Latest

เรียนรู้อายุรเวดะไปพร้อมกับหมอสันต์

     ช่วงนี้เพื่อนเขาเชิญหมออายุรเวดะ (Ayurveda) จากอินเดีย ชื่อ Doctor Love มาอยู่ประจำเพื่อให้คำปรึกษางานที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ผมจึงได้มีโอกาสได้พูดคุยทำความเข้าใจกับคอนเซ็พท์การแพทย์ในแนวอายุรเวดะ ซึ่งเป็นการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย และเป็นสิ่งใหม่สำหรับผม จึงอยากจะเล่าไว้ให้แฟนๆบล็อกได้เลือกหยิบเอาส่วนที่ดีของเขามาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง

อายุรเวดะกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

     ประเด็นความปกติกับผิดปกติ

     การแพทย์แผนปัจจุบันมองความปกติว่าคือภาวะที่คนส่วนใหญ่เป็นอยู่มีอยูุ่ คนที่ไม่เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ หรือไม่มีสิ่งที่คนส่วนใหญ่มี คือคนผิดปกติ ส่วนอายุรเวดะมองว่าความปกติต้องว่ากันแต่ละคนไปไม่เกี่ยวกับคนอื่น เพราะแต่ละคนก็มีร่างกายและจิตใจที่สร้างมากันคนละแบบ

     ประเด็นวิธีเรียนรู้

     การแพทย์แผนปัจจุบันเราเรียนรู้เอาจากการสังเกต ตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจััยเปรียบเทียบ แล้วสรุปเอาตามหลักการของเหตุและผล ส่วนอายุรเวดะเป็นการเรียนรู้ร่างกายจิตใจตัวใครตัวมัน ของใครของมันโดยมีวิธีเรียนรู้จากแกนสามอย่างคือ (1) ยอมรับก่อนว่ามันมีอยู่อย่างนี้เป็นอยู่อย่างนี้ (2) สังเกตมันไป (3) มีประสบการณ์กับมันไปแล้วเรียนรู้เอาจากประสบการณ์นั้น

     ประเด็นความเชื่อและจุดเน้น

     การแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อและให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นภาวะวิสัย หรือ objective เช่นผลการตรวจ เอ็กซเรย์ แล็บต่างๆ ไม่ค่อยเชื่อสิ่งที่ต้องพึ่งความคิดหรือความรู้สึกของคนเช่นคำบ่นคำบอกเล่า คือไม่เชื่ออัตวิสัย หรือ subjective แต่อายุรเวดะให้น้ำหนักกับความรู้สึก ความคิด และคำบอกเล่า คือให้น้ำหนักกับอัตวิสัย แถมยังสอนให้คนไปลึกกว่าร่างกายและความคิด คือไปให้ถึงความรู้ตัวทั้งในระดับปัจเจกบุคคล (dynamic consciousness) และในระดับความรู้ตัวร่วม (cosmic consciousness หรือ awareness) ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่หลุดโลกแยกกันไปคนละทางจากแผนปัจจุบันชนิดที่พูดกันต่อไม่รู้เรื่องเลย

     ประเด็นเหตุและวิธีแก้ไข

     การแพทย์แผนปัจจุบันมีคอนเซ็พท์ว่าสิ่งทั้งหลายมักเกิดจากเหตุเพียงเหตุเดียว หรืออย่างมากก็สองสามอย่าง ซึ่งหาพบแล้วแก้ไขโรคก็หาย การตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุแล้วจะแก้สาเหตุนั้นอย่างไรจึงเป็นหัวใจสำคัญ แต่อายุเวดะมองว่าปัญหาใดๆก็ตามล้วนแต่เกิดจากการประชุมแห่งเหตุ คืือมีสาเหตุเพียบเป็นพันหมื่นแสนอย่าง คือทุกอย่างในจักรวาลนี้เกี่ยวพันกันไปหมด ป่วยการที่จะคอยตั้งคำถามว่าเหตุใด ทำไม อย่างไร ผู้เรียนจะต้องยอมรับวิธีที่ครูรุ่นเดอะทำมาแล้วลูกเดียว ยอมรับแล้วลองทำตามดูก่อน นานไปเมื่อตัวเองเชี่ยวแล้วก็จะปะติดปะต่อและสานความรู้เข้าหากันจนอธิบายกับตัวเองได้เอง

