Latest

หมอสันต์แอ่วเมืองน่าน

19 กพ. 61

     เราสามคนพ่อแม่ลูกพากันขับออกมาจากมวกเหล็กตอน 8.00 น. ขนสมบัติพระศุลีมาเต็มท้ายรถ เลียบ

ด้านขวามือของอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักผ่านอำเภอวังม่วง แล้วข้ามแม่น้ำป่าสักมาทางอำเภอลำนารายณ์ ผ่านตำบลหนึ่งเห็นป้ายว่ามีบ่อน้ำร้อน เอ๊ะ แถวนี้มีบ่อน้ำร้อนด้วยหรือ นานมาแล้วผมทำงานอยู่แถวสระบุรีตั้งหลายปีเคยรู้เคยเห็นมาเลยว่ามีบ่อน้ำร้อน จึงตัดสินใจแวะเข้าไปดูหน่อย เลี้ยวซ้ายลงถนนเล็ก ผ่านทุ่งดอกไม้สีเหลือง

     “นั่นมันทุ่งมัสตาร์ดนี่นา” ผมตั้งข้อสังเกต มีผู้ตอบว่า

     “ไม่ใช่ ป้ายเขาบอกว่าทุ่งดอกโสน” 

     เราตัดสินใจจอดรถข้างทางลงไปดูใกล้ๆ คล้ายทุ่งมัสตาร์ดตรงที่มีสีเหลืองสดเหมือนกัน แต่ต้นและดอกไม่เหมือน ถ่ายรูปเสร็จแล้วก็เดินหน้าเข้าซอยต่อเพื่อไปค้นหาบ่อน้ำพุร้อน วนหาอยู่หนึ่งรอบไม่เจอ ต้องอาศัยถามคนแถวนั้น พอไปถึงที่จริงก็ขับเข้าไปเลย มีสระน้ำธรรมชาติอยู่หลายสระ แต่ตรงไหนละที่เป็นบ่อน้ำร้อน ไม่เห็นมีไอน้ำร้อนพวยพุ่งขึ้นมาเลย ต้องถามน้องพนักงานที่ทำความสะอาดอยู่แถวนั้น เธอพาเดินไปดูถึงได้ร้องอ๋อ มันเป็นบ่อน้ำแบบบ่อน้ำจริงๆแบบว่ามีปล่องกลมๆแล้วมีท่อเสียบตรงกลางมีน้ำร้อนพุขึ้นมาเบาๆ เอามือกวักน้ำดูก็พบว่าร้อนจริงๆจนต้องชักมือกลับ คนดูแลบอกว่ามันร้อน 48 องศา

บ่อแช่น้ำร้อนออนเซ็น ฉบับอบต.

     “แล้วนี้มันพุ่งขึ้นมาเองเลยหรือ”

     “เปล่าคะ เอาปั๊มน้ำมาบาดาลสูบขึ้นมา ตอนแรกเขาตั้งใจจะเจาะบ่อบาดาลปกติ แต่มันดูดได้น้ำร้อน ก็เลยทำเป็นรีสอร์ทให้คนมาอาบน้ำร้อนเสียเลย บ้านอื่นเขาเห็นเขาก็เจาะบ้าง แต่ไม่เห็นมีใครได้น้ำร้อน”

     “แล้วทำไมปากบ่อต้องกรุมุ้งลวดด้วยละครับ”

     “แถวนี้รถขนอ้อยแยะ ใบอ้อยมันชอบปลิวลงบ่อทำให้สกปรกค่ะ”

     เออ นับว่าเป็นอะเมซซิ่งน้อยๆที่ห่างจากบ้านมวกเหล็กออกมาไม่ไกลก็มีน้ำร้อนธรรมชาติให้แช่ออนเซ็นด้วย ผมขออนุญาตไปดูห้องแช่น้ำร้อนส่วนตัวซึ่งทำเป็นห้องๆโดยเดินน้ำร้อนแยกเข้าไป นับคร่าวๆได้ประมาณ 12 ห้อง พอเห็นในห้องอาบน้ำร้อนแล้วต้องอมยิ้ม อดไม่ได้จึงถ่ายรูปมาฝากท่านผู้อ่านหนึ่งรูป มันเป็นอ่างอาบน้ำที่สะอาดสะอ้านแต่ว่าเล็กมาก เล็กชนิดที่ต้องนั่งขัดสมาธิจึงจะแช่น้ำร้อนได้ และถ้าเป็นคนที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่าปกติก็เป็นอันจบข่าว คือ..ไม่ต้องอาบ เขาไม่ได้ห้ามหรอก แต่อ่างแค่นี้คนตัวอ้วนจะยัดตัวเองลงไปได้อย่างไรละครับ

