Latest

อยากคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่อยากโดนส่องก้น

คุณหมอสันต์ครับ
เพื่อนผมเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็ช็อกไปแล้ว ไข้ขึ้น หมอต้องผ่าตัดลำไส้ด่วนจึงรู้ว่าลำไส้ทะลุและเน่า ต้องตัดลำไส้ออกไปสองรอบ รอบแรกตัดแล้วยังไม่แน่ใจ ต้องกลับเข้าไปตัดอีกหน เหลือลำไส้อยู่นิดเดียวและคงต้องเอาอึมาปล่อยที่หน้าท้องเป็นการถาวร ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ผมเห็นเขาแล้วก็อยากป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ตัวเอง หมอบอกว่าต้องไปส่องกล้องแต่ผมไม่อยากส่องเพราะต้องอดอาหารต้องถ่ายยาวุ่นวาย มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบอื่นที่ไม่ต้องส่องตรวจทางก้นไหมครับ

…………………………………….

ตอบครับ

ก่อนที่จะไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สิ่งที่พึงทำเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ

     1. ลดไขมันในอาหารให้เหลือน้อยที่สุด ภาษาหมอบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ของแคลอรี่รวม คือต้องให้ไขมันให้แคลอรี่ไม่เกิน 20% ของแคลอรี่รวม นั่นหมายความว่าไม่กินอาหารผัดทอดเลย

     2. อาหารต้องได้ดุล ประเด็นสำคัญคือต้องได้ผักและผลไม้วันละอย่างน้อย 5-8 เสริฟวิ่ง หนึ่งเสริฟวิ่งเทียบเท่าแอปเปิลหนึ่งลูกหรือผักสดหนึ่งถ้วย นอกจากนี้ต้องขยันกินถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเพื่อให้ได้กากใยมากๆ

     3. อาหารต้องมีกากทุกรูปแบบรวมกันอย่างน้อย 25 กรัมต่อวัน ซึ่งงานวิจัยอาหารในคนอเมริกันพบว่ากินกากใยวันละ 5-8 กรัมต่อวันเท่านั้น

     4. อย่าอ้วน ถ้าอ้วนต้องลดอาหารที่ให้แคลอรี่ลง

     5. อย่าสูบบุหรี่

     6. ออกกำลังกายทั้งวัน โดยให้การเดินไปมาทำโน่นทำนี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแทนการนั่งอยู่กับที่

     เอาละ คราวนี้มาพูดถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สมาคมะเร็งอเมริกัน (ACS) เพิ่งแก้ไขคำแนะนำใหม่ๆหมาดๆ ว่าให้ผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระดับปกติที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ทำการตรวจคัดกรองแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบต่อไปนี้ ไหน คือ

1. แบบส่องเข้าไปดูภาพของลำไส้ใหญ่ตรงๆเลย ซึ่งมีหลายวิธีให้เลือกคือ
1.1 ส่องตรวจลำไส้ใหญ่ colonoscopy ทุกสิบปี หรือ
1.2 ตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยอุโมงคอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy) ทุก 5 ปี
1.3 ส่องตรวจลำไส้ใหญ่ท่อนปลาย (sygmoidoscopy) ทุก 5 ปี 

2. แบบตรวจอุจจาระหาเลือดตกค้างปีละครั้ง ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้
2.1 fecal immunochemical test (FIT)
2.2 guaiac-based fecal occult blood test (gFOBT)
2.3 Multi-targeted stool DNA test (MT-sDNA) ทุก 3 ปี
ทั้งหมดนี้มีขายเป็นชุดสำหรับเอาไปตรวจที่บ้านเองได้ด้วย หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติก็ต้องไปส่องตรวจลำไส้ใหญ่ต่อ

     การตรวจทั้งสองแบบนี้ จนสมัยนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าอย่างไหนจะได้ผลดีกว่าอย่างไหน ดังนั้นคุณชอบแบบไหนก็เลือกเอา แต่มันสำคัญที่ทุกคนที่อายุเกิน 45 ปีควรจะได้รับการตรวจคัดกรอง ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง

      หากคุณสนใจการตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยอุโมงคอมพิวเตอร์ (CT colonoscopy) อย่าคิดว่าจะไม่ต้องถ่ายยาหรือไม่ถูกล้วงก้นนะ เพราะการตรวจชนิดนี้ต้องมีการถ่ายยาล้างท้องเหมือนกัน และต้องมีท่อยัดเข้าทางทวารหนักเพื่อเป่าลมใส่เข้าไปเหมือนกันกับการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีติ่งเนื้อต้องตัดการตรวจแบบนี้จะตัดไม่ได้ต้องไปส่องตรวจด้วยกล้องส่องแบบ colonoscopy ตามปกติซ้ำอีกครั้งจึงจะตัดติ่งเนื้อได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Smith RA, Andrews KS, Brooks D, Fedewa SA, Manassaram-Baptiste D, Saslow D, Brawley OW, Wender RC. Cancer screening in the United States, 2018: A review of current American Cancer Society guidelines and current issues in cancer screening. CA: Cancer J Clin. 2018 [Epub ahead of print]. Available on Jun 14, 2018 at https://www.cancer.org/cancer/colon-rectal-cancer/detection-diagnosis-staging/acs-recommendations.html#references