Latest

หัวใจล้มเหลวจะดำน้ำ (scuba diving) ได้ไหม

สวัสดีครับ อาจารย์สันต์
    ผมชื่อ ….. เป็นผู่ป่วยที่เข้าร่วมแคมป์ RD… ผมป่วยด้วยโรคหัวใจโต มาเป็นเวลา 15-16 ปีแล้ว ผมมีความฝันมานานมากแล้วว่าอยากเรียนดำน้ำลึก (Scuba) ซึ่งผมได้หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลว่าจากโรงเรียนสอนดำน้ำ ว่า คนเป็นโรคหัวใจ ไม่สามารถดำน้ำลึกได้ แต่ผมไม่พบข้อมูลทางการแพทย์เลย จึงอยากทราบข้อมูลทางการแพทย์ เกี่ยวกับการดำน้ำลึก ในกลุ่มคนเป็นโรคหัวใจ และมีข้อควรระวัง และข้อปฎิบัติอย่างไรบ้าง หรือคนเป็นโรคหัวใจจะดำน้ำไม่ได้เลยครับ ซึ่งผมคิดว่าสภาพร่างกายผมน่าจะทำได้

ขอบคุณครับ

…………………………………………………..

ตอบครับ

ในแง่ของสรีรวิทยา การดำน้ำลึกมีผลต่อหัวใจในสองประเด็น คือ

     1. เมื่อเราดำลึกลงไประดับหนึ่งบาร์ (33 ฟุต) แรงพยุงตัวของน้ำจะบีบเข้ามาสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังทุกทิศทุกทาง ทำให้แรงดันของของเหลวในช่องว่างในเนื้อเยื่อ (interstitial space) ซึ่งอยู่นอกหลอดเลือดฝอยสูงขึ้นจนดุลยภาพของแรงดันข้างในและข้างนอกหลอดเลือดฝอยเปลี่ยนไปในลักษณะที่ทำให้มีของเหลวประมาณ 700 ซีซี.ถูกดันให้เคลื่อนย้ายเข้าไปในหลอดเลือด เหมือนกับอยู่ๆก็มีใครเอาน้ำเกลือ 700 มาฉีดเข้าเส้น หัวใจของคนทั่วไปสามารถปรับตัวกับปริมาตรเลือดที่โหลดเข้ามาก่อนบีบตัว (pre-load) ที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ได้ แต่คนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เปอร์เซ็นต์การไล่เลือดออก (LVEF) ต่่ำกว่า 35% อาจจะมีปัญหาว่าหัวใจรับโหลดนี้ไม่ไหว ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรือที่เรียกว่าน้ำท่วมปอดได้

     2. อุณหภูมิที่เย็นของน้ำทำให้เกิดหลอดเลือดหดตัวทั่วร่างกาย ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานต้านกับความดันเลือด (after-load) มากกว่าตอนอยู่บนบก แถมกลไกชดเชยด้วยการเร่งอัตราการเต้นหัวใจจะทำงานได้ไม่ดีเท่าบนบก เพราะการดำน้ำซึ่งเป็นการอยู่ในภาวะแรงกดรอบตัวสูง  ( hyperbaric conditions) จะเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าเพราะการกระตุ้นเส้นประสาทวากัส (vagus nerve) นอกจากนี้แม้ในการดำน้ำปกติอาจไม่ต้องออกแรงมากมาย แต่ในบางโอกาสก็มีเหมือนกันที่กระแสน้ำก็ดี คลื่นก็ดี ลมก็ดี บีบบังคับให้ต้องออกแรงว่ายหรือพลิกตัวหรือพยุงตัวฝืนแรงต้าน ซึ่งอาจจะต้องออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร ในภาษาการออกกำลังกายคือหนักประมาณ 6-7 เท่าของการเผาผลาญขณะพัก (MET) ซึ่งความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ ถ้าก่อนดำน้ำสามารถออกกำลังกายบนบกถึงระดับหนักพอควรอยู่เป็นประจำก็คงไม่เป็นไร แต่หากไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกายถึงระดับนี้หัวใจที่เป็นโรคอยู่จะด้วยหลอดเลือดตีบก็ดี หรือกล้ามเนื้อหัวใจพิการก็ดี อาจจะสู้กับแรงต้านจากความดันเลือดนี้ (after-load) ไม่ไหว ทำให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือด หรืออาการกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้เช่นกัน

     ข้อมูลทั้งสองข้อนี้เป็นข้อมูลทั่วไป การจะประยุกต์ใช้ในคนไข้แต่ละคนต้องพิจารณาเป็นรายๆไปขึ้นกับสภาพการณ์แวดล้อมของคนไข้คนนั้น แต่หากปรึกษาหมอ หมอทุกคนก็จะห้าม เพราะกลัวจะเปลืองตัว แนะนำให้ไปดำน้ำแล้วคนไข้เป็นอะไรไปหมอก็จะเดือดร้อน

     แต่ถ้าตัวผมเป็นคนไข้ เป็นคนไข้นะ ไม่ใช่เป็นหมอ หากผมเป็นหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลวอยู่ หากผมอยากดำน้ำ ผมก็จะดำน้ำ ถ้าครูฝึกห้ามไม่ให้คนเป็นโรคหัวใจดำน้ำ ผมก็ไม่บอกว่าผมเป็นโรคหัวใจ โดยผมอาจจะระวังตัวให้มากขึ้นหน่อย ฟิตบนบกให้ดีก่อน แล้วไปดำน้ำแบบค่อยๆไป ค่อยๆลงลึก สังเกตตัวเองไปด้วย มันก็คล้ายๆกับการออกกำลังกายบนบกนั่นแหละ ต้องค่อยๆฝึก ค่อยๆทำ และค่่อยๆสังเกตตัวเองไป เหนื่อยมากก็พัก ค่อยยังชั่วก็เอาใหม่ ความคิดแบบนี้หมอคนอื่นอาจจะคิดว่าไม่เข้าท่า แต่ผมบอกว่าถ้าผมเป็นคนไข้นะ ผมก็มีสิทธิ์คิดแบบคนไข้ถูกแมะ ผมอยากดำน้ำ และผมไม่กลัวตาย สำหรับผมตายขณะดำน้ำก็ดีเสียอีกได้ตายดีมีความสุข คือตายเย็น..หิ หิ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Muth CM, Tetzlaff K. Scuba diving and the heart. Cardiac aspects of sport scuba diving. Herz. 2004 Jun; 29(4):406-13.
2. J Schipke and M Pelzer. Effect of immersion, submersion, and scuba diving on heart rate variability. Br J Sports Med. 2001 Jun; 35(3): 174–180. doi:  10.1136/bjsm.35.3.174
PMCID: PMC1724326
3. Chouchou F, Pichot V, Garet M, Barthélémy JC, Roche F. Dominance in cardiac parasympathetic activity during real recreational SCUBA diving. Eur J Appl Physiol. 2009 Jun;106(3):345-52. doi: 10.1007/s00421-009-1010-0. PMID: 19277697