Latest

นั่งสมาธิแล้วเกิดเรื่องราวที่เจ็บปวด

 สวัสดีค่ะอ.หมอสันต์ที่นับถือ
ขอปรึกษาเรื่อง การนั่งสมาธิแล้วเรื่องราวต่างๆในอดีตที่เจ็บปวดต่างๆผุดขึ้นมา ทำให้ต้องร้องไห้ เสียใจแทนที่จะเป็นความสงบสุข ส่วนใหญ่เป็นการถูกกระทำ เช่น ถูกพวกพี่ๆด่าตะคอก พ่อแม่ทะเลาะกันถึงกับลงไม้ลงมือ บางทีถึงกับจะอุ้มแม่โยนลงหน้าต่างคอนโด เพื่อนๆไม่ค่อยคบด้วย เรียนหนังสือไม่เก่งทำให้แม่ไม่ปลื้ม คล้ายกับเป็นปมด้อย แม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างลงตัว มีครอบครัวอบอุ่น อาชีพการงานดี เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว และตระเวณเข้ากลุ่มนั่งสมาธิ…แม้ไม่ได้คิดถึงเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีตแล้ว แต่มันเหมือนผ่านเข้ามาเองในจิตใต้สำนึก ฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเก็บมาคิด แต่เราไม่ได้ติดแล้ว มักเกิดขึ้นเมื่อทำdynamic meditation เช่น shaking meditation  เคยมีคนบอกให้แผ่เมตตา หรือให้อภัย หรือขอโทษต่อเจ้ากรรมนายเวร พ่อแม่พี่น้องที่กระทำกับเรา แต่ก็ยังมีความเศร้า เสียใจเกิดขึ้นระหว่างทำสมาธิ จะแก้ไขอย่างไรดีคะ
ขอบคุณค่ะ

………………………………………………..

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณประสบความสำเร็จในการฝึกสมาธิในระดับที่ย้ายความสนใจจากสิ่งภายนอกมาจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเช่นลมหายใจหรือคำบริกรรมได้แล้ว แต่พอหลุดออกจากสมาธินั้นมาได้นิดเดียว ความคิดในรูปของความจำเก่าๆก็ผุดขึ้นมา แล้วคุณก็เผลอไปคิดต่อยอดจนต้องร้องห่มร้องไห้ นั่นประเด็นหนึ่ง

     มีผู้หวังดีสอนให้คุณแผ่เมตตา ขอโทษ ให้อภัย แต่คุณลองคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ยังไม่เวอร์คอยู่ดี นั่นเป็นประเด็นที่สอง

     ผมจะตอบคุณทีละประเด็นนะ

     ประเด็นที่ 1. จะวางความคิดเจ้าประจำที่ผุดขึ้นมาให้หายต๋อมไปอย่างถาวรได้อย่างไร ตอบว่า สำหรับผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาดีระดับหนึ่งแล้วอย่างคุณนี้ สามารถทำได้โดยใช้สองยุทธวิธีควบกัน คือ

     ยุทธวิธีที่ 1. ให้คุณหัดแยกให้ออกว่าตัวคุณ(ความรู้ตัว) กับความคิด เป็นคนละอันกัน นั่นความคิดกำลังผุดขึ้นมาและกำลังขยายตัวออกไป  นี่คือคุณซึ่งเป็นความรู้ตัว กำลังเฝ้าสังเกตมองความคิดนั้นอยู่ คุณเป็นผู้สังเกต (the observer) ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) ฝึกตรงนี้ให้ได้ก่อน เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ตรงนี้เป็นเบสิก ทุกครั้งที่มีความคิดเกิดขึ้น ไม่ว่าตอนนั่งสมาธิหรือนั่งรถเมล์ก็ฝึกได้ทั้งนั้น เมื่อความคิดเกิดขึ้น

     “นั่นความคิดนะ..ไม่ใช่เรา” 

     “นี่เรานะ..ไม่ใช่ความคิด”