     เราขับกันต่อไป ลังลังเลว่าจะขับตรงขึ้นไปทางเพชรบูรณ์เพื่อไปดูวัดผาซ่อนแก้ว แล้วขับตัดกลับไปทางซ้ายเพื่อไปหาพิษณุโลกดีไหม แต่ก็กลัวจะใช้เวลาขับขึ้นลงเขานานเกินไปจะมืดก่อนไปถึงเมืองน่าน จึงตัดสินใจเลี้ยวซ้ายเพื่อตัดไปหาจังหวัดพิจิตร มาโผล่ที่อำเภอทับคล้อ ผมดูในแผนที่ทางหลวงเห็นไม่ไกลจากที่นี่มีพิพิธภัณฑ์วัดทับคล้อ จึงตัดสินใจไปค้นหาด้วยความอยากรู้

     ในที่สุดก็มาถึงวัดทับคล้อซึ่งมีสวนที่เรียกว่าสวนโพธิสัตว์กว้างใหญ่เอาการ เห็นรูปปั้นพระเวชสันดรไว้หนวดงามอยู่ข้างถนน แต่วนหาพิพิธภัณฑ์แล้วหาไม่เจอ ต้องถามชาวบ้านอีกตามเคย ไปถามแม่ชี แม่ชีชี้ให้ไปถามคุณครูอาวุโสท่านหนึ่ง คุณครูตอบว่า

     “ผมอยู่ที่นี่มายี่สิบกว่าปี ไม่เคยได้ยินว่าที่นี่มีพิพิธภัณฑ์”

     “อามิตตาภะ พุทธะ”

     เปล่า อันหลังนี่ไม่ใช่เสียงแม่ชีสวดหรอกครับ เป็นเสียงรำพันของผมเอง เราจึงจำใจต้องใส่เกียร์ถอยเพื่อขึ้นไปวิ่งบนถนนหลักกันใหม่ มาถึงเขตพิษณุโลก แวะทานอาหารกลางวันดื่มน้ำปัสสาวะกันที่ปั๊มน้ำมัน แล้วเดินทางมุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไป มุ่งหน้าไปอุตรดิตถ์ พอมาถึงทางแยกจะเข้าอุตรดิตถ์ผมก็สะดุดตากับป้าย

ความพยายามจะตกเอากระป๋องเป็บซี่ขึ้นจากบ่อเหล็กน้ำพี้

     “บ่อเหล็กน้ำพี้”

     เราเลี้ยวขวาขวับไปตามป้ายทันที เกิดมายังไม่เคยเห็นบ่อเหล็กน้ำพี้ไปดูหน่อยก็ไม่เลว ผมเปรยให้คนในรถฟังว่าเหล็กน้ำพี้เป็นเหล็กดีของเมืองพิชัย ที่มีส่วนผสมของแร่เช่นแมงกานีส โคบอลท์ แคดเมียม ไททาเนียม อย่างลงตัว ทำให้เป็นเหล็กที่แข็งและไม่เป็นสนิม แต่ก็ถูกคนในรถแขวะว่า
 
      “แล้วทำไมดาบของพระยาพิชัยถึงหักละ” ผมจึงแก้ต่างให้ท่านว่า
   
     “อ้าว ดาบของท่านหักด้ามเดียวนะ ด้ามที่ไม่หักนั่นแหละเป็นเหล็กน้ำพี้ ส่วนด้านที่หักนั้นเป็นเหล็กขี้หมาอะไรก็ไม่รู้”
   
