Latest

ปัญหาของแพทย์ใช้ทุนปี 3 กับการเลือกแนวทางชีวิต

ผมชื่อ นพ. … ตอนนี้เป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 อยู่ โรงพยาบาลชุมชน … จังหวัด … และยังได้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่คือ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2561 ครับ ผมเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด บิดาเป็นวิศวกร มารดาเป็นนักบัญชี เป็นธรรมดาที่เมื่อใช้ทุนครบ เพื่อนๆแทบจะทุกคนก็จะวิ่งหาที่เรียนไม่หวาดไม่ไหว ผมเองพอเพื่อนไปเรียนต่อก็รู้สึกไม่ stable รู้สึกว่าเราต้องไปเรียนเหมือนกัน ประกอบกับการทำงานเป็นผู้อำนวยการภาระและความรับผิดชอบมาก ยิ่งเราเป็นเด็กยิ่งทำให้คิดว่าเราไม่เหมาะกับที่นี่ เราไม่ใช่คนที่นี่ (ตอนนั้นคติไม่ดี) อีกอย่างคือคิดว่าการอยู่ รพช. เป็น ผอ. ที่เป็น GP จะทำให้เราพบกับทางตัน
ช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม มีทุนของสถาบันการแพทย์ … รพ. … ทำให้ผมคิดว่าจะเอาทุนที่นี่ เนื่องจากใกล้บ้าน แล้วสาขาที่ผมสมัครคือ ศัลยศาสตร์ เพราะตอนนั้นคิดว่า
– เป็นสาขาที่ดูเป็นเฉพาะทางจริงๆ มีความต้องการสูง
– ได้ดูแลคนไข้ครบวงจร
– เป็นที่ยอมรับ หากในอนาคตได้ขึ้นทำบริหารก็จะมีโอกาสมากขึ้น
แต่หลังจากนั้นผมได้ไปอบรมที่อุบลราชธานี เกี่ยวกับการบริหารสาธารณสุข ได้เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น ได้เห็นมุมมองใหม่ๆในการทำงาน เจอ ผอ.ที่เค้ามีที่ไปต่อในอนาคต ทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้วที่เรามองมันแคบมาก จนตอนนี้ผมสับสนมากเหลือเกินว่าควรเดินทางต่อไปทางไหนดี
ทางเลือกที่ 1 ; เดินทางต่อในสายเฉพาะทาง จบแล้วมาอยู่โรงเรียนแพทย์
  ข้อดี – พ่อแม่สบายใจ ได้อยู่ในสถานที่ที่ดี รายได้ดี ไม่ต้องทำงานจับฉ่ายทั่วๆไป
  ข้อเสีย  –  เรียนศัลยกรรมใช้เวลาทุ่มเทมาก เวลาที่จะใช้กับครอบครัวก็จะน้อยลง (ถ้าเทียบกับ รพช. เสาร์อาทิตย์กลับบ้านได้เลย) อาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบอีกหลายๆอย่าง เช่น ท่องเที่ยว เดินทาง ถ่ายรูป
ทางเลือกที่ 2 ; ใช้ทุนต่อปีที่ 4 แล้วค่อยหาสาขาที่เรียนแบบไม่หนักมาก พอมีเวลาว่าง
  ข้อดี – ได้ใช้เวลาเพิ่มอีกซักปี เพื่อตัดสินใจในอนาคต
  ข้อเสีย – เสียเวลาเพิ่มอีก 1 ปี โอกาสที่จะได้กลับบ้านน้อยลง เพราะถ้าอยู่ต่อคงต้องขอทุนสาธารณสุข ซึ่งเน้นแต่ต่างจังหวัด
ทางเลือกที่ 3 ; ใช้ทุนต่อปีที่ 4 เดินคู่สายบริหาร
  ข้อดี – สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ดี ได้บริหารจัดการสิ่งต่างๆ แล้วหาเวลาไปศึกษาเกี่ยวกับการบริหารเพิ่มเติม ระบาดวิทยา เวชศาสตร์ชุมชน  มีเวลาว่างที่จะไปทำสิ่งอื่นๆเพื่อเติมเต็มชีวิต
  ข้อเสีย – รายได้ไม่ดีเท่าเรียนเฉพาะทางอยู่ในกรุงเทพ อยู่ห่างไกลบ้านที่กรุงเทพ เสียโอกาสในการรับทุนโรงเรียนแพทย์ เพราะ discredit ตัวเอง พ่อแม่ยังไม่ค่อยเข้าใจบริบทของการทำงานอยู่ต่างจังหวัด และตัวผมเองก็ยังกังวลว่าในอนาคตจะเป็นยังไง เป็นปัญหาที่ผมลองพิจารณาแล้วคิดไม่ค่อยตกครับ

