Latest

ใครกันนะ..ที่โกรธ

สวัสดีค่ะ
ลองไปทำการรู้ตัว โดยไม่ให้มีความคิด
กรณีที่1 แล้วพอความรู้ตัวหาย ก็หลับเลยค่ะ
กรณีที่2 รู้ว่าความรู้ตัวหายคือเหม่อ เช่นไปมีความสุขกับลมหายใจ พอหามองความรู้ตัว จะกลั้นหายใจเพื่อหยุดความพอใจกับจังหวะการหายใจที่กำลังสบาย เพื่อกลับมารู้ตัวใหม่
ในทางตรงกันข้าม กรณีที่3 หาตัวรู้แล้วความโกรธเกิดขึ้นแบบไม่มีสาเหตุไม่มีคำพูดอะไรในหัว จังหวะการหายใจจะเปลี่ยนไปแบบคนที่โกรธ กรณีนี้เลิกหาความรู้สึกตัว ไปทำอย่างอื่นเลยค่ะ
คำถามคือ
1. “ตัวรู้จะรู้สภาวะว่าง เมื่อไม่มีความคิดที่เป็นเสียงในหัว” เป็นสิ่งที่เข้าใจด้วยสมองจากการอ่าน แล้วมันถูกต้องตามหลักการของคุณหมอหรือไม่คะ
2. อารมณ์ชอบ ไม่ชอบ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำความรู้ตัว ก็ถือว่าเป็นความคิดในหัวแบบไม่มีเสียง ใช่มั๊ยคะ
3. การตัดไปโหมดหลับเองของร่างกาย คือขาดความรู้ตัว ทำอะไรไม่ได้ จนกว่าจะตื่นแล้วมาฝึกใหม่ มันมีคำอธิบายในการหนีไปหลับมั๊ยคะ

………………………………..

ตอบครับ

     ผมจะไม่ตอบไปทีละข้อตามที่คุณถามนะ แต่จะจับประเด็นที่ผมมองว่าเป็นปัญหาของคุณขึ้นมาแผ่ให้คุณเห็น

     ประเด็นที่ 1. คุณกำลังเข้าไปจอดสนิทนิ่งอยู่ที่กลางซอยของการฝึกสมาธิตามดูลมหายใจที่คุณเพิ่งทำมาได้แค่ครึ่งทาง สิ่งที่คุณทำมันคือ concentration ไม่ใช่ meditation นะ คำว่า concentration ผมหมายถึงการที่คุณเอาความสนใจของคุณ (attention) ไปจดจ่ออยู่กับเป้าหมาย (object) อะไรสักอย่าง ซึ่งในกรณีของคุณก็คือลมหายใจ เป็นการจดจ่ออยู่ที่เดียวโดยไม่สนใจเรื่องอื่น (selective attention) จนความคิด(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความคิดลบ)ใดๆที่เกิดขึ้นจะถูกเพิกเฉยหมดความสำคัญไป เมื่อคุณทำจนชำนาญ คุณก็เปลี่ยนตัวเองจากคนที่ติดการคิด มาติดการจดจ่อกับลมหายใจแทน สิ่งที่คุณทำมาแล้วนี้ต่างจากความหมายของคำว่า meditation ในเซ็นส์ของการแสวงหาความหลุดพ้น ซึ่งหมายถึงการไม่ใช้จิตใจ (mind) เลย ไม่เพ่งอะไรเลย ไม่ใช้เป้าหมายอะไรล่อหรือดึงดูดให้จิตใจไปจดจ่อเลย

     ประเด็นที่ 2. ที่คุณเดินทางมาถึงนี้เป็นแค่กลางทางนะ ไม่ใช่ปลายทาง เป้าหมายของการแสวงหาความหลุดพ้นจากความคิดลบ ไม่ใช่หลุดพ้นเฉพาะตอนนั่งหลับตาดูลมหายใจ แต่พอลืมตาเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันทุกอย่างก็เละตุ้มเป๊ะเหมือนเดิม ปลายทางที่แท้จริงคือคุณมีความรู้ตัวอยู่ทุกขณะที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำงานทำการใช้ชีวิตของคุณไปได้โดยมีความเบิกบานไม่หดหู่หรือทุกข์ร้อนแม้ว่าจะมีความคิดลบโผล่ขึ้นมาในบางครั้งบางโอกาสคุณก็รู้และวางความคิดลบได้ ดังนั้นคุณจะต้องออกเดินหน้าต่อไปให้ถึงปลายทาง ไม่ใช่จมอยู่แค่ตรงนี้

