Latest

การศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กสี่ขวบ

กราบเรียนคุณหมอสันต์
เรา (หนูกับสามี) อยู่ในวัย 40 เรามีลูกสาวอายุ 4 ขวบ หนูมีความตั้งใจที่จะมีชีวิตเพื่อลูกเป็นสำคัญ จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่ยิ่งเมื่อเธอเติบโตขึ้น หนูก็ยิ่งขาดความมั่นใจในความตั้งใจของตัวเอง ตอนนี้ทุกเย็นเราพาเธอไปเข้าโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมเธอให้เข้าโรงเรียน … ใช่ค่ะ กวดวิชาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เธอต้องตื่นแต่เช้า เพราะทั้งหนูและสามีต้องไปให้ถึงที่ทำงานก่อนรถติด คุณหมอคะ ถ้าลูกเติบโตไปตามวิถีนี้ เธอจะเรียนรู้การมีความสุขในชีวิตจากตรงไหนหรือคะ คุณหมอมีทางเลือกที่ดีกว่าที่จะแนะนำไหมคะ หนูพร้อมที่จะเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง ไปอยู่ต่างจังหวัดก็เอา เลิกอาชีพก็เอา อยู่กับเธอ home school ก็เอา ขอให้หนูพอมองเห็นทางว่าหนูได้ให้สิ่งที่ดีกว่าที่ให้เธออยู่ตอนนี้
ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ

…………………………………………….

ตอบครับ

     ผมไม่ได้เป็นครูอาจารย์ที่มีความชำนาญหรือมีความรอบรู้ทางด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนนะ เรื่องที่ผมชำนาญ อาชีพที่ผมทำ ไม่ว่าจะผ่าตัดหัวใจหรือให้ความรู้และรักษาคนป่วยโรคเรื้อรังต่างๆล้วนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องการศึกษาของเยาวชน คำตอบของผมไม่มีหลักวิชาการศึกษารองรับ เป็นแค่สามัญสำนึกของคนแก่คนหนึ่ง หิ หิ พูดแบบบ้านๆก็คือ คุณต้องใช้พิจารณญาณในการชมหรือรับฟัง

      ถามว่าถ้าคุณเลี้ยงลูกไปตามแบบที่คนกรุงเทพเขาทำกัน แล้วลูกของคุณจะเป็นอย่างไร ผมพอจะตอบได้นะ คือผมตอบจากการแอบสังเกตเด็กรุ่นหลานที่เป็นผลจากการเลี้ยงดูด้วยวิธีการประมาณนี้ เขาจะมีอัตลักษณ์ คือ

     1. เด็กรุ่นนี้ลอกแบบความเครียดกังวลมาจากพ่อแม่และคนใช้ของเขา ซึ่งอันนี้ผมพอเข้าใจได้ เพราะชีวิตเขาก็ขลุกอยู่กับสามคนนี้ เขาก็ต้องเรียนรู้สักเกตทุกอย่างมาจากสามคนนี้เป็นหลัก ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า 7 ขวบปีแรกเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเรียนรู้และลอกเลียนคนรอบตัวมากที่สุด เมื่อชีวิตของพ่อแม่เป็นชีวิตที่เคร่งเครียด แน่นอนว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้จดจำจะต้องมีแต่วิธีการสนองตอบต่อสิ่งเร้าไปในทางเพิ่มความเครียดให้ตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในวัยนี้จะวนเวียนอยู่กับความคิดลบหน้าเดิมไม่กี่อย่าง เช่น โทษคนอื่น (blame) รู้สึกด้อย (shame) รู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ (victim) รู้สึกผิด (guilt) แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะฝังเป็นจิตใต้สำนึกให้เขาเอาไปใช้งานในตลอดชีวิตในวันหน้า

     2. ถึงเด็กรุ่นนี้จะทำได้ดีในเรื่องวิชาการ อ่าน เขียน เลขคณิต เล่นดนตรีหรือกีฬาได้เป๊ะๆตามคำบอกของครู แต่เขาไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) หรือจินตนาการ (imagination) เอาเสียเลย ยิ่งความเป็นศิลปินยิ่งแล้วใหญ่ ยังห่างไกลมาก

     3. เมื่อไม่มีจินตนาการ เขาก็จึงไม่มีโอกาสรู้จักปัญญาญาณ (intuition) หรือไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาในหัวของเขาขณะไม่ได้ตั้งใจคิดอะไร เขารู้จักแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งก็คืออากู๋ (Google) และผมมั่นใจว่าชีวิตอนาคตของเขาจะถูกนำทางหรือบงการด้วยปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่ด้วยปัญญาญาณของเขาเอง
     ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไม่มีจินตนาการ ไม่รู้จักปัญญาญาณ แล้วเขาจะเอาความบันดาลใจ (inspiration) ในการใช้ชีวิตมาจากไหน ถ้าไม่ใช่ลอกแบบชีวิตที่เคร่งเครียดของพ่อแม่เขา

