Latest

สี่อย่างในระยะสุดท้ายของชีวิต

     มีลูกสาวของผู้ป่วยท่านหนึ่งเอาเรื่องนี้มาปรึกษา ผมได้เขียนจดหมายตอบ ผมเห็นว่าสาระอาจจะมีประโยชน์ จึงเอามาเล่าให้ฟังโดยปิดบังสถานะที่แท้จริงของผู้ป่วย ประเด็นคือลูกสาวอ่านผลการตรวจทั้งหมดแล้วไม่เข้าใจ คุณหมอที่รักษาอยู่ก็ไม่ได้บอกอะไร ถามอะไรก็อ้ำๆอึ้งๆ จับความไม่ได้ ตัวคุณแม่เองก็ไม่ยอมรับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ลูกสาวจึงอยากรู้ว่าคุณแม่จะอยู่ได้นานอีกเท่าไหร่ และมีอะไรที่หมอสันต์เห็นว่าควรให้การรักษาบ้างเพื่อที่จะได้เอาข้อมูลนี้ไปอธิบายให้คุณแม่ให้หมดก่อนที่จะให้ท่านเลือกของท่านเอง

…………………………………………..

ตอบครับ

จากหลักฐานที่ส่งมา

1. มีเนื้องอกที่เต้านมขวาขนาด 3 x 5 ซม.
2. มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และที่คอ ขนาดราว 3×2 ซม.
3. ภาพ CT ปอด มีเม็ดขนาดเล็กกว่าหนึ่งซม.กระจายอยู่สองกระหย่อม
4. ภาพ CT กระดูกสันหลังมีเนื้องอกแพร่กระจายไปที่ปล้องของกระดูกสันหลังระดับเอว 4 ปล้อง
5. ผลตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดออกมา ตัวเนื้องอกซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมชนิด invasive ductal carcinoma มีตัวรับฮอร์โมนชนิด Her-2 ในระดับ 3+

     1. ถามว่าคุณแม่ของคุณเป็นอะไร ตอบว่าคุณแม่ของคุณเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สี่ (ระยะสุดท้าย) มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ที่คอ และแพร่ไปไกลถึงปอดและกระดูกสันหลัง โดยมีตัวรับฮอร์โมนชนิด Her-2 อยู่ในระดับมาก

    2. ถามว่าคุณแม่จะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเท่าไหร ตอบว่าอันนี้ต้องไปถามพระเจ้าครับ หมอสันต์ตอบไม่ได้ แหะ แหะ ขอโทษ..พูดเล่น ตอบตามสถิติของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ว่ามะเร็งเต้านมระยะที่สี่ มีอัตรารอดชีวิตไปถึงห้าปีข้างหน้า (5 year survival rate) เท่ากับ 22% และมีอัตรารอดชีิวิตเฉลี่ย (mean survival rate) เท่ากับ 3 ปี

     ขยายความตามหลักวิชาแพทย์ ในมุมมองที่หนึ่ง อัตรารอดชีวิตในห้าปีหมายความว่าถ้าเอาทะเบียนราษฎร์ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สี่จำนวน 100 คนเมื่อห้าปีที่แล้วมาตรวจดูใบมรณบัตรในวันนี้ จะพบว่าเหลือรอดมาถึงวันนี้ได้ 22 คน ส่วนอีก 78 คนไปแล้วสวีวี่วี ในมุมมองที่สอง ถ้าเอาบันทึกเวชระเบียนของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สี่ที่ตายไปหมดแล้วมา 100 คน แล้วดูว่าแต่ละคนนับตั้งแต่วันที่วินิจฉัยว่าเป็นระยะที่สี่แล้วเขาอยู่ได้นานกี่ปี แล้วเอาจำนวนปีทั้งหมดรวมกันเอา 100 หารออกมาเป็นค่าเฉลี่ยพบว่าอยู่ได้เฉลี่ยคนละ 3 ปี