อยากได้คำแนะนำจากอาจารย์ ในมุมมองที่กว้างขึ้นว่าถ้าการอยู่ รพช. จะทำให้เรามีช่องทางที่ไปต่อมั๊ย มันจะตันมั๊ย หรือผมควรเลือกไปเรียนเฉพาะทาง ไม่ได้เรียนเลยก็รอหาที่เรียนอีกที
ขอบคุณครับ

ตอบครับ

     ต้องขอโทษด้วยที่ทิ้งจดหมายของคุณหมอไว้นานมาก แต่ในที่สุดก็หยิบมาตอบให้เผื่อหมอรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีปัญหาคล้ายกันจะใช้ประโยชน์ได้  ปกติผมจะตอบจดหมายหมอรุ่นใหม่เป็นไพรออริตี้เสมอ มีสาระไม่มีสาระก็จะพยายามตอบ เพราะสมัยตัวเองเป็นหมอหนุ่มๆอึดอัดขัดข้องอะไรไม่รู้จะหันไปหาใคร เมื่อตัวเองกลายมาเป็นหมอแก่ก็เลยตั้งใจว่าหมอหนุ่มๆสาวๆอยากรู้อะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้ถามอะไรมาผมจะตอบให้หมดเปลือก

     ประเด็นที่ 1. การเกิดความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่เสถียร เมื่อเพื่อนๆเขาพากันกลับไปเรียนต่อ อันนี้ผมเข้าใจ แต่ผมอยากจะชี้ให้คุณหมอมองให้ลึกไปอีกนิดหนึ่ง ใครกันนะ..ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียร ก่อนที่เราจะคุยกันต่อ ผมขอเล่านอกเรื่องเพื่อประกอบหน่อยนะ ทุกวันนี้ผมทำศูนย์เวลเนสวีแคร์อยู่ที่มวกเหล็ก มีลูกน้องอยู่ราวสิบกว่าคน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นน้องๆระดับคนงานเงินเดือนประมาณหมื่นกว่าสองหมื่นกว่า ทุกคนขับมอเตอร์ไซค์มาทำงาน ชีวิตก็ดำเนินมาด้วยดี จนวันหนึ่งมีคนงานคนหนึ่งซื้อรถยนต์ คนงานคนอื่นก็เกิดอาการ “ไม่เสถียร” ขึ้นมาทันที ภายในเดือนสองเดือนหลังจากนั้นมีคนงานซื้อรถยนต์ตามกันมาอีกสี่คน กลไกมันเหมือนกับที่คุณหมอรู้สึกไม่เสถียรเมื่อเพื่อนๆเขาได้ไปเรียนต่อนั่นแหละ ประเด็นคือ

     “ใครกันนะ..ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียร”

     ใครกันนะที่เป็นผู้ส่งเราเข้าประกวดเปรียบเทียบกับเพื่อนๆแล้วบอกเราว่าเฮ้ย เขาไปกันแล้วนะ เราจะตามเขาไม่แล้วทันนะ

     ชีวิตคนเราประกอบด้วยสามส่วนคือ ร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว ความคิดเป็นผู้ผูกโยงร่างกายเข้ากับเรื่องราวอันเกิดจากประสบการณ์ในอดีตเพื่อฟอร์มคอนเซ็พท์ว่า “ฉันเป็นบุคคล” ขึ้นมา มีชื่อ มีปริญญา มีตำแหน่งหน้าที่ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีศีลธรรมประจำใจ มีสังกัด อันได้แก่ครอบครัว ก๊วนเพื่อน ราชการ มหาลัย ศาสนา และประเทศ นี่คือ identity หรือสำนึกว่าเราเป็น someone สำนึกว่าเราเป็นบุคคล นี่คือความเป็นเราในส่วนนอก

     ส่วนความเป็นเราในส่วนในนั้นคือความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ที่เป็นผู้สังเกตความเป็นไปของร่างกายนี้และความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นถักทอผูกโยงกับร่างกายนี้โดยไม่ได้มีส่วนได้เสียหรือมีเอี่ยวอะไรด้วยทั้งสิ้น แค่เป็นผู้สังเกตรับรู้เฉยๆ

     ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียรนั้นคือ identity หรือเราที่ส่วนนอกนะ ส่วนเราที่ส่วนในซึ่งเป็นความรู้ตัวนั้นแค่รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นิ่งๆ