     ขับมาได้ราวสิบกว่ากม.จากทางแยกก็ถึงวัดน้ำพี้ เรามุดเข้าหลังวัดตามป้าย ในที่สุดก็มาถึงบ่อเหล็กน้ำพี้สมใจปรารถนา เป็นโบราณสถานเล็กๆที่อยู่ภายใต้การดูแลของชุมชน มีหุ่นขี้ผึ้งแสดงให้เห็นกรรมวิธีตีเหล็กน้ำพี้ และมีบ่อเก่าที่เคยขุดเหล็กน้ำพี้กันจริงๆด้วย มองไปยังก้นหลุมนอกจากนอกจากจะเห็นหินแร่แบบก้อนกรวดเล็กๆแล้วยังมีกระป๋องเป็บซี่หนึ่งกระป๋องนอนแอ้งแม้งอยู่ก้นหลุมด้วย ดูขัดตายิ่งนัก ที่ข้างบ่อมีคันเบ็ดพาดราวไว้เป็นแถว เอาไว้ให้ผู้มาเยือนเอาเบ็ดซึ่งตรงปลายมัดไว้ด้วยหินแม่เหล็กหย่อนลงไปในบ่อ หินนั้นจะดูดก้อนแร่เล็กๆขนาดสามสี่มิลขึ้นมาซึ่งผู้มาเยือนสามารถเก็บกลับไปเป็นที่ระลึกได้แลกกับการบริจาคเงินหยอดตู้ตามกำลังศรัทธา ผมพยายามเอาเบ็ดนั้นกู้กระป๋องเป็บซี่ขึ้นมาแต่ก็ไม่สำเร็จ หมอพอบอกว่ามันเป็นกระป๋องอลูมิเนียมนะ จะเอาแม่เหล็กดูดได้อย่างไร เออ จริงแฮะ หิ หิ เผลอปล่อยไก่

มเหสักข์ สักพันปีต้นเดียวของโลก

    ออกจากบ่อเหล็กน้ำพี้ ไหนๆก็มาทางนี้แล้ว เราขับต่อไปตามทางนี้ดีกว่า จะได้แวะดูต้นสักพันปีต้นเดียวของโลกด้วย แล้วไปเข้าจังหวัดน่านเอาทางอำเภอนาน้อย นี่เป็นการแหกโผจากแผนที่มีผู้แนะนำไว้แต่เดิมว่าจะต้องขับเข้าไปทางแพร่ เออน่า ไม่เป็นไร ลองดู

     ขับมาได้ราวครึ่งชั่วโมงก็เห็นป้ายข้างทางว่า “มเหสักข์ สักพันปีต้นเดียวในโลก” ที่มีต้นเดียวในโลกนี้ผมเดาเอาว่าเพราะประเทศอื่นเขาไม่มีต้นสักกระมัง เราขับเข้าถนนแคบลัดเลาะไปตามป่าสักประมาณหนึ่งกม.ก็มาถึงต้นสักพันปี ซึ่งน่าสงสารที่ถูกลมพัดหักกลางลำไปเมื่อราวยี่สิบปีก่อน แต่ที่น่าสงสารยิ่งกว่าคือเพื่อนของสักพันปีนามว่ามเหสักข์ต้นนี้ซึ่งเคยยืนข้างกันมาเป็นพันปีนะสิครับ เพราะถูกตัดไปเสียตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ เหลือแต่ตอที่ถูกตัดเรียบแทบจะติดดิน เป็นหลักฐานจากวงปีที่ตอนี้ว่าสักคู่นี้มีอายุระดับพันปีขึ้นจริงๆ

     บ่ายสี่โมงกว่าแล้ว จำเราต้องรีบเดินหน้ากันต่อไป มุ่งไปทางอำเภอน้ำปาด แล้วขับขึ้นเขาลงเขา ผ่านทิวทัศน์อันสวยงามของป่าสักปลูกสลับกับเขาหัวโล้นแต่ก็ยังดูดี ผมบอกผู้โดยสารว่า

แพ้ไม้กระดาน พารถออกจากท่าจตอนตะวันตก

     “ถนนนี้จะไปสุดที่ขอบฝั่งใต้ของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิต ฝั่งเหนือเป็นเขตจังหวัดน่าน ไม่มีสะพานข้ามไป” 
     
     “อ้าว แล้วเราจะไปได้ไงละ” หมอสมวงศ์ถามด้วยความสงสัย ผมตอบว่า
   
     “พ่อให้คนเอาแพไม้ไผ่มารับ เราจะเอารถลงแพไป”
   
     “บ้า คุณอื่นเขาทำกันอย่างนั้นจริงหรือ”
   
