Latest

นักศึกษาสถาปัตยกรรม ปี 5 กับการหยุดยั้งความกลัว

เรียน อาจารย์หมอ
ลูกชาย อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรม ปี 5 ปกติแข็งแรงดี ช่วงนี้ ต้องไปฝึกงาน ตามที่มหาวิทยากำหนด เมื่อวันที่ 30 สค 60 เวลา 18.30 น.หลังเลิกงาน ระหว่างนั่งรถ BTS เพื่อกลับบ้าน มีอาการจุกที่ลิ้นปี่ หัวใจเต้นเร็ว อึดอัด หายใจไม่ออก ชาคล้ายเป็นเหน็บที่มือและเท้า จากนั้นก็ชาไปทั้งตัวจนถึงหัว แล้วก็รู้สึกไม่มีแรงคล้ายจะเป็นลม มีอาการแบบนี้ ประมาณ 5-10 นาที คุณพ่อ จึงรีบเดินทางไปหาและพาไปรพ.เซ็นหลุย หมอเช็คการทรงตัว ปรากฎว่า ลูกไม่สามารถเอานิ้วไปแตะที่นิ้วของหมอได้ หมอแจ้งว่าเป็นอาการของน้ำในหูไม่สมดุล จึงฉีดยา และให้ยามาทาน  (ความจริงลูกบอกว่าแตะไม่ถูกนิ้วหมอเพราะรู้สึกไม่มีแรง)
เมื่อวัยเด็ก อายุ 7 ขวบ ลูกเคยมีปัญหาเรื่องไม่ได้ยิน 1 ข้าง  เนื่องจากพาไปว่ายน้ำ แล้วมีอาการคล้ายหูน้ำหนวก แต่อาการดังกล่าวไม่เป็นอีกเลย คุณแม่ จึงตั้งใจว่าจะพาไปตรวจเรื่องหูของลูก อีกครั้ง แต่เมื่อวันที่ 7 กย 60 เวลา 18.30 น.หลังเลิกงาน ระหว่างนั่งรถ BTS เพื่อกลับบ้าน มีอาการแบบเดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง และ เมื่อวันที่ 11 กย 60 เวลา 8.00 น.ระหว่างนั่งรถยนตฺของแม่ เพื่อไปส่งขึ้น BTS เพื่อไปทำงาน ก็มีอาการจุกที่ลิ้นปี่ ประมาณ 5 นาที แต่ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย คุณแม่จึงพากลับบ้าน
ลูกบอกว่า เมื่อหลายเดือนก่อน เคยมีอาการจุกลิ้นปี่ อึดอัดหายใจไม่สะดวก ตอนที่เข้านอนแต่ยังไม่หลับ จึงลุกขึ้นนั่ง และไปทานน้ำ อาการก็ดีขึ้น จึงไม่ได้บอกให้แม่รู้ เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร ค่ะ
คุณแม่  จึงขอปรึกษาอาจารย์หมอ ว่า
1 ) คุณแม่ ควรพาลูกไปตรวจเฉพาะทางด้านไหนดีคะ หากสามารถแนะนำชื่อแพทย์ หรือ รพ. จะเป็นพระคุณอย่างสูง
2)  ควรปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อเกิดอาการดังกล่าว
3) มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้อย่างไร
ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง ค่ะ

(ชื่อ) ………..
(โทรศัพท์) …………….

……………………………………………………..