     ประเด็นที่  3. การจะก้าวต่อไป หมายถึงการออกจากการติดลมหายใจไปสู่การรู้ตัวแม้ในขณะใช้ชีวิตประจำวันนี้ ไม่ใช่ทำด้วยวิธีสั่งว่า “หยุดความพอใจในลมหายใจลงเดี๋ยวนี้นะ” หรือกลั้นหายใจให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยอย่างที่คุณทำ ไม่ใช่อย่างนั้น การทำอย่างนั้นเป็นการสร้างความคิดใหม่ขึ้นมา เท่ากับเป็นการถอยหลังจากการที่ไม่มีความคิดลบแล้วกลับไปมีความคิดลบอีก ทำให้ใจที่สงบดีอยู่แล้วเกิดอาการกลับว้าวุ่นขึ้นมา

    วิธีที่จะก้าวต่อไปจากตรงนี้ ผมแนะนำให้คุณเลือกทางใดทางหนึ่งในสองทาง คือ

     ทางที่ 1. คุณเดินหน้าต่อไปตามแนวทางของอานาปานสติ ที่สอนในพุทธศาสนา ซึ่งเขามี 16 ขั้นตอนนะ ที่คุณทำมาตอนนี้มันก็ถึงแค่ขั้นที่ 11 คือ “ทำจิตให้ตั้งมั่น (concentration)” คุณจะต้องทำต่อไปยังขั้นที่  12. คือ “ปล่อยจิตไปไม่ควบคุม (Let go of the mind)” ซึ่งการจะไปถึงตรงนั้นได้คุณต้องตามดูลมหายใจจนลมหายใจมันแผ่วลงๆจนลมหายใจแทบหายหรือหายเกลี้ยงไปเลยจริงๆ เหลือแต่ความว่างที่มืดเวิ้งว้าง แต่ยังตื่นและรู้ตัวอยู่ ณ ตรงนี้ก็คือเทคนิคตามดูลมหายใจได้พาคุณมาถึงภาวะรู้ตัวว่ากำลังรู้ตัวอยู่ (aware of awareness) เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ไปของอานาปานสติ (ขั้นที่13-16) เป็นกระบวนการส่วนที่เรียกว่าวิปัสสนาซึ่งยังไม่จำเป็นสำหรับคุณตอนนี้และผมขอไม่พูดถึงเพราะมันเกินขอบเขตเรื่องของเราในวันนี้

      ทางที่ 2. เป็นวิธีที่ผมเห็นว่าง่ายกว่า คือจากจุดที่คุณอยู่กับลมหายใจเข้าออกตรงนี้ ให้คุณค่อยๆปล่อยความสนใจจากลมหายใจไปสนใจความรู้สึกบนผิวหนังแทน เริ่มที่บริเวณผิวหนังใต้รูจมูกและรอบๆที่ลมหายใจวิ่งผ่านเข้าออกอยู่แล้วก่อน เป็นความรู้สึกบนผิวหนังนะ เช่นรู้สึกคัน รู้สึกเหน็บ รู้สึกเจ็บจิ๊ดๆ หรือรู้สึกเย็นวูบวาบเวลาลมพัดผ่าน แต่ไม่เกี่ยวกับตัวลมหายใจนะ คือให้รับรู้ว่าร่างกายทั้งร่างกายกำลังหายใจอยู่ พอรับรู้ความรู้สึกบนผิวหนังเป็นแล้ว ก็ค่อยๆขยายพื้นที่ผิวหนังจากแค่ใต้รู้จมูกไปทั่วใบหน้า ศรีษะ ลำตัว แขนขา จนสามารถรับรู้ความรู้สึกบนผิวหนังของร่างกายได้ทั่วตัว ความรู้สึกบนผิวหนังนี้แท้จริงมันเกิดจากพลังงานความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้น เมื่อมันมากระทบความเย็นภายนอก ผิวหนังก็รับรู้การถ่ายเทพลังงานนี้ได้ เมื่อมันเป็นแค่พลังงาน ท้ายที่สุดคุณก็รู้สึกถึงมันได้ว่ามันเป็นเหมือนกลุ่มควันหรือไอน้ำที่ซ้อนร่างกายอยู่ แถมมันยังจะเกินๆออกไปนอกขอบเขตของร่างกายคือผิวหนังทั่วตัวนี้นิดๆด้วย
     มาถึงตรงนี้แล้วลมหายใจจะถูกรับรู้น้อยมาก แค่เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น จากจุดนี้ให้คุณขยายความรู้ตัวออกจากร่างกายไปครอบคลุมพื้นที่ว่างนอกร่างกาย วิธีง่ายที่สุดก็คือคุณเปิดรับฟังเสียงจากสิ่งแวดล้อม ค่อยๆฟังให้ไกลออกไป ไกลออกไป เสียงแอร์  เสียงรถยนต์ เสียงหมาเพื่อนบ้านเห่า เสียงไก่ขันแต่ไกล เสียงอยู่ไกลแค่ไหนคุณก็ขยายช่องว่างของความรู้ตัวออกไปไกลแค่นั้น มาถึงตรงนี้คุณก็มาอยู่ในความว่างแห่งความรู้ตัวได้เรียบร้อยแล้ว

