Latest

ถ้าทิ้งความคิดหมดจะเป็นผู้เป็นคนได้อย่างไร

เรียนคุณหมอสันต์
ขอบพระคุณคุณหมอที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับความหลุดพ้นบ่อยๆซึ่งผมชอบอ่านมาก ผมได้ฝึกปฏิบัติสาย … จนผมมีประสบการณ์รับรู้แสงสว่างและมีความซ่าเหมือนตัวเองลอยอยู่ ผมเข้าใจว่าคงจะมาถูกทางแล้วใช่ไหมครับ แต่ผมยังสับสนว่าหลวงพ่อ … สอนว่าญาณแบ่งเป็นแปดระดับ มีตั้งแต่ … แต่ผมยังงงอยู่ว่าญาณกับฌานมันต่างกันอย่างไร บ้างก็ว่ามันเหมือนกัน บ้างก็ว่าไม่เหมือน ญาณเป็นสมาธิขั้นสูง แต่ฌานเป็นคุณสมบัติพิเศษที่เกิดขึ้นเช่นรู้ใจคนได้เป็นต้น รบกวนคุณหมอช่วยอธิบายหน่อยครับ อีกอย่างหนึ่งแม้ผมจะฝึกสมาธิมายี่สิบกว่าปีแล้ว ทำไมชีวิตมันยังดูเหมือนยากและอึดอัด จนบางครั้งชีวิตสับสน ผมไม่กล้าทิ้งความคิดหมดอย่างที่คุณหมอแนะนำ เพราะถ้าทิ้งความคิดหมดจะเป็นผู้เป็นคนอยู่ได้อย่างไร หรือเป็นเพราะว่าผมรู้ไม่หมดว่าวิธีทำมันมีกี่วิธี แต่ละวิธีต้องทำอย่างไร ทำให้ผมสับสนปนเปเอาวิธีนี้ไปปนวิธีนั้น รบกวนคุณหมอสันต์ช่วยอธิบายหน่อยครับว่าทางปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นหากนับทุกศาสนาแล้วมันมีทั้งหมดกี่วิธีและแต่ละวิธีเขาทำกันอย่างไร

…………………………………………………………….

ตอบครับ

     1. การหลุดพ้น เป็นเรื่องของการรู้และเข้าใจ เป็น cognitive event หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นการตระหนักรู้ ไม่ใช่การเห็นดอกไม้ไฟแสงสีวูบวาบหรือความรู้สึกตัวซู่ซ่าล่องลอย ประสบการณ์ที่คุณเล่ามานั้นเป็นความรู้สึกบนร่างกาย แต่การหลุดพ้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิตประกอบด้วยสามส่วนคือ (1) จิตสำนึกรับรู้หรือความรู้ตัว (2) ความคิด และ (3) ร่างกาย การหลุดพ้นเป็นเรื่องของการที่จิตสำนึกรับรู้สามารถวางความคิดเข้าไปสู่ภาวะรู้ตัวที่ปลอดความคิดได้ แล้วเกิดปัญญาญาณรู้เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น รู้เห็นว่าความคิดเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมอดไป ร่างกายเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่ตายไป ขณะที่จิตสำนึกรับรู้หรือความรู้ตัวนั้นดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร

     2. เรื่องความสับสนว่าญานกับฌานเหมือนกันหรือเปล่า คุณเข้าไปติดกับของภาษาแล้ว เพราะคำพูดเดียวกันต่างศาสนาหรือศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายกันก็ใช้ในความหมายไม่เหมือนกันแล้ว บางครั้งใช้ในความหมายตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป ยิ่งคุณไปนับขั้นตอนย่อยๆที่ถูกซอยให้ถี่ขึ้นคุณยิ่งงงหนัก ผมจะไม่เจาะลึกให้คุณเป็นงงมากขึ้นไปอีก แต่จะแนะนำคุณว่าลืมคำพูดและศัพท์แสงทั้งหมดเสีย เลิกอ่านหนังสือหรือฟังเทปเสีย เพราะมันจะทำให้คุณติดกับดักของความคิดมากขึ้น แค่คุณลงมือวางความคิดคุณก็หลุดพ้นได้แล้ว   

