Latest

หลากหลายประเด็นเรื่องอาหารของคนเป็นโรคไตเรื้อรัง

กราบเรียนคุณหมอสันต์
ผมเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 เคยเป็นนิ่วแล้วทำช็อคเวฟไปแล้ว เป็นเก้าท์ด้วย รบกวนถามเรื่องอาหาร ว่าเป็นนิ่วแล้วจะต้องทานอย่างไรจึงจะไม่เป็นนิ่วอีก จะทานหวานบ้างได้ไหม หมอห้ามทานถั่วและนัทเพราะกลัวฟอสเฟตสูง ต้องงดถั่วตลอดไปเลยใช่ไหม ถ้าห้ามทานถั่ว ทานเต้าหู้ได้หรือเปล่า และในภาพรวมผมควรทานอาหารอย่างไร
ขอบพระคุณคุณหมอครับ

……………………………………

ตอบครับ

     ประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมานี้โรคหลายโรคเช่นโรคเอดส์ลดจำนวนลงไปมาก บางโรคเท่าเดิม แต่โรคหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเร็วน่าตกใจคือโรคไตเรื้อรัง (CKD) เร็วมากจนเพื่อนของผมที่ทำธุรกิจนำเข้าเครื่องล้างไตเข้ามาขายเซ็งลี้ฮ้ออู้ฟู่ไปเลย และเร็วมากจนคนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพทางด้านนี้เรียกเครื่องล้างไตว่าเครื่องเอทีเอ็ม. ตอนนี้ในอเมริกาเขาประมาณว่าคนเดินถนนทุกๆ 8 คนจะเป็นโรคไตเรื้อรังเสีย 1 คน สามในสี่ของผู้ป่วยยังไม่รู้ว่าไตของตัวเองกำลังจะเจ๊งแล้ว คนไทยก็คงเป็นโรคนี้มากไม่แพ้กัน คนหนึ่งที่เอาตัวรอดมาได้หวุดหวิดไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ก็คือตัวหมอสันต์นี่เอง เรื่องนี้ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเพราะเป็นความลับส่วนบุคคล แต่วันนี้ขอเล่าตรงนี้เสียเลย คือนานหลายปีมาแล้วตอนอายุห้าสิบปลายๆเมื่อผมเริ่มหันมาสนใจสุขภาพตัวเองก็เริ่มตรวจสุขภาพประจำปี ตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่ผมแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นก็คือตัวชี้วัดการทำงานของไต (GFR) ซึ่งต่ำอยู่ที่ 61 ซีซี/นาที ใกล้จวนแจจะถูกหมายหัวว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่สามอยู่แล้ว (GFR ต่ำกว่า 60 ถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3) ผมเห็นแล้วแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเพราะกลัวความจริง แต่พยาบาลผู้ช่วยของผมเธอหวังดีเอานิ้วชี้จิ้มไปที่ใบรายงานผลให้ดูว่า

     “อาจารย์คะ GFR ของอาจารย์ไม่ต่ำไปหน่อยหรือคะ”

     ผมทำไก๋ตอบไปทั้งๆที่ใจฝ่อว่า

     “ไม่เป็นไรหรอก ผมคงอดน้ำนานไปหน่อย ไว้ครั้งหน้าค่อยตามดูใหม่” 

     นับตั้งแต่นั้นมาปีแล้วปีเล่าผมก็แอบลุ้นการทำงานของไตของตัวเอง เพราะวัยชราระดับหมอสันต์แล้วเป็นธรรมดาที่ไตจะเสื่อมลงไปปีละประมาณ 5 ซีซี. ผมก็ลุ้นแค่ว่าอย่าให้มันเสื่อมเร็วกว่านี้จนต้องมาล้างไตกันเสียตั้งแต่ยังไม่ทันได้ตายก็แล้วกัน ลุ้นไปๆไปก็ค่อยๆหายใจโล่งขึ้นๆทุกปี เพราะการทำงานของไตของผมดีขึ้นเรื่อยๆ จนเจาะครั้งหลังไม่กี่วันมานี้ขึ้นมาอยู่ที่ 78 ซีซี.แล้ว ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้ทำตัวอะไรดีเป็นพิเศษเลยนอกเหนือไปจากการใช้ชีวิตในแนวทางปกติของผม คือ (1) กินอาหารมีผักผลไม้ถั่วและนัทแยะๆ (2) ขยันออกกำลังกาย (3) นั่งสมาธิไม่ให้เครียดหรือไม่ให้บ้า และ (4) พบปะส้ังสรรค์เฮฮากับคนอื่นบ้างนานๆครั้ง ผมทำแค่นี้แหละ ไตมันก็ค่อยๆดีขึ้นของมันเอง

