Latest

จะเอาความกลัวนี้ออกไปจากใจได้อย่างไร

สวัสดีครับ คุณหมอ
ก่อนอื่นผมขอให้คุณหมอช่วยตอบจดหมายนี้ เพราะคำเเนะนำหลายๆเรื่องที่เคยติดตามจากเฟสบุ๊ค ที่ท่านได้ตอบจดหมายจากทางบ้าน ผมชอบมากเเละได้เเนวคิด ดีๆหลายเรื่อง ผมจึงอดทนรอได้ถ้ากว่าจะได้รับจดหมายตอบกลับต้องใช้เวลานาน 
    ผมเป็นนักศึกษาเเพทย์ปีสุดท้าย ไม่ได้สังกัดโรงเรียนเเพทย์นะครับ อยู่ทางภาค … เรื่องที่ผมจะขอปรึกษา มันเริ่มต้นจากที่ผมมาวนศัลยกรรม เเรกๆงานก็จะราบรื่นดีครับ เเต่ว่าวันนึงที่ผมต้องไปรับเคสที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งปัญหาของคนไข้คือมีเลือดออกในสมอง ผมต้องโทรรายงานอาจารย์ที่เกี่ยวข้องด้านนี้ เเน่นอนครับ ผมกลัวอาจารย์แผนกนี้มาก เพราะถ้ามีเรื่องอะไรที่ทำให้ท่านไม่พอใจมีโอกาสที่จะโดนแอดวอร์ดทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เเต่นั่นเเหละครับ วอร์ดที่แอดกันเป็น spec.ทางศัลยกรรมก็จริง เเต่คนไข้เยอะมาก 50-70 เคส การที่ต้องไปราวน์ในเเต่ละวันจึงต้องตื่นนอนตั้งเเต่ตีสองตีสามไปเลยทีเดียว ทำให้ Extern ทุกคน กลัวมากที่จะต้องโดนแอดแผนกนี้ของศัลยกรรม เเละเเล้วผมก็ทำพลาด ผมดูคนไข้ไม่ละเอียดด้วยเพราะวันนั้น งาน wardwork เยอะมาก เเละต้องมารับเคสที่ห้องฉุกเฉิน ผมจึึงรีบร้อนไปหมด ใจเดิมก็กลัวอยู่เเล้วว่าจะต้องโดนด่า ทำให้ขาดความมั่นใจอย่างมาก รายงานเคสไม่รู้เรื่อง เเล้วผมก็โดนจริงๆ  100% ที่จะต้องโดนแอดวอร์ดแผนกนี้ของศัลยกกรรม ตอนนี้ผมทำใจได้เเล้วถึงรู้ว่าจะต้องเหนื่อยมาก เเต่ที่ผมจะขอคำเเนะนำคือเดิมผมขาดความมั่นใจอย่างมาก ที่จะดูแลคนไข้หรือรับเคสที่ห้องฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับศัลยกรรมระบบประสาท ผมจะลนจนทำอะไรไม่ถูก ทำตามลำดับไม่ได้ เเละกังวลใจอย่างมากตั้งเเต่เห็นคนไข้ถูกเข็นเปลเข้ามา ผมจะมีอาการทันที ทั้งๆที่ถ้าผมมานั่งทบทวนดูเเล้วจริงๆ ก็คิดว่าตัวเองพอจะมีความรู้อยู่บ้าง น่าจะพอช่วยเหลือคนไข้เบื้องต้นเเละรายงานเคสให้อาจารย์เข้าใจได้ซึ่งผมคิดว่า ที่ผมไม่กล้าทำอะไรนั้น เพราะในใจคิดเเต่ว่าจะทำอะไรผิดพลาด เเล้วโดนอาจารย์ด่าเเละจับแอดวอร์ด จึงกังวลมาก เเล้วยิ่งมาเจอเหตุการณ์ข้างต้นที่กล่าวไป ตอนนี้ผมอาการหนักยิ่งกว่าเดิม เมื่อเจอเคสเเบบนี้ คือเเทบจะทำอะไรไม่ได้จริงๆ สับสนไปหมด อยู่เวรห้องฉุกเฉินครั้งล่าสุดที่เอาตัวรอดมาได้เพราะมีเพื่อนช่วย ผมอยากจะขอคำเเนะนำจากคุณหมอ เพราะผมอยากเอาความรู้สึกเเบบนี้ออกจากใจเพื่อที่จะมีความมั่นใจในการทำงาน เเละดูเเลคนไข้ได้ดีกว่านี้
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