     คุยกันยังไม่ทันขาดคำ เราก็มาถึงปลายสุดของถนนซึ่งเป็นทางลงแพรถยนต์ มีป้ายว่า “ไปหมู่บ้านชาวประมงปากนาย” เราต้องขับรถลงเนินดินที่ชันมาก แพนั้นไม่ถึงกับเป็นแพไม้ไผ่ดอก ผมพูดเล่น เป็นแพ้ไม้กระดานต่างๆหาก แอบก้มลงมองข้างใต้ไม้กระดานแล้วเป็นเรือเหล็กสองลำผูกคู่กันไว้แล้วเอาไม่กระดานพาดข้างบน รับรถยนต์ได้คราวละไม่เกินสองคัน เรามาถึงเป็นคันที่สองแพก็ออกได้พอดี แต่ยังออกไม่ได้เพราะอินทาเนียร์ยังซ่อมเครื่องไม่เสร็จ ผมไปสังเกตการณ์การซ่อมเครื่องยนต์ซึ่งชิ้นเล็กนิดเดียวอยู่ที่ท้ายแพ โถ..นี่มันเครื่องเรือหางยาวนี่นา แพรถยนต์นี้ใช้เครื่องเรือหายยาวเล็กๆเป็นตัวขับเคลื่อน เอ้า ซ่อมเสร็จแล้ว ออกแพได้ อ้าว ยังออกไม่ได้ ต้องมีอีกขั้นตอนหนึ่ง ต้องกว๊านเอาแผ่นเชิงลาดที่พาดกับฝั่งขึ้นก่อนแบบกว๊านสมอ อุปกรณ์การกว๊านก็แหม น่ารักเหลือเกิน ทำด้วยแป๊บเหล็กสามสี่อัน กลาสีซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นพูดภาษาเหนือหมุนกว๊านอย่างขมีขมันแล้วก็ส่งเสียงว่าพร้อม อินทาเนียร์ซึ่งวัยประมาณเจ็ดสิบแต่อารมณ์ขันเหลือร้าย เขาทำมือป้องปากประกาศแบบกัปตันเป็นภาษากลางสำเนียงชัดเจนว่า
   

หมู่บ้านชาวประมงปากนาย

    “ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ เรือของเราได้เวลาออกจากฝั่งแล้ว”

     แล้วด้วยแรงของเครื่องเรือหางยาวขนาดเล็กและทักษะการโยกหางใบพัดของกลาสีหนุ่ม แพยนต์ไม้กระดานก็ค่อยๆเคลื่อนตัวออกจากฝั่งอย่างอ้อยอิ่ง แหงนหน้ามองออกไปทางทิศตะวันตก ตะวันสีหมากสุกกำลังจะลงลับเหลี่ยมเขาพอดี สาดแสงสีทองทาบบนพื้นน้ำสวยงามและโรแมนติคยิ่งนัก เราเดินทางมาด้วยแพยนต์นานประมาณยี่สิบนาทีก็มาขึ้นฝั่งหมู่บ้านชาวประมงปากนายซึ่งเป็นฝั่งจังหวัดน่าน จ่ายค่าแพไป 300 บาทเพราะเป็นหลังหกโมงเย็น เดิมผมตั้งใจว่าจะเดินเล่นสำรวจหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้กัน แต่ไม่มีเวลาแล้ว ความมืดเริ่มโรยตัว เราจำใจต้องรีบขับรถเดินทางกันต่อไป

     เรามาถึงเมืองน่านเอาตอนสองทุ่ม ไปจอดทานข้าวต้มโต้รุ่ง แล้วก็เข้าพักในโรงแรมห้องแถวไม้ในตัวเมืองนั่นแหละชื่อโรงแรมพูคาน่านฟ้า หรืออะไรประมาณนี้แหละ โรงแรมนี้แม้ทั้งข้างนอกข้างในจะเป็นโรงแรมไม้สมัยเก่าที่เคยมีตามต่างจังหวัดทั่วไป แต่การตกแต่งภายในและความสะอาดจัดได้ว่าเป็นโรงแรมแนวบูติกเกรดเอ.ทีเดียว

20 กพ. 61

จั่ววิหารเกลี้ยงๆ แต่มีปริศนาธรรมล้ำลึก

     ตื่นเช้าผมออกมายืนที่ระเบียงชั้นบนของโรงแรม มองลงมายังถนนข้างล่าง เห็นผู้คนซื้อขายของกันที่ตลาดเช้า พระเณรออกบิณบาตรกันขวักไขว่ ที่เขตเมืองเก่าชั้นในของเมืองน่านนี้ฟังว่ามีเนื้อที่เพียงประมาณหนึ่งตารางกิโลเมตรแต่มีวัดอยู่ถึงสิบสองวัด จึงไม่แปลกว่าบรรยากาศตอนเช้ากิจกรรมการบิณฑบาตและใส่บาตรที่เมืองน่านจึงแอคทีฟเป็นพิเศษ