     แล้วชีวิตเราจะพล่านหรือจะนิ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยให้ความสนใจของเราไปเข้าด้วยกับ “เราตัวนอก” หรือ “เราตัวใน” ถ้าเราไปเข้าด้วยกับเราตัวนอก ไป identify กับความเป็นบุคคลของเราซึ่งเป็นเพียงความคิด ชีวิตเราก็จะพล่านไปจนตาย ต้องวิ่งตามคนอื่นไปเหมือนวัววิ่งตามกันไปเป็นฝูงโดยไม่รู้ว่าไปไหนกัน เพราะ identity นั้นมันเป็นความคิด มันจะนิ่งได้เสียที่ไหนละ มันต้องกุคอนเซ็พท์สมมุติเรื่องโน่นนี่นั่นขึ้นมาเปรียบเทียบแข่งขันชิงรักหักสวาทกันและกันตลอดเวลาเพราะเราถูกสอนให้คิดอย่างนั้นมาแต่อ้อนแต่ออดเราก็ต้องคิดอย่างนั้นต่อไป แต่ถ้าเราเอาความสนใจไปเข้าด้วยกับเราตัวในเราก็จะสงบเย็น เพราะความรู้ตัวนั้นมีธรรมชาติว่าเป็นความสามารถสังเกตรับรู้ที่ตื่นตัวและสงบเย็นโดยไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวดองใดๆทั้งสิ้นกับ identity

     การจะดับความพล่านหรือความไม่เสถียรนี้จึงไม่ใช้ด้วยการพยายามใช้ดุลพินิจคิดไตร่ตรองว่าจะวิ่งตามเพื่อนเขาไปเรียนต่อดีหรือไม่ แต่ด้วยการถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว ความสงบเย็นที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น เมื่อสงัดจากความคิดทั้งหลายได้แล้ว ปัญญาญาณจากส่วนลึกของเราจะส่องสว่างชี้ทางให้เราเองว่าทางเลือกทางไหนดีที่สุด

     ประเด็นที่ 2. ทางชีวิตบางเส้นทางมันจะ “ตัน” ไหม คอนเซ็พท์ตันนี่มันต่อยอดบนคอนเซ็พท์เรื่องเวลานะ ต่อยอดบนความเชื่อที่ว่าเวลาในใจเป็นของจริง เพราะถ้าคุณไม่เชื่อว่าเวลาในใจเป็นของจริง ความ “ตัน” หรือความ “โล่ง” ก็ไม่มี เพราะตันหรือโล่งเป็นคำบอกสถานะการณ์ที่คุณสมมุติว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ผมแก่พอที่จะบอกคุณหมอได้อย่างมั่นใจว่าอนาคตในใจเรานั้น มันไม่มีอยู่จริงดอก ชีวิตมีอยู่แค่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น แล้วที่นี่ เดี๋ยวนี้มันตันหรือเปล่าละ มันไม่ตัน เพราะไม่มีใครมาบีบคอหอยคุณให้หายใจไม่ออก ในการใช้ชีวิต อย่าไปห่วงว่าไปทางนี้จะตีบ ไปทางนั้นจะตัน อย่าไปห่วงทั้งสิ้น ให้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทำตรงนี้ให้ดี ทีละช็อต ทีละช็อต เดี๋ยวทางเลือกมันจะโผล่มาเอง มันจะโผล่ที่เดี๋ยวนี้นี่แหละ และหากคุณยังอยู่ที่เดี๋ยวนี้ คุณก็จะเลือกได้สิ่งดีๆ แต่หากคุณหนีเดี๋ยวนี้ไปอยู่กับความคิดเรื่องตีบเรื่องตันเสียที่ในอนาคต ความจำเรื่องสั่วๆจากอดีตของคุณนั่นแหละจะเลือกอนาคตให้คุณเองอย่างอัตโนม้ติ เพราะความคิดใหม่ๆของคนเราชงมาจากความจำเก่าๆทั้งสิ้น มันเกิดจากการเอาความจำมาคลุกกับความเชื่อเรื่องเวลา แล้วความจำในอดีตของเรามันมีเรื่องดีซะที่ไหนละ หมายความว่าถ้าคุณคิดถึงแต่อนาคตโดยลืมที่นี่เดี๋ยวนี้ไป สิ่งเลวๆในอดีตนั่นแหละจะมาเป็นอนาคตของคุณ พูดอย่างนี้คุณอาจจะงงว่าผมหมายความว่าอย่างไร ช่างมันเถอะ ถ้างงก็ช่างมันเถอะ ผ่านไปก่อน มันไม่สำคัญเร่งด่วนนักหรอก

