Latest

การอยู่รอด (surviving) ต่างจากการใช้ชีวิต (living)

เรียน อ.สันต์ ที่นับถือ

อาจารย์คะ ดิฉันอ่านบทความที่อาจารย์ตอบคุณครูคนหนึ่งซึ่งไม่อยากย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ที่ปักษ์ใต้ พูดประมาณว่าปล่อยคุณแม่ไปเถอะเพราะท่านแก่แล้ว ซึ่งคุณแม่ของคุณครูคนนั้นอายุห้าสิบกว่าเอง ดิฉันอายุ 55 ปี ถือว่าแก่เกินเปลี่ยนแปลงนิสัย ตรงๆเลยคือ สันดาน ไหมคะ
     วันก่อนลูกชายคนเล็กมายืนดูงานผ้า appliqué ที่แม่กำลังทำ แล้วบอกว่า มันก็สวยดีนะครับ แต่มันเดิมๆ คุณแม่ทำอย่างนี้ทุกที ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นๆบ้าง แม่ก็ตอบว่า ทำแบบอื่นแม่ไม่ชอบ ไม่ถนัด ลูกชายบอกว่า แม่ต้องออกจาก comfort zone ได้แล้วเพื่อขยายพื้นที่ comfort zone ให้กว้างขึ้น คราวนี้เราจะทำอะไรได้ง่ายขึ้นและหลากหลายขึ้น แล้วเราจะอยู่ที่ไหน สภาพแวดล้อมแบบไหน ก็ได้ง่ายขึ้นด้วย
      ดิฉันฟังลูก แล้วเก็บมาคิดอยู่หลายวัน เห็นภาพค่ะ ดิฉันมีความทุกข์ใจ คับข้องใจ อึดอัดใจ หลายเรื่อง ชีวิตไม่ค่อยมีความสุขทางใจ อาจจะเป็นอย่างที่ลูกพูดแน่ๆ ทำอะไรก็กลัวผิด ทำงานศิลปะก็แบบเดิมเพราะกลัวผิด (ไม่รู้เหมือนกันว่าผิดอะไร แต่กลัว) กลัวไม่ถูกแบบแผน ไม่เป็นอย่างที่เคยเป็นมา ฯลฯ รวมทั้งยังคอยกะเกณฑ์ให้คนรอบข้าง เช่น ลูก เป็นอย่างที่เราเคยใช้ชีวิตมา(แบบอึดอัด เป็นระเบียบ)
   แต่เรื่องของเรื่องคือ มันเปลี่ยนจากความมีระเบียบในชีวิตไปสู่อิสระยากจัง อยากให้อาจารย์เขียนในบล็อกเกี่ยวกับวิธีแก้ไขตัวเองในเรื่องอย่างนี้ให้อ่านจังค่ะ
ขอแสดงความนับถือ

……………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าอายุห้าสิบกว่าแล้ว ยังจะเปลี่ยนสันดานได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ คำโบราณที่ว่าสันดอนขุดได้สันดานขุดยากนั้นไม่เป็นความจริง เพราะสันดานก็คือ “ความคิด” หรือความจำ หรือคอนเซ็พท์ หรือความเชื่อเก่าๆที่ถูกเปิดขึ้นมาใช้ซ้ำๆซากๆจนเรานึกว่ามันเป็นของถาวรในใจเราไปเสียแล้วเพราะความที่มันโผล่ขึ้นมาบ่อย แต่จริงๆแล้วมันก็เป็นแค่ “ความคิด” ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนความคิดทั้งหลาย ไม่ใช่ของถาวร แค่เราเฝ้ามองหรือวางมัน มันก็จะฝ่อไปแล้ว มันเกิดอีก ถ้ามันมาอีก เราเฝ้ามองมันอีกหรือวางมันอีก มันก็จะฝ่อไปอีก การขุดสันดานก็คือการถอนความยึดถือในตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ไม่ใช่สรุปเอาแค่ง่ายๆว่ามันกลายเป็นสันดานไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว

     2. ถามว่าอายุมากทำให้การเปลี่ยนสันดานยากขึ้นจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ อันนี้มันไม่มีหลักฐานวิจัยอะไรไว้ดอกนะ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัยไว้ แต่ผมตอบคุณจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง อายุไม่สำคัญ สำคัญที่การฝึกสติให้แข็งแรงและการขยันบ่มเพาะความมุ่งมั่น (motivation) ให้คุโชนไว้ตลอด เมื่อเครื่องมือทั้งสองนี้แข็งแรง การเปลี่ยนแปลงสันดานของตัวเองก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ผมเองมาแก้ไขสันดานไม่ดีหลายอย่างได้เอาตอนแก่ ไม่ว่าจะเป็นการติดอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย การติดสไตล์ชีวิตที่อยู่เฉยๆนิ่งๆไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว และการติดการติดนิสัยคิดฟุ้งสร้านเลื่อนลอยไร้สาระไม่หยุดหย่อน การติดนิสัยชอบพิพากษาคนอื่นว่าโง่เง่าเต่าตุ่น การที่เราอ้างว่าสันดานอันนี้เลิกไม่ได้เพราะเราแก่แล้ว นั่นเป็นเพราะเรายังถูกครอบด้วยความคิดรักชอบและติดในสันดานอันนั้นอยู่ หมายความว่าลึกๆแล้วเรายังไม่อยากเปลี่ยนแปลง คือยังวางความคิดยึดติดนั้นไม่ลง หรือวางยังไม่เป็น

     3. ถามว่าแล้วทำไมหมอสันต์แนะนำคุณครูคนนั้นว่าอย่าไปยุ่งอะไรกับการแก้ไขคุณแม่เลย ตอบว่าเพราะในการแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตของคนเรา เราแก้ได้ที่ใจของเราเองเท่านั้น การจะไปมุ่งแก้ที่คนอื่นนั้นมันเป็นไปไม่ได้ หรือหากเป็นไปได้ก็เป็นไปได้แค่ชั่วคราว เพราะพฤติกรรมของคนอื่นเป็นอะไรที่ไม่เสถียรและเราควบคุมไม่ได้ เราจะไปแก้ปัญหาเอาที่ตรงนั้นได้อย่างไร เราต้องแก้ที่ใจของเราซึ่งหากเราสามารถวางความคิดลงเป็นแล้ว เมื่อใจอยู่ในความว่างที่มีแต่ความตื่นรู้ได้แล้ว ตรงนั้นมันเป็นอะไรที่เสถียรและถาวร ความคิดไม่ว่าจะลบหรือบวกใดก็ไม่อาจมาระคายเราได้อีกต่อไป

     4. แนวคิดเรื่องการออกจาก comfort zone ที่ลูกชายของคุณพูดถึงนั้น ก็คือการหัดวางเจ้าพวกความคิดเดิมๆเหล่านั้นนั่นเอง ความคิดเดิมๆเหล่านั้นแหละที่เรียกกันว่าเป็น “อัตตา” หรือ “อีโก้” หรือ “ตัวตน” หรือความเป็น “บุคคล” ของเรา การหลุดไปจากความคิดเหล่านั้นได้ก็คือการบรรลุโมกขธรรมหรือการบรรลุนิพพาน ที่ลูกชายคุณบอกว่า “เมื่อขยายพื้นที่ comfort zone ให้กว้างขึ้น คราวนี้เราจะทำอะไรก็ทำได้ง่ายขึ้นและหลากหลายขึ้น แล้วเราจะอยู่ที่ไหน สภาพแวดล้อมแบบไหน ก็ได้ง่ายขึ้นด้วย” นั่นแหละ คือสาระหลักของการบรรลุนิพพานที่คุณความจะนำมาฝึกปฏิบัติ

      5. ถามว่าในทางปฏิบัติจะเปลี่ยนจากความยึดติดระเบียบในชีวิตไปสู่อิสระได้อย่างไร ตอบว่าก็ทำด้วยการเริ่มลงมือวางความคิดทั้งหลายลง วางที่นี่เลย วางเดี๋ยวนี้เลย ความคิดที่ว่ามันเลิกยาก นั่นก็เป็นความคิด ให้วางมันลงไปก่อน วางลงหมายความว่าเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่คิดต่อยอด หรือหันหลังให้ซะ ความกลัวผิดก็เป็นความคิด วางมันลงไปก่อน อย่างน้อยก็ให้คุณรู้ (aware) ว่าความคิดกำลังเกิดขึ้น รู้ตัวว่าความรู้ตัวของคุณแยกออกมาเป็นคนละอันกับความคิดนั้น แต่ถ้าไม่ว่าจะหันหน้าไปไหน ความคิดนั้นก็ยังลอยอยู่ตรงหน้า ให้คุณเปลี่ยนวิธีใหม่ ไม่ต้องไปพยายามหนีหรือพยายามวาง แต่ให้อยู่กับมันแบบรับรู้ว่ามันอยู่นั่น สำคัญคือแยกให้ออกว่าคุณไม่ใช่สิ่งทีคุณกำลังมอง คุณไม่ได้ถูกขับเคลื่อนหรือผลักไสโดยความคิดนั้น คุณต้องไปให้พ้นคอนเซ็พท์ความเชื่อความยึดถือในความเป็นบุคคล (identity)ให้ได้ด้วยการวางความคิดทั้งหลายลง ไม่ใช่ด้วยการจมลึกลงๆไปในความคิด นั่นจะไปผิดทางแล้ว

