Latest

พอกันทีกับชีวิตที่เก่าๆอับๆเหมือนขนมปังขึ้นรา

จดหมายฉบับที่ 1.
หนูอายุ 34 เป็นมะเร็งเต้านม แม่ก็เป็นมะเร็งเต้านมผ่าตัดแล้วกลับเป็นอีก ต้องผ่าตัดซ้ำสอง เคมีบำบัด สุดท้ายก็เสียชีวิต ของหนูตัดชิ้นเนื้อแล้ว หมอนัดทำผ่าตัดพย. หนูกลัวว่าจะกลับเป็นหลังผ่าตัดเหมือนแม่ และกลัวว่าจะเป็นที่อีกข้างหนึ่งด้วย อยากให้หมอตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง หมอคนหนึี่งเชียร์ให้หนูตัดเต้านมออกสองข้าง แต่หมออีกคนหนึ่งเกี่ยงให้ตรวจยีน BRCA ก่อน อยากถามความเห็นคุณหมอสันต์ด้วยค่ะว่าหนูควรตรวจยีน BRCA ไหม หรือควรจะตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเลย

จดหมายฉบับที่ 2.
ผมไม่มีความสุข แต่งงานแล้วเลิกแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 5 ปี ไม่มีลูก ก่อนแต่งก็อยากแต่ง คาดหวัง เสาะหา ได้พบ ร่าเริงกับมัน พอแต่งแล้วก็เกิดเบื่อหน่ายความยึดถือผูกพันจนต้องทิ้งมันไป แล้วก็เกิดความโหยหา อยากแต่งงานใหม่อีก หาใหม่อีก ตอนนี้เจอคนที่สามแล้ว เธอไม่มีความบกพร่องที่สองคนแรกมี ตรงนั้นผมมั่นใจ แต่ความสุขในภาพรวมผมก็ไม่แน่ใจ ผมไม่ใช่เสือผู้หญิงนะครับคุณหมออย่าเข้าใจผมผิด ผมเพียงเสาะหาความสุขและความเต็มอิ่มในชีวิตที่แท้จริง คุณหมอสันต์ว่าผมจะพบสิ่งนั้นไหมถ้าผมแต่งงานครั้งที่สาม พ่อผมก็มีเมียสองคน ผมเป็นลูกเมียคนที่สอง จะเกี่ยวกันไหมครับ

………………………………..

ตอบครับ

      ท่านผู้อ่านอาจจะงงที่ผมเอาจดหมายสองฉบับซึ่งเนื้อหาไม่เกี่ยวกันเลยมารวบตอบพร้อมกัน แต่มันเกี่ยวกันตรงที่ทั้งสองฉบับมีเนื้อหาเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในวังวนเก่าที่ผูกเอาความจำจากอดีตเข้ากับคอนเซ็พท์เรื่องเวลาในอนาคต คนหนึ่งผูกความเจ็บปวดในอดีตกับคอนเซ็พท์เรื่องอนาคตขึ้นมาเป็นความกลัว อีกคนหนึ่งผูก “ความอยาก” ที่เกิดขึ้นแต่อดีตกับคอนเซ็พท์เรื่องอนาคตขึ้นมาเป็นความคาดหวัง ทั้งความกลัวและความหวังต่างก็เป็นความคิดหน้าเดิมๆทั้งคู่ มันฉายซ้ำในชีวิตเราซ้ำซากจนทำให้ชีวิตของเราเป็นหนังเรื่องเก่าหรือชีวิตเก่าๆอับๆเหมือนขนมปังขึ้นรา นั่นคือประเด็นที่ผมจะเขียนถึงวันนี้