     ประเด็นรากฐานของหลักวิชา

     การแพทย์แผนปัจจุบันมีกำเนิดมาจากการสังเกตรับรู้ผ่านอายตนะทั้งห้าคือตาหูจมูกลิ้นผิวหนัง หรือเครื่องมือขยายอยาตนะเช่นเครื่องอุลตร้าซาวด์ขยายการรับรู้ของหู เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ขยายการรับรู้ของตา เป็นต้น แล้วจดบันทึกวัดวิเคราะห์เปรียบเทียบเชิงสถิติ พัฒนาการวิชาแพทย์แผนปัจจุบันจึงเป็นพัฒนาการของเครื่องมือขยายการรับรู้ของอยาตนะของมนุษย์

     ส่วนอายุรเวดะมีรากกำเนิดมาจากความรู้ที่ได้มาจากการนั่งสมาธิเข้าฌาณ (meditation) ของฤาษีชีไพร ซึ่งเมื่อใจว่างจากความคิดก็จะรู้ลึกถึงสิ่งต่างๆด้วยปัญญาญาณ (intuition) โดยไม่ผ่านอายตนะทั้งห้า แล้วเผยแพร่ออกมาเป็นคอนเซ็พท์ว่ารากกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้คือความรู้ตัวร่วม (cosmic consciousness) ซึึ่งแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังงานหรือธาตุทั้งห้า คือ ความว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ

กำเนิดของชีวิตในมุมมองของอายุรเวดะ

     หากเจาะลึกลงไปสาระของคำสอนพวกฤาษีชีไพร ผมสรุปความได้ว่าจักรวาลนี้เริ่มต้นด้วยความรู้ตัวร่วม (cosmic consciousness) ซึ่งเป็นพลังงานหรือสิ่งหนึ่งที่ไร้รูปและจับต้องมองเห็นไม่ได้ มีอยู่ของมันอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาการสั่นสะเทือนของสิ่งนั้นทำให้เกิดเสียงที่ไร้เสียง ฟังให้ดีนะ เสียงที่ไร้เสียง ประมาณว่า อึ่ม..ม…ม ขึ้นมา จึงเกิดความว่าง (ether) ที่เสียงอึ่มนี้ิดำรงอยู่ตามขึ้นมา ความว่างนั้นมันมีเนื้อของมันอยู่ด้วยเหมือนดังเช่นความว่างในห้องนี้ที่มีอากาศเป็นเนื้อ การสั่นสะเทือนทำให้เนื้อของความว่างนั้นเริ่มเคลื่อนไหวจึงเกิดเป็นลมขึ้น พอเกิดลมขึ้นก็ทำให้เกิดการเสียดสีของเนื้อความว่าง เสียดไปสีมาก็เกิดความร้อนกลายเป็นแสงและไฟขึ้น เนื้อของความว่างที่ได้รับความร้อนบางส่วนหลอมละลายกลายเป็นของเหลวหรือน้ำ ซึ่งต่อของเหลวเหล่านี้บางส่วนก็ควบแน่นกลายเป็นของแข็งหรือดิน จากดินชีวิตต่างๆก็เกิดขึ้นมา ดังนั้นตามคอนเซ็พท์นี้จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นดินน้ำลมไฟล้วนมีรากกำเนิดเดียวกันคือเนื้อของความว่างทั้งสิ้น อย่าว่าแต่คนด้วยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ สัตว์ ก้อนหิน ทั้งหมดล้วนเกิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน และล้วนมีธาตุทั้งห้านี้เป็นองค์ประกอบด้วยกันทั้งสิ้น แถมแลกเปลี่ยนหมุนเวียนย้ายที่กันไปมาจากคนโน้นไปหาคนนี้ จากคนไปหาสัตว์หรือไปหาพืชต่างๆได้อีกต่างหาก กล่าวโดยสรุปร่างกายของคนหนึ่งคนนี้คืือจักรวาลฉบับย่อ (microcosm) มีทั้งความว่างดินน้ำลมไปอยู่ในนี้เสร็จ และร่างกายนี้มันไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ มันแลกเปลี่ยนธาตุทั้งห้ากับสิ่งภายนอกตัวตลอดเวลา