     ตอบครับ

     ก่อนจะตอบคำถาม มาวินิจฉัยโรคกันก่อนนะ ผมวินิจฉัยทางอากาศว่าเป็นโรคกลัวเกินเหตุ หรือ Panic disorder คือโรคนี้วินิจฉัยเอาจากอาการ ไม่ต้องตรวจทางแล็บยืนยัน ดังนั้นถ้ามีอาการครบเกณฑ์โดยที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้เลยครับ เกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV) นิยามโรคนี้ว่าอยู่ๆก็กลัวอะไรขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย กลัวแบบสุดขีด (intense fear) ขึ้นถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 10 นาที และต้องมีอาการร่วมคือ (1) กังวลว่าจะกลับเป็นอีก (2) กังวลว่ากลับเป็นแล้วจะมีผลเสียตามมา (3) มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเพราะความกลัวนั้น ทั้งนี้อาการเหล่านี้ต้องไม่เกิดจากยา หรือการเจ็บป่วยอื่นใด และต้องเป็นอยู่นานเกินหนึ่งเดือน โดยต้องมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างใน 13 อย่างต่อไปนี้
1.1 ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
1.2 เหงือแตก
1.3 ตัวสั่นหรือสะทกสะท้าน
1.4 หายใจสั้นๆขัดๆ
1.5 รู้สึกอะไรติดคอ หายใจไม่ได้
1.6 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกหรืือลิ้นปี่
1.7 คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
1.8 เวียนหัว หรือเป็นลม ทรงตัวไม่ได้
1.9 เหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้ายๆกับผีเข้า
1.10 กลัวคุมสติไม่อยู่ กลัวจะเป็นบ้า
1.11 กลัวตาย
1.12 รู้สึกชาๆตื้อๆหรือเหมือนมีแมลงไต่ที่ผิวหนัง
1.13 หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ

     โดยที่ต้องวินิจฉัยแยก (differential diagnosis) โรคหัวใจขาดเลือด (หมายความว่าต้องตรวจคัดกรองก่อนว่าไม่ได้เป็น) การวินิจฉัยแยกก็ทำโดยการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการออกกำลังกาย(วิ่งสายพาน) หากได้ผลลบก็สบายใจได้ว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะได้มุ่งรักษาที่โรคกลัวเกินเหตุอย่างเดียว ในทางปฏิบัติเนื่องจากโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดในคนอายุขนาดนี้มีน้อย จึงมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือวินิจฉัยโรคด้วยการทดลองรักษา (therapeutic diagnosis) คือรักษาโรคกลัวเกินเหตุไปเลยโดยไม่ต้องตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ถ้ารักษาแล้วหายก็จบไม่ต้องไปยุ่งกับหัวใจเลย

     โรคนี้วิชาแพทย์จัดเข้ากลุ่มโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นไม่ต้องไปพยายามหาว่ากลัวอะไร เพราะหาไปก็หาไม่เจอ

     โอเคนะ ทีนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าควรพาลูกไปตรวจเฉพาะทางด้านไหนดี ตอบว่าด้าน “จิตเวช” ครับ

     2. ถามว่าช่วยแนะนำชื่อแพทย์ให้ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะแพทยสภาห้ามไว้ เกรงจะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา หมายความว่าแพทยสภากลัวแพทย์จะช่วยกันหาคนไข้ให้กันและกันโดยการทำทีเป็นแนะนำคนไข้ด้วยความหวังดี จึงได้ห้ามไว้ไม่ให้ทำ

     3. ถามว่าช่วยแนะนำชื่อรพ.ให้ได้ไหม ตอบว่ารพ.ทั่วไประดับรพ.จังหวัดขึ้นไปแทบทุกแห่งมีจิตแพทย์หมด แต่หากจะไปรพ.เฉพาะโรคนี้เลย ถ้าอยู่ในกรุงเทพก็รพ.สมเด็จเจ้าพระยาและรพ.ศรีธัญญาไงครับ ถ้าเป็นรพ.เอกชนก็รพ.มนารมย์

     4. ถามว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะป้องกันโรคนี้ได้ ตอบว่าให้ฝึกสติ หรือฝึก “ความรู้ตัว” ครับ