     ก่อนมาน่านครั้งนี้ผู้หวังดีได้ติดต่อให้นักวิชาการท่านหนึ่งชื่ออาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ซึ่งเป็นคนเมืองน่านมาช่วยอธิบายแนะนำเกี่ยวกับเมืองน่านให้ผม ซึ่งท่านเอารถมารับจากโรงแรมตั้งแต่เช้า เราไปเริ่มต้นกันที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นวัดที่มีบรรยากาศของวัดทางเหลือครบถ้วน คือต้นตาลต้นลานอยู่ในลานวัด โดยเฉพาะต้นลานซึ่งใบของมันใจจารึกความรู้ต่างๆมาแต่โบราณกาลนั้นกำลังออกดอกสะพรั่ง ฟังว่าเมื่อต้นลานต้นใดออกดอกออกผลแล้วมันก็จะตาย คือหมดอายุขัย ผมจึงถ่ายรูปเผื่อมาให้ดูต้นหนึ่ง

     เราไปเริ่มต้นกันที่พระนอน อาจารย์สมเจตน์พาไปดูหินศิลาจารึกที่แปะไว้ที่ฐานพระนอนซึ่งระบุว่าพระนอนนี้สร้างโดยผู้หญิง (เข้าใจว่าเป็นชายาเจ้านคร) เมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว คุยกันไปจึงได้ทราบว่าอาจารย์สมเจตน์เป็นผู้ใช้เวลาสิบหกปีที่ผ่านมาศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่านและมองประวัติศาตร์ผ่านการประเมินหลักฐานเท่านั้น อาจารย์เล่าว่าเรื่องราวของเมืองน่านบันทึกเป็นศิลาจารึกที่ค้นพบตอนนี้แล้วหกสิบกว่าแผ่น นอกจากนี้ยังมีจารึกใบลานที่เก็บไว้ตามวัดเก่าแก่และที่ต่างๆซึ่งจัดหมวดหมู่ไว้แล้วรวมสองพันกว่ามัด มีทั้งที่อ่านตีความแล้วบ้าง ไม่ได้อ่านบ้าง ทั้งหมดบันทึกเป็นอักษรฝักขามซึ่งเป็นอักษรที่ใช้บันทึกภาษาไทยแบบเมืองเหนือ โดยที่รากเหง้าก็มาจากภาษาสันสกฤตนั่นแหละ ปัญหาตอนนี้ก็คือหาคนอ่านได้ยาก และอาจารย์เล่าว่างบประมาณที่ใช้ในการอ่านและจัดหมวดหมู่หลักฐานใบลานเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะได้จากราชการไทยนะ ได้มาจากเยอรมันโน่น ผมเข้าใจว่าที่พวกเยอรมันสนใจจะอ่านจารึกใบลานพวกนี้ก็เพราะเยอรมันหาความรู้เรื่องพืชสมุนไพรเพื่อเอาไปทำยาขาย เพราะพวกเยอรมันเขาทำแบบนี้ในทุกประเทศทั่วโลก จารึกเหล่านี้เล่าเรื่องราวทุกอย่างของยุคสมัย ผู้คน การใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี การแพทย์ และกฎหมาย ตลอดเวลาครึ่งวันที่เราตระเวนดูวัดสองสามแห่ง ทุกแห่งอาจารย์จะพาไปดูหลักฐาน ทั้งศิลาจารึกบ้าง จารึกบนใบลานบ้าง เช่นที่วัดช้างค้ำ เราเข้าไปเปิดตู้เก็บจารึกใบลานที่เก๋ากึ๊กมากชนิดที่สปอร์ราปลิวฟุ้งขึ้นมาเลย ในนั้นมีจารึกใบลานทั้งเก่าทั้งใหม่อยู่เต็ม การมีหลักฐานที่ชัดเจนทำให้ผมเกิดสนใจประวัติความเป็นมาของเมืองน่านขึ้นมาทันที เพราะเวลาเราไปเยี่ยมสุโขทัยหรือแม้กระทั่งอยุธยา เราไปดูแต่ซากผุพังและเรื่องเล่าซึ่งฟังดูแล้วไม่ชัวร์ว่าบางส่วนเป็นความจริงหรือความเท็จ ทำให้ผมไม่สนใจประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งสองมากนัก หลักฐานที่อาจารย์สมเจตน์แสดงให้ดูทำให้รู้ว่าน่านเป็นนครรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเจ็ดร้อยปีแล้วพร้อมๆกับสุโขทัยและเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับสุโขทัยแบบถ้อยทีถ้อยพึ่งพากันมาตลอดโดยที่น่านมีเกลือ สุโขทัยมีถ้วยชามสังคโลกและมีทางออกทะเล ต่างกันตรงที่สุโขทัยถูกทิ้งให้ร้างผุพังเปื่อยสลาย แต่น่านยังคงเป็นเมืองที่มีชีวิตมาเกือบตลอด บรรดาสิ่งปลูกสร้างวัดวาอารามจึงได้รับการทำนุบำรุงปฏิสังขรเป็นระยะเรื่อยมา เมื่อเทียบกันแล้ว สุโขทัยเป็นอดีตที่ตายแล้ว แต่น่านเป็นอดีตที่ยังมีชีวิตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีเจ้าผู้ครองนครต่อเนื่องกันมา 64 คนจนถึงสมัยร.5 เมื่ออำนาจปกครองถูกรวบไปไว้ที่กรุงเทพแบบเบ็ดเสร็จ เจ้าผู้ครองแต่ละคนชื่ออะไร ปกครองช่วงเวลาไหน ทำอะไรไว้บ้าง มีบันทึกไว้หมด

