-ขี้เกียจ

เรียน คุณหมอสันต์
ดีใจมากที่หาช่องทางติดต่อคุณหมอได้ เพราะอ่านในบล๊อกก็หาทางโพสต์ไม่ได้ พยายามไล่หาเรื่องที่คล้ายๆ กัน ก็ยังไม่เจอซะทีเดียว เจอเรื่อง โรคหัวใจระดับที่หมดหนทางไปต่อ (http://visitdrsant.blogspot.com/2016/02/blog-post.html) แต่ก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า กรณีสามีเราไม่น่าจะขนาดนั้นนะ พอดีได้อีเมลล์จากเพจใน fb ค่ะ คือเรื่องด้านล่างนี้รบกวนขอคำแนะนำว่าที่ผ่านมามาถูกทางหรือยัง

เริ่มเรื่องเลยนะคะ สามีของดิฉัน (อายุ 50 ปี) เล่นแบตนัดเปิดสนาม (เมื่อสิงหาคมปี 59) หลังจากที่หยุดเล่นไปนานจนเกิดอาการเจ็บหน้าอก ที่เราทั้งคู่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออาการของหัวใจขาดเลือด มีอาการตั้งแต่ทุ่มกว่าๆ นอนหลับๆ ตื่นๆ ไปหาหมออีกทีตอนเก้าโมงกว่าๆ และหมอก็ส่งไป รพ. ศิริราช เพราะตรวจพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลังจากถึงมือหมอ หมอให้เซนต์ยินยอมในการฉีดสี (น่าจะรักษาเสร็จเที่ยงวันพอดีค่ะ) หลังการรักษาหมอให้ไปดูคลิป วินาทีนั้น ดิฉันไม่รู้จะขอบคุณอะไร เข้าใจเลยว่าความเป็นกะความตายมันกั้นด้วยเส้นด้าย เพราะเส้นเลือดที่ขั้วหัวใจตัน 100% เป็นเส้นเลือดเข้าหัวใจห้องซ้าย หลังจากใส่ขดลวดเคลือบยา เลือดก็ไหลผ่านสะดวก พยาบาลได้มาบอกทีหลังว่า เป็นระหว่างที่ดูดก้อนเลือด (plaque) ออกมา สามีหมดสติตั้งปั๊มหัวใจด้วยค่ะ อาจเรียกว่าเฉียดตายก็น่าจะได้

ผลจากการทำ echo หลังการใส่ขดลวด พบว่าหัวใจในส่วนที่ไม่ได้รับเลือดมีประมาณ 40% หมอให้กินยาแอสไพริน กะยาอีกตัวชื่อ apolets ต่อเนื่อง 1 ปี มียา miracid 1 เม็ดก่อนอาหารเช้า และยาลดไขมันก่อนนอนอีก 1 เม็ดค่ะ เคยได้รับยาอะนาลาพิล กับอีกตัวเพื่อขยายหลอดเลือด แต่สามีกินแล้วความดันต่ำ หมอเลยให้ลดยาลงวันเว้นวัน แต่กินไปได้สามเดือนอาการไอก็ตามมา หมอเลยให้หยุดหมดค่ะ

ส่วนเรื่องอาหารก็ปรับให้กินผักเยอะมากขึ้น กินผลไม้ ลดขนม ของทอด (แทบเรียกว่าไม่ได้กินเลย) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาขอร้องให้แกออกกำลังให้ได้ทุกวัน 20-30 นาทีโดยการวิ่งบ้าง เดินบ้าง ก่อนนอนก็ชวนเจริญสติ (เน้นการเคลื่อนไหว ตามแนวหลวงพ่อเทียน)