     การที่ความว่างและดินน้ำลมไฟมาประกอบกันเป็นแต่ละชีวิตนี้ ส่วนประกอบในแต่ละชีวิตมันไม่ได้เท่ากันเป๊ะๆ ไม่เหมือนการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์จากโรงงาน จึงมีบางคนประกอบขึ้นหนักไปทางลมและความว่าง (วะตะหรือธาตุลม) บางคนหนักไปทางไฟและน้ำ (ปิิตตะหรือธาตุไฟ) บางคนหนักไปทางดินและน้ำ (กัปปะหรือธาตุดิน) ยังไม่นับว่าในระหว่างสามแบบหลักนี้ยังมีแบบย่อยๆในระหว่างอีกมากมายนะ นี่เรียกว่าคอนเซ็พท์ธาตุเจ้าเรือน (dosha) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการวินิจฉัยโรคของอายุรเวดะ เพราะการเสียดุลยภาพของธาตุเจ้าเรือนทำให้เป็นโรค นอกจากองค์ประกอบของแต่ละคนแล้ว การหมุนเวียนเปลี่ยนผันของเวลาก็มีผลให้แต่ละธาตุผลัดกันโดดเด่นขึ้นมาในร่างกายคน เช่น ตอนเช้ากัปปะหรือธาตุน้ำและดินจะเด่น รู้สึกสดชื่นมีแรง พอสายถึงบ่ายปิตตะหรือธาตุไฟก็จะเพิ่มขึ้นทำให้หิวและร้อนแรง พอเย็นก็เป็นช่วงที่วะตะหรือธาตุลมเด่นขึ้นแทน ฤตูการก็มีผลต่อธาตุ กล่าวคืือพอปลายฝนต้นหนาวลมก็จะเด่น พอหนาวหนักน้ำและดินก็เด่น พอเข้าหน้าร้อนไฟก็จะเด่น เป็นต้น เวลาของแต่ละช่วงชีวิตก็มีผล วัยเด็กดินน้ำจะเด่น เข้าวัยผู้ใหญ่ไฟจะเด่น พอเข้าวัยชราลมก็จะเด่นแทน เป็นต้น

การเจ็บป่วยและการรักษา

     ตัวสำคัญที่กำหนดการมีสุขภาพดีคือพลังงานที่ร่างกายผลิตขึ้น (agni อัคนี) ซึ่งเปรียบเหมือนไฟที่เกิดขึ้นในปิตตะหรือธาตุไฟซึ่งเปรียบเหมือนเตาอั้งโล่ หากดุลยภาพของธาตุเจ้าเรือนผิดเพี้ยนไปร่วมกับการเก็บกดความคิดลบไว้มาก พลังงานหรืออัคนีนี้จะแผ่วเบาทำให้เกิดโรค อาหารจะไม่ย่อยและบูดเน่าเหม็นอยู่ในลำไส้ กลายเป็นอะไรเหลวๆเละๆเป็นลิ่มๆ (ama) ลิ่มเหล่านี้คอยอุดตันลำไส้และส่วนอื่นๆของร่างกายรวมทั้งหลอดเลือด และเป็นที่ปล่อยสารพิษไปทั่วร่างกายซึ่งต้องอาศัยการขับทิ้งไปทางอุจจาระปัสสาวะและเหงื่อ หากขับไม่ทันก็เกิดโรค