     ทั้งหมดนี้เป็นแค่วิชาสถิตินะ ซึ่งก็เป็นวิชาเดียวกับการคำนวณวันเดือนปีเกิดและตกฟากของหมอดูนั่นแหละ เพียงแต่วิชาสถิติของแพทย์แผนปัจจุบันดูเท่กว่า แต่ในการตีความให้คุณตีความแบบเดียวกับการที่คุณตีความคำทำนายของหมอดู จะว่าไปวิชาหมอดูยังจะมีข้อแตกต่างหน่อยตรงที่ยังมีการแก้เคล็ดสะเดาะเคราะห์ซึ่งเป็นลูกเล่นสร้างความหวัง ขณะที่วิชาสถิติของแพทย์แผนปัจจุบันนี้มีแต่ตัวเลขลุ่นๆไม่มีลูกเล่นสร้างความหวังอะไรให้เลย อันไหนดีกว่าอันไหน คุณคิดเอาเองนะ เพราะผมเองก็ไม่รู้เหมืิอนกัน

    3. ถามว่ามีการรักษาอะไรที่คุณแม่ควรจะได้ประโยชน์บ้างไหม ตอบว่าในคนที่ตัวเนื้องอกมีตัวรับฮอร์โมน Her-2 อย่างคุณแม่ของคุณนี้ การใช้ยาชื่อ Herceptin ซึ่งมุ่งทำลายเฉพาะเซลเนื้องอกที่มีตัวรับนี้โดยไม่ทำลายเซลร่างกายปกติ ในงานวิจัยหนึ่งพบว่ายานี้จะทำให้อัตรารอดชีวิตในระยะยาว 10 ปีดีขึ้นจากเฉลี่ย (ในคนไข้หลายระยะรวมกัน) 62% ขึ้นมาเป็น 74% ดังนั้นผมแนะนำให้รับการรักษาด้วยยาตัวนี้เพราะประโยชน์คุ้มกับความเสี่ยงของยาซึ่งมีไม่มากเพราะไม่ได้ทำลายเซลล้างผลาญแบบยาเคมีบำบัดทั่วไป

      ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่ารับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้วจะรับการรักษาทางเลือกอื่นๆด้วยไม่ได้ เพราะการรักษาทุกอย่างสามารถทำไปพร้อมกันได้ตามใจชอบของคนไข้ หากไปหาหมอทางเลือกคนไหนที่เกี่ยงงอนว่าไปรับยาแผนปัจจุบันของแพทย์มาแล้วฉันโกรธไม่ยอมรักษาให้หรอก คุณก็อย่าพาแม่ไปรักษากับหมอทางเลือกที่มีโลกทัศน์คับแคบอย่างนั้นสิครับ เพราะการรักษามะเร็งเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องอาศัยความรู้ทุกอย่างที่มนุษยชาติมีไม่ว่าทางกายหรือทางจิตมาระดมรักษาจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ให้หมอคนใดคนหนึ่งหรือแผนใดแผนหนึ่งผูกขาดการรักษาอยู่คนเดียวโดยไม่ให้คนอื่นยุ่งด้วย ถ้ามีหมออย่างนั้นไม่ว่าเป็นหมอแผนไหน ให้คุณตัดหายปล่อยอย่าไปยุ่งด้วย เดี๋ยวเขาหรือเธอก็จะสูญพันธ์ไปเอง

     ตาคุณจบแล้วนะ ผมหมายความว่าผมตอบคำถามของคุณหมดแล้ว คราวนี้เป็นตาของหมอสันต์จะขอพล่ามบ้าง คือในโอกาสที่คุณแม่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายนี้ ผมอยากจะพูดให้คุณฟังถึงชีวิตในระยะสุดท้าย ว่ามันจะเป็นชีวิตที่มีคุณภาพถ้ามีสี่องค์ประกอบนี้ครบถ้วน คือ