     กลไกการเกิดความกลัวเกินเหตุหรือ panic คือมันเริ่มต้นด้วย “ความคิด” ที่ดูธรรมดาๆไม่มีพิษสงก่อน แล้วในภาวะที่ไม่รู้ตัว (ไม่ได้หมายถึงสลบนะ แต่หมายถึงภาวะที่เผลอไม่ได้ระแวดระวังว่าในใจมีความคิดอะไรก่อตัวขึ้น) ความคิดนั้นจะก่อตัวขึ้นมาเงียบเชียบ ความคิดนั้นเกิดทันทีแล้วดับทันทีก็จริง แต่แต่ละความคิดมันจะทิ้ง “เชื้อ” ไว้ให้เกิดความคิดใหม่ที่คล้ายๆกันเบิ้ลขึ้นมา เบิิ้ล เบิ้ล เบิ้ลแต่ละครั้งก็จะขยายความใหญ่ขึ้นในเชิงลบ หมายความว่ามีส่วนของความกังวลมากขึ้น มีส่วนของความกลัวมากขึ้น จนความกลัวพุ่งปรี๊ด..ด จนกลายเป็นอาการต่างๆทางร่างกายที่ผมลิสต์ไว้ข้างบนนั่นแหละ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ การฝึกสติจะป้องกันไม่ให้ความกลัวเกินเหตุก่อตัวขึ้นได้อย่างชะงัด

     วิธีฝึกสติหรือฝึกความรู้ตัวถ้าไม่รู้ก็หาอ่านเอาได้ในบล็อกนี้ อยู่ตรงไหนบ้างไม่รู้คุณใช้อากู๋ค้นหาเอาเองนะเพราะผมเขียนไปบ่อยแล้ว หรือหาอ่านเอาตามหนังสือซึ่งมีเขียนแนะนำกันไว้เยอะแยะมากมาก ถ้าอ่านแล้วก็ยังทำเองไม่เป็นก็ให้ไปเข้าคอร์สเรียนแค้มป์ฝึกสติรักษาโรค (MBT)

     5. ถามว่าเมื่อโรคนี้มีอาการขึ้นมาแล้ว จะทำอย่างไร ตอบว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว แน่นหน้าอกมือเท้าชาไปเรียบร้อยแล้ว สิ่่งที่พึงทำคือการยุติความกลัวนั้นแบบทันที ซึ่งต้องทำให้เป็น ถ้าทำไม่เป็นยิ่งพยายามก็ยิ่งกลัวมากขึ้น เปรียบไปก็เหมือนนักดนตรีคนหนึ่งกำลังตีกลองร้องเพลงอยู่ หากเราใช้ให้คนอีกคนหนึ่งเอาไม้เคาะโต๊ะให้ดังโป๊ก..ก เพื่อให้การตีกลองร้องเพลงนั้นสะดุดลง ถ้าคนเคาะเป็นคนที่ร้องเพลงเล่นดนตรีอยู่แล้ว เคาะอย่างไรก็จะไปตกลงพอดีกับจังหวะของกลองพอดี ไม่สามารถหยุดจังหวะของเพลงให้สะดุดลงได้ มีแต่จะไปเสริมจังหวะและทำนองของเพลงให้หนักแน่นขึ้น แต่หากให้เด็กไร้เดียงสาหรือจับกังที่ไม่เป็นมวยเลยในเรื่องการดนตรีการร้องเพลงเป็นคนเคาะ เคาะโป๊กเดียวเสียงก็จะตกลงอย่างเปะปะในช่วงระหว่างจังหวะของกลองมีผลให้ท่วงทำนองของเพลงสะดุดกึกลงทันที

