Latest

หมอสันต์ตอบคำถามในชั้นเรียนฝึกสติรักษาโรค (MBT)

วันนี้ขอเล่าถึงการตอบคำถามในชั้นเรียนการฝึกสติรักษาโรค (MBT) ตัดตอนมาบางส่วน

ถาม

“ถ้าไม่คิดอะไร จะทำงานได้อย่างไรละคะ”

นพ.สันต์

     ในการทำงาน ความคิดเป็นเครื่องมือที่จำเป็นเสมอ เมื่อเราทำงาน เราต้องใช้เครื่องมือคือความคิดนี้แน่นอน แต่ว่าเมื่อเสร็จงานแล้วเราก็ต้องเก็บเครื่องมือลงกล่องถูกไหม แต่ปัญหาคือคนเอาเครื่องมือไปใช้งานผิดแบบ ใช้แล้วไม่ยอมวางเครื่องมือลง กลับแบกเครื่องมือติดตัวไปตลอด คือคิดซ้ำคิดซาก อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้แบบธรรมดาเสียแล้ว เป็นการเสพย์ติดความคิด ความเป็นจริงคือเราใช้เวลาทำงานจริงๆไม่กี่ชั่วโมง เวลาส่วนใหญ่เราใช้ไปกับการเดินทางและทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งในเวลาเหล่านั้นเรากำราบความคิดและอยู่กับความรู้ตัวได้

     ถึงแม้ในขณะทำงานซึ่งมักจะมีลูกติดพัน มันก็ยังจะเป็นการดีกว่าถ้าเราทำงานติดพันไปสักชั่วโมงแล้วเราเบรกสักหนึ่งนาทีเพื่อหายใจลึกๆแล้วถามตัวเองว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” แล้วก็จมลงไปในความรู้ตัวสักครู่ ก่อนที่จะเด้งกลับขึ้นมาทำงานใหม่ ทำแบบนี้แล้วเราจะพบว่าเราตัดตอนความคิดลบซ้ำซากได้ และทุกครั้งที่เด้งกลับขึ้นมา เรากลับมาพร้อมกับความสดชื่นจากการได้เข้าไปถึง “ฉัน” ตัวจริง การจะมีความคิดสร้างสรรค์อะไรก็มีได้เพราะเราได้พักความคิดเข้าไปอยู่กับ “ฉัน” ตัวจริงนี่แหละ ไม่ใช่มีได้เพราะการตะลุยคิดๆๆไม่หยุดหย่อน

ถาม

     “ถ้าอนาคตไม่มีอยู่จริง แล้วหนี้ที่ต้องชำระตามกำหนดในปฏิทินนี่ละครับ”

นพ.สันต์ 

     เราเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งดำรงอยู่ในมิตินิรันดร แต่มาทำกิจกรรมซึ่งผูกโยงอยู่ในมิติเวลา (timeless beings who are doing time-bound activities) ในการทำกิจกรรมเหล่านี้ เรายังคงต้องใช้นาฬิกาในการนัดหมาย ใช้ปฏิทินในการชำระหนี้ มีการวางแผน มีการทำตามแผน แต่เมื่อวางแผนเสร็จแล้วเราก็วางความคิดหรือความกังวลเรื่องอนาคตลง เพราะในการทำตามแผนเราทำในปัจจุบัน คือเราใช้ clock time เพื่อประกอบการทำกิจกรรม  แต่เราทิ้ง psychological time ที่จะทำให้เราเครียด

ถาม

     “จะรู้ได้อย่างไรว่าเราก้าวหน้าหรือถอยหลังในการปฏิบัติแต่ละวัน”