     3. เรื่องการไม่คิดจะทำให้คุณไม่เป็นผู้เป็นคนนั้น คุณเคยวางความคิดลงสักแป๊บหนึ่งไหมละ ผมแนะนำคุณแค่แป๊บเดียว ไม่ได้ห้ามคุณไม่ให้คิดอะไรตลอดทั้งวัน แค่แป๊บเดียว คุณเคยไหมละ อย่าเพิ่งโวยวายว่าทำตามผมแนะนำแล้วคุณจะมีชีวิตปกติเยี่ยงชาวบ้านเขาไม่ได้ แค่แป๊บเดียว ในแป๊บหนึ่งนี้ไม่ต้องมีคำบรรยายว่าคุณเป็นใคร ไม่ต้องมีการวิจารณ์ให้ความเห็นใดๆทั้งสิ้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีความเป็นบุคคลของคุณไม่ว่าจะเป็นชาติกำเนิดคุณวุฒิเกียรติศักดิ์ศรี เลิกคิดที่จะเอาอะไรจากใครมาพอกพูนความเป็นบุคคลของคุณแค่สักสองสามวินาที ทิ้งความคิดที่ว่าคุณขาดอะไรไปซะ เพราะคุณในฐานะที่เป็นบุคคลนั้นไม่ได้มีอยู่จริง ปล่อยให้ความรู้ตัวซึ่งเป็นอะไรที่อิ่มและเต็มของมันอยู่แล้วเป็นตัวของมันเอง สักแค่สองสามวินาที ผมรับประกันคุณไม่ตายหรอก ลองดูก่อน ลองดูสิว่าการที่คุณประทับตราค้ำประกันความคิดของคุณว่าเป็นของจริงนั้น หากไม่มีมัน (ความคิด) สักสองสามวินาทีคุณจะตายหรือเปล่า แล้วลองดูก่อนสิว่าเมื่อวางความคิดได้หมดแล้วสิ่งที่เหลืออยู่มันคืออะไร มันจะเป็นอย่างไร มันจะรู้สึกอย่างไร คุณไม่ลองได้แต่ตั้งคำถามแล้วเที่ยวหาคำตอบจากคนอ่ื่น คุณจะไปรู้ความจริงนี้เรอะ

     4. การใช้ชีวิตเนี่ยมันไม่ยากเลยนะ แค่คุณทำสิ่งที่คุณตื่นเต้นยินดีอยากจะทำ ทีละช็อต ทีละช็อต ไม่ต้องหาเหตุผลว่าทำไมตื่นเต้นยินดีอยากทำก็ได้ แค่รู้สึกตื่นเต้นก็กระโจนลงไปทำได้แล้ว จบช็อตนี้แล้วมองหาช็อตต่อไปที่ตื่นเต้นที่สุดทำอีก จำไว้ว่าในการมีชีวิตอยู่นี้ ความตื่นเต้นมันมีแทรกในทุกเรื่องทุกวินาที คุณขยันหาเหมือนหมาขยันดมกลิ่นก็แล้วกัน นานไปคุณก็จะไวต่อความตื่นเต้นแล้วคุณจะได้เรียนรู้เองว่าความตื่นเต้นเนี่ยเป็นทางลัดสั้นที่สุดในการเข้าถึงส่วนลึกของตัวเอง สิ่งที่เราตื่นเต้นกับมันแท้จริงมันเป็นสิ่งที่เรามีรายละเอียดที่จะทำมันอยู่แล้ว อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นยินดี ทำไปเหอะ คุณไม่ต้องไปใช้ปัญญาระดับตื้นพิจารณาเหตุผลเลยก็ยังได้ด้วยซ้ำ