     ฉันใดก็ฉันเพล ความคิดที่กำลังเบิ้ลตัวเองซ้ำๆๆเป็นลูกระนาดนั้น หากเป็นคนเจ้าความคิดที่ชำนาญแต่การปล่อยให้ความคิดเด้งต่อตัวเล่นกายกรรมกันขึ้นไปเป็นทอดๆ ก็ไม่มีทางหยุดความคิดนั้นด้วยตัวเองได้ ยิ่งพยายามจะหยุดก็ยิ่งจะไปเสริมความคิดนั้นให้หนักแน่นขึ้น ได้แต่ร้องว่า ฉันหยุดคิดไม่ได้ ฉันหยุดคิดไม่ได้ ฉันหยุดคิดไม่ด้าย..ย ดูไปก็เหมือนคนเสพย์ติดความคิดที่ลึกๆแล้วไม่อยากจะหยุดคิด แต่ความจริงไม่ใช่ เขาอยากจะหยุดคิดแต่เขาไม่มีทักษะที่จะหยุดความคิดต่างหาก

     แต่ถ้าเป็นคนที่ฝึกสติหรือความรู้ตัวมา แค่ย้อนไปมองดูความคิด ความคิดก็หยุดกึกลงแล้ว เนี่ย มันง่ายขนาดนี้เลยทีเดียวเชียวนะคะคุณแม่ขา

     ในขณะที่ยังไม่เป็นมวยเลยในเรื่องสติหรือความรู้ตัวนี้ ผมแนะนำให้ใช้เทคนิคของน้องหมาไปพลางก่อน ผมเรียนรู้เรื่องนี้มาจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นวิศวกรเกษียณแล้วไปอยู่ที่มวกเหล็กวาลเลย์ ความที่เป็นนายช่างใหญ่ผู้เต็มไปด้วยพลัง พี่เขาตัวเดียวคนเดียวแต่ลงมือปลูกบ้านหลังเบ้อเร่อเองเลย โดยใช้วิธีนอนกางเต้นท์อยู่ที่ชายป่าตลอดการก่อสร้างซึ่งใช้เวลาหลายปี ความที่กางเต้นท์นอนอยู่คนเดียว แห้งอยู่คนเดียว เปียกอยู่คนเดียวกลางป่า ทำให้ได้ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ชื่อ “ไอ้เหลือง” เป็นสุนัขพันธุ์ทางซึ่งมานอนเป็นเพื่อนพี่เขาที่ข้างเต้นท์ทุกคืน พี่เขาเล่าว่าไอ้เหลืองมันเป็นหมาฟุ้งสร้าน เวลาคิดอะไรมากมายมันจะหงุดหงิดยุกยิกๆฟืดฟาดๆแล้วมันก็จะถอนหายใจเสียเฮือกหนึ่งแล้วมันจึงจะสงบลงได้ คืนหนึ่งขณะที่พี่เขากำลังเพลินกับความวิเวกอยู่ในเต้นท์ ไอ้เหลืองก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ทำลายความเงียบขึ้นมาทำให้บรรยากาศเสียหมด พี่เขาเลยตวาดข้ามผนังเต้นท์ออกไปว่า

     “มึงจะคิดอะไรของมึงนักหนาวะ..ไอ้เหลือง”

     ฮิ ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     การประยุกต์ใช้เทคนิคของไอ้เหลืองก็คือเวลาที่กำลังแน่นหน้าอกหายใจเร็วฟืดฟาดได้ที่อยู่นั้น
 ให้จงใจหายใจเข้าลึกๆเต็มๆแบบนับได้ช้าๆจาก 1 ถึง 15 โน่นเลย แล้วกลั้นใจนิ่งไว้นานๆ นับได้อย่างน้อยสัก 1 ถึง 8 แล้วค่อยๆจงใจผ่อนลมหายใจออกมาทางปากช้านับได้ถึง 15 เช่นกัน คือหายใจออกจนหมดลมในปอด ขณะหายใจออกก็บอกให้ทั้งร่างกายผ่อนคลายไปด้วย ทำอย่างนี้ซ้ำสักสามรอบ ความคิดที่กำลังต่อตัวเล่นกายกรรมกันอยู่ก็จะสะดุดหยุดลงได้ อาการที่กำลังเป็นอยู่ก็จะหายไป    

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision. Washington, DC: American Psychiatric Press; 2000.

2. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.