Latest

นักศึกษาแพทย์ เรียนไม่เก่ง อาการร่อแร่

สวัสดีค่ะ คุณหมอ
หนูเป็นนศพ.ชั้นปีที่3 นึกย้อนไปตอนที่ทำไมถึงมาเลือกเรียนหมอ หนูตอบกับตัวเองว่าอยากช่วยเหลือคน อยากให้คนที่เค้าทุกข์ได้พ้นทุกข์ขึ้นมาบ้าง อยากทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้บ้าง ประกอบกับช่วงนั้นเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยได้เห็นบรรยากาศคนป่วยหมอพยาบาลต่างๆเราเลยรู้สึกว่าเเพทย์นีี่แหละที่ชั้นจะจบมาเเล้วได้ช่วยคนอื่นได้ แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆมันยากมาก เห็นเพื่อนเก่งๆหัวไวเต็มไปหมด หนูเป็นคนหัวไม่ดีจำอะไรไม่ค่อยได้  เรียนเกรดก็ได้เเค่2ต้นๆ กว่าจะผ่านมาได้เเต่ละบล็อกนี่หินมาก แต่หนูโชคดีมีพ่อเเม่ให้กำลังใจ เเละหนูคิดว่าเป็นคนที่จัดการความเครียดได้ ไม่สบายใจก็สวดมนต์ฟังธรรมตลอดบางทีก็หาหนังตลกดู แต่จุดนี้หนูมีความคิดว่า หนูไม่เก่งเลยเรียนหน้าลืมหลัง อาการร่อแร่ ความรู้ไม่โอเค ต่อไปจะไปรักษาคนไข้ได้อย่างไร เวลาทำงานจริงๆจะเเก้ไขปัญหาจะวินิจฉัยได้มั้ย จากที่เราตั้งใจว่าจะช่วยคนอื่นจะเป็นประโยชน์ให้แก่คนอื่น เราจะช่วยเค้าได้จริงๆหรือ ไม่ใช่ว่าคนไข้ที่มาหาหนูจะโชคร้ายที่ได้เจอหมออย่างหนูหรอค่ะทั้งๆที่จุดประสงค์เราเราอยากจะให้เค้าหายทุกข์นะ ดูเกรดตัวเองก็รู้สึกคิดไปถึงอนาคตมาก ถามว่าเรียนหมอชอบมั้ยหนูก็โอเคนะไม่ได้รู้สึกทุกข์หดหู่อะไร แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าขึ้นคลินิคจะเป็นอย่างไร คิดไว้ตอนนี้ว่าอนาคตถ้าการทำงานในอาชีพนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ อาจจะเบนไปทางด้านความสวยความงาม ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้คนไข้เสี่ยง
ขอคำเเนะนำเเละกำลังใจจากคุณหมอค่ะ

ปล.หนูเป็นแพทย์ชนบทด้วยค่ะ

……………………………………………………

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. อาชีพอะไรก็ลำบากอกไหม้ไส้ขมกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เฉพาะอาชีพนักศึกษาแพทย์ดอก คุณเรียนแพทย์คุณมองตัวเองแล้วอาจจะคิดว่าชีวิตมันทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ ทำไมต้องนอนดึกตื่นเช้าไม่ได้ออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตแย่ เครียด เดี๋ยวก็สอบ เดี๋ยวก็สอบ MCQ MEQ OSCE สอบแม่..งอยู่นั่นแหละ (ขอโทษ) แต่ว่าผมมีชีวิตอยู่มาจนแก่ปูนนี้แล้ว ทำงานมาหลายแบบ เจอคนมาหลายชนิด ตั้งแต่คนงาน คนสวน แม่บ้าน คนถูพื้น พ่อค้าแม่ค้า ครู ตำรวจ ข้าราชการ เถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่ใหญ่ ทุกคนล้วนลำบากและทุกข์ระทมอกไหม้ไส้ขมกับชีวิตเหมือนพระเอกนางเอกหนังเรื่องชีวิตบัดซบเหมือนกันหมด มันเป็นเรื่องของการเกิดมาเป็นคน แต่ว่าความลำบากมันไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มันมาเป็นพีคๆ พอมันพีคทีเราอึดสู้กับมันที มันก็ผ่านไปได้ พอแก่แล้วผมสรุปหลักชีวิตจริงให้คุณได้อย่างหนึ่งว่าทุกปัญหาเมื่อถึงเวลาจริงแล้วมันแก้ไขได้หมด 100%  ที่เราเป็นทุกข์ล่วงหน้านั้นทุกข์ฟรี ทุกข์แบบเสียค่าโง่ ดังนั้นอึดๆไว้เดี๋ยวมันก็ดีเอง