     การรักษาของอายุรเวดะไปตั้งต้นที่ใจคือการรับมือกับความคิดลบ โดยไม่ให้เก็บกดแต่ให้สังเกตและปล่อยวางลงไป ถ้าพิษในร่างกายแยะเหลือเกินก็ช่วยขับพิษด้วยวิธีพื้นๆวิธีใดวิธีหนึ่งในห้าวิธี คืือ (1) กระตุ้นให้อาเจียน (2) กระตุ้นให้ถ่าย (3) ล้างจมูก (4) สวนล้างลำไส้ใหญ่ และ (5) บริจาคเลือด คือเอาเลือดชั่วๆออกไปเสียบ้าง (พูดเล่น)

     เมื่อเอาพิษออกไปแล้วก็ตามด้วยการประคบประหงม (palliation) ร่างกายให้ตั้งหลักได้ไหม่ ด้วยวิธีสาระพัดรวมถึง ให้อดอาหารเพื่อกระตุ้นการย่อยอาหาร การใช้สมุนไพรเช่นใช้พริกใช้ขิงกระตุ้น การกระตุ้นและฟูมฟักร่างกายด้วยการ ทา ถู นวด การปล่อยให้หิว ให้กระหาย ให้ออกกำลังกาย ให้อาบแดด ให้นั่งนิ่งๆในสวน เป็นต้น

การใช้ชีวิต

      อายุรเวดะมีคอนเซ็พท์หลักว่าร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ ขอแค่เจ้าตัวกินให้ดี และใช้ชีวิตให้ดีเป็นประจำหรือเป็นรูทีนก็พอแล้ว

     กินให้ดีหมายความว่ากินอาหารพืชเป็นหลักแบบมังสะวิรัติ กินของใหม่ๆสดๆที่ยังมีพลังธรรมชาติอยู่แยะและปรุงขึ้นมาด้วยความรักเมตตา (sattvic food) กินแบบไม่กินมากเกินไป กินแบบไม่ไปขย่มโรคอันเกิดจากการเสียดุลของธาตุเจ้าเรือนที่มีอยู่แต่เดิมแล้วซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก เช่นคนที่ธาตุลมแยะอยู่แล้วก็ควรบันยะบันยังอาหารที่เพิ่มลมเป็นต้น มีการอดอาหารเพื่อกระตุ้นการย่อยอาหารบ้างเป็นครั้งคราว อาหารทุกมื้อควรกินหลังตะวันขึ้นและก่อนตะวันตก การกินอาหารหลังตะวันตกตินมีผลถึงการนอนหลับและการฝันร้ายทำให้ตื่นแล้วไม่สดชื่น

     ใช้ชีวิตให้ดีหมายความว่ามีกิจวัตรหรือรูทีนที่คงที่สม่ำเสมอทุกวัน นอนหลับให้มากพอ ตื่นก่อนตะวันขึ้นให้ทันมองดูตะวันแรกขึ้น ออกกำลังกายเช่นโยคะ(Yoga) ทุกวัน วางความคิดลบเข้าสู่ความรู้ตัวทุกเวลาด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติหลักเมตตาธรรม (Tantra) ดูแลระบบขับถ่ายของเสียทั้งอุจจาระปัสสาวะเหงื่อให้ทำงานได้เป็นปกติไม่ติดขัด ทุกวันต้องได้ขับถ่ายอุจจาระอย่างสะดวกและมีมวลอุจจาระที่มีปริมาณมากและไม่เน่าเหม็น ดื่มน้ำให้พอดีได้ขับถ่ายปัสสาวะมากพอประมาณไม่มากไปน้อยไป ทุกวันตััองมีโอกาสออกกำลังกายหรือออกแดดให้ได้เหงื่อ และได้เข้านอนก่อนสี่ทุ่ม

