Latest

รองช้ำ (เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ Plantar fasciitis)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ
4 ปีแล้วที่เป็นลูกศิษย์คุณหมอ ทำตามที่ไปเข้าค่าย [{(แทบ)}] ทุกอย่าง ท้าวความก่อนเพราะคุณหมอลูกศิษย์เยอะอาจจะจำไม่ได้ ดิฉัน … ค่ะ ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วๆ ผสมวิ่งเยาะๆ ทุกวัน ย้ำว่าทุกวัน มาตลอด โดยประมาณ 1 ชม./วัน ตี 4 ครึ่ง ถึง ตี 5 ครึ่ง นาฬิกาออกกำลังกายบอกว่า burn 300-450 cal เสมอๆ แต่ต้นปีนี้รู้สึกว่ารองเท้ามันคงจะสึก เดิน-จ็อกแล้วมันกระแทก (Asic) แต่ด้วยความขี้เหนียวไม่ยอมเปลี่ยน และรู้สึกตัวว่ากลายเป็นคนเสพติดออกกำลังกาย ถ้าวันไหนตื่นมาแล้วจำเป็นว่าต้องงดออกไปวิ่งจะหงุดหงิดมาก รุ่งขึ้นมี double เข้าไป ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกผิดมาก ดิฉัน ปีนี้ 56 ปี นน. 53-54 สูง 160 ไปตรวจสุขภาพประจำปีกับคุณหมอ… ที่ … คุณหมอบอกว่าตัวชี้วัดทุกอย่างดี
จนเมื่อเดือนประมาณมีนาคมเจ็บฝ่าเท้ามากๆ ร้อนผ่าวเจ็บไปทั้งฝ่าเท้าทั้งวัน หาหมอกระดูกแล้ว กินยาอยู่ 10 วันไม่ดีขึ้น กลางเดือนมีนาฉีดยาที่ฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้างข้างละ 2 เข้ม (2 จุด) ค่อยๆ ดีขึ้นจากเดิมสักครึ่งหนึ่ง แล้วก็แย่ลงอีก กลางเดือนเมษายน ไปหาหมออีก ฉีดยาอีก อย่างเดิมแต่เปลี่ยนย้ายตำแหน่ง ไม่ดีขึ้นเลยจนถึงวันนี้ คิดว่าพรุ่งนี้ (15 พค) คงต้องไปหาคุณหมอกระดูกอีก อาการมันคือร้อนผ่าวทั้งฝ่าเท้า ตรง Arch มีจุดเจ็บเหมือนเส้นมันยึด ฝ่าเท้ามันร้อนผ่าเอ้วชา เหมือนเราไปยืนเดินบนพื้นซีเมนต์ร้อนๆ นานๆ อาการผ่าวร้อนอย่างนี้ทั้งวันไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน พอกลางคืนนอน เช้าตื่นมาจะดีขึ้นมาก พอเวลาผ่านไปชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็เป็นอีก
– จะทำอย่างไรดีกับอาการข้างบนดีค่ะ ไม่อยากกินยาเยอะ ซึ่งก็บอกคุณหมอกระดูกไปแล้วด้วยว่าดิฉันไม่ชอบกินยา
– แล้วขา-ฝ่าเท้า มาเป็นแบบนี้ ตอนนี้คุณหมอเขาให้งดเดินก่อน แล้วดิฉันจะไปออกกำลังกายอะไรได้  Rotator cuff ที่ไปผ่าตัดมา ยังฟื้นตัวไม่หมด ยังเจ็บอยู่ ยังยกแขนได้ไม่สูง
– ยาฉีด ฉีดมากๆ คงไม่ดีแน่ แล้วดิฉันจะทำอย่างไรดี
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