     แต่ก่อนที่จะเข้าประเด็นของผม ขอตอบคำถามของทั้งสองท่านก่อนนะ

     ท่านแรก ถามว่าควรตรวจยีน BRCA ไหม และควรตัดเต้านมอีกข้างทิ้งด้วยไหม ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆยืนยันว่าการตัดเต้านมอีกข้างหนึ่งซึ่งยังดีๆอยู่ทิ้งไปพร้อมกับข้างที่เป็นมะเร็ง หรืออยู่ดีๆก็ตัดนมดีๆทิ้งทั้งสองข้าง จะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะมียีน BRCA1 และยีน BRCA2 หรือไม่ก็ตาม นี่ผมพูดถึงอัตราตายนะ ตายจริงๆ เด๊ดสะมอเร่ ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งซึ่งเป็นผลจากการคิดคำนวณเชิงสถิติที่แพทย์ส่วนหนึ่งใช้โปรโมตการตัดเต้านมดีทิ้งในปัจจุบัน หมอสันต์แนะนำว่าคุณไม่ควรตรวจยีน BRCA และไม่ควรตัดเต้านมอีกข้างหนึ่งครับ แต่ว่าเรื่องนี้หมอสองคนก็สองความเห็น สถิติอัตราตายยืนยันยังไม่มี ดังนั้นก็สุดแล้วแต่คุณจะเชื่อใคร

     ท่านที่สอง ถามว่าผิดหวังกับการแต่งงานมาแล้วสองครั้ง หากแต่งงานคร้ั้งที่สามจะพบกับความสุขหรือความอิ่มเอมในชีวิตไหม ตอบว่าไม่พบครับ เพราะความสุขหรือความอิ่มเอมที่คุณอยากพบนั้นมันอยู่ที่่ความรู้ตัวซึ่งอยู่ข้างในตัวคุณ คุณไปหาข้างนอกหาให้ตายก็ไม่พบหรอกครับ อีกอย่างหนึ่งคุณกังวลว่า “ตัวคุณ” จะไม่มีความสุข แต่ผมจะบอกคุณว่าตราบได้ที่ยังมี “ตัวคุณ” อยู่ คุณไม่มีวันพบความสุข คุณจะต้องไปให้พ้นความเป็นบุคคลของคุณ แล้วคุณจึงจะพบความสุข

     เอาละ ตอบคำถามที่คุณสองคนตั้งใจถามมาหมดแล้ว คราวนี้มาพูดถึงเรื่องที่ผมอยากจะพูด คือเรื่องชีิวิตที่เก่าๆ อับๆ เหมือนขนมปังขึ้นรา

     ประสบการณ์ชีวิตของคนเรามีทั้งความรื่นเริงบันเทิงใจและความเจ็บปวด ความรื่นเริงบันเทิงใจเป็นจุดสิ้นสุดของความเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันความเจ็บปวดก็เป็นจุดสิ้นสุดของความรื่นเริงบันเทิงใจ สองอย่างผลัดกันแสดงเป็นวงจรที่ไม่รู้จบสิ้น ตราบใดที่เราไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรนี้ได้ ชีวิตก็ไม่พ้นจะต้องพบแต่เรื่องเก่าๆอับๆเหมือนขนมปังขึ้นรา

     การที่กระบวนการคิดของเราเป็นแบบวงจรซ้ำซากอัตโนมัติหรือรีเฟล็กซ์ (reflex) ทำให้เรายิ่งไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่สดๆซิงๆใหม่ๆกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่ตัวเราในปัจจุบันเลย เพราะกระบวนการคิดของเราลากเราออกจากปัจจุบันไปจมอยู่กับความคิดลบในมิติของอนาคตตลอดเวลาทั้งๆที่อนาคตนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง

     ท่านผู้อ่านท่านแรกที่เป็นคุณผู้หญิงถูกกระบวนการคิดผูกเอาความเจ็บปวดในอดีตที่แม่กลับเป็นมะเร็งซ้ำหลังการผ่าตัดมาสร้างเป็นความกลัวอนาคตว่าตัวเองจะเป็นเช่นนั้น แล้วพยายามวิ่งหนีความกลัวนั้นโดยวิธีต่างๆนาๆ รวมทั้งคิดจะตัดเต้านมดีๆของตัวเองทิ้งไปเสียด้วยเพื่อดับความกลัวนั้น แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่กลัวนั้นคืออนาคตที่ไม่มีอยู่จริงนะ