…………………………………………

ตอบครับ

     ความกลัวเป็นการออกจากความรู้ตัวในปัจจุบันไปอยู่ในความคิดถึงอนาคต เป็นความเชื่อชนิดหนึ่ง คือความเชื่อว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคต เนื้อหาของความกลัวเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะมันเป็นแค่ความคิด แม้คอนเซ็พท์ของเวลาที่เรียกว่าอนาคตเองก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ใครก็ตามที่เป็นทุกข์เพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ภาษาบ้านๆเขาเรียกว่า “คนบ้า” คนขี้กลัวจะใช้ชีวิตเหมือนคนบ้า ในการใช้ชีวิตนี้หากคุณขับรถโดยเท้าหนึ่งเหยียบคันเร่งอีกเท้าหนึ่งเหยียบเบรคไว้ตลอดเวลาอย่างนี้บ้าไหมละ การเป็นทุกข์กับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนอกจากจะทุกข์ฟรีแล้วยังถือว่าเป็นความบ้าด้วยอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าคนบ้าแบบนี้มีแยะ เมื่อคนบ้ามาอยู่กับคนบ้าหลายๆคน บ้าเจอบ้าก็เลยกลายเป็นไม่บ้าไป หมายความว่าความกลัวแม้จะเป็นความบ้าแต่ก็เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับเพราะคนในสังคมต่างก็บ้าเหมือนกันหมด ทุกคนก็จึงอยู่ในเข่ง..บ้าก็บ้าวะ

     ในการเกิดมาเป็นคนนี้ ความคิดชนิดที่เลวร้ายที่สุดมีสามอย่างเท่านั้น ซึ่งผมเรียกว่าสามสหายสุดเลว คือ (1) ความกลัว (2) ความสงสัย และ (3) ความเชื่อในความขาดแคลน ผมหมายถึง believe in lack คือความเชื่อว่าคุณยังขาดนั่นขาดนี้  สามสหายเลวสุดนี้เท่านั้นที่จะสร้างเหตุการณ์เลวๆลบๆให้เกิดขึ้นในชีวิตคุณได้ 

     ชีวิตนี้มีเคล็ดลับอยู่ว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ได้เป็นตัวสร้างความเชื่อ แต่ความเชื่อภายในใจนั่นแหละที่เป็นตัวสร้างเหตุการณ์ในชีวิตขึ้นมาก่อน แล้วเหตุการณ์นั้นก็จะไปจะตอกย้ำความเชื่อที่เป็นต้นตอให้หนักแน่นยิ่งขึ้น วนเวียนเป็นวงจรชั่วร้ายอยู่อย่างนี้ อย่าลืมว่าความกลัวก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งนะ คือเป็นความเชื่อว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับชีวิตคุณ เมื่อใดก็ตามที่คุณเปลี่ยนความเชื่อของคุณได้..คือเลิกกลัวซะ ประสบการณ์จริงกับสิ่งนอกตัวของคุณก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีเองโดยอัตโนมัติ ผมมีชีวิตอยู่มาจนแก่ปูนนี้แล้วคุณเชื่อผมเหอะ ผมรับประกันกับคุณได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้เสมอ

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณว่ามีเทคนิคอะไรที่จะเอาความกลัวนี้ออกไปจากใจ ผมขอทบทวนให้คุณเข้าใจกลไกการเกิดความกลัวซึ่งก็เหมือนกลไกการเกิดความคิดชนิดอื่นๆทั้งหลาย ว่ามันมีขั้นตอนดังนี้

1. มันจะเริ่มด้วยการรับรู้สิ่งเร้าผ่านเข้ามาทางอยาตนะก่อน 
2. แล้วเกิดกลไกการแปลสิ่งเร้านั้นเป็นภาษาและภาพขึ้นในใจแว้บหนึ่งชั่วเวลาสายฟ้าแลบ 
3. แล้วสิ่งเร้านั้นในรูปของภาษาหรือภาพที่เราเข้าใจแล้วก็จะตกกระทบร่างกายและใจทำให้เกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกายและในใจ ถ้าเป็นความรู้สึกทางกายก็เช่นใจสั่น ร้อนผ่าว เย็นเฉียบ เกร็ง ปวด ถ้าเป็นความรู้สึกในใจก็เช่นรู้สึกแน่นอึดอัดไม่ชอบ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกโล่งสบายและชอบ 
4. จากนั้นจึงจะเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาต่อยอดเพื่อขยายความรู้สึกอึดอัดไม่ชอบนั้นออกไปอีกไม่สิ้นสุด ความกลัวก็คือความคิดที่ไม่อยากให้ความรู้สึกอึดอัดไม่ชอบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