นพ.สันต์ 

     ผมเองใช้ตัวชี้วัดสองตัวเท่านั้น คือ

(1) ถ้าผมมีความเบิกบานมากขึ้น แปลว่าผมก้าวหน้า

(2) ถ้าผมมีความคิดน้อยลง แปลว่าผมก้าวหน้า

     ดังนั้นทุกวันนี้ผมลดกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดลงไปมาก ทั้งโทรทัศน์ เฟซบุ้ค ไลน์ ทีวี หนังสือ หนังสือพิมพ์ ไม่เอาเลย ยกเว้นเขียนเพื่อสอน การเสวนาจ๊ะจ๋าที่ไม่ใช่งานสอนตามหน้าที่ ผมก็ลดลงไปมาก เป้าหมายปลายทางของผมคืออยู่กับเดี๋ยวนี้ได้โดยไม่มีความคิด จะคิดก็เฉพาะเวลาที่ผมต้องการคิดเท่านั้น

ถาม

     “เราจะต้องดับความคิดให้ได้ก่อน จึงจะสุขได้ ใช่ไหมคะ”

นพ.สันต์ 

     ผมจะไม่ตอบคำถามคุณตรงๆว่าใช่หรือไม่ใช่นะ คือความเครียดเกิดจากการสำคัญผิดว่า “อีโก้” เป็นตัวตนจริงของเรา ทั้งๆที่อีโก้เป็นเพียงภาพที่ความคิดซ้ำซากของเราปั้นขึ้นมาจากพื้นฐานการแยกตัวเองออกมาจากสิ่งอื่น (separated ego) มันพยายามหาความสุขจากสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา ซึ่งไม่ถาวร อีโก้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของความคิด เป็นกระจุกของความเชื่อ ไอเดีย ดุลพินิจ ที่คอยพาเราหนีจากปัจจุบันไปหาอนาคตซึ่งเผอิญไม่มีอยู่จริง การจะไม่เครียดก็ต้องมุ่งปลดตัวเองออกมาจากความเชื่อมั่นว่าอีโก้เป็นเรา จึงจะตรงเป้าที่สุด ไม่ใช่มุ่งดับความคิดเสียตะพึด

     อีโก้ให้คุณค่าการแยกตัวเองออกมาจากสิ่งอื่น คนอื่น ว่าตัวกูนี้โดดเด่นกว่า ดีกว่า มีมากกว่า การเลิกยึดถืออีโก้เป็นการหลุดจากตัวตนที่แยกตัวเช่นนั้น ทำให้เราถอยกลับไปหลอมรวมอยู่ในความรู้ตัวซึ่งมีธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวที่ไร้ขอบเขตไม่ได้แยกเราแยกเขา เพราะเราเขาจริงๆแล้วไม่มี ล้วนเป็นการสมมุติขึ้นทั้งเพ

ถาม

     “อาจารย์ว่าการขยันทำสมาธิ meditation จำเป็นไหม”

นพ.สันต์ 

     ผมแยกเป็นสองประเด็นนะ

     ประเด็นความถนัด ใครถนัดอย่างไหน ทำอย่างนั้น บางคนนั่งภาวนาไม่ได้เลย เพราะไม่ถนัด ก็ไม่ต้องทำ

     ประเด็นการนั่งสมาธิแบบยิ่งนั่งยิ่งเครียด คือหัวใจของการเข้าถึงความรู้ตัวคือการยอมแพ้แบบศิโรราบและยอมรับทุกอย่างในปัจจุบันให้ได้ก่อน การนั่งสมาธิหากเป็นการฝ่าฝืนบังคับกดข่มเพื่อหนีปัจจุบัน ก็ไม่ดีเพราะออกจากสมาธิก็จะมาจ๊ะกับสิ่งที่พยายามหนีก็จะเครียดหนักกว่าเดิม แต่หากการนั่งสมาธิเป็นเครื่องมือฝึกทักษะที่จะขยายช่องว่างระหว่างความคิดให้กว้างขึ้นๆ การนั่งสมาธิก็เป็นเครื่องมือที่ดี

ถาม

     “จะป้องกันการเป็นมะเร็งได้อย่างไร”