     4. เด็กรุ่นนี้ไม่มีความสนใจธรรมชาตินอกตัว ไม่เคยทำตาโต (wonder) กับปรากฏการณ์ใดๆในธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึก (feeling) ที่ลึกซึ้งกับสิ่งสวยงามรอบตัวหรือแม้กระทั่งกับสัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมว นั่นอาจเป็นเพราะสองในสามของเวลาที่เขาตื่นอยู่ เขาอยู่ในอินเตอร์เน็ท ไม่ได้อยู่ในโลกธรรมชาติรอบตัวเขา

     5. เด็กรุ่นนี้เป็นคนที่ทุกข์ง่าย สุขยาก จดจำแต่ความคับข้องใจที่พ่อแม่ไม่ตามใจเขา และถนัดแต่การประท้วงสำแดงพลังเพื่อให้ตัวเองอุ่นใจว่าพ่อแม่ยังคงเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ของเขาอยู่ ผมเชื่อว่าลึกๆในใจเขามีความกลัวที่พ่อแม่จะตายจากเขาไป เพราะเขาใช้บริการพ่อแม่มากจนเขาไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรหากไม่มีพ่อแม่

     ถามว่าวิธีเลี้ยงลูกแบบให้เรียนอยู่กับบ้าน (home school) จะดีไหม ตอบว่ามันก็มีข้อดีข้อเสียนะครับ แต่ข้อเสียที่ยังแก้ไม่ตกก็คือเด็กไม่ได้เรียนรู้การสังคมกับมนุษย์คนอื่น เพราะ home school ในเมืองไทยนี้หมายถึงการขังเด็กให้เจ่าอยู่ในห้องแคบๆคนเดียวกับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ เหมือนกันหมดไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพหรือชนบท

     ถามว่านอกจากจะให้การศึกษาลูกไปตามวิธีเดิมๆที่คนกรุงเทพเขาทำกันแล้ว มันมีวิธีอื่นอีกไหม ตอบว่าสิ่งที่คุณถามถึงคือ ‘โรงเรียนทางเลือก’ เมืองไทยก็พอมีนะ ผมยกตัวอย่างที่ผมรู้จัก เช่น โรงเรียนทอสี (วิถีพุทธ) โรงเรียนสัตยาไสที่ลพบุรี (สร้างคนดี) โรงเรียนสยามสามไตร (วิถีพุทธ) โรงเรียนอนุบาลบ้านรักที่เมืองกาญจน์ (แนวซัมเมอร์ฮิลล์) โรงเรียนรุ่งอรุณ (วิถีพุทธ) โรงเรียนเพลินพัฒนา (แนวพหุปัญญาแบบโฮวาร์ด การ์ดเนอร์) โรงเรียนดรุณสิขาลัย (แนวซีมัวร์ พาเพิร์ท) โรงเรียนปัญโญทัย (แนวรูดอล์ฟ สไตเนอร์) เป็นต้น คุณสนใจแบบไหนก็ลองไปดูเอาเอง

    ความเห็นส่วนตัวของหมอสันต์เรื่องการศึกษาในวัย 1-7 ขวบ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การได้บ่มเพาะ

(1) จินตนาการ (imagination) ที่สามารถคิดอะไรพ้นกรอบที่อายตนะรับรู้ออกไปได้ และ
(2) ปัญญาญาณ (intuition) อันจะนำไปสู่
(3) ความบันดาลใจ (inspiration) ในการจะใช้ชีวิตนี้ให้มีความหมายและมีคุณค่า

     คนที่จะเปิดให้เด็กบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้คือพ่อแม่เป็นหลัก โรงเรียนเป็นรอง ทั้งสามประการนี้เด็กเขาจะบ่มเพาะขึ้นมาเองหากได้สัมผัสศึกษาธรรมชาติ คือหากให้เด็กได้ใช้ชีวิตกลางแจ้งกลางแดดกลางฝนคลุกดินคลุกต้นไม้ใบหญ้าหมาแมวเป็ดไก่ บวกกับให้เด็กได้มีโอกาสฝึกสมาธิวางความคิดเข้าสู่ความว่างแล้วเฝ้ามองและเลือกหยิบปัญญาญาณที่จะโผล่ขึ้นมาในรูปของไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาขณะที่ใจปลอดความคิด ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ง่ายขึ้นถ้าพ่อแม่ในฐานะเพื่อนร่วมเรียนรู้มีความเข้าใจและทำเป็นอยู่ก่อน ผมตอบคุณได้แค่คอนเซ็พท์แค่นี้แหละ ส่วนวิธีปฏิบัติคุณไปเสาะหาหรือทดลองเอาเองนะ

ปล.
ความจริงที่ฟาร์มของเวลเนสวีแคร์ที่มวกเหล็กก็มีธรรมชาติสวยงามวิวดี มีที่พัก มีสิ่งต่างๆที่เด็กวัย 1-7 ขวบจะใช้เป็นที่เรียนรู้อะไรในเชิงบ่มเพาะความสร้างสรรค์หรือจินตนาการได้ พ่อแม่เด็กท่านไหนคิดจะทำเรื่องแบบนี้เช่นทำแค้มป์ธรรมชาติศึกษาสำหรับเด็กๆ หรือทำโรงเรียนแนววาลดอล์ฟ มาทำที่ฟาร์มได้นะ คุยกับผมได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์