     5. ให้ผมช่วยสรุปเทคนิคปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นที่มีทั้งหมดให้ฟัง แหม ผมจะไปรู้ทั้งหมดได้อย่างไร  แต่พอจะสรุปเท่าที่ผมรู้ให้คุณได้ ด้วยหวังว่ามันคงจะทำให้คุณหายพล่านเที่ยวหาโน่นหานี่ไม่รู้จบลงได้บ้าง พูดถึงตรงนี้มันคันปาก ก่อนที่จะตอบคำถามขอแขวะอีกหน่อยนะ คือสิ่งที่คุณวิ่งหานั้นมันอยู่ในตัวคุณ เหมือนหมาขี้เรื้อนมันคัน มันวิ่งไปนอนที่นั่น เดี๋ยวก็วิ่งไปนอนที่นี่ อยู่ไม่สุขยุกยิกทั้งวัน ดิ้นรนไปในที่ต่างๆด้วยหวังว่าจะหายคัน แต่ความคันนั้นอยู่ที่ตัวมันนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ที่การสนองตอบของใจมันต่อสิ่งเร้าจากภายนอก แต่มันวิ่งไปโน่นมานี่มันจะหาเจอได้อย่างไร คุณก็เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้คุณพล่านนั้นคือความคิดในใจคุณนั่นเอง คุณหยุดวิ่งหาได้แล้ว เริ่มวางความคิดลงซะ ผมพูดถึงไหนละ อ้อ จะตอบคำถามคุณว่าเทคนิคการไปสู่ความหลุดพ้นมันมีวิธีไหนบ้าง เอาเฉพาะที่ผมรู้จักนะ มันมีประมาณนี้

     5.1. หันเหความสนใจจากความคิดมารับรู้ความรู้สึกบนผิวกาย (body scan) เป็นเทคนิคหันเหความคิดมาสู่เป้าล่อ ซึ่งในที่นี้คือความรู้สึกบนผิวกาย เมื่อหมดความคิด เหลือแต่ความรู้สึกบนผิวกาย ความรู้สึกบนผิวกายนี้แท้จริงแล้วมันเป็นการรับรู้พลังงานของร่างกาย ซึ่งมันมีความละเอียดลึกลงไปๆจนไปถึงความรู้ตัวที่แท้จริงได้

     5.2 ผ่อนคลายร่างกาย (muscle relaxation) เป็นเทคนิควางความคิดโดยอาศัยความจริงที่ว่าความคิดนี้มีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาในใจ อีกขาหนึ่งเป็นอาการทางร่างกาย เมื่อทำข้างหนึ่งก็จะไปมีผลต่ออีกข้างหนึ่ง เมื่อใจเครียดร่างกายก็ตึง เมื่อผ่อนคลายร่างกาย ความคิดก็คลาย

     5.3 รู้สึกผิวกายควบกับผ่อนคลายร่างกายในหนึ่งรอบการหายใจ (one breath de-stressing) อันนี้เป็นเทคนิครวบเอาสองอย่างแรกมาใช้ในชีวิตประจำวัน แบบว่าหายใจเข้าออกทีเดียวรู้เรื่องเลย ความคิดหายหมด ผ่อนคลายได้

     5.4 วางความคิดเข้าสู่ความรู้ตัว (drop any thought) คือวางความคิดดื้อๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร มีความคิดอะไรอยู่ วางลง คิดอะไรอยู่ วางลง จนไม่มีอะไรจะวาง ก็จะถึงความรู้ตัวอย่างง่ายดาย

     5.5 ตอบคำถาม “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า (Am I aware?)” เพื่อเข้าสู่ความรู้ตัว ในความพยายามที่จะตอบคำถามนี้ ต้องวิ่งหาความสนใจ (attention) ว่ามันไปอยู่ที่ไหน ถ้ามันยังอยู่ในความคิดก็แปลว่ายังไม่รู้ตัว ก็ต้องดึงมันออกมาจากความคิดมาอยู่กับความว่าง จึงจะตอบได้ว่ารู้ตัวอยู่ ดังนั้นพยายามจะตอบคำถามทีหนึ่ง ก็ทิ้งความคิดได้ทีหนึ่ง ยิ่งขยันถาม ก็ยิ่งทิ้งความคิดได้มาก

     5.6 วางความคิดด้วยวิธีฝึกสมาธิ (นั่ง หรือเดิน หรือทำงาน) เพื่อเข้าสู่ความรู้ตัว (concentration practice)