     ประเด็นที่ 3. การเป็นหมอสาขาไหนรายได้มาก สาขาไหนรายได้น้อย ในเมืองไทยไม่มีใครมีข้อมูลที่จะตอบคุณได้หรอก ถ้าเป็นฝรั่งเขาตอบได้จากบัญชีการเสียภาษีของแพทย์ แต่ของไทยแพทย์ที่เสียภาษีแยะไม่ได้หมายความว่าเป็นแพทย์ที่มีรายได้แยะกว่าแพทย์ที่เสียภาษีน้อย การดูยี่ห้อรถที่เขาขี่อาจจะพอบอกอ้อมๆได้บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีใครทำวิจัยไว้ว่าแพทย์ไทยสาขาไหนขี่รถอะไรกัน ดังนั้นผมตอบคุณจากข้อมูลของสมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) ก็แล้วกันนะว่าแพทย์สาขาต่างๆมีรายได้ต่อปีเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้

1. ศัลยกรรมพลาสติก Plastic surgery: $501,000
2. ศัลยกรรมกระดูก Orthopedics: $497,000
3. อายุรแพทย์โรคหัวใจ Cardiology: $423,000
4. อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร Gastroenterology: $408,000
5. รังสีแพทย์ Radiology: $401,000
6. แพทย์โรคผิวหนัง Dermatology: $392,000
7. วิสัญญีแพทย์ Anesthesiology: $386,000
8. แพทย์หูคอจมูก Otolaryngology: $383,000
9. ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ Urology: $373,000
10. แพทย์มะเร็งวิทยา Oncology: $363,000
11. จักษแพทย์ Ophthalmology: $357,000
12. แพทย์เวชบำบัดวิกฤติ Critical care: $354,000
13. แพทย์เวชบำบัดฉุกเฉิน Emergency medicine: $350,000
14. ศัลยแพทย์ทั่วไป Surgery, general: $322,000
15. อายุรแพทย์โรคทรวงอก Pulmonary medicine: $321,000
16. สูตินรีแพทย์ OB-GYN: $300,000
17. อายุรแพทย์โรคไต Nephrology: $294,000
18. พยาธิแพทย์ Pathology: $286,000
19. จิตแพทย์ Psychiatry: $273,000
20. แพทย์โรคภูมิแพ้ Allergy and immunology: $272,000
21. แพทย์เวชศาสตร์ ฟื้นฟู Physical medicine and rehabilitation: $269,000
22. แพทย์โรคข้อ Rheumatology: $257,000
23. อายุรแพทย์โรคประสาท Neurology: $244,000
24. แพทย์โรคติดเชื้อ Infectious diseases: $231,000
25. อายุรแพทย์ทั่วไป Internal medicine: $230,000
26. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว Family medicine: $219,000
27. แพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ Diabetes and endocrinology: $212,000
28. กุมารแพทย์ Pediatrics: $212,000
29. แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและสาธารณสุข Public health and preventive medicine: $199,000

     มองในแง่รายได้จากข้อมูลนี้ก็จะเห็นว่าแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันนั้นมีรายได้รั้งท้ายเขาเพื่อน และหากตั้งใจจะรักษาคนไข้แบบแพทย์ทั่วไป (GP) ก็ยังไม่วายมีรายได้ติดหนึ่งในสี่ของสาขาที่มีรายได้ต่ำสุด คุณเห็นเข้าก็คงจะกลับไปเรียนต่อเป็นมั่นคงหากจะเอารายได้เป็นสรณะ

