Latest

เครื่องช่วยฟังแบบผ่านโทรศัพท์มือถือ (Personal sound amplifier)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมเป็นแฟนเงียบมาเก้าปี คือตามมาตั้งแต่คุณหมอเริ่มเขียน ไม่เคยถาม แต่คอยแอบจำคำแนะนำไปใช้ ตอนนี้มีปัญหาซึ่งไม่เห็นมีใครถาม คือผมอายุ 72 ปี แต่การได้ยินแย่มาก เปลี่ยน Hearing Aid ไปแล้วสามตัว ตัวสุดท้ายหมดไปแสนกว่าแต่ก็ไม่เห็นได้เรื่อง ต้องวางทิ้งไว้กลับมาใช้มือป้องหูประกอบกับการอ่านริมฝีปากเหมือนเดิม ผมยังแข็งแรงดีทำอะไรได้ แต่อยากได้ยินอะไรดีกว่านี้ คุณหมอสันต์มีคำแนะนำอะไรบ้างไหมครับ

………………………………………..

ตอบครับ

     ฮ้า.. จริงเหรอ ผมเขียนบล็อกนี้มาเก้าปีแล้วเหรอ เผลอเขียนเพลินจนไม่รู้ว่าเขียนมาแล้วนานขนาดนี้ มิน่า วันก่อนกูเกิ้ลเขียนมาบอกว่ามีคนเปิดอ่าน (page view) บล็อกนี้ครบ 20 ล้านแล้ว และชวนให้ผมรับโฆษณา ผมปฏิเสธไปเพราะกลัวตัวเองหาอ่านเรื่องที่ตัวเองเขียนไม่เจอ ผมเห็นบางเว็บของฝรั่งที่เขารับโฆษณากัน (รวมทั้งเว็บดีๆอย่างของ WebMD ด้วย) เนื้อหาที่จะอ่านหายากจนแทบไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน มีแต่โฆษณาเต็มไปหมด และบางครั้งกำลังอ่านเคลิ้มอยู่ดีๆก็มีวิดิโอโฆษณาป๊อบขึ้นมาส่งเสียงดังลั่นจนตกอกตกใจ แบบนั้นไม่ไหว แต่ผมก็ต้องทนอ่าน เพราะเว็บที่ดีแทบทุกเว็บมีโฆษณากันหมด จะมียกเว้นบ้างก็เฉพาะของรัฐบาลหรือองค์กรอย่างเช่น WHO หรือ FDA เป็นต้น

     พูดถึงการเขียนบล็อกในฐานะที่เป็นงานอดิเรก เมื่อปีก่อนผมทบทวนนโยบายงานอดิเรกหลังเกษียณของตัวเองครั้งใหญ่ โดยกำหนดคอนเซ็พท์เบื้องต้นว่างานอดิเรกใดที่ทำให้ต้องนั่งจุมปุีกอยู่กับที่ไม่ได้ออกกำลังกายหรือขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ผมจะเลิกให้หมดไม่ว่าจะลงทุนไปแล้วเท่าใด ภายใต้นโยบายนี้ก็ต้องเลิกความคิดที่จะเล่นเปียโนทั้งๆที่ตั้งเปียโนเรียบร้อยแล้ว และเลิกเขียนภาพ ทั้งที่เพิ่งหมดเงินไปกับอุปกรณ์ ขาตั้ง เฟรม ผ้าใบ พู่กัน และสี เป็นเงินหลายหมื่น แต่พอมาถึงการเขียนบล็อกซึ่งตามธรรมนูญใหม่ก็ต้องถูกเลิกด้วย ผมทำใจเลิกไม่ลง เพราะชีวิตติดการเขียนเสียแล้ว จึงตกลงสงวนการเขียนบล็อกไว้เป็นงานอดิเรกไว้อยู่แม้ว่ามันจะมีข้อเสียตรงที่ทำให้ต้องนั่งจุมปุีกไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็ตาม