     เอาละ คราวนี้มาตอบจดหมายของคุณ

     1. ถามว่าเคยเป็นนิ่วด้วย จะกินอาหารอย่างไรไม่ให้นิ่วกลับมาเป็นอีก ผมตอบคุณด้วยงานวิจัยที่ดีชิ้นหนึ่งนะ [1] ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์  ในงานวิจัยนี้เขาสุ่มตัวอย่างเอาผู้ป่วยที่เคยเป็นนิ่วในไตแบบคุณนี้มา 120 คน เอามาทดลองกินอาหารสองแบบเปรียบเทียบกัน คือกลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ในระดับปกติแต่มีแคลเซียมต่ำ อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีระดับแคลเซียมปกติแต่ให้ลดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลงเหลือไม่เกินวันละ 52 กรัม ลดเกลือเหลือวันละไม่เกินวันละ 50 มิลลิโมล ผมเรียกกลุ่มหลังนี้ว่ากลุ่มเนื้อน้อยเค็มน้อยก็แล้วกัน แล้วตามดูไป 5 ปีว่าใครจะเกิดนิ่วซ้ำมากกว่ากัน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารเนื้อน้อยเค็มน้อยเกิดนิ่วซ้ำน้อยกว่ากลุ่มกินอาหารแคลเซียมต่ำ 49% (12 คนกับ 23 คน) และมีผลึกอ็อกซาเลทออกมาในปัสสาวะน้อยกว่า ดังนั้นจึงสรุปว่าอาหารสำหรับคนเป็นนิ่วในไตที่จะช่วยป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำคืออาหารเนื้อสัตว์น้อยและเค็มน้อย

     2. ถามว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังจะกินของหวานบ้านได้ไหม ตอบว่าได้นะมันได้อยู่เพราะตำรวจที่ไหนจะไปจับคุณละครับ แต่ว่ามีงานวิจัยอยู่งานหนึ่ง [2] เขาให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกินอาหารสองแบบเปรียบเทียบกัน ระหว่างอาหารปกติ กับอาหารที่จำกัดน้ำตาล (low fructose diet) นานอย่างละ 6 สัปดาห์ หมายความว่ากินแบบหนึ่งครบหกสัปดาห์แล้วก็ไปกินอีกแบบหนึ่ง พบว่าช่วงที่กินอาหารจำกัดน้ำตาลผู้ป่วยจะมีความดันเลือดลดลงและตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกาย (hsCRP) ลดลง พอกลับไปกินอาหารปกติ ทั้งความดันและตัวชี้วัดการอักเสบก็กลับสูงขึ้นเหมือนเดิม ดังนั้นผมแนะนำโดยอาศัยงานวิจัยนี้ว่าคุณเป็นโรคไตเรื้อรัง อยู่ห่างๆน้ำตาลหรือของหวานๆไว้ดีกว่าครับ นอกจากนี้คุณเป็นเก้าท์อยู่ด้วย ยิ่งไม่ควรกินของหวานใหญ่ เพราะงานวิจัยแบบตามดูกลุ่มคน (cohort) [3] พบว่าการดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลเพิ่มทำให้ความเสี่ยงของการเป็นเก้าท์มากขึ้น