    ผมขยายความตรงนี้นิดหนึ่ง ตรงที่ว่าทุกปัญหาเมื่อถึงเวลาจริงแล้วมันแก้ไขได้หมด 100% หมายความว่าอย่างไร คือตรงนี้มันเป็นความพิศดาร(miracle) ของชีวิต คือถ้าเราห่วงพะวงว่า ณ วันนี้อะไรๆมันดูผิดโผผิดสะเป๊คไปหมด อนาคตต้องหดจุ๊ดจู๋แน่ๆ เราจะตื่นกลัวว้าวุ่นตะเกียกตะกายต่อสู้ขัดขืนจนตัวเราเองอ่อนล้าหมดแรงและคิดกระโจนหนี บ้างก็หนีไปก่อนจริงๆเพราะความกลัว แต่สำหรับคนที่ดิ้นรนแถกเหงือกไปจนถึงเวลานั้น จะด้วยเป็นคนกล้ายอมรับสภาพการณ์ทุกอย่างได้ หรือจะด้วยเป็นคนที่เมื่อความกลัวพุ่งถึงสุดขีดแล้วกลับกลายเป็นความบ้าแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อนก็แล้วแต่ แบบว่า ช่างมันเถอะวะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด คนเหล่านี้เมื่อไปถึงเวลานั้นจริงๆกลับจะพบว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดการณ์ร้ายๆไว้เลยสักครั้งเดียว ที่เราคิดว่าต้องตายแน่ๆมันก็ไม่เห็นตาย

     เมื่อประมาณสามสิบปีก่อนผมกับภรรยาไปทำงานที่รพ.สระบุรี ภรรยาซึ่งเป็นหมอเด็กไปเปิดคลินิกเด็กอยู่ที่ตลาดแก่งคอย ผมไปทำหน้าที่พนักงานฉีดวัคซีนให้ มีเด็กคนหนึ่งกลัวเข็มฉีดยามาก ทั้งร้อง ทั้งดิ้นพราดๆ ราวกับผีกำลังย่างเข้ามาจะบีบคอ พอผมฉีดยาจึ๊กหนึ่งเสร็จแล้ว เด็กคนนั้นซึ่งอายุราวสามขวบหัวเราะแล้วบอกว่า

     “เสร็จแล้วเหรอ ไม่เห็นเจ็บเลย รู้งี้ไม่ร้องตั้งนานหรอก”

    ความหมายของคำพูดของเด็กคนนั้นก็คือถ้ารู้ว่าการฉีดยาจะเจ็บนิดเดียวอย่างนี้ คงจะไม่เสียเวลาร้องแหกปากจนเสียพลังงานไปมากมาย คุณก็เหมือนเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองจะถูกฉีดยานั่นแหละ ท่าทางมันจะแย่ ท่าทางมันจะเลวร้าย แต่ถึงเวลาเข้าจริงๆ ปัญหามันจะมีความพิศดารของชีวิตมาแก้ไขไปได้ทุกที 100% ผมรู้จากประสบการณ์เฉพาะตัวว่ามันแก้ได้ 100% แต่ผมไม่รู้ว่ากลไกมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครมาช่วยจัดการให้ รู้แต่ว่าในชีวิตจริงของผมที่ผ่านมาหกสิบกว่าปีแล้วน้้นไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่ปัญหาจะไม่มีทางออกหรือไม่มีวิธีแก้ไข ขอแค่กล้าเข้าไปหามันเท่านั้นแหละ    

     นานหลายปีมาแล้วผมเคยได้ยินเพลงวัยรุ่นเพลงหนึ่ง เวลาร้องตะโกนเสียงช้งเช้งท่วงทำนองไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยเลยแต่เนื้อเพลงเข้าท่ามาก คุณไปหาเพลงนี้มาร้องก็ดีนะ เนื้อหาประมาณว่า

“…แม้ที่จริง มันอาจดูเลือนลาง
แม้ที่สุด แล้วเราต้องผิดหวัง
แต่หัวใจ จะขอพุ่งชน
ร้ายหรือดี วางอยู่ในมือเรา
แม้รางวัล นั้นคือความปวดร้าว
แต่อย่างไร ต้องลองสักครั้ง
วินาทีที่เราต้องไปให้ถึง
วินาทีที่เราไม่ยอมแพ้

     ไม่มีสิ่งไหนจะหนักเกินไป
ไม่มีคำว่าทำไม่ได้
นาทีนี้ ตรงนี้ เป็นของเรา
มาทำวันนี้ให้เป็นตำนาน
ฝากไว้ให้นานเท่านาน….”

