Latest

ชุมชนชีเมเน (Tsimane) ที่ไม่มีใครเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน และอ้วน

     ผมปักหลักอยู่ที่มวกเหล็กมาเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์แล้วโดยไม่ได้เข้ากรุงเทพเลย เพราะต้องมาทำแค้มป์สอนกลุ่มแพทย์อายุรกรรมจากฟิลิปปินส์ซึ่งทะยอยมาเป็นกลุ่มๆละยี่สิบกว่าคน รวมทั้งสิ้นสี่กลุ่ม มาเข้าแค้มป์สองวันเว้นไปวันหนึ่งกลุ่มถัดไปก็มาอีกๆ มีเวลาว่างอยู่วันเดียวแบบนี้ผมจะเข้ากรุงเทพก็ไม่ถนัด จึงปักหลักอยู่มวกเหล็กเสียเลย แต่ความที่งานมาค่อนข้างถี่ จะนั่งตอบคำถามเรื่องการเจ็บป่วยก็ไม่มีเวลาพอ จึงใช้เวลาว่างเล็กๆน้อยๆก็ซ่อมส้วมบ้าง ซ่อมท่อน้ำบ้าง วิ่งไปดูฟาร์มบ้าง เอาไก่บอกทิศทางลมขึ้นไปติดบนหลังคากระต๊อบหน้าฟาร์ม (farm shop) บ้าง เวลาที่เหลืออีกนิดหน่อยก็นั่งเอ้เตนอกชานบ้าน อ่านวารสารการแพทย์ อ่านไปอ่านมาก็มาสะดุดที่งานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ท (LANCET) จึงเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง

สองตายายในแปลงผัก

     งานวิจัยนี้ ซึ่งสปอนเซอร์โดยสถาบันชราวิทยาแห่งชาติอเมริกัน (NIA) ได้ศึกษาประชากรในชุมชนชีเมเน (Tsimane) ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมในเขตป่าอะเมซอนของประเทศโบลิเวีย ที่มีอายุเกิน 40 ปี ทั้งชุมชนจำนวนรวม 705 คน ในลักษณะงานวิจัยแบบตัดขวาง ใช้เวลาวิจัยปีกว่า ทำการประเมินสถานะของโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้คอมพิวเตอร์สะแกนดูแคลเซียมในหลอดเลือด (CAC) ใช้คะแนนแคลเซียมที่ 100 คะแนนเป็นจุดตัวว่ามีโรคอย่างมีนัยสำคัญ พบว่า 85% ไม่มีโรคเลย (คะแนนแคลเซียม = 0) 13% มีโรคระดับน้อยไม่มีนัยสำคัญ (คะแนนแคลเซียมต่ำกว่า 100) มีเพียง 3% ที่มีโรค (คะแนนแคลเซียมสูงกว่า 100) ซึ่งจัดว่าชุมชนนี้มีอัตราการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการวิจัยชุมชนในโลกนี้มา คนอายุเกิน 40 ปีของชุมชนนี้มีค่าไขมันเลว (LDL) เฉลี่ยอยู่ที่ 91 มก./ดล. ไขมันดี (HDL) เฉลี่ย 39.5 มก./ดล. ทั้งไม่มีใครเป็นโรคอ้วน หรือเบาหวาน หรือความดันสูง หรือหัวใจขาดเลือดถึงระดับมีอาการเลย แต่ว่าร่างกายมีการติดเชื้อบ่อย โดยที่ 51% ของสมาชิกมีสารชี้บ่งการอักเสบในร่างกายเฉลี่ยสูงกว่าปกติ (>3.0 มก./ดล.)  

     ผมสนใจมากว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ชุมชนนี้ปลอดโรคหัวใจได้ขนาดนี้ จึงศึกษาลึกลงไปถึงข้อมูลละเอียดของงานวิจัย ก็พบว่า

     1. ในแง่ของที่ตั้งชุมชน ชุมชนชีเมเนอยู่ห่างไกลลึกเข้าไปในป่าอะเมซอน เรือบินหรือรถยนต์เข้าไม่ได้ นักวิจัยต้องเอาเรือคะนูขนอุปกรณ์ CT และอุปกรณ์การตรวจอื่นๆเข้าไป

     2. ในแง่ของอาหาร คนในชุมชนชีเมเน

     2.1 กินคาร์โบไฮเดรตมาก แหล่งหลักของแคลอรี่ (72%) มาจากคาร์โบไฮเดรตในอาหารพืชที่ชุมชนปลูก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันเทศ กล้วย ผักผลไม้และนัทต่างๆ เทียบกับอาหารสุขภาพแบบอเมริกันจะได้แคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตเพียง 52% เท่านั้น ข้อมูลนี้ขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของวงการแพทย์แผนปัจจุบันที่ว่าคาร์โบไฮเดรตมากๆเป็นของไม่ดีต่อสุขภาพทำให้เป็นเบาหวานง่าย แต่ชาวชีเมเนไม่มีใครเป็นเบาหวานเลย