……………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ขอเล่าสรุปให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นฟังไปด้วยก่อนว่าเอ็นฝ่าเท้าอักเสบคือภาวะที่มีการเสื่อมสภาพหรือการระคายเคืองของเอ็นฝ่าเท้าตรงที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า (calcaneal tuberosity) เชื่อกันว่าเกิดจากการที่เอ็นฝ่าเท้าถูกยืดหรือกระชากมากเกินไปทำให้เกิดการฉีกขาดขนาดเล็กๆ (microtear) ของเอ็น ถ้าการบาดเจ็บลักษณะนี้เกิดซ้ำๆซากๆก็จะสะสมและเรื้อรัง เวลาลงน้ำหนักมีอาการเจ็บแปล๊บที่ฝ่าเท้าใกล้ไปทางส้นค่อนเข้ามาข้างใน บางคนเอานิ้วมือกดตรงนี้ดูก็หรือดึงหัวแม่โป้งเท้าให้กระดกขึ้นก็ร้องจ๊ากแล้ว จะเจ็บมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงน้ำหนักสี่ห้าก้าวแรก ในกรณีที่มีการตัดชิ้นเอ็นออกมาตรวจจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบการเสื่อมสภาพเรื้อรังและมีบางบริเวณขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้การหายยิ่งช้า แต่ไม่มีการอักเสบอย่างชื่อเรียก

สาเหตุที่แท้จริงนั้นวงการแพทย์ไม่ทราบ แต่โรคนี้เกิดมากในนักวิ่งจึงเชื่อว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีไม่เข้มงวดในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น เลือกรองเท้าหรือแผ่นรองพื้นไม่เหมาะกับลักษณะเท้า, ขี้เหนียวไม่ซื้อรองเท้าที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักได้ดี, ขี้เหนียวไม่เปลี่ยนรองเท้าเมื่อพื้นรองเท้าหมด เป็นต้น นอกจากนี้สาเหตุภายในก็อาจมีส่วน เช่น ฝ่าเท้าแบน หรือฝ่าเท้าเว้ามากเกินไป ขายาวไม่เท่ากัน และเท้าและขาผิดรูปในลักษณะต่างๆ การที่หัวแม่เท้าตก (reduced dorsiflex) ก็มีหลักฐานว่าเป็นอีกเหตุหนึ่งของโรคนี้ แม้แต่ความแก่ (สูงวัย) ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งเช่นกันเพราะแผ่นไขมันที่รองเป็นเบาะรับกระดูกส้นเท้าบางลงตามวัย

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

     1. ถามว่าจะทำอย่างไรดีกับอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ตอบว่าสิ่งแรกคือทำใจก่อน ว่าโรคนี้เป็นแล้วอาการจะอยู่นานหลายเดือน แต่ท้ายที่สุดก็มักจะหายไปเอง สถิติพบว่าเมื่อเป็นแล้ว 80% จะหายไปเองในเวลา12 เดือน แต่ยิ่งมีกิจกรรมใช้เท้าแบบหนักๆซ้ำๆซากๆยิ่งหายช้า และมี 5% ที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดกรีดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าอาการจึงจะหาย

     เมื่อได้ทำใจแล้วก็ให้รักษาเป็นขั้นๆจากน้อยไปหามาก เริ่มด้วยการประคบเย็น หาแผ่นยาขยายหลอดเลือด (nitroglycerin patches) มาแปะ พักการใช้งานฝ่าเท้าไว้ก่อน หากเสพย์ติดการออกกำลังกายก็เปลี่ยนกิจกรรมเช่นไปปั่นจักรยานหรือเดินเร็วแทน หรือเปลี่ยนไปทำครอสเทรนนิ่ง หรือไปเล่นกล้ามด้วยท่าที่ทำได้ หรือว่ายน้ำ ฯลฯ คืออะไรก็ได้ที่ไม่ต้องกระโดดโลดเต้น

     แล้วก็ไปหากายอุปกรณ์ เช่นรองเท้าเฝือก (splinting shoe) ปลอกหุ้มส้น (heel orthoses) แผ่นรองพื้นเท้า (insole) ถุงเท้ารองช้ำ (plantar fasciitis socks) ซึ่งมีทั้งแบบลุคธรรมดาๆไปจนถึงแบบมีสายดึงหัวแม่โป้งให้เงยหน้าตลอดเวลาด้วย (ใส่แล้วเรียกร้องความสนใจได้ดีมาก หิ หิ) การใช้กายอุปกรณ์ช่วยจะทำให้กลับไปมีชีวิตที่แอคทีฟได้เร็วขึ้น

     ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ไปหาหมอ ซึ่งหมอก็จะให้ยามากิน แน่นอนว่ายายอดนิยมก็คือยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้ากินแล้วยังไม่สะใจก็ฉีด สิ่งที่หมอฉีดมีหลายอย่างนะ อย่างแรกที่ยอดนิยมก็คือสะเตียรอยด์ ซึ่งมีข้อเสียที่ทำให้เอ็นบางจ๋อยลง จ๋อยลง และยิ่งฉีกขาดง่ายขึ้น อย่างที่สองที่นิยมฉีดกันก็คือโบทอกซ์ อย่างที่สามก็คือฉีดเลือดของตัวเอง (autologous blood injection) หรือเกล็ดเลือดของตัวเอง (platelet-rich plasma (PRP) injection) เข้าไปตรงนั้น นัยว่าจะได้ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จะได้มีการหายตามมาซะที ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบนี้ หากฉีดอะไรแล้วก็ยังไม่อักเสบสะใจก็ให้ไปโน่นเลย ช็อคเวฟ (ESWT) จะอักเสบสะใจดีมาก ทำแล้วบวมแดงอลึ่งฉึ่ง ส่วนการจะหายจากเจ็บเอ็นฝ่าเท้าหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องค่อยไปลุ้นเอาหลังการอักเสบยุบแล้ว

     ทั้งหมดนั่นก็ใช้เวลาไปอย่างน้อยสักหนึ่งปี หากยังไม่หายอีก คราวนี้ก็ให้หมอกระดูกเขาผ่าตัดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าเสียให้รู้แล้วรู้รอด

    2. ขอพูดที่คุณไม่ได้ถามหน่อย พูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นที่เป็นนักวิ่งด้วย คือในการจะเป็นนักวิ่งคุณต้องเรียนรู้และพิถีพิถันเรื่องรองเท้า เลือกรองเท้าที่รับแรงกระแทกได้ดีๆ วิธีเลือกที่ง่ายที่สุดคือซื้อรองเท้าที่แพงๆ ถ้าฝ่าเท้าคุณแบนก็ต้องวางอินโซล (insole) ที่เหมาะกับฝ่าเท้าด้วย เมื่อรองเท้าคุณเก่าก็ต้องรีบเปลี่ยนอย่าขี้เหนียว การจะดูว่าเก่าหรือไม่เก่าดูจากการดูดซับแรงกระแทก ซึ่งเวลาวิ่งคุณจะสังเกตรับรู้ได้ จะให้ดีต้องมีรองเท้าดีๆไว้หลายๆคู่เอาไว้ผลัดเปลี่ยนกันออกวิ่งในแต่ละวัน ไม่ใช่ใช้คู่เดียวทุกวี่ทุกวันตลอดชีพ

     กิจกรรมก็ต้องมีความพิถีพิถัน เวลายืนก็อย่ายืนนิ่งๆนานๆ ก่อนและหลังวิ่งก็ต้องยืดฝ่าเท้าและน่องด้วย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นที่เรียบแข็ง แม้แต่จะเดินเท้าเปล่าในบ้านพื้นหินอ่อนก็ถือว่าแข็งเกินไปแล้ว ยิ่งการออกกำลังกายแบบกระโดดโลดเต้นมากก็ยิ่งเจ็บเอ็นฝ่าเท้ามาก การขยันวิ่งทุกวันก็เป็นการโหลดฝ่าเท้ามากเกินไป ควรพักเป็นบางวันเพื่อไปออกกำลังกายแบบอื่นสลับบ้าง เช่นเดินเร็ว จักรยาน หรือครอสเทรนนิ่ง

     ขอแถมอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเอ็กซเรย์พบเงี่ยงกระดูก (spur) ที่กระดูกส้นเท้า ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะเงี่ยงกระดูกจึงไปชวนหมอให้ผ่าตัดเหลากระดูกส้นเท้าซึ่งหมอบางคนก็เหลาให้นะ แต่การทำอย่างนั้นงานวิจัยพบว่าเงี่ยงกระดูกไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคนี้ และเหลาเอาเงี่ยงกระดูกออกก็ไม่ได้ทำให้โรคนี้หายมากไปกว่าการอยู่เปล่าๆ

     ที่คุณเล่าว่าออกจากแค้มป์มาสี่ปีแล้วขยันทำตัวดีตลอดทำทุกอย่างที่เรียนรู้มาจากแค้มป์จนตัวชี้วัดสุขภาพทุกตัวดีหมดนั้นก็ดีแล้วและขอบคุณที่เขียนมาเล่า จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเห็นว่าคนที่เขาตั้งใจดูแลตัวเองและลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่มาก จะได้เลิกเอาแต่เกี่ยงงอน งอแง งีดง้าด แล้วไม่ลงมือทำอะไรสักที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากผู้อ่าน1
Pornlapat Brown
ดิฉันเป็นเหมือนกันไปหาหมอฝรั่งตรวจๆถามๆให้เอกสารมาชุดหนึ่งบอกให้ไปอ่านแล้วทำตามนั้น ไม่มียาอะไรเลย
ให้ใช้ปลายเท้าหนีบเก็บสิ่งของ ดิฉันใช้ลูกแก้วใช้เท้าที่เจ็ปนั้งหนีบเก็บใส่กระป๋อง หายค่ะต้องใช้เวลาแล้วไม่กลับมาเป็นอีกเลยพอรู้สึกตึงๆเท้าก็เริ้มใส่ใจที่จะระวังก่อนเจ็ป
ดิฉันปั่นจักรยานรู้ตัวบางครั้งวางเท้าผิดก็ต้องคอยเช็คตัวเอง ใส่ถุงเท้าหนาเกินไป บางเกินไป อะไรแบบนั้น

จดหมายจากผู้อ่าน2
Naowarat Khamapan
ขอแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เผื่อจะมีประโยชน์กับผู้ถามบ้าง เพราะเป็นแล้วทรมาณมากๆๆๆๆๆ
โรคนี้นักวิ่งเป็นเยอะ ดิฉันก็เคยเป็น ตอนเป็นก็หาหมออากู๋ ????รวบรวมข้อมูลและแก้ด้วยตัวเอง สำหรับ case ของตัวเองคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากหลายอย่างประกอบกัน ดิฉันใช้หลายวิธีผสมๆกัน
1 ยืดน่อง>>เส้นเอ็นตึงมาจากน่องที่วิ่งระยะยาว หลังวิ่งเสร็จแล้วยืดไม่พอ ใช้วิธียืดน่องเยอะๆ ลงทุนซื้อไม้ยืดน่อง 2 แบบ ยืดบ่อยๆ ทั้งน่องบนและน่องล่างใกล้เอ็นร้อยหวาย
2 หาแผ่นรองฝ่าเท้าที่นูนพอดีรับกับอุ้งเท้า>>ดิฉันเป็นคนฝ่าเท้าโค้งมาก ถ้าใส่รองเท้าที่แผ่นรองเท้าไม่ support ฝ่าเท้าที่โค้งทำให้เวลาลงน้ำหนัก ภาระจะโหลดไปที่เอ็นเยอะ และถ้าเป็นการวิ่งระยะยาว เอ็นฝ่าเท้าก็จะยืดๆหดๆแบบนี้เป็นหลายพันครั้ง อาจเกิดการฉีกขาดและบรรดาเอ็นทั้งหลายมีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อยเลยเยียวยาตัวเองช้า ก็ต้องหารองเท้าที่มีแผ่นรองเท้านูนๆที่ support ฝ่าเท้าได้
3 นวดฝ่าเท้าและออกกำลังกายเท้า>>ระหว่างนั่งทำงานก็เอาลูกกอล์ฟวางบนพื้นแล้วใช้ฝ่าเท้าคลึงลูกกอล์ฟ สลับกับออกกำลังกายเท้าเหมือนท่านข้างบนโดยใช้นิ้วเท้าทั้ง 5 งุ้มหยิบลูกกอล์ฟ
4 แช่น้ำร้อน>>กลับถึงบ้านก็แช่น้ำร้อนจัดๆ ย้ำว่าจัดๆผสมสมุนไพร
5 นวดประคบฝ่าเท้า>>หาหมอนวดรู้ใจ
ทำบ่อยๆผสมๆกันไป ตอนนี้หายขายวิ่ง half marathorn เฉลี่ยเดือนละครั้งก็ไม่มีอาการ (เคาะไม้ๆๆ????)