    3. ถามว่าหมอห้ามกินถั่วเพราะฟอสฟอรัสจะสูงต้องงดถั่วไปเลยใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ คนเป็นโรคไตเรื้อรังกินถั่วได้ ความกลัวโปรตีนจากพืชโดยเฉพาะถั่วในหมู่แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคไตมาจากความกลัวการคั่งของฟอสฟอรัส (P) หรือฟอสเฟตในร่างกายผู้ป่วยนั้นเป็นความกลัวดั้งเดิมที่ไม่มีรากฐานอยู่บนการคาดเดาว่าในเมื่อถั่วและนัทเป็นอาหารที่มีฟอสเฟตสูง กินเข้าไปแล้วก็คงจะไปทำให้ฟอสเฟตในร่างกายสูงด้วย ซึ่งไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับที่จะเชื่อถือและเอามาใช้ในคนได้จริงๆ ของจริงคือได้มีงานวิจัยในคนที่จะตอบคำถามนี้ได้แล้ว งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารคลินิกสมาคมโรคไตอเมริกัน [3] ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยวิธีแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม ยกแรกให้กินคนละแบบคือกลุ่มหนึ่งกินโปรตีนจากสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งกินโปรตีนจากพืช แล้วยกที่สองไขว้กัน (cross over) คือต่างกลุ่มต่างย้ายไปกินของกลุ่มตรงข้าม สรุปได้ผลว่าในน้ำหนักโปรตีนที่เท่ากัน ในช่วงที่คนกินโปรตีนจากพืชเป็นหลัก จะมีระดับฟอสเฟตในเลือดและในปัสสาวะต่ำกว่าในช่วงที่คนๆนั้นกินโปรตีนจากสัตว์เป็นหลัก ทั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะโปรตีนจากพืชอยู่ในรูปของไฟเตท (phytate) ซึ่งดูดซึมสู่ร่างกายมนุษย์ได้น้อย ความจริงอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากห้องปฏิบัติการก็คือหากวิเคราะห์สัดส่วนฟอสเฟตต่อโปรตีนในอาหารโปรตีนจากสัตว์เทียบกับอาหารธัญพืชแล้ว อาหารธัญพืชมีสัดส่วนฟอสเฟตต่อโปรตีนต่ำกว่าโปรตีนจากสัตว์ ดังนั้น ตามหลักฐานทั้งสองอย่างนี้ อาหารโปรตีนจากพืชกลับจะดีกว่าโปรตีนจากสัตว์ในแง่ที่ลดการคั่งของฟอสเฟตได้ดีกว่าเสียอีก

     4. ถามว่าเป็นโรคไตเรื้อรังจะกินเต้าหู้ทุกวันได้ไหม ตอบว่าได้ครับ มีงานวิจัยหนึ่ง [4] สุ่มตัวอย่างแบ่งผู้หญิงจีนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง 270 คนออกเป็นสามกลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1. ให้กินเต้าหู้ทั้งก้อนวันละก้อน 40 กรัมต่อวัน
กลุ่มที่ 2. ให้กินสารสะกัดไดเซ็น (ฟลาโวนอยด์) จากถั่วเหลือง 63 มก.ต่อวัน
กลุ่มที่ 3. เป็นกลุ่มควบคุมให้ดื่มนมวัวแบบไขมันต่ำ 40 ซีซี.ต่อวัน

     แล้วตามดูไป 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่กินเต้าหู้ทั้งก้อนมีอัตราการเสื่อมการทำงานของไตที่วัดด้วย GFR ช้าลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การจะใช้งานวิจัยนี้มันมีสองประเด็นนะ
     ประเด็นแรก ปริมาณโปรตีนรวมของคนเป็นโรคไตเรื้อรังควรจำกัดไม่ให้สูงเกินไป (ไม่เกิน 50 กรัมโปรตีนต่อวัน) คือไม่ว่าจะกินโปรตีนในรูปแบบของอะไร ต้องไม่กินมากเกินไป 

     ประเด็นที่สอง ในบรรดาแหล่งของโปรตีนที่เลือกกิน ถั่วเหลืองหรือเต้าหู้เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีสำหรับคนเป็นไตเรื้อรัง

    5. ถามว่าโดยสรุปคนเป็นโรคไตเรื้อรังควรกินอาหารอย่างไร ผมไม่ตอบเองนะคำถามนี้ แต่จะเล่าถึงผลวิจัยสุขภาพประชาชนสหรัฐ (NHANES-III) ซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสารโรคไตอเมริกัน [5] งานวิจัยนี้เขาติดตามเรื่องอาหารและการป่วยและตายของผู้เป็นโรคไตเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง 8 ปี ขึ้นไป จำนวนผู้ป่วย 1,065 คน แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม หมายความว่าแบบตามการกินของผู้ป่วยนะ ไม่ได้จับฉลากสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม คือ