การมีอายุยืน

    การจะเข้าใจกลไกการมีอายุยืนแบบอายุรเวดะต้องอ่านเพิ่มอีกหน่อยถึงคอนเซ็พท์ของพลังงานระดับละเอียดลงไปอีกก่อนที่จะหยาบขึ้นมาเป็นธาตุเจ้าเรือน คืือพลังชีวิต (prana) ก่อนที่จะมาเป็นธาตุที่เด่นด้วยลม พลังเย็น (ojas) ก่อนที่จะมาเป็นธาตุที่เด่นดินน้ำ และพลังร้อน (tejas) ก่อนที่จะมาเป็นธาตุที่เด่นที่ไฟ

     พลังชีวิตหรือ prana นั้นเป็นทั้งปัญญาญาณ (intuition) และความสามารถในการบริหารจัดการร่างกาย พลังชีวิตมีศูนย์อยู่ที่สมอง การที่หญิงตั้งครรภ์แพ้ท้องอยากกินนั่นกินนี่ หรือการที่เด็กขาดธาตุอาหารบางอย่างไปกินดินกินโคลนที่มีแร่ธาตุชนิดนั้นเป็นตัวอย่างของปัญญาญาณ การที่อวัยวะภายในเช่นหัวใจ ลำไส้ ตับ ปอด ไต หลอดเลือด กล้ามเนื้้อ ทำงานประสานกันได้เองโดยไม่ผิดเพี้ยน เป็นตััวอย่างของความสามารถในการบริหารจัดการ

     ด้านหนึ่งพลังชีีวิตเชื่อมโยงและบงการพลังเย็นหรือ ojas ซึ่งมีฐานอยู่ที่หัวใจและเป็นผู้ให้พลังแก่เนื้อเยื่อร่างกายและให้พลังเมตตาแก่จิตใจ พลังนี้จะมีมากด้วยการกินอาหารที่ดี และด้วยการฝึกเปิดใจยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ณ ทีี่นี่เดี๋ยวนี้และการเผื่อแผ่ตามหลักเมตตาธรรม

     อีกด้านหนึ่งพลังชีวิตเชื่อมโยงและบงการพลังร้อน (tejas) ซึ่งเป็นพื้นฐานให้พลังงานด้านร้อนแก่เนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ช่วยย่อยอาหารเปลี่ยนอาหารไปเป็นพลังงานและสร้างซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ซึ่งจะทำงานได้ดีที่สุดในบรรยากาศที่มีดุลยภาพระหว่างร้อนกับเย็น

    พลังงานระดับละเอียดทั้งสามอย่างนี้จะดำรงอยู่อย่างได้ดุลยภาพด้วยการกินอาหารที่ดีที่เรียกว่า Sattvic food คืออาหารพืชหรือมังสะวิรัิติในรูปแบบที่ยังใหม่สดมีพลังและปรุงด้วยความรักเมตตา ดุลยภาพนี้จะเป็นตัวเอื้อต่อการมีชีวิตที่ยืนยาว การกลับไปเป็นหนุ่มสาว (rejuvination) ในแบบอายุรเวดะเริ่มด้วยการขจัดพิษออกจากร่างกายอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ตามด้วยการปล่อยวางความคิด เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สังเกตความคิดของตัวเองจนใจสงบอยู่กับความรู้ตัว จะด้วยการปลีกวิเวก หรือด้วยการอยู่ “ใน” โลกโดยไม่ “ไปตาม” โลก หมายถึงการเป็นผู้สังเกตและรับรู้โลกอย่างอุเบกขาก็ได้

     และเมื่อถึงวาระที่ชีวิตนี้จะต้องตาย อายุรเวดะสนับสนุนให้สังเกตความตายอย่างสงบ เพราะความตายนั้นเกิดขึ้นกับร่างกายและความคิดเท่านั้น แต่ความรู้ตัวส่วนลึกนั้นไม่ได้ตายไปด้วย มันยังคงอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้อย่างเป็นนิรันดร์

    การจะมีอายุยืนยาวและตายไปอย่างสงบได้นี้ การมีวินัย (discipline) ในการฝึกฝนตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ คืือต้องมีวินัยที่จะกินให้ดี และที่จะใช้ชีวิตให้ดี ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์