    ท่านผู้อ่านท่านที่สองซึ่งเป็นคุณผู้ชาย ถูกกระบวนการคิดผูกเอาความอยากได้ในอดีต (จากการเห็นพ่อแม่ไม่ได้ครองคู่แบบรักเดียวใจเดียวลึกซึ้งหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ) มาสร้างความคาดหวังว่าอนาคตมันจะต้องดีเลิศอย่างนั้นอย่างนี้ และเมื่อปัจจุบันมันไม่ได้สะเป๊คนั้นก็ทิ้งมันเพื่อไปหาอนาคตครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งก็อีกหงะ อนาคตมันไม่ได้มีอยู่จริง

     นี่เป็นชีวิตในร่องเก่าๆเดิมๆอับๆชืดๆที่ผูุ้คนต่างก็ใช้ชีวิตแบบแผ่นเสียงตกร่องเอาความจำจากอดีตไปวาดอนาคตเช่นนี้ซ้ำๆซากๆมานานแสนนาน ทุกคนต่างก็ใส่เกียร์เดินหน้ามุ่งไปยังอนาคต ไปแบบเพื่อหนีความกลัวบ้าง ไปแบบเพื่อแสวงหาความหวังบ้าง ไม่มีใครใส่เกียร์ว่างจอดนิ่งๆเฝ้าดูปัจจุบัน แล้วจะมีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตแบบสดๆใหม่ๆซิงๆได้อย่างไรละครับ เพราะสิ่งใหม่ๆสดๆซิงๆมันผ่านเข้ามาสู่ชีวิตที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ที่ในอนาคต เดี๋ยวนี้ต่างหากที่เป็นโมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิต เดี๋ยวนี้คือโมเมนต์ที่ไม่มีความกลัว ไม่มีความกังวล ไม่มีความอยาก ไม่ต้องรอความหวัง ไม่ต้องรออะไร เพราะเดี๋ยวนี้คือความรู้ตัว ไม่มีความคิด ไม่มีคอนเซ็พท์ใดๆให้หวัง ให้รอ หรือให้กลัวทั้งสิ้น กล่าวโดยสรุป..เดียวนี้ คือความหลุดพ้น

      “แล้วทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นละ ลบความจำทิ่้งเสีียให้หมดจะได้ไหม” 

     ตอบว่าน่าเสียดายที่ความจำของเรานี้มันลบทิ้งไม่ได้หรอกครับ ขนาดเอาเครื่องไฟฟ้าช็อกสมองจนร่างกายชักกระตุกแด๊กๆๆๆ ยังลบความจำไม่ได้เลย ยาเสพย์ติดหรือเครื่องดื่มบางชนิดอาจจะลบความจำได้ชั่วขณะ แต่ก็แป๊บเดียว อย่างมากสองวัน แล้วมันก็กลับมา

     แท้จริงความหลุดพ้นหรือการเห็นความจริงนั้นง่ายราวกับการเห็นเงาตัวเองในกระจก ขอแค่กระจกนั้นใส หมายถึงใจต้องเงีียบไม่ถูกบิดเบือนโดยความอยากและความกลัว ปลอดคำพิพากษา ความเห็น และข้อเสนอแนะ ไม่ยึดติดเกี่ยวพัน ก็จะสะท้อนความจริงให้เห็นได้ แต่เมื่อกระจกคือใจเรานี้มันไม่ใส มันก็เลยสะท้อนให้เห็นอะไรไม่ได้ มองกระจกก็เห็นแต่ฝุ่นฝ้าของความจำสั่วๆของเราเอง ความรื่นเริงบันเทิงใจและความเจ็บปวดในอดีตซึ่งถูกเก็บไว้ในความจำนั้นมันคอยผุดขึ้นมาต่อประกอบกันเป็นวงจรรีเฟล็กซ์ ที่อาศัยสำนึกว่าเราเป็นบุคคลคิดถักทอเชื่อมโยงร่างกายเข้ากับคอนเซ็พท์ของเวลาคืออนาคต โดยมีเป้าหมายคือแสวงหาความรื่นเริงบันเทิงให้ยิ่งขึ้นไป (ความอยาก) หรือหนีความเจ็บปวดสุดชีวิต (ความกลัว) ดังนั้นความเชื่อที่ว่าร่างกายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นบุคคลคนหนึ่งของเรานี่เองที่เป็นฐานรากให้เกิดวงจรรีเฟล็กซ์เหล่านี้ขึ้นในใจซ้ำซากไม่หยุดหย่อน การวางความคิดลง วางความเชื่อว่าเราเป็นร่างกายนี้ลงนั่นแหละ เป็นการตั้งต้นกระบวนการดึงเอาความเป็นจริงกลับมา