นพ.สันต์ 

     วงการแพทย์รู้ว่าสิ่งที่สัมพันธ์ตรงกับการเป็นมะเร็งคือการสูบบุหรี่ ความอ้วน แอลกอฮอล์ สารพิษต่างๆ การกินเนื้อที่ผ่านการปรับแต่งเช่นไส้กรอก เบคอน แฮม และกินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นสิ่งแรกที่พึงทำคือคุณต้องจัดการปัจจัยเสี่ยงพวกนี้เสียก่อน

     วงการแพทย์ยังรู้ความสัมพันธ์ทางอ้อมระหว่างความเครียดกับโรคเรื้อรัง รู้ว่าความเครียดเป็นพิษต่อระบบหัวใจหลอดเลือด และทำให้สมองปล่อยโมเลกุลนิวโรเพ็พไทด์เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นข่าวสารที่แจ้งให้เม็ดเลือดขาวหยุดทำงาน เมื่อเม็ดเลือดขาวเสียการทำงาน อะไรก็เกิดขึ้นได้ รวมทั้งมะเร็ง

     พูดง่ายว่าเราเป็นโรคเรื้อรังเพราะร่างกายไม่แฮปปี้กับบางอย่างที่เราคิดหรือทำ เราควรหันไปสนใจร่างกาย ร่างกายนี้เป็นเครื่องจักรที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อนและซ่อมแซมตัวเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด  ดังนั้น เพื่อป้องกันการเป็นโรคเรื้อรัง นอกจากการปฏิบัติตัวพื้นฐานคือการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆแล้ว ให้คุณเรียนรู้และสังเกตผลของความคิดและอารมณ์ต่อร่างกาย ถ้าคิดลบมีอารมณ์ลบร่างกายก็จะเป๋ สังเกตผลของอาหารต่อร่างกาย ถ้ากินแล้วแน่น อืด หมดเรี่ยวหมดแรง นั่นไม่ใช่อาหารที่ดีสำหรับคุณ อาหารที่ดีสำหรับร่างกายต้องมีพืชเป็นหลัก อย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องเป็นพืช ถั่วต่างๆ ผักสด ผลไม้สด และต้องไม่กินจนมากเกินไป

ถาม

     “จะแก้ความกลัวตายได้อย่างไร”

นพ.สันต์ 

      ตอนนี้คุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่าล่ะ ผมหมายถึงในสองสามนาทีนี้ คุณคงไม่ตายในสองสามนาทีนี้ใช่ไหม เออ..แล้วคุณจะเดือดร้อนอะไรละ ความกลัวเป็นเพราะอีโก้พาคุณหนีจากปัจจุบันหรือปฏิเสธปัจจุบันไปอยู่ในอนาคต เพียงแค่คุณอยู่กับความรู้ตัวซึ่งเป็นเดี๋ยวนี้ ความกลัวก็ไม่มีที่อยู่ในใจคุณแล้ว

     อย่าไปวิ่งหาอะไรหรือวิ่งหนีอะไร อยู่นิ่งๆให้ทุกอย่างเข้ามาหา หรือให้ทุกอย่างผ่านหน้าไป ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รวมทั้งความตาย ทุกอย่างล้วนมาแล้วไป ถ้าคุณปักหลักอยู่ที่เดี๋ยวนี้นิ่งๆเฝ้าดูมันอย่างรับรู้เฉยๆว่าทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปตลอดเวลาอย่างนี้แหละ ไม่ไปใส่สีตีไข่ใส่อารมณ์ ความกลัวจะหมดไปเอง

     ความกลัวก็คือความคิด อย่าลืมว่าก่อนที่ความคิดจะเกิดขึ้นคุณยังสุขยังเบิกบานของคุณดีๆอยู่นะ ดังนั้นเพียงแค่กลับไปสู่จุดเดิมของคุณก่อนที่ความคิดจะเกิดขึ้น คุณก็เบิกบานได้แล้ว ไม่ต้องทำอะไรหรือแสวงหาอะไรที่พิศดารเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์