Latest

อ้าว..ตกลงคุณเป็นพยานหรือเป็นจำเลยกันแน่

อาจารย์ครับ
เวลาที่ผมทำวิปัสนาตามดูตามสังเกตความคิด ทำไมทำแล้วมันปวดหัวละครับ ผมทำอะไรผิดท่าหรือเปล่า และต้องแก้ไขอย่างไร

……………………………………………..

ตอบครับ

     ในหมู่ผู้แสวงหาความหลุดพ้น เป็นที่รู้กันว่า “ผู้สังเกต” หรือ “ผู้รู้” คือเราที่แท้จริง เมื่อได้วางความคิดลงไปหมดแล้วก็จะเหลือแต่ตัวผู้รู้หรือผู้สังเกตตัวนี้

     ผมถามคุณคำเดียวว่าคุณเป็น “ผู้สังเกต” ที่แท้จริงหรือเปล่า

สมมุติว่าคุณไปเป็นพยานศาลคดีผู้ชายทำร้ายร่างกายผู้หญิงกลางถนน ศาลถามคุณว่า

     “เล่าไปซิ พยานเห็นว่าวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น”

     คุณจึงเล่าว่า

     “ผมเดินบนฟุตบาทกำลังจะเลี้ยวเข้าร้านเซเว่น แล้วก็ได้ยินเสียงรถเบรคดังเอี๊ยด แล้วก็เสียงรถชนกันดังโครมเหลียวไปดูเห็นรถสีขาวชนก้นรถสีน้ำตาลจนก้นบุบ”

     ศาลถามต่อว่า  “แล้วไง” คุณตอบว่า

     “แล้วผู้หญิงคนนั้นกับผู้ชายคนนั้นก็ลงมาจากรถของตัวเอง แล้วทะเลาะชี้หน้าด่ากันใหญ่ที่กลางถนน” 

     ศาลถามต่อว่า “แล้วไง” คุณตอบว่า

     “แล้วผู้หญิงคนนั้นถุยน้ำลายใส่หน้าผู้ชายคนนั้น”

     ศาลถามว่าต่อว่า “แล้วไง” คุณตอบว่า

     “แล้วผู้ชายคนนั้นก็ผลักหน้าอกผู้หญิงคนนั้น”

     ศาลถามว่าต่อว่า “แล้วไงอีก” คุณตอบว่า

     “แล้วผมก็เข้าไปบอกว่านี่มันชักจะไปกันใหญ่แล้ว คุณทั้งสองคนนั่นแหละ หยุดเถอะ แล้วผู้หญิงคนนั้้นก็ถุยน้ำลายใส่หน้าผม ผมก็เลยชกเบ้าตาเธอไปหนึ่งที”

     ศาลจึงอ้าปากค้างและว่า

     “อ้าว ตกลงคุณเป็นพยานหรือเป็นจำเลยนี่”

     ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ประเด็นที่หนึ่งของผมคือ สิ่งที่เราเรียกว่าจิตเดิมแท้หรือความรู้ตัว (consciousness) ที่เรายกให้เป็นผู้สังเกตนี้ แขนของมันคือความสนใจ (attention) นะ เมื่อใดที่ความสนใจจอดแช่อยู่ในความว่าง นั่นคือเรารู้ตัวอยู่ เพราะความว่างนั้นก็คือเราหรือความรู้ตัวนั่นเอง เมื่อนั้นเราเป็นผู้สังเกตตัวแท้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความสนใจออกไปเล่นด้วยกับความคิด นั่นผู้สังเกตหรือพยานไปร่วมวงชกหน้าโจทก์แล้วนะ ผู้สังเกตไม่ใช่ผู้สังเกตแล้ว เป็นเพียงอีกความคิดหนึ่ง ซึ่งถ้าคุณไม่ระวัง คุณก็จะนึกว่าคุณเป็นผู้สังเกตอยู่ แต่ที่จริงมันเป็นแค่ความคิดสองความคิดตีกัน คุณนั่งวิปัสนาให้ตายสิ่งที่คุณจะได้ก็มีแต่ความปวดหัวเพราะความคิดของคุณกำลังคุยกับความคิดของคุณโดยมีคุณร่วมเล่นอยู่ในนั้นด้วยอย่างไม่รู้ตัว