     ทั้งหมดนี้มันจะต้องเริ่มต้นด้วยความเชื่อก่อน คุณจะเชื่อที่ผมพูดดื้อๆ หรือจะสืบค้นจนตระหนักด้วยตัวคุณเองก็ได้ ถ้าคุณเชื่อผมดื้อๆ คุณก็จะไปได้เร็วหน่อย ถ้าคุณพยายามสืบค้นให้เห็นเอง คุณก็ไปได้ช้าหน่อย แต่ไม่ว่าไปทางไหน คุณก็ต้องไปถึงจุดที่จะต้องทดลองทำ action หมายถึงทำตามที่คุณเห็นว่ามันเป็นความจริง

     “เดี๋ยว..เดี๋ยว อย่างนี้ก็แปลว่าหมอสันต์สอนให้เชื่อแบบงมงายสิ”

     ทุกวันนี้คุณก็เชื่ออย่างงมงายอยู่แล้วนะ คือเชื่อว่าคุณคือร่างกายนี้ซึ่งจะคงที่สถาพรไม่บุบสลาย ผมเพียงแค่ให้คุณเอาอีกความเชื่อหนึ่งที่เป็นแค่ความคิดเช่นเดียวกัน แต่ว่ามันจะมีผลหักล้างกันและกัน มาขึ้นเวทีต่อสู้กัน สู้กันไปสู้กันมาท้ายที่สุดจะไม่เหลือความเชื่ออะไรเลย จุดนั้นแหละที่ผมต้องการ จุดที่ไม่เหลือความคิดคอนเซ็พท์หรือความเชื่ออะไร แล้วความรู้ตัวซึ่งเป็นตัวคุณที่แท้จริงก็จะปรากฎตัวให้เห็น

     “ที่ว่าเอาขึ้นเวทีต่อสู้กันเนี่ย ในทางปฏิบัติต้องทำอย่างไร มันจะเวิร์คได้อย่างไรคะ”

     ก็ด้วยการทดลองทำ ทดลองใช้ชีวิตตามความเชื่อใหม่ที่ผมยัดเยียดให้อย่างน้อยสักระยะหนึ่ง สามเดือนหกเดือน วิธีการคือในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อคุณเดินไป ให้มองให้ออกว่าคุณมีสองคน คนหนึ่งคือคุณที่เป็นบุคคลนี้ร่างกายนี้ อีกคนหนึ่งคือคุณสมัยที่ยังเป็นเด็กทารกอายุสองเดือนขี่คอคุณคนที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ เด็กทารกมีแต่ความสามารถรับรู้และสังเกตโดยไม่มีความคิด ไม่มีคอนเซ็พท์ ไม่มีความเชื่อใดๆ ให้คุณหมั่นมองชีวิตประจำวันออกมาจากคุณคนที่เป็นเด็กทารก สังเกตเฉยๆ ขยันบอกตัวเองว่าร่างกายที่เดินอยู่นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราด้วย เพราะที่ความรู้ตัวไม่มีคอนเซ็พท์ใดๆ คอนเซ็พท์การเป็นเจ้าของก็ไม่มี สิ่งที่คุณพร่ำบอกตัวเองมันจะถูกเก็บเข้าไปเป็นความจำ แล้วมันจะโผล่ออกมาเป็นการกระทำ ซึ่งเป็นวงจรรีเฟล็กซ์เช่นเดียวกันกับการแสดงออกของความคิดทั้งหลาย เมื่อมันโผล่ออกมามันก็จะตีกับความคิดเดิม ปล่อยมันทะเลาะกันไป ตีกันไป ท้ายที่สุดก็จะไม่มีฝ่ายไหนเหลือ เหลือแต่คุณคนที่เป็นเด็กทารกอายุสองเดือนที่เฝ้าสังเกตอยู่ เมื่อใจไม่มีความเชื่อผิดๆให้ฝ้าหมอง กระจกนั้นก็จะใส แล้วคุณก็จะเห็นเงาสะท้อนของความรู้ตัว ให้คุณเห็นอย่างนี้และลงมือทำตัวตามอย่างนี้ เมื่อได้จมลงลึกไปในความรู้ตัวได้ระดับหนึ่ง พลังเมตตาจะแผ่สร้านขึ้นมา เมื่อได้สัมผัสความสงบเย็นโดยไม่ต้องไปพึ่งสิ่งภายนอก ความสงสัยใดๆที่มีอยู่ก็จะหายไป
   