     และก่อนตอบคำถาม ผมขอซักซ้อมอีกประเด็นหนึ่งนะที่คุณพูดชอบถึงอาจารย์ของคุณว่าท่านโหดขนาด ผมแนะนำว่าอย่าไปสนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร อาจารย์ก็เป็นคนอื่น เป็นสถานะการณ์ข้างนอก สถานะการณ์ข้างนอกไม่สำคัญ คนอื่นจะมีพฤติการอย่างไรไม่สำคัญ แต่ใจของคุณต่างหากที่สำคัญ คุณรับรู้แล้วตีความและสนองตอบอย่างไรนั่นแหละสำคัญ อย่าลืมว่าสถานะการณ์ทุกสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นแบบไม่มีความหมายนะถ้าไม่มีภาษาไปกำกับตีความ มันเกิดขึ้นแบบเป็นกลางๆ แต่ใจของเราไปให้ค่าให้ความหมายแก่มันเอง ให้คุณเรียนรู้ที่จะมองให้เห็นทุกอย่างจากมุมมองที่โปร่งใสไม่เอาเรื่องราวในอดีตที่เราจำไว้ไปเกี่ยวข้อง มองเห็นด้วย clarity มองให้เห็นตามที่มันเป็น see it as it is และสนองตอบออกไปอย่างสร้างสรรค์ การสนองตอบของคุณจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชีวิตของคุณ จำไว้คำพูดของผมไว้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเกิดขึ้น “เพราะ” คุณ ไม่ใช่เกิดขึ้น “ต่อ” คุณ

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ เทคนิคที่จะเอาความกลัวนี้ออกไปมีสองระดับ คือ

     1. ในระดับวงแคบ หมายความว่าเฉพาะหน้า ให้เอาความสนใจไปรับรู้ทำความรู้จักหรือไป feel ความกลัวนั้นในขั้นตอนที่มันเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นบนร่างกาย (เช่นใจเต้น หายใจสั้น) หรือในใจ (เช่นอึดอัด) ก่อน ใช่แล้ว สนใจความกลัวนั่นแหละ สนใจมันตรงๆ อ้า ความกลัวมาหรือ โอ้..ช่างน่ากลัวเหลือเกิน แต่ขอทำความรู้จักหน่อยนะ ดูร่างกายซิว่าหัวใจมันเต้นเร็วอย่างไร ดูลมหายใจซิมันติดขัดอึดอัดอย่างไร ดูจนมันสงบลงของมันเอง สังเกตดูอย่างเดียวนะ ไม่เข้าไปพยายามทำลายล้างหรือตีโต้ สังเกตดูอย่างเดียว นี่มันเป็นธรรมชาติของความรู้สีกบนร่างกายว่าถ้าเราเฝ้าดูมัน มันเกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวมันก็ดับ เชื่อขนมเจ๊กกินได้เลยว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้เสมอ แล้วก็มาดูความรู้สึกในใจว่าที่ว่าเป็นความรู้สึกกลัวนั้นจริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร ดูแบบสัมผัสรับรู้อย่างลึกซึ้ง feel it อย่าไปสนใจความคิด สนใจแต่ความรู้สึกกลัว ดูแต่ความรู้สึกกลัว ผมรับประกันว่าคุณจะไม่ตายหรอกจากการเฝ้ามองดูความรู้สึกกลัวของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม คุณจะเรียนรู้อย่างมหาศาล ใหม่ๆมันจะน่ากลัวจนคุณไม่อยากมอง ฮึย..ย น่ากลัว..ว แต่การที่คุณไม่มองมันแสดงว่าคุณไม่ยอมรับมัน อะไรก็ตามที่คุณไม่ยอมรับมันว่ามันได้มาอยู่กับคุณที่นี่เดี๋ยวนี้แล้ว มันก็จะไม่ยอมไปไหน ดังนั้น ให้คุณมองดูม้นให้เต็มตา สัมผัสรับรู้และรู้สึกมันอย่างถึงแก่น ยอมรับมันว่าอ้อมันเป็นอย่างนี้นะ มันกำลังอยู่กับเราตรงนี้นะ นี่เป็นการยอมรับมัน เมื่อเรายอมรับมัน มันจึงจะค่อยๆสลายตัวไปเอง ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ความกลัวเกิดขึ้น แล้วมันก็จะค่อยๆห่างหน้าไป ห่างหน้าไป จนไม่กลับมาอีกเลยในที่สุด ถึงมันมาอีกเราก็อ้อ..มาแล้วหรือเกลอเก่า คือเรายอมรับมันแล้ว มันก็จะไม่ใช่สิ่งที่เรากลัวอีกต่อไป