     ประเด็นที่สองของผมคือ ที่คนเขาพูดๆกันว่าผู้รู้หรือผู้สังเกตเนี่ย เขารู้อะไร เขาสังเกตเห็นอะไรคุณต้องเข้าใจก่อนนะ เขาไม่ได้ “รู้” หรือ “สังเกต” เห็นเนื้อหาของความคิดนะ แต่เขารู้หรือสังเกตเห็นสภาวะจริงๆ ณ ขณะนั้นก่อนที่จะมีภาษาหรือคำพูดใดๆมาบรรยาย คือเห็นสภาวะโดยไม่เกี่ยวกับภาษา พูดอย่างนี้คุณจะเข้าใจไหมเนี่ย ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรแต่ขอพูดหน่อยเถะเพราะมันคันปาก คุณจำได้ไหมสมัยที่คุณอายุยังไม่ครบสองเดือนหนะ หิ หิ พูดเล่น ถามไปงั้นแหละใครจะไปจำตอนอายุขนาดนั้นได้ ที่ถามเพราะว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งที่เราเคยรู้เคยเห็นสมัยที่เราอายุยังไม่ครบสองเดือน ยังไม่รู้ภาษา อย่างถ้าเราสังเกตความกลัว มันไม่ใช่การไปดูความคิดที่ทำให้กลัว แต่มันเป็นการทิ้งความคิดมาดูว่าใจมันหายแว้บ..บ…บ แล้วเต้นตั๊ก ตั๊ก ตั๊ก อย่างไร ขนมันลุกชูชันเย็นสันหลังวาบอย่างไร มือมันเย็นเฉียบอย่างไร ทั้งหมดนี่เป็นการดูคลื่นการสั่นสะเทือน (vibration) หรือความรู้สึกสะดุ้งสะเทือนไหว วิบๆ หวิวๆ เหมือนพยับแดด ไม่มีภาษาใดๆมาเกี่ยวข้อง เสียงก็เป็นแค่เสียง ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งวันก่อนผมสอนกลุ่มแพทย์จากเขมรที่เวลเนสวีแคร์ เวลาหมอเขมรเขาถามคำถามเป็นภาษาเขมรผมได้ยินเสียงของเขาด๊อกแด๊กง็อกแง็กชัดเจนแต่ฟังไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรซักคำ นั่นแหละ การสังเกตคือสังเกตของอย่างนั้น คือเสียงก็ฟังเป็นแค่เสียงแต่ไม่ตีความ ภาพก็เห็นเป็นแค่ภาพแต่ไม่ตีความหรือตั้งชื่อ คลื่นก็กระทบก็เป็นแค่คลื่นกระทบ สะดุ้งก็เป็นสะดุ้ง ขนลุกก็เป็นขนลุก เย็นเป็นเย็น วาบเป็นวาบ ไม่มีการตีความ ไม่มีการใช้ศัพท์แสงใดอธิบาย

     แล้วประเด็นที่สามของผมก็คือ ทั้งหมดนี่สังเกตกันที่ร่างกายนะ การสังเกตต้องอาศัยอายตนะของร่างกายสังเกตกันที่บนร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกายก็หมดสิทธิ์สังเกต อย่างคุณนั่งสมาธิอยู่ในฌานนิ่งปึ๊ดอยู่อย่างนี้สังเกตอะไรไม่ได้เพราะตอนนั้นร่างกายถูกตัดขาดออกไป ในการสังเกตนี้ แม้การสังเกตผลกระทบของความคิดซึ่งเป็นสิ่งเร้าทางใจก็สังเกตกันบนร่างกาย เพราะความคิดหรือความรู้สึกนี้มันมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระซึ่งสื่อเป็นภาษาไปที่ใจ อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกาย เราไม่ได้ไปสังเกตขาที่เป็นเนื้อหาสาระที่อยู่ที่ใจนะ ถ้าทำอย่างนั้นเท่ากับว่าเราไปผสมโรงคิดแล้ว ผิดท่าแล้ว เราสังเกตผลที่มันตกกระทบบนร่างกาย สังเกตไปจนเห็นกับตาว่าทุกอย่างที่กระพือขึ้นมาเป็นความกลัวหรือเป็นความโกรธหรือเป็นความรู้สึกอะไรก็ตามนั้นมันเกิดขึ้นมาพักเดียวแล้วมันก็จะสงบลงไปเหมือนเดิมเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น นี่แหละคือการสังเกตแบบคลาสสิกของจริง ส่วนความคิดนั้นถ้ามันบังเอิญเกิดแทรกขึ้นมาคุณก็แค่มีสติเฝ้าดูแบบปล่อยให้มันมาแล้วปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ไปข้องแวะหรือไม่ชะโงกหน้าเข้าไปรายดูละเอียดว่ามันเป็นเรื่องอะไร

     คุณไม่ต้องกลัวว่าอ้าว แล้วได้แต่นั่งสังเกตแบบบื้อๆไม่รู้ภาษาอยู่อย่างนี้เมื่อไหรจะหายโง่ละ แล้วจะเป็นวิปัสนาได้อย่างไร แฮ่ แฮ่ ภาษาหรือสมมุติบัญญัติเนี่ยแหละที่เป็นตัวทำให้คนเราโง่ คุณจะฉลาดไม่ได้ถ้าคุณไม่วางภาษาลงเสียก่อน ส่วนคำที่คุณเรียกว่าวิปัสนานั้นคุณเข้าใจผิดว่าหมายถึงการคิดไตร่ตรองเอา ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น มันหมายถึงความรู้ที่เกิดขึ้นมาแบบปิ๊ง..ง วิปัสนาญาณหรือปัญญาญาณนี้มันเป็นความรู้แบบ insight มันเป็นความรู้แบบสาธิตด้วยวิธีพลิกของที่คว่ำอยู่หงายขึ้นเพื่อให้คุณเห็นก้นมัน มันจะเกิดขึ้นเมื่อคุณหมดความคิดแล้ว มีสมาธินิ่งได้ที่แล้ว จนเหลือแต่การรับรู้สภาวะที่ไม่เกี่ยวกับภาษาแล้ว เดี๋ยวปัญญาญาณ (intuition) เขาจะโผล่เข้ามาสาธิตสอนแสดงให้คุณถึงบางอ้อและหายโง่เอง โดยที่คุณไม่ต้องไปคิดไปคำนวณหรือตีความช่วยอะไรเขาเลย

     ทั้งหมดที่ผมพูดนี่มันเป็นเส้นทางวางความคิดผ่านการมีสมาธิ (เจโตวิมุตติ) นะ มันยังมีวิธีอื่นซึ่งผมไม่ถนัด ไม่รู้จริง จึงไม่ได้พูดถึง เช่นการหลุดพ้นผ่านการไต่สวนหารากที่มาของความคิด (ปัญญาวิมุติ) และการหลุดพ้นผ่านการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข (สัทธาวิมุตติ) เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์