    (1) สามารถ “ยอมรับ” ทุกอย่างที่มีอยู่ เป็นอยู่ ณ วันนี้ ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

    (2) “พึ่งตัวเอง” ได้มากที่สุด ทั้งทางร่างกาย จิตใจ

    (3) ชีวิตในวันนี้ดำเนินไปอย่างมี “คุณค่า” ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลก

    (4) ชีวิตในวันนี้ดำเนินไปอย่างมี “ความหมาย” ตามความเชื่อทางศาสนาของตน

     ถ้าวันนี้ได้สี่อย่างนี้ ชีวิตก็พอแล้ว ส่วนวันพรุ่งนี้ช่างแม่ม..อุ๊บ ขอโทษ ช่างมัน เพราะถ้ามันมาถึงมันก็จะมาในฐานะวันนี้ อย่าไปกังวลถึงวันพรุ่งนี้เลย

   ในอีกด้านหนึ่ง ในระยะสุดท้ายของชีวิต สิ่งที่จะบั่นทอนคุณภาพชีวิตมีสองเรื่อง คือ

     (1) ความคิดลบ อันได้แก่ ความผิดหวัง เสียใจ กังวล กลัว เศร้า และความคิดว่าชีวิตนี้ไร้ค่า

     (2) ความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยทางร่างกาย เช่น ความเจ็บปวด ความเหนื่อยหอบ ผมแยกเป็นสองส่วนนะ ส่วนที่ 1. ความเจ็บปวดจากอาการของโรค นั่นต้องเจอกันแทบทุกคนมากน้อยไม่มีใครหนีพ้น ประเด็นอยู่ที่ใครจะยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้มากกว่ากัน ผมหมายความว่าความเจ็บปวดนั้นจะต้องเจอกันทุกคน แต่ ส่วนที่ 2. คือความทุกข์ทรมานนี้ จะเจอเฉพาะคนที่หมกอยู่ในความคิดจนถอนตัวไม่ขึ้นเท่านั้น คนที่รู้วิธีถอยออกมาสังเกตความคิดตัวเองจะไม่มีความทรมาน เพราะความทรมานเป็นแค่ความคิดปฏิเสธที่ต่อยอดบนอาการปวดของร่างกาย