     อาจารย์สมเจตน์เล่าว่าหลักฐานที่มีอยู่แม้จะมาก แต่บางครั้งก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไม่ครบยากที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ แต่ก็โชคดีมักจะได้บันทึกของพวกฝรั่งต่างชาติมาเชื่อมโยงทำให้ต่อเรื่องราวได้ ยกตัวอย่างเช่นทำไมเจ้านครน่านซึ่งเป็นเมืองเล็กๆไร้กำลังจึงสามารถรวบรวมไพร่พลและสามัคคีกับเมืองเล็กรอบๆรวมกันเข้าตีเชียงแสนซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพม่าในสมัยร.1 ได้สำเร็จจนได้รับปูนบำเหน็จเป็นเจ้าฟ้าจาก ร.1 ทั้งๆที่ตัว ร.1 เองได้พยายามหลายครั้งแล้วไม่สำเร็จ อาจารย์สมเจตน์มาถึงบางอ้อเมื่อได้อ่านบันทึกของอาเธอร์ ชอว์ กงศุลอังกฤษซึ่งอยู่เมืองไทยสมัย ร.5 ในบันทึกนั้นเล่าเรื่องการเดินทางด้วยกองคาราวนผ่านเมืองเทิง และตั้งใจจะปักหลักค้างแรมอยู่บริเวณศาลเจ้าซึ่งเป็นที่สะอาดโล่งเตียนในซอกเขาเหมาะแก่การค้างแรม แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากผู้ร่วมเดินทางทุกคนอย่างรุนแรงว่าที่ตรงนี้ตั้งพักแรมไม่ได้เพราะจะอันตรายหนัก อาเธอร์ ชอว์ จึงต้องไปตั้งคาราวานค้างแรมในเมืองเทิงที่เขาจัดให้ อาเธอร์ ชอว์เล่าว่าเขาได้เก็บความสงสัยเรื่อยมาว่าทำไมคนไทยทุกคนจึงเห็นบริเวณศาลแห่งนั้นว่าเป็นจุดอันตรายหนัก จนเมื่อมาถึงเมืองน่านจึงได้ถามเจ้าสุริยพงษ์ฯ(เจ้านครน่านสมัย ร.5) จึงได้รับคำตอบจากเจ้าสุริยพงษ์ฯว่าปู่ของท่านซึ่งเป็นเจ้าเมืองน่านสมัย ร.1 ได้นัดแนะกับเจ้าหัวเมืองขึ้นของเชียงแสนที่ตั้งอยู่รอบๆเมืองเทิงลวงเอาทหารพม่าจำนวนสี่พันคนซึ่งรักษาเชียงแสนออกมาฆ่าที่หุบเขาแห่งนั้น โดยเหล่าหัวเมืองขึ้นเหล่านั้นพร้อมกันแจ้งไปยังเชียงแสนว่าเหล่าพวกหัวเมืองขึ้นกำลังจัดทัพต่อต้านกองทัพญวนที่กำลังยกมาตี และขอกำลังหนุนจากเชียงแสนให้เดินทัพมาช่วย เมื่อพม่าเดินทัพผ่านช่องเขานั้นก็กลิ้งหินปิดปากทางและกลิ้งหินใส่ทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อกำลังของเชียงแสนอ่อนแอลงจึงพร้อมกันเข้าตีเชียงแสนจนยึดเชียงแสนไปถวายให้ ร.1 ได้สำเร็จ