     “อาจารย์อธิบายให้มากกว่านี้อีกสักหน่อยเถอะ”

     ก็ได้ แต่ของบางอย่างยิ่งพูดยิ่งไม่เข้าใจ แล้วคุณอย่าว่าผมนะ คือประสบการณ์ในชีวิตทุกชนิดเป็นภาพหลอนทีี่เกิดขึ้นในคอนเซ็พท์เวลาหรือในมิติเวลา แต่ว่าในทุกประสบการณ์จะมีปัจจัยหรือองค์ประกอบหนึ่งซึ่งอยู่นอกมิติของเวลาคลุกเคล้าอยู่ด้วยเสมอ องค์ประกอบนั้นก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” นั่นแหละ แต่ว่าความรู้ตัวนี้มันก็มีได้ถึงสามสถานะ กล่าวคือ

     ในสถานะที่ 1. ถ้าเป้าที่ความรู้ตัวไปรับรู้นั้นเป็นเป้าที่ถักทอขึ้นมาจากความคิดอย่างซับซ้อนแนบเนียนกลายเป็นคอนเซ็พท์ ความเชื่อ แล้วต่อยอดเป็นความสำคัญมั่นหมายว่านี่คือตัวเราอยู่ด้วย เราก็เรียกความรู้ตัวที่เข้าไปผูกพันคลุกเคล้าอยู่กับเป้าแบบนี้ว่า “ความเป็นบุคคล (persona)” ซึ่งก็คือคุณคนที่ถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของร่างกายที่เป็นผู้ใหญ่คนนี้

     ในสถานะที่ 2. เมื่อความรู้ตัวถอยแยกออกมาจากเป้า (object) ที่ตัวเองเฝ้าสังเกตอยู่ เราเรียกความรู้ตัวที่เฝ้ามองเป้าโดยไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวผูกพันนี้ว่าเป็น “ผู้สังเกต (witness)” หรือ “จิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ยกตัวอย่างเช่นคุณคนที่เป็นเด็กทารกอายุสองเดือนที่ขี่คอคุณอยู่นั่่นคือผู้สังเกต

     ในสถานะที่ 3.  เมืื่อความรู้ตัวเป็นความรู้ตัวเพียวๆคือตื่น รู้ เบิกบาน อยู่เท่านั้นโดยไม่ได้ผูกกับอะไรเลย เราเรียกความรู้ตัวในลักษณะนี้ว่าเป็นความรู้ตัวบริสุทธิ์ (pure awareness) ซึ่งบางศาสนาก็เรียกว่าปรมาตมัน บางศาสนาก็เรียกพระเจ้า บ้างก็เรียกเต๋า บ้างเรียกว่าความจริงสูงสุด (Supreme reality) บ้างก็เรียกนิพพาน สุดแล้วแต่จะเรียกกันไป แต่หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือความว่างไรัขอบเขตที่มีความตื่น รู้ตัว มีพลังเมตตา ที่ดำรงอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้นอกมิติเวลาไม่มีเกิดไม่มีีตาย และไม่เกี่ยวอะไรกับความคิดและร่างกาย
 