     การเดินหน้าต่อจากจุดนี้ ไม่ว่าจะมาถึงตรงนี้ด้วยทาง 1 หรือทาง  2 จากนี้มีวิธีเดินหน้าเหมือนกัน คือก่อนที่คุณจะลืมตาขึ้น ให้ตั้งใจก่อนว่าเมื่อคุณลืมตาเห็นอะไรแล้ว คุณจะไม่พากย์ ไม่ comment ไม่วิจารณ์ตัดสิน ไม่พิพากษา ไม่แม้กระทั่งตั้งชื่อให้กับสิ่งที่คุณเห็น คุณจะมองให้เห็นตามที่มันเป็น แล้วคุณก็ค่อยๆลืมตาขึ้น มองสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น มองให้เห็นว่ามันก็เป็นชื่อและภาพ (names and forms) ที่เกิดขึ้นในความว่างแห่งความรู้ตัวของคุณ เหมือนกับเสียงหมาเห่าเสียงไก่ขันที่เกิดขึ้นในความรู้ตัวขณะคุณหลับตา และเหมือนกับความคิดที่โผล่ขึ้นมาในความรู้ตัวไม่ว่าคุณจะหลับตาหรือลืมตา ทั้งหมดนี้คุณจะรู้ (knowing) มัน โดยไม่คิดต่อยอด เมื่อคุณลืมตาอย่างรู้ตัวได้ นั่นคือคุณได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างมีความรู้ตัวแล้ว การฝึกต่อจากนี้ไปคุณทำในชีวิตประจำวันได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ต้องนั่งหลับตาก็ได้

     ประเด็นที่ 4. ถามว่าความชอบหรือไม่ชอบที่เกิดขึ้นขณะฝึกความรู้ตัว มันเป็นความคิดใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ ขณะเราอยู่ในความว่างแห่งความรู้ตัว อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาที่เราเรียกชื่อ (names) มันได้ หรือที่เราบอกรูปร่าง (forms) ของมันได้ ล้วนเป็นความคิดทั้งหมด ถ้าคุณรู้ว่ามันโผล่ขึ้นมาให้รีบวาง อย่าไปหยิบฉวย เพราะความรู้ตัวที่เป็นของจริงนั้นเป็นอะไรที่ตั้งชื่อให้ไม่ได้ และไม่มีรูปร่าง คุณต้องตื่นตัวและระแวดระวัง มิฉะนั้นคุณจะเสียรู้แก่ความคิด

     ประเด็นที่ 5. ถามว่าการม่อยหลับไปคือการดับของความรู้ตัวใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ ตรงนี้คุณตั้งใจฟังหน่อยนะ คำว่าความรู้ตัวนี้ผมยืมศัพท์มาพูด มันอธิบายของจริงไม่ได้ถ้วนทั่วหรอก ผมจงใจเลือกใช้ศัพท์คำนี้เองโดยยอมรับว่ามันมีข้อจำกัดของมันอยู่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า awareness บ้าง consciousness บ้าง ถ้าผมเลือกใช้คำว่า consciousness คุณอาจจะงงน้อยลง ค่อยๆฟังผมอธิบายนะ