     กลับมาดูวัดวากันต่อดีกว่า ออกจากพระนอนเรามาชมวิหารคลาสสิกที่ใกล้กับพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นอาคารเก่าสี่ร้อยกว่าปีเช่นกัน ลวดลายด้านหน้าจั่วของโบสถ์น่าสนใจมาก ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย คือไม่มีลวดลายอะไรเลย เป็นพื้นปูนเกลี้ยงมีแต่ปูนปั้นแสดงนาคหรืองูแปดตัวพันกันเอาหางพันกัน และมีดอกบัวเจ็ดดอกประกอบกัน อาจารย์สมเจตน์ตีปริศนาธรรมของปูนปั้นง่ายๆเกลี้ยงๆนี้ว่านาคแปดตัวนั้นคือมรรคแปด ดอกบัวเจ็ดดอกนั้นคือโภชฌงค์เจ็ดซึ่งเป็นองค์คุณของการตรัสรู้ รูปที่เกี่ยวกวัดกันชี้เป็นส่วนแหลมสู่จุดเดียวข้างบนนั้นก็คือนิพพาน ซึ่งผมออกปากชมอาจารย์สมเจตน์ว่าตีความได้เจ๋งดี

     แล้วเราก็เดินมาชมพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นเจดีย์ปิดทองเหลืองอร่ามแบบเจดีย์ดอยสุเทพแต่ใหญ่กว่า ผมถามอาจารย์สมเจตน์ว่า

     “ทำไมถึงชื่อแช่แห้ง” อาจารย์ตอบว่า

     “นั่นนะสิ วัดที่ชื่อบ้านๆแบบนี้มหาเถรสมาคมเข้าให้เปลี่ยนเป็นภาษาบาลีหมดแล้ว แต่วัดนี้ชื่อนี้ไม่มีใครกล้าเปลี่ยน ผมหาหลักฐานที่มาของชื่อก็ไม่พบ ผมคิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าทำไมถึงชื่อนี้ วันหนึ่งจนปัญญาก็อธิษฐานกับพระธาตุว่าถ้าจะให้ผมช่วยจรรโลงกิตติศัพท์ของพระธาตุต่อไปแล้วก็ขอให้ผมคิดออกด้วยเถิด แล้วคืนนั้นผมก็เกิดปิ๊งขึ้นมาว่า เวลาเราจุ่มหรือแช่อะไรมันก็ต้องเปียกใช่ไหม อะไรละที่แช่แล้วจะไม่เปียก จะต้องเป็นอะไรที่พ้นจากอิทธิพลจากสิ่งที่ทำให้เปียกนั้นจึงจะแช่อยู่ได้โดยไม่เปียก เปรียบโลกนี้หรือชีวิตนี้คือการจุ่มหรือแช่อยู่ในน้ำ ย่อมจะถูกกระทบโดยทุกข์โศกที่นำมาโดยโลกหรือโดยการใช้ชีวิต เว้นเสียแต่จะตื่นรู้เท่าทันจนพ้นไปจากการถูกกระทบโดยโลกและชีวิตเสียได้แม้จะยังใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ในชีวิตนี้ก็ตาม ดังนั้นแช่แห้งก็ต้องหมายถึงนิพพาน การที่พระธาตุนี้ตั้งอยู่บนที่สูง มีพญานาคคู่ซึ่งเลื้อยเป็นลอนแปดลอนอันหมายถึงมรรคแปดเป็นตัวพาขึ้นมาหาพระธาตุ พระธาตุนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของนิพพาน” 

      ผมฟังแล้วคิดตาม แล้วตอบว่า

    “ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ ”