     ประเด็นสำคัญของเทคนิคนี้คือให้โฟกัสความสนใจอยู่ที่ความรู้สึก หรือ feeling ภาษาพระใช้คำว่า “เวทนา” เวทนานี้ไม่ใช่ความคิดนะ ความคิดในภาษาพระใช้คำเรียกว่า “สังขาร” แต่..เอาเถอะ อย่าพูดภาษาพระดีกว่า เดี๋ยวจะยิ่งงงหนัก เอาเป็นว่าให้โฟกัสความสนใจอยู่ที่ความรู้สึกหรือ feeling เมื่อความรู้สึกฝ่อไป ความคิดกลัวอะไรในอนาคตสาระพัดที่ตั้งท่าจะเกิดต่อยอดบนความรู้สึกก็จะถูกตัดตอนทิ้งไปเองโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ และจะเป็นอย่างนี้เสมอ เพราะว่าเมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นตามมา เมื่อสิ่งหนึ่งดับ สิ่งที่เกิดขึ้นตามกันมานั้นก็ดับ สูตรมันง่ายๆอย่างนี้แล

    ถึงแม้ว่าเมื่อความคิดต่อยอดบนความกลัวเผลอเกิดขึ้นจนได้ คุณก็เฝ้าสังเกตดูแค่นั้น เรียกว่า aware of a thought แต่อย่าไปขับไล่หรือคิดหาเหตุผลเข้าไปหักล้างเป็นอันขาด แบบนั้นเป็น thinking a though ซึ่งอันตราย ความคิดไม่อาจทำลายความคิดได้ ในทางตรงกันข้ามความคิดมีแต่จะต่อยอดความคิดให้เลอะเทอะขยายตัววนเวียนซ้ำซากจนเป็นบ้าไปเท่านั้น นั่นเป็นวิธีที่ผิด อย่าทำเป็นอันขาด คุณแค่ปักหลักอยู่ในมุมของความรู้ตัว อยู่ในมุมของผู้สังเกต เฝ้าสังเกตดูความคิดนั้นเท่านั้น รู้ว่าความคิดจินตนาการต่อยอดบนความกลัวกำลังเกิดขึ้น รู้แล้วก็เฝ้าดูอยู่ ทำแค่นั้น อย่าทำอะไรมากกว่านั้น แล้วความคิดนั้นมันจะฝ่อหายไปเอง

     2. ในระดับวงกว้าง ความกลัวตัวแม่ของคุณ คือคุณกลัวความล้มเหลวในชีวิต ความล้มเหลวนี้มันมีจุดกำเนิดที่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นเป้าหมายชีวิตไว้ว่าคืออะไร กล่าวคือ

     คนจำพวกหนึ่ง เอาเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตเป็นเป้าหมายของชีวิต เช่นมองว่าเป้าหมายชีวิตก็คือการผ่านวอร์ดศัลยกรรมให้ได้ การเรียนจบแพทย์ การมีเงินซื้อบ้านซื้อรถยนต์ คนจำพวกนี้มีแนวโน้มที่จะต้องอยู่กับความกลัวล้มเหลวไปตลอดชีวิต เพราะเหตุการณ์ใดๆก็ตามในชีวิตของคนเราที่ถูกหยิบเอาขึ้นมาเป็นเป้าหมายชีวิตนั้น มันล้วนเป็นเรื่องนอกตัว เราควบคุมมันได้ซะที่ไหน

     คนอีกจำพวกหนึ่ง เอาเหตุการณ์ในชีวิตเป็นเพียงบันไดที่ละขัันที่ใช้เหยียบขึ้นไปสู่เป้าหมายใหญ่ของชีวิตซึ่งก็คือการจะได้เป็นอิสระเสรีจากกรงความคิดของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลุดพ้นจากความกลัวไปสู่ความมีศักยภาพอันไม่จำกัดของชีวิต คนจำพวกนี้ไม่กลัวอะไร อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด เพราะอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในแต่ละโมเมนต์ของชีวิตล้วนเป็นอีกแง่งหินหนึ่งที่จะใช้เหยียบขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นทั้งสิ้น 