     แต่ผมให้ข้อมูลคุณเพิ่มเติมนิดหนึ่งในฐานะที่ผ่านชีวิตในอาชีพนี้มาก่อน ว่าการดิ้นรนแถกเหงือกพยายามจะมีรายได้มากๆเพื่อให้พอเลี้ยงลูกเมีย (surviving) นั้นผมทำมาหมดแล้วและผมสรุปว่ามันเป็นส่วนที่ทำให้เวลาในชีวิตของผมสูญเปล่ามากที่สุด ผมแนะนำคุณว่าคุณไม่ต้องห่วงว่าชีวิตนี้จะเอาตัวไม่รอดดอก แม้แต่หมาแมวมันก็ยังเอาตัวรอดได้ มันยังได้กิน ได้นอน ได้ขับถ่าย ได้สืบพันธ์เท่ากับที่คุณกับผมได้ครบถ้วนทุกประการไม่มีตกหล่น แต่หมาแมวมันไม่ต้องแถกเหงือกเลือดตากระเด็นหาเงินหาทองอย่างมนุษย์เลย คุณมัวแต่ดิ้นรนแถกเหงือกจนลืมใช้ชีวิต แล้วพอคุณจะตายคุณก็ใช้นิสัยดิ้นรนแถกเหงือกหนีความตายอีก ซึ่งคุณก็หนีไม่พ้น คือตายอยู่ดี แต่ตายอย่างทุเรศยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นความผิดพลาดของการใช้ชีวิตที่คุณซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ควรจะเรียนรู้จากผมซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าที่เจนจบชีวิตมาก่อน ผมแนะนำคุณว่าเงินในบัญชีธนาคาร ถาวรวัตถุต่างๆที่สะสมไว้ได้ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โฉนดที่ดิน หุ้น กรมธรรมประกันชีวิต และการได้ครอบครองสมบัติบ้าต่างๆ นั้นล้วนเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลาเปล่าๆ คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อตะเกียกตะกายหนีตาย แต่คุณเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต ทิ้งความคิดที่จะเอาเวลาไปทำอะไรให้ร่ำให้รวยไปเสีย ทิ้งคำวิจารณ์หรือห่วงใยของคนอื่นรวมทั้งพ่อแม่ไปเสียด้วย นั่นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คุณเสียเวลาในชีวิต ให้คุณหันมาใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองโดยเอาวันนี้เป็นหลัก ใช้ชีวิตแบบเบาๆ ทำเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง มีเวลาให้ตัวเองในแง่ของการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการจัดการความเครียด ใช้ชีวิตแบบมองเห็นตัวเองกระโดดโลดเต้นไปตามหน้าที่แต่ว่าทิ้งระยะห่างเล็กน้อย ไม่อินมาก ด้วยความ “รู้” ว่าชีวิตมันเป็นเพียงละครที่ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน พวกเพื่อนแพทย์ด้วยกันเขาจะเก่งกาจอย่างไรหรือหาเงินหาทองได้มากอย่างไรคุณไม่ต้องไปสน เพราะนั่นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของคุณ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบจะทำให้คุณเสียความเป็นตัวของตัวเองและหลงทางตามเขาไป ให้คุณรับมือกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยวิธีสงบนิ่ง ปล่อยให้เหตุการณ์คลี่คลายตัวมันเองทีละช็อต ทีละช็อต ไม่ต้องไปกะเกณฑ์วางแผนอะไรมากมาย การเลี้ยงดูลูกเมียก็ทำแบบง่ายๆ simple simple อย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก โรงเรียนต้องได้โรงเรียนนั้น รถต้องได้ยี่ห้อนี้ แม้จะตาย เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนฝรั่งเศสบอกผมแบบตลกๆว่าคนฝรั่งเศสจะตายอยู่แล้วยังสั่งเสียว่า

     “ผ้าห่อศพของผม..ต้องดิออร์นะ”

     คุณอย่าไปบ้าอย่างนั้น เสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของการใช้ชีวิต ให้คุณใช้ชีวิตไปกับเดี๋ยวนี้ ไปกับความรู้ตัวที่สงบเย็น ถ้าคุณสงบเย็นได้ ปัญญาญาณจากส่วนลึกจะโผล่มาชี้ให้คุณเห็นทุกอย่างในชีวิตตามที่มันเป็นเอง นี่คือสาระที่แท้จริงของการใช้ชีวิต เมื่อจะต้องเลือกงานก็ให้เลือกทำสิ่งที่คุณชอบ การจะเป็นหมอสาขาไหนไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะทำสาขาไหน ทำอาชีพอะไรก็ล้วนเป็นเพียงแค่ “ลีลา” คือเป็นการสวมบทบาทหนึ่งในละครชีวิตเท่านั้น สาระสำคัญของอาชีพแพทย์คือการได้ใช้เมตตาธรรมช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าเราจะเป็นหมอสาขาไหนเราก็ใช้วิชาชีพสาขานั้นช่วยคนไข้ได้ เมื่อเลือกแล้วก็ลงมือทำไปทีละช็อต ทีละช็อต อย่างสงบเย็น ไม่ต้องไปอาลัยหาอดีต ไม่ต้องไปกังวลถึงอนาคต อย่างนี้จึงจะเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์