     ประเด็นที่ 2. การรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโง่ในชั้นเรียนแพทย์ อันนี้ก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ สมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กซิ่วตะโกนด้วยความหงุดหงิดว่า

     “กูไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองโง่ จนมาอยู่คณะนี้นี่แหละ”

     ฮะ ฮะ ฮา ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     การคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่ก็ดี เป็นนักเรียนแพทย์ในโครงการพิเศษเช่นเด็กโอดอทหรือเด็กแพทย์ชนบทก็ดี การจบมาจากโรงเรียนมัธยมที่เอ่ยชื่อออกมาแล้วอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ทำจมูกย่นก็ดี การสอบตกหรือสอบได้คะแนนคาบเส้นก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญ ผลการเรียนเป็นแค่ส่วนเล็กๆของชีวิตการเป็นแพทย์ จริงอยู่ต้นทุนแต่ละคนไม่เท่ากัน คนหัวไม่ดีก็ต้องขยันอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มามัวนั่งท้อแท้ว่าทำไมโง่กว่าเพื่อนซึ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่ก็อย่าไปอินกับการได้คะแนนสูงๆมากเกินไป การเรียนและสอบวัดผลกันแบบตัดเคิร์ฟ ย่อมต้องมีทั้งคนที่ได้เอ.บี.ซี.ดี.เอฟ. แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะบอกว่าใครจะเป็นแพทย์ที่ดี ตอนเรียนหนังสือตัวหมอสันต์นี้ก็เคยได้เอฟ.มาแล้ว ก็ไม่เห็นตาย สอบตกก็ซ่อม ขอให้แถกเหงือกผ่านไปให้ได้ทีละวิชาทีละบล็อกก่อนก็พอแล้ว วิธีแถกเหงือกก็คือต้องใช้ตัวช่วยที่มีอยู่ทุกตัว กำลังใจจากครอบครัวนั้นแน่นอน ตัวเองก็ปลุกปลอบสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วย สอบตกทีหนึ่งก็ต้องประเมินผลตัวเองและปรับตัวทีหนึ่ง โง่ก็ปรับกลยุทธ์เพื่อชดเชยให้กับความโง่ของตัวเอง ฝึกการเขียนให้ตัวหนังสือตัวโตๆอ่านง่ายๆและเขียนได้เร็วๆ เพราะถ้าเขียนแล้วอาจารย์อ่านลายมือไม่ออกก็สวัสดีความเศร้า ฝึกพิมพ์สัมผัสสิบนิ้วให้เร็ว จะได้ทำสรุปเนื้อหาที่เราจับความจากตำราเป็นคำย่อไว้อ่านทบทวนได้เองในเวลาอันสั้น ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ให้คล่องเพราะหากแม้ปัญญาทึบจำอะไรไม่ได้แต่่ถ้ากูเกิ้ลได้เร็วก็พอชดเชยไปได้ การเข้ากลุ่มเพื่อนแบบที่แบ่งกันไปอ่านแล้วมาสรุปแชร์ความรู้กันก็มีประโยชน์ พี่เรสิเด้นท์ก็มักจะช่วยเราได้ ในแง่ของความทุกข์ใจ อาจารย์ที่ปรึกษาก็ช่วยได้

     ประเด็นที่ 3. การตีตนไปก่อนไข้ว่าตัวเองจะเป็นหมอที่ไม่ได้เรื่อง เป็นการทำตัวให้สูญเสียพลังงานชีวิตไปอย่างไร้ค่า เพราะตราบใดที่ยังไม่เคยเห็นคนไข้ ยังไม่ได้รับผิดชอบคนไข้ จะรู้ได้อย่างไรว่าจะเป็นหมอที่ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่อง ตอนนี้เรามีหน้าที่เป็นนักเรียนแพทย์ที่ดี ไม่ใช่เป็นแพทย์ที่ดี วิชาที่เรียนในระดับเตรียมแพทย์เป็นวิชาพื้นฐานที่คิดยังไงก็ไม่ปะติดปะต่อกัน แต่พอถึงเวลาเป็นเอ็กซ์เทอร์นอะไรๆที่ไม่เคยรู้เรื่องมันก็รู้เรื่องขึ้นมาเอง ความรู้ทางคลินิกจะไปเข้าใจอย่างดีขึ้นตอนที่ได้ฝึกปฏิบัติงาน ทักษะต่างๆทั้งทางการแพทย์และทางสังคมจะค่อยๆโตตามตัวเราไปเอง ชีวิตเอ็กซ์เทิร์นและอินเทิร์นจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะหล่อหลอมให้เราเป็นหมอที่ดีได้อย่างก้าวกระโดด ความรู้มันจะพรั่งพรูมา คนไข้จะเป็นบทเรียนที่ตื่นเต้นท้าทาย ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ อยากทำดีที่สุดเพื่อให้คนไข้หาย ถึงจุดนั้น จึงค่อยจะได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริงของการเป็นแพทย์ ดังนั้นในการเป็นนักเรียนแพทย์ที่ดี อย่าไปมีชีวิตอยู่ในอนาคต อย่าไปกังวลถึงวันเวลาที่ยังมาไม่ถึง ขอให้แถกเหงือกผ่านวันนี้ไปแบบไม่ยอมแพ้ทีละวันๆก็พอแล้ว ที่เหลือเดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีของมันเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์