กลุ่มที่ 1. คือพวกที่กินอาหารปกติมีเนื้อนมไข่ไก่ปลาเป็นพื้น
กลุ่มที่ 2. คือพวกกินอาหารมังสะวิรัติ ซึ่งรวมมังห้าสาขาย่อยไว้ในนี้หมด ได้แก่ (1) มังกินนม (2) มังกินไข่ (3) มังกินปลา (4) เจเขี่ย (5) เจเข้มงวด หมายความว่าไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย
     แล้วตามดูไป 8 ปี พบว่ากลุ่มผู้กินอาหารปกติซึ่งมีโปรตีนจากสัตว์เป็นหลักตายไป 59.4% ขณะที่กลุ่มผู้กินอาหารมังสะวิรัติซึ่งมีโปรตีนจากพืชเป็นหลักตายไป 11.1% คือตายน้อยกว่ากัน 5 เท่า ความแตกต่างในอัตราตายนี้คงอยู่แม้จะแยกปัจจัยกวนเช่นการมีอายุมาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคร่วม อ้วน ไม่ออกกำลังกาย กินแคลอรี่มากเกิน ออกไปแล้ว ก็ยังเห็นความแตกต่างของอัตราตายที่ชัดเจนเช่นนี้อยู่ดี กล่าวคือคนเป็นโรคไตเรื้อรังถ้ากินสัตว์จะตายมาก ถ้ากินพืชจะตายน้อย นี่เป็นหลักฐานในคนแบบติดตามไปข้างหน้า เรียกว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่จะบอกในวันนี้ว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังควรจะกินอาหารแบบไหน คุณจะเลือกแบบไหนก็เชิญเลยครับ เพราะไตของคุณ ไม่ใช่ไตของหมอคนไหน
      ผมย้ำอีกทีนะว่าแม้วงการแพทย์จะยังไม่มีข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่าต้องจำกัดโปรตีนแค่ไหนจึงจะดีสำหรับคนเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่ข้อมูลเท่าที่พอจะมีอยู่บ้างชี้ไปในทางว่าหากเป็นคนอ้วนท้วนสมบูรณ์ หยั่นหว่อหยุ่นอยู่แล้ว การจำกัดโปรตีนให้อยู่ข้างน้อยไว้จะดี ทั้งนี้มีงานวิจัยหนึ่ง [6] สุ่มตัวอย่างแบ่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังออกเป็นสองกลุ่ม คือ

     กลุ่มหนึ่ง ให้กินอาหารเจ (พืชล้วนๆ) แบบโปรตีนต่ำ 

     อีกกลุ่มหนึ่ง ให้กินอาหารมีเนื้อสัตว์แบบโปรตีนต่ำ 

     พบว่าอาหารโปรตีนต่ำทั้งสองแบบทำให้อัตราการเสื่อมการทำงานของไตลดลงในระหว่างติดตามหนึ่งปีพอๆกัน โดยที่กลุ่มที่กินอาหารเจสามารถจำกัดโปรตีนและฟอสเฟตได้มีประสิทธิภาพกว่า และได้รับแคลอรี่มากกว่ากลุ่มที่กินอาหารโปรตีนต่ำแบบอาศัยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผู้วิจัยงานนี้จึงแนะนำให้ใช้อาหารเจโปรตีนต่ำสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Borghi L , Schianchi T , Meschi T , Guerra A , Allegri F , Maggiore U , Novarini A.Comparison of two diets for the prevention of recurrent stones in idiopathic hypercalciuria.N Engl J Med 346: 77-84, 2002.
2. Brymora A , Flisinski M , Johnson RJ , Goszka G , Stefanska A , Manitius J.Low-fructose diet lowers blood pressure and inflammation in patients with chronic kidney disease.Nephrol Dial Transplant. 2012; 27(2) : 608-612 DOI: 10.1093/ndt/gfr223
3. Choi HK , Curhan G.Soft drinks, fructose consumption, and the risk of gout in men: prospective cohort study.BMJ 336: 309-312, 2008.  
4. Liu ZM, Ho SC, Chen YM, Tang N, Woo. J. Clin Biochem. 2014 Sep;47(13-14):1250-6. doi: 10.1016/j.clinbiochem.2014.05.054.
5. Sharon M. Moe, Miriam P. Zidehsarai, Mary A. Chambers, Lisa A. Jackman, J. Scott Radcliffe, Laurie L. Trevino, Susan E. Donahue, and John R. Asplin. Vegetarian Compared with Meat Dietary Protein Source and Phosphorus Homeostasis in Chronic Kidney Disease. Clinical Journal of the American Society Nephrology, December 23, 2010 DOI: 10.2215/CJN.05040610
6. Soroka N, Silverberg DS, Greemland M, Birk Y, Blum M, Peer G, Iaina A. Comparison of a vegetable-based (soya) and an animal-based low-protein diet in predialysis chronic renal failure patients. Nephron. 1998;79(2):173-80.