ภูมิหลังของสามีดิฉัน คอเลสเตอรอลอยู่ในช่วง 250 ไตรกลีเซอไรด์สูงราว 200 จำได้ว่าบางปีขึ้นไปเกือบ 300 แต่ลดลงบ้างหากออกกำลังแต่ไม่เคยต่ำกว่าร้อย HDL น้อย LDL เกินจากค่ามาตรฐาน (จำเลขไม่ได้แน่นอนค่ะ) มีการตรวจสุขภาพทุกปี ตัวเลขเยอะๆ เท่านั้นเป็นมาเป็นสิบปีแล้วค่ะ แต่สามีบอกว่าหมอไม่ว่าไร  ไม่เคยกินยา ปกติเป็นคนที่ดูแข็งแรง เป็นนักกีฬา หลังๆ เล่นแบตน้อยลง เพราะดิฉันชวนมาปั่นจักรยาน เพราะคิดว่าแบตไม่เหมาะกะสูงวัยค่ะ

พอดีเพิ่งไปทำ echo ที่ รพ เอกชน (เกี่ยวเนื่องกับการทำประกันชีวิต) เลยได้ผลมา หมอที่ตรวจอธิบายว่า หัวใจบีบได้ 48% (เราก็ดันจำค่าหลังจากใส่ขดลวดไม่ได้ว่าตอนนั้นเท่าไหร่) และผนังหัวใจด้านล่างซ้ายหนา หมอบอกว่ามันเกิด q wave ค่ะ อ้อ อีกสองเดือนก็ถึงเวลาไปตามนัดหมอที่ศิริราชเพื่อติดตามผล มีอีกนิดค่ะ ผลเลือดของ คอเลสเตอรอล =104 ไตรกลีเซอไรด์ = 83 HDL-c = 46 (ไม่แน่ใจว่าผลจากยาหรืออาหาร)

จากข้างต้นทั้งหมด ดิฉันเลยจะขอเรียนปรึกษาเรื่องของโภชนาการและการปฏิบัติตัวนี่มาถูกทางแล้วใช่ไหมคะ คือเน้นผัก จริงๆ อยากให้งดเนื้อสัตว์ แต่สามียังขอบ้างนิดหน่อย ก็ยังมีหมูอบ ไก่อบ อยู่บ้าง ผลไม้ที่กากใยเยอะ กาแฟดำ หรือกาแฟใส่นมไขมันต่ำ ออกกำลังกายทุกวันหรืออย่างน้อย 5 วัน และลดเครียดให้น้อยลง อาชีพที่ทำคืออาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยค่ะ ทั้งวิจัยและสอนหนังสือ

แต่ค่าความดันเลือดจะอยู่ในช่วง 60-100 บางที่ ตัวบนก็ 95 หน่ะค่ะ แบบนี้มันเกี่ยวเนื่องจากการทำงานของหัวใจที่เปลี่ยนไปใช่ไหมคะ แล้วเราควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง เท่าที่ผ่านมาไม่มีอาการวูบนะคะ เพราะพยายามบอกว่าอย่าเปลี่ยนท่าอะไรที่เร็วมากๆ เกินไป (ก่อนหน้าเข้า รพ ความดันปกติค่ะ)

ขอบพระคุณคุณหมอมากๆ ค่ะ

ปล. กำลังเคลียร์งานเพื่อจะสมัครเข้าโครงการ RD4 ค่ะ

…………………………………………….

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า ผมวินิจฉัยทางไปรษณีย์ว่าอาจารย์ผู้สามีของคุณเป็นโรคต่างๆตามลำดับดังนี้

1. เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (IHD)แต่ไม่มีอาการให้เห็น
2. แล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI)
3. แต่วินิจฉัยตัวเองไม่ได้จึงปล่อยทิ้งไว้ข้ามคือ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง จนเกิดหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน แต่ก็รอดตาย (abortive cardiac arrest) มาได้เพราะฝีมือหมอที่โรงพยาบาล
4. แล้วเหลือภาวะปริ่มๆว่าจะเป็นห้วใจล้มเหลว (CHF) ไว้ให้เป็นที่ระลึก