……………………………………………
บรรณานุกรม
1. Khan KM, Cook JL, Kannus P, Maffulli N, Bonar SF. Time to abandon the “tendinitis” myth. BMJ. 2002 Mar 16. 324(7338):626-7.
2. Chen H, Ho HM, Ying M, Fu SN. Association between plantar fascia vascularity and morphology and foot dysfunction in individuals with chronic plantar fasciitis. J Orthop Sports Phys Ther. 2013 Oct. 43(10):727-34.
3, Riddle DL, Pulisic M, Pidcoe P, Johnson RE. Risk factors for Plantar fasciitis: a matched case-control study. J Bone Joint Surg Am. 2003 May. 85-A(5):872-7.
4. Werner RA, Gell N, Hartigan A, Wiggerman N, Keyserling WM. Risk factors for plantar fasciitis among assembly plant workers. PM R. 2010 Feb. 2(2):110-6; quiz 1 p following 167. [Medline].
5. Reid DC. Running: injury patterns and prevention. Sports Injury Assessment and Rehabilitation. New York, NY: Churchill Livingstone; 1992. 1131-58.
6. Pohl MB, Hamill J, Davis IS. Biomechanical and anatomic factors associated with a history of plantar fasciitis in female runners. Clin J Sport Med. 2009 Sep. 19(5):372-6. [Medline].
7. Bolivar YA, Munuera PV, Padillo JP. Relationship between tightness of the posterior muscles of the lower limb and plantar fasciitis. Foot Ankle Int. 2013 Jan. 34(1):42-8.
8. Acevedo JI, Beskin JL. Complications of plantar fascia rupture associated with corticosteroid injection. Foot Ankle Int. 1998 Feb. 19(2):91-7.
9. McPoil TG, Martin RL, Cornwall MW, Wukich DK, Irrgang JJ, Godges JJ. Heel pain–plantar fasciitis: clinical practice guildelines linked to the international classification of function, disability, and health from the orthopaedic section of the American Physical Therapy Association. J Orthop Sports Phys Ther. 2008 Apr. 38(4):A1-A18.
10. Aqil A, Siddiqui MR, Solan M, Redfern DJ, Gulati V, Cobb JP. Extracorporeal shock wave therapy is effective in treating chronic plantar fasciitis: a meta-analysis of RCTs. Clin Orthop Relat Res. 2013 Nov. 471(11):3645-52.
11. Babcock MS, Foster L, Pasquina P, Jabbari B. Treatment of pain attributed to plantar fasciitis with botulinum toxin a: a short-term, randomized, placebo-controlled, double-blind study. Am J Phys Med Rehabil. 2005 Sep. 84(9):649-54.
12. Martin RP. Autologous blood injection for plantar fasciitis: a retrospective study. Paper presented at: Annual meeting of the American Medical Society for Sports Medicine; April 16-20, 2005; Austin, Texas. Clin J Sport Med. 2005 Sept. 15:387-8.
13. Kumar V, Millar T, Murphy PN, Clough T. The treatment of intractable plantar fasciitis with platelet-rich plasma injection. Foot (Edinb). 2013 Jun-Sep. 23(2-3):74-7.
14. Mahindra P, Yamin M, Selhi HS, Singla S, Soni A. Chronic Plantar Fasciitis: Effect of Platelet-Rich Plasma, Corticosteroid, and Placebo. Orthopedics. 2016 Mar-Apr. 39 (2):e285-9.