     มาตอบคำถามของคุณดีกว่า ถามว่าชราแล้วหูตึง ปรับตัวเข้ากับเครื่องช่วยฟังไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ตอบว่า เมื่อไม่นานมานี้ ผมอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำที่รพ.จอห์น ฮอพคินส์ ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA โดยเอาคนชราหูตึงมา 42 คน อายุเฉลี่ยของคนเหล่านี้คือ 72 ปี คือเท่าคุณพอดี ให้คนเหล่านี้เข้ารับการทดสอบในห้องตรวจการได้ยิน (audiometry booth) แล้วบันทึกสมรรถภาพของการได้ยินเปรียบเทียบ 3 กรณี คือ
(1) ใช้หูเปล่าๆ
(2) ใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aid) มาตรฐาน  ราคา 1901 เหรียญ
(3) ใช้เครื่องขยายเสียงส่วนบุคคล (personal sound amplifier) ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงเล็กๆผ่านโทรศัพท์มือถึงมีที่เสียบหูและใช้เทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) เครื่องพวกนี้สั่งซื้อได้ง่ายๆทางอินเตอร์เน็ท โดยได้วิจัยแยกสี่ยี่ห้อ คือ
3.1 Sound World Solutions CS50+ (ราคา 270-350 เหรียญ)
3.2 Soundhawk, (ราคา 270-350 เหรียญ)
3.3 Etymotic Bean (ราคา 270-350 เหรียญ)
3.4 Tweak Focus (ราคา 270-350 เหรียญ)
3.5 MSA 30X (ราคา 30 เหรียญ)

     ผลวิจัยพบว่าสมรรถภาพการได้ยิน หากใช้หูเปล่าๆ จะได้ 77% หากใช้เครื่องช่วยฟังมาตรฐาน จะได้ 88% หากใช้เครื่องขยายเสียงส่วนบุคคลแบบแพงหน่อย ( 3.1-3.4) จะได้ 81-88% แต่หากใช้เครื่องแบบราคาถูกเหมือนได้เปล่า (3.5) จะได้ยินเพียง 65% คือประสิทธิภาพการได้ยินแย่กว่าใช้หูเปล่าๆเสียอีก

    ข้อสรุปจากงานวิจัยนี้ก็คือ หากไม่นับเครื่องชนิดราคาถูกมากระดับ 30 เหรียญแล้ว เครื่องขยายเสียงส่วนบุคคลที่เสียบหูกับโทรศัพท์มือถือที่มีราคาระดับ 270-350 เหรียญนั้นมีประสิทธิภาพในการช่วยฟังใกล้เคียงกับเครื่องช่วยฟัง (hearing aid) เลยทีเดียวแต่ราคาถูกกว่ากันมาก ทั้งผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เคยใช้ hearing aid มาแล้วกลับรู้สึกชอบเครื่องขยายเสียงแบบกิ๊กก๊อกนี้มากกว่า

     ดังนั้นผมแนะนำว่าเมื่อคุณไม่ถูกโฉลกกับ hearing aid ให้คุณหาซื้อเครื่องขยายเสียงส่วนบุคคลนี้มาลองใช้ดู มันอาจจะถูกโฉลกกับหูของคุณดีกว่าเครื่องช่วยฟังมาตรฐานก็ได้ แต่ว่าการลองนี้คุณต้องลองเองนะ หมอหูเขาไม่ลองให้หรอก เพราะเครื่องกิ๊กก๊อกนี้ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากอย. แพทย์จะไปสั่งจ่ายให้คนไข้ไม่ได้ มันผิดหลักวิชา ดังนั้นคุณต้องลุยเอง ชั่วดีถี่ห่าง คุ้มค่าเงินไม่คุ้มค่าเงิน คุณต้องยอมรับว่าเป็นผลงานของคุณเองทั้งหมด จะโทษใครไม่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. NS Reed et al.  Personal Sound Amplification Products vs a Conventional Hearing Aid for Speech Understanding in Noise. JAMA 318 (1), 89-90. PubMed: 28672306  DOI: 10.1001/jama.2017.6905