     ทั้งหมดตามลำดับไหล่ข้างต้นนี้เป็นสูตรสำเร็จหรือพิมพ์นิยมสำหรับคนไทยยุคใหม่ รุ่นทันสมัย ใหม่เสมอ กล่าวคือ กินดี อยู่ดี ขี้เกียจ มีปัจจัยเสี่ยง เป็นโรคหัวใจขาดเลือดโดยไม่มีอาการจึงไม่รู้เนื้อรู้ตัว อาการแรกที่ปรากฏให้เห็นคือ “การตายกะทันหัน” บ้างได้ตายจริงแล้วไปเกิดใหม่..จบข่าว แต่บ้างตายแบบตายแท้ง คือปั๊มหัวใจแล้วกลับรอดขึ้นมาได้ ถ้าอยู่ใกล้หรือไปโรงพยาบาลได้เร็วก็กลับไปปร๋อได้ใหม่ ถ้าอยู่ไกลหรือไปรพ.ช้าก็มีภาวะหัวใจล้มเหลวเหลือไว้ให้เตือนความจำ

     แหะ แหะ เพ้อเจ้อไปงั้นแหละ มาดูข้อมูลที่คุณส่งมาให้ดีกว่า

     สำหรับผล echo หลังสุดนั้นสรุปว่าหัวใจดีพอควร EF 48% แปลว่าหัวใจบีบตัวเอาเลือดออกไปได้ 48% ซึ่งถือว่าดีพอสมควรแล้ว ส่วนการมี q wave นั้นไม่มีความหมายอะไร เพราะครั้งที่แล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มันก็ทิ้ง q wave ไว้เป็นธรรมดา

     การที่ความดันเลือดวัดได้ต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงบีบของหัวใจลดลง ไม่ต้องทำอะไร เฉยไว้ ขยันออกกำลังกายไป เดี๋ยวมันจะค่อยๆดีเอง

     ผลไขมันในเลือดที่ให้มาก็ดีมากแล้ว แสดงว่าโภชนาการโอเค.

     เมื่อดูโภชนาการในรายละเอียดสิ่งที่ควรปรับปรุงคือหมู (red meat) หมายความว่ามันเป็นเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีโมเลกุลฮีมที่ให้สีแดง โมเลกุลนี้เป็นตัวก่อโรค ถ้ามีนิสัยเป็นสัตว์กินเนื้อมาแต่ปางก่อนแก้อย่างไรก็ไม่หายก็ควรหลบลงมาหาไก่หรือปลาดีกว่า และควรกินเนื้อสัตว์แค่พอให้หายคิดถึงเท่านั้น ไม่ใช่กินมากจนสะใจ

     ส่วนกาแฟใส่นมพร่อมมันเนยก็ควรเปลี่ยนเป็นใส่นมไร้ไขมัน (0% fat) หรือเปลี่ยนเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมเลยซึ่งอร่อยกว่าเสียอีก

     ถามว่าการดูแลตัวเองจากนี้มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง ตอบว่าประเด็นสำคัญคือ

     1.  ควรกิน CoQ10 เป็นอาหารเสริมทุกวัน เพราะมีงานวิจัยระดับสูงที่สรุปได้ว่าการใช้อาหารเสริม  CoQ10 รักษาหัวใจล้มเหลว ชื่องานวิจัย Q-SYMBIO พบว่า CoQ10 ลดการเกิดจุดจบที่เลวร้ายและการตายลงได้มากกว่ายาหลอก และเนื่องจาก CoQ10 เป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัย การกินอาหารเสริม coQ10 ร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

     2. การออกกำลังกายเป็นทางไปทางเดียวของโรคหัวใจล้มเหลว งานวิจัยพบว่าคนหัวใจล้มเหลวหากไม่ออกกำลังกายจะตายมากกว่าคนที่ขยันออกกำลังกาย ที่อาจารย์ผู้สามีทำอยู่แล้วนั้นฟังดูก็มากโขอยู่หากเป็นคนธรรมดาไม่เจ็บไม่ไข้ แต่สำหรับคนหัวใจล้มเหลวต้องเพิ่มเวลาออกกำลังกายมากขึ้นไปอีก คืออย่างน้อยวันละ 1-2 ชม. ออกแบบไปเรื่อยๆ ออกบ้าง พักบ้าง งีบบ้าง สลับกันไป แต่ต้องจัดเวลาให้มากพอ ให้ถือว่าเป็นการจัดเวลาให้กับชีวิตตัวเอง