     การหลับไป (โดยไม่ฝัน) ไม่ใช่เป็นการดับของความรู้ตัว (consciousness) แต่เป็นการดับของความคิด (thought) ส่วนความรูู้ตัว (consciousness) นั้นยังอยู่ แต่อยู่ในระดับชั้นที่แตกต่างออกไปจากขณะตื่น (ในทางการแพทย์แบ่งระดับชั้นของความรู้ตัวออกเป็นถึง 4 ชั้น) แต่พอฝัน ความคิดก็กลับมาโลดแล่นอีกในรูปแบบของเรื่องราวในความฝัน ส่วนความรู้ตัวนั้นเป็นส่วนที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่สูญหาย ไม่สิ้นสุด เพราะมันเป็นความว่างอันกว้างใหญ่ที่โอบอุ้มทั้งความคิดและร่างกายไว้ในนั้น มันไม่หายไปไหนอยู่แล้ว

   ประเด็นที่ 6. วิธีไม่ให้ง่วงเวลาทำสมาธิทำอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าทางที่จะไปถึงความรู้ตัวก็ดี ไปถึงการม่อยหลับก็ดี มันเข้าปากซอยเดียวกันชื่อ “ซอยวางความคิด” แต่เมื่อเดินไปถึงปลายซอย หมายถึงเมื่อวางความคิดได้มากระดับหนึ่งแล้ว มันจะเป็นทางแยกเข้าตรอกไปตรอกซ้ายและตรอกขวา ตรอกซ้ายคือความรู้ตัว ตรอกขวาคือภวังคจิตหรือม่อยกระรอก ตัวกำหนดว่าจะไปซ้ายหรือขวาคือความตื่นตัวระแวดระวัง (alertness) ถ้าเราเปิดใจโล่งผ่อนคลายและใส่ความตื่นตัวระแวดระวังให้มากตั้งแต่เริ่มเข้าปากซอยมา เราก็จะไปซ้าย ถ้าเราเพ่งจ้องบังคับกดข่มและซึมกะทือมาตั้งแต่แรกเข้าปากซอย เราก็จะไปขวา การใส่ความตื่นตัวระแวดระวังนี้ก็คือคำว่า “วิริยะ” ในภาษาบาลีนั่นเอง

     ประเด็นที่ ่ 7. เมื่อกลั้นหายใจเพื่อบีบความสนใจให้หันเหออกไปจากลมหายใจแล้วเกิดความโกรธ เมื่อตะกี้พูดแล้วนะว่าการทำอย่างนี้ไม่ใช่ คราวนี้เรามาเจาะที่ความโกรธที่เกิดขึ้นมาแล้ว ผมจะไม่พูดถึงกลไกที่ความโกรธเกิดขึ้นนะ แต่จะพูดว่าเมื่อเกิดความโกรธแล้วควรทำอย่างไร ผมแนะนำให้คุณถามหาว่า

     “ใครกันนะ..ที่โกรธ”

     ร่างกายที่ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือหน้าดำอยู่นั้นไม่ใช่ผู้โกรธแน่นอน เพราะร่างกายเป็นเพียงปลายทางของความโกรธ มองหาซิว่าใครที่โกรธ ความรู้ตัวของคุณหรือเปล่าที่โกรธ ไม่ใช่แน่ เพราะความรู้ตัวนั้นมีธรรมชาติเป็นอุเบกขา หมายความว่าไม่ว่าจะรับรู้อะไรก็นิ่งไม่ไปมีอารมณ์ด้วยกับสิ่งที่ถูกรับรู้นั้น รับรู้ไฟ ความรู้ตัวก็ไม่ไหม้ รับรู้น้ำ ความรู้ตัวก็ไม่เปียก รับรู้ความโกรธ ความรู้ตัวก็ไม่โกรธไปด้วยหรอก