หนุ่มเมืองน่านแอ่วสาว

     เราเดินทางกันต่อไปเพื่อไปชมวัดภูมินทร์ซึ่งสร้างมาได้สี่ร้อยกว่าปีเช่นกัน เป็นสถาปัตยกรรมแบบกากะบาดอันเป็นต้นแบบของวัดเบญจมบพิตรที่กรุงเทพ แต่ที่เจ๋งกว่าคือภาพเขียนสีฝุ่นบนพื้นซีเมนต์เปียกซึ่งเขียนขึ้นประมาณสมัย ร. 5 ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตชาวเมืองน่านได้อย่างน่าทึ่งมาก ตั้งแต่ชีวิตชายหนุ่ม ชีวิตหญิงสาว และเล่าชาดกเรื่องคันธกุมาร ซึ่งมีความหวือหวาเต็มไปด้วยจินตนาการไม่แพ้นิทานเรื่องเอกๆอื่นๆของโลก แต่ละภาพมีคำบรรยายเป็นอักษรฝักขามกำกับไว้หมดทำให้รู้ได้ทันทีว่าจิตรกรจะเล่าเรื่องอะไร อาจารย์สมเจตน์ได้อ่านคำบรรยายให้ฟังทีละภาพทำให้การชมได้รับความเพลิดเพลินยิ่ง ภาพผนังที่วัดพระแก้วก็สวยดีแต่ผมไม่ชอบ เพราะมันจารีตมากเกินไป ภาพผนังที่วัดใหญ่สุวรรณารามที่อยุธยาก็สวยและคลาสสิกดี แต่มันออกแนวรบทัพจับศึกซึ่งผมไม่ถนัด เมื่อได้มาเห็นภาพผนังที่วัดภูมินทร์นี้แล้ว ผมพูดได้เลยว่าในบรรดาภาพผนังของเมืองไทยทั้งหมด ผมชอบที่วัดภูมินทร์นี้มากที่สุด โดยเฉพาะส่วนที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตผู้ชายชาวน่าน ว่าเขาสักร่างกายอย่างไร แต่งตัวอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร จีบสาวบนถนนอย่างไร แอ่วสาวตอนกลางคืออย่างไร ผมถ่ายภาพการแอ่วสาวมาให้ดูด้วย ผมเป็นหนุ่มชาวเหนือจึงรู้กฎของการแอ่วสาวดี กฎนี้มีอยู่ว่า

     “ข้างบนได้ ข้างล่างไม่ได้ มิฉะนั้น..เสียผี” 

      ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น หวังว่าท่านดูภาพแล้วคงจะเข้าใจนะครับ

โมนาลิซ่าแห่งเมืองน่าน เกล้าผม ทัดดอกรักเร่

     และในบรรยากาศเดียวกันนี้ ผมถ่ายภาพบนผนังมาให้ดูอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพเล่าเรื่องลีลาของสาวเมืองน่านยุคโน้น ผมจำไม่ได้แล้วว่าเธอชื่ออะไร ผมเรียกเธอว่าโมนาลิซ่าของเมืองน่านก็แล้วกันนะ เธอแต่งกายเปิดเผยแบบสาวเมืองร้อนทั้งหลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวางสีสด ทาแก้มแดงอมชมพู เกล้ามวยผม ทัดดอกโบตั๋น (ดอกรักเร่) ห้อยติ่งหูเป็นกระพรวนเหรียญทองบางๆสี่ห้าเหรียญ หน้าตายิ้มแย้ม นึกภาพเวลาเธอหัวเราะแล้วสะบัดหน้าแก้ขวยกระพรวนที่ติ่งหูคงจะส่งเสียงเกรียวกราว..เท่ซะไม่มี

     บ่ายแล้ว เราต้องรีบลาอาจารย์สมเจตน์เพื่อเดินทางต่อไป ความจริงอยากจะไปดูบ่อขุดเครื่องสังคโลกของเมืองน่าน แต่เวลาคงไม่พอเสียแล้ว จึงตัดใจเดินหน้าขับขึ้นเขาไปบ่อเกลือ โดยกะเวลาว่าหลังจากแวะชมบ่อเกลือสินเธาว์แล้ว จะขับขึ้นไปนอนค้างคืนที่วนอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพื่อที่จะตื่นแต่เช้าแล้วเดินไพรขึ้นเขาสูงไปชมดอก “ชมภูพูคา” ที่เขาว่ากันว่ามีอยู่ที่เดียวในโลก แต่วันนี้ดึกแล้วขอเขียนเล่าแค่นี้ก่อนนะ ตอนต่อจากนี้ถ้ามีเวลาก็จะเล่า ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องขออำไพ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์