     หมอสันต์มีคำแนะนำที่แหกโผของหมอทั้งหลายไม่ว่าจะแผนหมอแพทย์หรือหมอดู คือ ในชีวิตที่แสนสั้นนี้อย่าไปเกาะความหวังหรือหนีความกลัว ความหวังนี่มันเป็นตัวร้ายนะ มันร้ายพอๆกับความกลัวเลยทีเดียว เพราะทั้งความหวังและความกลัวต่างก็เป็นความคิดที่คอยลากเราหนีไปจากปัจจุบันไปอยู่ในอนาคต ความหวังและความกลัวทำให้เราเผลอลืมใช้ชีวิตเพราะมัวแต่หนีหรือเสาะหา หนีเพราะกลัว เสาะหาเพราะมีความหวัง การใช้ชีวิตนั้นมันเป็นเรื่องของการอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ แต่เมื่อมัวแต่หนีความกลัวหรือวิ่งหาความหวังที่ในอนาคตเสียตลอดเวลา จะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างไรละครับ การจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ จะต้องอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือจะต้องหันหลังให้กับความกลัวตาย และหันหลังให้ความหวังที่จะหาย เพราะทั้งสองอย่างนั้นเป็นตัวพาหนีจากปัจจุบัน อย่าไปหวังโน่นหวังนี่ในอนาคต ปล่อยทุกอย่างให้ดำเนินไปตามครรลองของมัน โรคถ้ามันจะหายมันก็หายของมันเอง แม้มะเร็งก็หายได้หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดอยากจะทำให้มันหาย อนาคตมันไม่ได้มีอยู่จริง มีแต่โมเมนต์นี้เท่านั้นแหละที่เป็นของจริง เอาโมเมนต์นี้ให้ชีวิตมีคุณภาพก็พอแล้ว แล้วก็อย่าไปกลัวตาย ตายก็ตาย ตายก็แค่หลับที่ร่างกายนี้แล้วไปตื่นที่ร่างกายอื่น เหมือนตอนเราหลับแล้วทิ้งร่างกายที่นอนอยู่บนเตียงไปตระเหร็ดเตร็ดเตร่พบใครต่อใครในสถานที่อื่นๆในความฝัน การตายไม่เห็นจะเป็นไร แต่ความกลัวตายนี่แหละที่เป็นไร การไขว่คว้าหาความหวังในอนาคตไม่รู้จบนี่แหละที่เป็นไร พูดถึงความตายมีใครบ้างเกิดมาแล้วจะไม่ตาย การเกิดมาเป็นคนนี้อัตราตายหรือ mortality rate คือ 100% เหมือนกันหมด เป็นเรื่องเดียวที่การันตีว่ามนุษย์ทุกคนจะประสบความสำเร็จเหมือนกันหมด แล้วอย่าไปเชื่อว่าใครจะบอกคุณได้ว่าใครจะตายก่อนใครรวมถึงสถิติอัตรารอดชีวิตของวงการแพทย์ก็ให้ฟังหูไว้หู แล้วก็ไม่ต้องไปแสวงหาความปกติหรือผลตรวจที่ปกติเพื่อเอามาเป็นตราค้ำประกันว่าคุณจะอายุยืน เพราะนอกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ซึ่งคุณยังมีลมหายใจอยู่แล้ว ไม่มีใครหรือผลตรวจชนิดไหนจะบอกได้หรอกว่าใครจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไหร่

     พูดถึงเทคนิคที่จะมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ คือชีวิตนี้มีอยู่สามส่วนนะ คือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว ทุกส่วนล้วนดำรงอยู่ทีละแว้บ ดำรงอยู่แล้วดับไป แว้บ แว้บ แว้บ แต่ละแว้บมาเร็วไปเร็วจนเราเผลอคิดว่ามันดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ละแว้บเกิดขึ้นบนความอาจเป็นไปได้ (probability) ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่มีอดีตอนาคต เปรียบเหมือนจุดที่กระจายอยู่บนกระดาษอยู่แล้ว หรือหลุมเป็นร้อยหลุมบนถาดขนมครกซึ่งมีอยู่แล้ว แว้บต่อไปหรือช้อนต่อไปเราจะควักตักเอาขนมครกขึ้นมาจากหลุมไหนก็ได้ และแต่ละแว้บที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับแว้บที่เพิ่งเกิดไปก่อนหน้านั้นเลย เพียงแค่ความคิดของเราจับเอาจุดที่เกิดขึ้นแล้วมาวางต่อกันเป็นเส้นตรงที่เราเรียกว่า “เวลา” ดังนั้นเวลาเนี่ยไม่ใช่ของที่มีอยู่จริงนะ มันมีอยู่แต่ในจินตนาการและในความจำของเราเท่านั้น แต่ละแว้บที่เกิดขึ้นที่ปัจจุบันนี้ก็คือการสนองตอบของใจของเราต่อสิ่งเร้าจากภายนอกนั่นเอง  นั่นหมายความว่าแต่ละแว้บเราเลือกได้ว่าเราจะทำให้อะไรเกิดขึ้น ผมไม่ได้หมายความว่าเราเลือกสิ่งเร้าจากภายนอกได้นะอย่าเข้าใจผิด แต่ผมหมายความว่าเราเลือกการสนองตอบของใจของเราต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาในแว่บนั้นได้ เข้าใจแมะ เอ๊ะ..นี่หมอสันต์พูดอะไรกับใครอยู่เนี่ย เออ ผมก็งงตัวเองเหมือนกัน เพ้อเจ้อไปไกลแล้ว จบดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์