     พูดง่ายๆว่าคนจำพวกแรกมองชีวิตว่ามีแต่ความเสี่ยงที่จะสูญเสียสิ่งที่ตัวเองกำลังปกป้อง แต่คนจำพวกหลังมองชีวิตนี้ว่ามีแต่เรื่องที่จะทำให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนเข้าไปไกล้เป้าหมายของตนยิ่งขึ้นทุกทีๆ คนจำพวกหลังจะยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ในชีวิตได้โดยไม่ต้องกลัวหรือวิ่งหนี ไม่อยากได้หรือวิ่งหา ไม่มีคำว่าล้มเหลว มีแต่สิ่งที่อาจเกินความคาดหมาย ซึ่งก็จะกลายเป็นความตื่นเต้นท้าทายอันใหม่ มีอะไรมาก็ยอมรับได้หมดว่านี่ก็เป็นอีกสะเต็พหนึ่งที่จะใช้เหยียบก้าวขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น

     ดังนั้นในระดับวงกว้างนี้ ผมแนะนำให้คุณเลือกเป้าหมายชีวิตของคุณเสียใหม่ เอาการมุ่งสู่ความหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเองเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ส่วนเหตุการณ์เล็กๆในชีวิตเช่นการจะสอบผ่านวอร์ดศัลยกรรมหรือการจะเรียนจบแพทย์ได้ปริญญาเป็นเป้าหมายรองๆลงไป ให้คุณใช้ชีวิตโดยโฟกัสที่เป้าหมายหลัก ส่วนการเรียนการทำงานนั้นให้มันเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายหลักเท่านั้น อย่าไปโฟกัสตรงนั้น ได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือได้ช้าไปบ้างเร็วบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ใช่โฟกัสของเรา 

     อนึ่ง ในการเรียนแพทย์มันจะมีแง่มุมหรือประเด็นต่างๆแยะมาก ให้คุณสังเกตุจดจำว่าประเด็นไหนแง่มุมไหนที่ถูกจริตหรือทำให้หัวใจคุณตื่นเต้นยินดีหรือลิงโลด (excite) มากที่สุด นักเรียนแพทย์บางคนมีความสุขกับการได้คุยกับผู้ป่วย บางคนสุขใจเมื่อได้ทำแล็บทำวิจัย บางคนสุขใจเมื่อได้ค้นคว้าอ่านเพิ่มเติม บางคนสุขใจกับการได้บรรยายหน้าชั้นได้พูดได้ดิสคัส บางคนสุขใจกับการได้ลงมือลงไม้ หมายถึงการทำหัตถการต่างๆเช่นเย็บแผล ผ่าตัด บางคนสุขใจกับการแค่ได้อยู่ในบรรยากาศการทำงานที่แวดล้อมไปด้วยคนที่ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนดี ให้คุณสังเกตไปว่าคุณชอบแง่มุมไหนของชีวิตการเป็นนักเรียนแพทย์ ฝรั่งเขาเรียกว่าให้คุณหัดค้นหาว่าคุณมี passion กับอะไร ความตื่นเต้นหรือดีใจจนเนื้อเต้นกับสิ่งใดเป็นสัญญาณบอกว่าสิ่งนั้นแหละเป็นสิ่งที่คุณจะทำสำเร็จได้ง่ายและฉลุยที่สุดในชีวิต ให้คุณจับเอาสิ่งนั้นเป็นแก่นกลางของกิจกรรมในชีวิต ทำสิ่งนั้น ตามความตื่นเต้นหรือความชอบหรือความถูกจริตนั้นไป จดจ่ออยู่กับการทำสิ่งที่ชอบนั้น โดยไม่ต้องไปหวังว่าผลลัพท์มันจะเป็นอย่างไร หรือถ้าจะหวังก็หวังว่าผลลัพท์มันจะเป็นศูนย์ไว้ก่อน แบบว่าทำด้วยใจรัก เหมือนคนทำงานอดิเรก ทำแค่เอาสนุก ไม่สนใจผลลัพท์ แล้วชีวิตคุณก็จะมีความสุข คุณไม่ต้องห่วงเรื่องผลลัพท์ เชื่อผมเถอะ แล้วผลลัพท์มันจะออกมาดีเอง

     ชีวิตข้างหน้าของคุณที่กำลังจะเรียนจบออกไปเป็นแพทย์อยู่แล้วนี้ ต่อไปมันจะถูกขับดันด้วยพลังอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างเท่านั้นเอง คือถ้าไม่ด้วยความรักความเมตตาจากก้นบึ้งของหัวใจคุณ ก็ด้วยความกลัวที่สมองของคุณกุขึ้นมา คุณจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเบิกบานในการเป็นผู้ให้ด้วยความเมตตา หรือจะอยู่เป็นทาสเฝ้ารับใช้ความกลัวไปตลอดกาล คุณเลือกได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์