     2.2 กินไขมันน้อย ไขมันเป็นสัดส่วนเพียง 14% ของแคลอรี่ (เทียบกับอาหารปกติของคนอเมริกันที่ไขมันเป็น 34% ของแคลอรี่ โดยที่ของคนชีเมเนส่วนใหญ่กินไขมันไม่อิ่มตัวจากพืช ขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่กินไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์

     2.3 กินเนื้อสัตว์น้อย ชาวชีเมเนกินอาหารโปรตีนเป็น 14% ของแคลอรี่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ เช่นหมูป่า หนูพุกป่า เป็นต้น และเนื่องจากเป็นชุมชนริมน้ำ 7% ของแคลอรี่มาจากเนื้อปลาเช่นปลาปิรันฮา

     3. ในแง่ของการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ชาวชีมีนีไม่อยู่นิ่ง ทุกคนเดินกันทั้งวัน ผู้ชายเดินเฉลี่ยวันละ 17,000 ก้าว ผู้หญิงเดินวันละ 16,000 ก้าว แม้แต่คนแก่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปก็ยังเดินกันมากกว่าวันละ 15,000 ก้าว เรียกว่าทำให้เป้าหมายการเดินที่แพทย์แนะนำคนอเมริกันให้เดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าวดูกระจอกไปเลย โดยการเคลื่อนไหวของชาวชีเมเนเป็นการเคลื่อนไหวทำมาหากินในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การจงใจออกกำลังกายเป็นการเฉพาะ

     4. ในแง่ของการสูบบุหรี่ ชาวชีเมเน ไม่นิยมสูบบุหรี่ มีคนสูบบุหรี่น้อยมาก

     5. ในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ชาวชีเมเนอยู่ในชุมชนเล็ก พบหน้าพูดคุยสื่อสารสังคมกันมาก และมองโลกในแง่บวกกันเป็นส่วนใหญ่

     ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นแฟนๆบล็อกของหมอสันต์มักเป็นคนกรุงเทพ คงไม่สามารถหนีไปอยู่ชายป่าแบบชาวชีเมเนได้ แต่ความรู้ที่ว่า กินพืชเยอะ กินเนื้อสัตว์น้อย เดินมาก แล้วจะไม่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน หรืออ้วนนี้ คนกรุงเทพก็ใช้ประโยชน์ได้นะครับ

     พูดถึงการเดิน คนกรุงเทพฯไม่ชอบเดินเพราะว่ามันร้อนบ้าง มันเหม็นควันไอเสียบ้าง แต่ผมมีคนไข้ฝรั่งชาวแคนาดาคนหนึ่งซึ่งอยู่ในกรุงเทพนี้ เขาอายุเจ็ดสิบกว่าแต่มีสุขภาพกายดีตลอดหลายปีที่ผมดูแลเขามา มีไขมันในเลือดปกติโดยไม่ได้ใช้ยาเลย เขาเคยรักษากับหมอคนอื่นที่รพ.อื่น พอเขาเอาผลเลือดให้หมอดูหมอบอกว่าไม่เชื่อแล้วสั่งเจาะเลือดเขาใหม่ เขายั้วะหมอจึงค้นหาหมอใหม่เลย พอมารักษากับผมผมค่อยๆนั่งฟังเขาอย่างตั้งใจว่าเขาใช้ชีวิตในกรุงเทพนี้อย่างไรจึงมีผลเลือดดีแบบนี้ ก็ได้ทราบว่าเขาไปไหนมาไหนด้วยการเดินตลอด ไม่ใช้รถยนต์ รถเมล์รถไฟฟ้าเขาก็ไม่นั่ง อย่างเขาอยู่สีลมจะมาคลินิกของผมซึ่งอยู่ในรพ.ที่สนามเป้าเลยอนุสาวรีย์ชัยไปหน่อย เขาเดินมานะ ใส่สูทมาด้วย ผมก็ไม่เห็นเขาเป็นอะไร แต่แอบสังเกตว่าเสื้อชั้นในของเขานั้นเปียกโชกเหมือนกัน

    ก่อนจบขอย้ำสูตรชีเมเนอีกทีนะ กันลืม คือ กินพืชเยอะ กินเนื้อสัตว์น้อย เดินมาก แล้วจะไม่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน หรืออ้วน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kaplan H, Thompson RC, Trumble BC, Wann LS, Allam AH et.al. Coronary atherosclerosis in indigenous South American Tsimane: a cross-sectional cohort study. The Lancet 2017 (On line 17 March 2017)  DOI: http://dx.doi.org/10.1016/S0140-6736(17)30752-3