     ถ้ายังงั้นใครกันที่เป็นผู้โกรธ ให้คุณเที่ยวหาไป หาไปหามาคุณจะพบเสมอว่าต้นตอความโกรธตั้งต้นด้วยอีกความคิดหนึ่งแค่นั้นเอง บางครั้งความคิดนั้นเหมือนจะโต้ตอบด่าว่าตัวเราด้วย เอ๊ะความรู้ตัวของเราไปทำให้เขาโกรธด้วยหรือ ไม่ใช่มั้ง ให้หาต่อไป หาไปหามาก็จะพบว่าแท้จริงแล้วมันโต้ตอบด่าว่ากับอีกความคิดหนึ่งซึ่งปลอมตนเป็นเรา คุณต้องระแวดระวังให้ดีไม่ให้หลงกลพวกมัน เพราะหากเราไม่รู้ทันความคิดนี้มันร้ายนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่หาตัวมันเจอและเฝ้าดู พิษสงมันก็จะหมดลงทันที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน
เรียน คุณหมอสันต์
ได้อ่านบทความ ใครกันนะ ..ที่โกรธ แล้ว อยากรบกวนถามต่อค่ะ
หากตามดูความคิดจนเห็นจิตมันคิด มันว่าง มันคิด..มันว่าง สลับกันอยู่ แม้ในขณะยืนจงกรม จนกระทั่งเกิดอาการวูบ เห็นความคิดวูบเป็นสายตามลงมา และมือที่ประสานกันอยู่ด้านหน้ากระตุกหลุดออกจากกัน พร้อมกับหลุดออกมาจากสมาธิ..น่าจะเป็นการการหลับทั้งยืนหรือเปล่าค่ะ แต่หากหลับ ทำไมมองเห็นความคิดเป็นสาย..ตามการวูบนั้น..อาการนี่เพิ่งเกิดเมื่อคืนค่ะ..แต่เคยกำหนดจิตอยู่ในท่าหมอบกราบแล้ววูบนิ่งไปเหมือนหลับไม่ทราบว่านานแค่ไหน แต่พอรู้สึกตัว..ก็ยังคงอยู่ในท่านั่งหมอบกราบหน้าผากจรดพื้นอยู่อย่างนั้น…เกรงว่าจะได้แค่จิตสงบและหลับสบายแทนที่จะได้เจริญก้าวหน้าทางวิปัสสนาค่ะ
………………………………………

ตอบครับ

อย่าไปให้ราคากับการเห็นความคิดเป็นสาย เห็นได้ แต่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไร เห็นแล้วรู้ว่าเห็นก็พอแล้ว

วูบแบบนั้นก็คือตกภวังค์ หรือม่อยกระรอก วิธีป้องกันก็คือใส่ความตื่นตัวระแวดระวังมากขึ้น แบบที่เต๋าบอกว่า

“ตื่นเหมือนนักรบที่กำลังลาดตระเวณอยู่ในถิ่นศัตรู

ระแวดระวังเหมือนคนที่กำลังเดินอยู่บนผิวน้ำแข็งเหนือธารน้ำ”

แล้วคุณจะไม่วูบบ่อย

…………………………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน 2
กราบสวัสดีครับอาจารย์สันต์ ที่เคารพ ผมนาย … เป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่รพช. … กระผมได้อ่านบทความจากที่อาจารย์ได้ตอบคำถามสมาชิกคนอื่นๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมเจอคนที่ตามหามานานมากๆ ไม่อยากจะหาแล้ว จริงๆแล้วมีอีกคนที่ตอบได้ แต่เมื่อได้มาติดตามบล็อกอาจารย์ ทำให้ผมค้นพบคนที่ตามตามหามานาน จริงๆผมตั้งใจจะอ่านบล็อกให้ครบทุกบล็อก แต่พออ่านมาถึงถึงบล็อกที่ชื่อว่า “ใครกันนะ…ที่โกรธ” ทำให้ผม รู้คำตอบที่หามานานในการฝึกสมาธิ หรือฝึกการรู้ ขอบพระคุณครับ มาเข้าเรื่องเลยนะครับ ผมอยากเรียนถามอาจารย์สั้นๆว่า อาจารย์มีคอร์ส การเรียนหรือการฝึก แบบที่อาจารย์อธิบายในบทความ”ใครกันนะ…ที่โกรธ” ไหมครับ ขอบพระคุณครับ

…………………………………………………..

ตอบครับ

ก็คอร์สฝึกสติรักษาโรค (MBT) ไงครับ มาเรียนสิ คุณมีพื้นดีอยู่แล้วน่าจะได้ประโยชน์มาก ครั้งหน้าวันที่ 5 สค. http://visitdrsant.blogspot.com/2017/04/mbt.html

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

สันต์