     ควบคู่กันไปกับการลงมือปฏิบัติเรื่องวางความคิด ก็ให้หัดยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างนอกตัวที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ อย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับว่ามันมีอยู่แล้ว มันเป็นอยู่แล้ว อย่าไปพยายามพิพากษาตัดสินหรือแก้ไขอะไร บางอย่างในชีวิตคุณทำอะไรไม่ได้เลย คุณต้องยอมรับสิ่งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครเป็นสมบัติส่วนตัวของคุณที่คุณจะไปบริหารจัดการอะไรได้ แม้กระทั่งตัวคุณหรือร่างกายคุณเองยังไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของคุณเล้ย ให้คุณยอมรับทุกอย่างตามที่มันเป็นให้ได้ก่อนเป็นสะเต็พที่หนึ่ง ทำสะเต็พที่หนึ่งได้แล้วค่อยมาว่ากันถึงสะเต็พที่สองอันหมายถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆนอกตัว อย่ากระโดดไปที่สะเต็พที่สอง โดยยังไม่ได้ทำสะเต็พที่หนึ่ง เพราะจะตกลงมาดังป๊าบ เหมือนอย่างคนที่มีปัญหาในชีวิตทั้งหลายเขากำลังมีกัน คุณต้องหัดอยู่กับเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้คุณอยู่ที่นี่ กำลังอ่านบทความของผมอยู่ เป็นอิสระอยู่นะ ไม่มีอะไรมาบีบรัดคอคุณจนหายใจไม่ออก คุณยังหายใจเข้าออกได้สบายๆ นี่แหละคือชีวิต มีแค่นี้เอง คือเดี๋ยวนี้เท่านั้น

     การที่คุณมีความทุกข์ใจ คับข้องใจ อึดอัดใจ หลายเรื่อง ทำอะไรก็กลัวผิด นั่นเป็นเพราะคุณใช้ชีวิตในรูปแบบดิ้นรนเพื่ออยู่รอด (survival mode) ผมจะบอกคุณตรงนี้ว่าคุณไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่รอดนะ แต่เกิดมาเพื่อใช้ชีวิต

     “You are not here to survive, you are here to live.”

      การจะอยู่รอด (surviving) เราคาดการณ์อนาคต ดิ้นรน ไขว่คว้า กักตุน ปกป้อง

     แต่การใช้ชีวิต (living) เป็นการ “อยู่” (being) กับทุกอย่างที่นี่เดี๋ยวนี้อย่างเต็มอิ่ม  ชีวิตมันเป็นความเต็มอิ่ม (fullness) เป็นการแสดงออก (expression) เป็นความสร้างสรรค์ (creativity) และเป็นความเบิกบาน (joy)

     ชีวิตมันดำเนินไปอย่างกลมกลืนและเป็นธรรมชาติของมันเอง ต้นไม้มันผลิใบออกดอกได้โดยมันไม่ต้องตั้งใจก่อนว่าจะผลิใบ จะออกดอก เพราะชีวิตดำเนินไปด้วยพลังของธรรมชาติ (grace) ซึ่งคุณอาจจะยังไม่รู้จัก ยังไม่เข้าใจ การจะดำรงชีวิตให้กลมกลืนกับพลังของธรรมชาติ คุณจะต้องวางความคิดลงให้หมดก่อน ให้ใจคุณเหลือแต่ความว่างที่มีแต่ความตื่นและความสามารถรับรู้ก็พอแล้ว คุณต้องไปตั้งต้นที่ตรงนั้น คุณจึงจะเริ่มดำเนินชีวิตได้

    ฟังสำบัดสำนวนแล้วคุณเป็นคนฉลาด มีการศึกษาดี เป็นคนเจ้าความคิด แต่ขาดทักษะที่จะดำเนินชีวิตให้ตัวเองมีความสุข ชีวิตจึงตกอยู่ภายใต้อาณัติของความคิดตลอดเวลา เหมือนเป็นกระป๋องเก็บความเจ็บปวดแทนที่จะเป็นอิสรภาพที่เบิกบาน และมันจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปหากคุณไม่ลงมือปลดแอก (liberate) ตัวเอง

     ทำไมคุณไม่หาเวลามาเข้าเรียน MBT สักวันละ คุณได้จะฝึกหัดทักษะวางความคิดให้เป็น แล้วจากตรงนั้น คุณก็จะไปต่อของคุณเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์