     ทั้งสามสถานะนี้เป็นสิ่งเดียวกันที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าคุณอยู่ในสถานะที่ 1 คือเป็นความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นบุคคล คุณไม่มีทางเห็นสถานะที่ 3 คือความรู้ตัว แต่ถ้าคุณอยู่ในสถานะที่ 2 คือเป็นจิตสำนึกรับรู้หรือเป็นผู้สังเกตที่ไม่เข้าไปคลุกด้วย เมื่อคุณเฝ้าสังเกตจนความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นบุคคลหมดไป คุณจะเห็นสถานะที่ 3 คือความรู้ตัวบริสุทธิ์ ผมอธิบายคุณได้แค่นี้แหละ เพราะพูดมากกว่านี้คุณก็ยิ่งไม่เข้าใจ ตราบใดที่คุณไม่ได้อยู่ในสถานะผู้สังเกตที่ความเป็นบุคคลของคุณหมดสิ้นแล้ว ไม่ว่าพูดอย่างไรคุณก็จะยังไม่เห็นความรู้ตัวอยู่นั่นเอง

     ว่าจะไม่พูดมากให้เกินงามแล้วนะ ขออธิบายเพิ่มอีกหน่อยนะ เปรียบเรื่องความรู้ตัวนี้เป็นเรื่องน้ำในมหาสมุทร จิตสำนึกรับรู้หรือผู้รู้ตัวก็เหมือนคลื่นน้ำ ขณะที่ความรู้ตัวนั้นเหมือนเนื้อน้ำในมหาสมุทรที่นิ่่ง อยู่ข้างล่าง การเคลื่อนไหวของคลื่นน้ำก่อให้เกิดภาพหลอนเรื่องเวลา นั่นก็คือสำนึกว่าเป็นบุคคล แต่ว่าคลื่นนั้นเคลื่อนไหวอยู่บนความนิ่งของเนื้อน้ำมหาสมุทรนะ เนื้อน้ำนั้นอยู่นิ่งๆ อยู่นอกคอนเซ็พท์เวลา แต่เพราะมีมหาสมุทรที่นิ่งเป็นตัวรองรับอยู่ข้างล่างจึงเห็นคลื่นวิ่งเป็นระลอกอยู่ข้างบน

     ประเด็นสำคัญคือคุณอย่าไปหยิบฉวยเวลาไม่ว่าอดีตหรืออนาคตว่าเป็นความจริง คุณรู้ว่าอะไรจริงก็เฉพาะถ้ามันอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น มองเดี๋ยวนี้ให้เห็นว่ามันไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด มองอย่างระวังระไวว่ามันมาจากไหน มันจะไปไหน แล้วคุณก็จะพบภาวะไร้เวลาที่อยู่เบื้องหลังเดี๋ยวนี้ อุปมาเมื่อคลื่นน้ำสงบก็กลับไปเป็นผิวสมุทรที่นิ่ง แต่ละโมเมนต์ของเดี๋ยวนี้ก็ล้วนกลับไปสู่ต้นกำเนิดของมันที่นิ่งไม่มีจุดเริ่มต้นไม่มีจุดสิ้นสุด

    ออกจากเวลามาอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ก็คือออกจากชีวิตที่เก่าๆอับๆในมิติของเวลามาอยู่กับชีวิตที่สดๆใหม่ๆซิงๆนอกมิติเวลา เลิกเอาความจำเก่าๆไปผูกกับอนาคตให้เกิดความหวังหรือความกลัว เปิดรับอะไรใหม่ให้เข้ามาสู่ชีวิตที่เดี๋ยวนี้ทีละโมเมนต์ รับรู้ ยอมรับ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ยอมรับมันตามที่มันเป็น มันมาก็สนุกกับมัน มันไปก็ไม่ไปโศกเศร้าถวิลหา นี่คือความสดของการใช้ชีวิต นี่แหละคือที่ผมพูดว่าพอกันทีกับชีวิตที่เก่าๆอับๆเหมือนขนมปังขึ้นรา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์