     การออกกำลังกายสำหรับผู้หัวใจล้มเหลวต้องทำทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ต้องทำให้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลวไม่มีใครกล้าพาออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าเพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้ง ๆที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลวมีการทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเองอย่าหวังพึ่งหมอหรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองให้ได้ออกกำลังกายสลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน

     3. ในแง่การจัดการความเครียด การตั้งใจฝึกสติสายหลวงพ่อโน้นหลวงพ่อนี้ที่ตั้งใจทำอยู่นั้นก็ดีแล้ว แต่ให้เปลี่ยนมุมมองหรือคอนเซ็พท์ในการใช้ชีวิตเสียใหม่ด้วย เลิกใช้ชีวิตแบบวิ่งหาโน่นวิ่งหานี่ ให้หยุดอยู่กับที่แล้วปล่อยให้สิ่งต่างๆวิ่งเข้ามาหาแทนแล้วค่อยรับมือไปทีละช็อตๆ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เท่านั้น อย่าไปฝันถึงการจะได้ขี่ช้างขี่ม้าในอนาคต ชีวิตเอาแค่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แล้วก็อย่าปรี๊ดแตก เพราะความเครียดเฉียบพลันจะเพิ่มโอกาสตายขึ้นไปอีก 8.5 เท่า

     4. ให้ลดน้ำหนักตัวลง คุณไม่บอกว่าอาจารย์ผู้สามีน้ำหนักเท่าไหร่ ต้องต่อว่าไว้เป็นหลักฐานตรงนี้หน่อย เห็นไหม แฟนบล็อกของหมอสันต์เวลาให้ข้อมูลเนี่ย ไม่เคยครบ แม้จะเป็นระดับอาจารย์มหาลัยก็ตาม ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงเป็นของมูลพื้นฐานที่สำคัญ เมื่อไม่ทราบก็เอาเป็นว่าผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรมีรูปร่างค่อนมาทางผอม อย่างน้อยควรมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนมาทางต่ำ คือไม่เกิน 23

     5. ให้ชั่งน้ำหนักทุกวัน ย้ำ..ทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำค่อยๆคั่งสะสมในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1.3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน (สำหรับคนไข้ตัวใหญ่แบบฝรั่ง) แสดงว่ามีการสะสมน้ำในร่างกายพรวดพราดมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นอาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก

     6. ควบคุมเกลือ ไม่กินอาหารเค็ม ยิ่งจืดยิ่งดี

     7.  ควบคุมน้ำด้วย ดื่มน้ำมากได้ก็เฉพาะเมื่อออกกำลังกายมากและเสียเหงื่อมากเท่านั้น แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากในวันนั้นต้องระวัง

     8. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (IPV) และฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอแนะนำ เพราะหมอมักจะลืมแนะนำเนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัดแต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค

     9. เน้นที่การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพราะงานวิจัยพบว่าการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวแบบพาไปโรงพยาบาลบ่อย ๆเป็นวิธีที่แย่กว่าการให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน สมาคมหัวใจล้มเหลวอเมริกา (HFSA) แนะนำว่าแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ตามบ้าน ควรยื้อไว้ไม่พาผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลบ่อย จะพาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเข้านอนในโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อมีอาการที่ส่อว่าหัวใจกำลังชดเชยต่อไปไม่ไหว (de-compensated) แล้ว เช่น ความดันเลือดตกวูบจากเดิม ตัวชี้วัดการทำงานของไตทำงานแย่ลงผิดสังเกต สภาวะสติที่เคยดีๆกลับเลอะเลือนผิดสังเกต หรือมีอาการหอบทั้ง ๆที่นั่งพักเฉย ๆ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือมีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันซ้ำขึ้นมาอีก เช่นเจ็บหน้าอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hunt SA, Abraham WT, Chin MH, et al, and the American College of Cardiology Foundation; American Heart Association. 2009 Focused update incorporated into the ACC/AHA 2005 guidelines for the diagnosis and management of heart failure in adults: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on practice guidelines developed in collaboration with the International Society for Heart and Lung Transplantation. J Am Coll Cardiol. 2009 Apr 14. 53(15):e1-e90
2. Hunt SA, for the Task Force on Practice Guidelines (Writing Committee to Update the 2001 Guidelines for the Evaluation and Management of Heart Failure). ACC/AHA 2005 guideline update for the diagnosis and management of chronic heart failure in the adult: a report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol. 2005 Sep 20. 46(6):e1-82.
3. Dickstein K, Cohen-Solal A, Filippatos G, et al. for the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. ESC Guidelines for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure 2008: the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. Developed in collaboration with the Heart Failure Association of the ESC (HFA) and endorsed by the European Society of Intensive Care Medicine (ESICM). Eur Heart J. 2008 Oct. 29(19):2388-442.
4. Lindenfeld J, Albert NM, Boehmer JP, et al, for the Heart Failure Society of America. Executive summary: HFSA 2010 comprehensive heart failure practice guideline. J Card Fail. 2010 Jun. 16(6):e1-194.[Medline].
5. Peacock WF, Fonarow GC, Ander DS, Maisel A, Hollander JE, Januzzi JL Jr, et al. Society of Chest Pain Centers Recommendations for the evaluation and management of the observation stay acute heart failure patient: a report from the Society of Chest Pain Centers Acute Heart Failure Committee. Crit Pathw Cardiol. 2008 Jun. 7(2):83-6.
6. Jessup M, Abraham WT, Casey DE, Feldman AM, Francis GS, Ganiats TG, et al. 2009 focused update: ACCF/AHA Guidelines for the Diagnosis and Management of Heart Failure in Adults: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines: developed in collaboration with the International Society for Heart and Lung Transplantation. Circulation. 2009 Apr 14. 119(14):1977-2016.
7. Mortensen SA1, Rosenfeldt F2, Kumar A3, Dolliner P4, Filipiak KJ5, Pella D6, Alehagen U7, Steurer G4, Littarru GP8; Q-SYMBIO Study Investigators. The effect of coenzyme Q10 on morbidity and mortality in chronic heart failure: results from Q-SYMBIO: a randomized double-blind trial. JACC Heart Fail. 2014 Dec;2(6):641-9. doi: 10.1016/j.jchf.2014.06.008.
8. Monchamp T1, Frishman WH. Exercise as a treatment modality for congestive heart failure. Heart Dis. 2002 Mar-Apr;4(2):110-6.
9. Davies EJ, Moxham T, Rees K, et al. Exercise training for systolic heart failure: Cochrane systematic review and meta-analysis. Eur J Heart Fail.2010;12:706–15.
10. Austin J, Williams R, Ross L, et al. Randomised controlled trial of cardiac rehabilitation in elderly patients with heart failure. Eur J Heart Fail.2005;7:411–7.
11. McKelvie RS. Exercise training in patients with heart failure: clinical outcomes, safety, and indications. Heart Fail Rev. 2008;13:3–11.
12. O’Connor CM, Whellan DJ, Lee KL, et al. Efficacy and safety of exercise training in patients with chronic heart failure: HF-ACTION randomized controlled trial. JAMA. 2009;301:1439–50.
13. Pina IL, Apstein CS, Balady GJ, et al. Exercise and heart failure: a statement from the American Heart Association Committee on Exercise, Rehabilitation, and Prevention. Circulation. 2003;107:1210–25.
14. Smart N, Marwick TH. Exercise training for patients with heart failure: a systematic review of factors that improve mortality and morbidity. Am J Med. 2004;116:693–706.
15. Piepoli MF, Davos C, Francis DP, et al. Exercise training meta-analysis of trials in patients with chronic heart failure (ExTraMATCH). BMJ.2004;328:189.
By DrSant at 09:09