     5.7 วางความคิดผ่านการบ่มเพาะปัญญาญาณ (intuition) โดยต่อยอดบนจิตที่เป็นสมาธิแล้ว อันนี้เป็นเส้นทางที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทใช้ ที่เรียกว่าเจโตวิมุตตินั่นแหละ แปลว่าหลุดพ้นผ่านสมาธิ คือมีสองก๊อก ก๊อกแรกต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิก่อน แล้วก๊อกที่สองปัญญาญาณจึงจะเกิดขึ้น แล้วการหลุดพ้นจึงจะตามมา

     5.8 วางความคิดด้วยวิธีตั้งคำถามตัวเอง (self inquiry) อันนี้เป็นวิธีที่โยคีอินเดียบางคนใช้ จะเรียกว่าเป็นการหลุดพ้นผ่านการใช้ปัญญาหรือปัญญาวิมุตติก็คงได้มัง คือตั้งคำถามเพื่อเปิดโปงที่มาของความคิดให้ล่อนจ้อน ว่าแท้จริงแล้วก็ล้วนมาจากความคิดตัวเบ้งที่เชื่อผิดๆว่าความเป็นบุคคลของตัวเองนี้เป็นของจริง เมื่อเปิดโปงได้ก็จะได้ทิ้งมันได้ มาอีกก็ทิ้งอีก

     5.9 วางความคิดด้วยวิธียอมรับยอมแพ้ทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้เป็นวิธีหลักของคริสต์และพุทธนิกายมหายาน คือพูดง่ายๆว่าเมตตา ยอมรับทุกอย่างไว้ในอ้อมกอด ไม่ปฏิเสธใครหรือปฏิเสธอะไรเลย เมื่อยอมรับทุกอย่างได้ มันก็หลุดพ้นจากความดิ้นรนที่จะต้องไปวิ่งหาหรือหนีอะไรโดยปริยายอยู่แล้ว ถูกแมะ 

     5.10 วางความคิดด้วยวิธีใช้จินตนภาพรับและแผ่พลังงานการสั่นสะเทือน (vibration meditation) อัันนี้โยคีอินเดียเขาใช้กัน รากมันมาจากคอนเซ็พท์ว่าความเป็นนิรันดร์หรือจิตสำนึกรับรู้สากลที่เราเรียกว่าความหลุดพ้นนั้นมันเป็นคลื่นของการสั่นสะเทือนขนาดละเอียด ดังนั้นถ้ารู้จักเกาะคลื่นการสั่นสะเทือนให้ละเอียดลงไปๆก็จะไปถึงความหลุดพ้นได้ วิธีทำก็มีตั้งแต่เปล่งเสีียงโอม หรือเอาฆ้อนมาตี เอาขันมาเคาะ แล้วตามคลื่นสั่นสะเทือนนั้นไป

     ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมเท่าที่ผมรู้นะ ที่ผมไม่รู้ก็คงมีอีกมาก ทุกวิธีที่ผมพูดถึงนี้ผมลองมาหมดแล้วแต่ว่าส่วนใหญ่ผมก็ไม่ได้รู้จริงหรอก บางวิธีก็ได้ลองแค่ดมๆ ตลอดเวลาที่เดินทางนี้มาผมก็เอาเส้นทางโน้นบ้างทางนี้บ้างมาผสมปนเปกันมั่ว ดังนั้นคุุณอย่าไปซีเรียสกับการเดินตามสายใดสายหนึ่งเพะๆเพราะทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องเดียวกันแต่มองจากคนละมุม ความสำคัญอยู่ที่ทักษะปฏิบัติที่เกิดจากการลงมือทำจริง การเล่าวิธีปฏิบัติด้วยวิธีเขียนคงไม่มีประโยชน์ ให้คุณทดลองลงมือปฏิบัติวางความคิดด้วยตัวเอง ถ้าทำเองแล้วไม่เวอร์คลองหาเวลามาเข้า Spiritual Retreat ดู ครั้งหน้าจะมี 24-27 พค. 61
 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์