      ถ้าตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนั่งสมาธิให้ปวดหัวคิ้ว เพราะถ้าคุณถอยออกมาสังเกตความคิดของคุณไม่ได้ ก็แปลว่าคุณอยู่ในความคิด หรือคุณนั่นแหละเป็นความคิด แล้วคุณจะไปวางความคิดได้อย่างไร

     ยุทธวิธีที่ 2. ให้คุณทำความเข้าใจกับกลไกการเกิดความคิดต่อยอด แล้วฉวยลงมือทำการเสียตั้งแต่ความคิดต่อยอดยังไม่ทันได้เกิด

     กลไกการเกิดความคิดต่อยอด หรือความคิดปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าได้อธิบายกลไกนี้โดยใช้ตรรกะพื้นฐานที่ว่า..เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น จึงมีสิ่งนี้เกิดขึ้นตามมา กลไกการเกิดความคิดปรุงแต่งที่ท่านสอนไว้ ผมขอย่นย่อให้ง่ายต่อการเข้าใจว่ามันมีสี่ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

     ขั้นที่ 1. สิ่งเร้าจากภายนอกซึ่งผ่านอายตนะ (sense organs) เข้ามา จะถูกนำไปเช็คกับความจำเก่าๆที่เกี่ยวข้องกัน แล้วประมวลออกมาเป็นชื่อหรือรูปภาพ ซึ่งเป็นภาษาที่เรารู้จักและเข้าใจขึ้นในใจ นี่เป็นขั้นตอนการแปลงคลื่นความสั่นสะเทือน (สิ่งเร้า)ซึ่งเป็นภาษาธรรมชาติ ให้เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนของมนุษย์ มันเกิดขึ้นเร็วแบบสายฟ้าแลบ สิ่งเร้านี้นับรวมทั้งความจำเก่าๆที่ผุดขึ้นมาเองในใจด้วย

     ขั้นที่ 2. ภาษาที่ใจตีความได้และเข้าใจความหมายระดับหนึ่งแล้วนี้จะตกกระทบ (contact) บนร่างกาย ปั้ง..ง

     ขั้นที่ 3. การตกกระทบครั้งนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นทั้งบนร่างกายและทั้งในใจ ความรู้สึกบนร่างกายก็เช่นแน่นหน้าอก หายใจขัด ใจสั่น ใจเต้นรัว กล้ามเนื้อเกร็งปวด หรือเย็นสบายวาบหวิวสุดแล้วแต่ภาษาจะตีความว่าสิ่งเร้านั้นเป็นอะไร ส่วนความรู้สึกในใจก็เช่นชอบหรือไม่ชอบ อึดอัดหรือโปร่งโล่ง

     ขั้นที่ 4. ความรู้สึกหรือ feeling นี่แหละ จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอด หากเป็นฟีลลิ่งที่ชอบก็คิดอยากได้อยากหามาไว้ครอบครอง หากเป็นฟีลลิ่งที่ไม่ชอบก็อยากหนีไปให้พ้นๆ ความอยากได้หรืออยากหนีนี่คือความคิดต่อยอดหรือความคิดปรุงแต่งที่ทำให้คุณเป็นทุกข์

     พิเคราะห์กลไกการเกิดความคิดต่อยอดนี้จะเห็นว่ามีตัวการอย่างน้อยห้าตัวคือ (1) สิ่งเร้า (2) อยาตนะที่รับสิ่งเร้า (3) ภาษา (ตัวแสบที่สุด) (4) ความจำ  (5) ฟีลลิ่งหรือความรู้สึก ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไป ความคิดต่อยอดก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
   
     พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อเกิดความรู้สึกหรือฟีลลิ่งขึ้นบนร่างกายหรือใจแล้ว ให้รีบถอยออกมาสังเกตดูฟีลลิ่งนั้น สังเกตอยู่เฉยๆงั้นแหละ เมื่อมันเกิดฟิลลิ่งจนสะใจแล้ว มันก็จะดับ นี่เป็นธรรมชาติของฟีลลิ่งใดๆ ถ้าเฝ้าสังเกตอยู่ตั้งแต่มันเกิดจนมันดับ มันก็จบแค่นั้น จะไม่มีอะไรไปเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอดอีก

    แต่ถ้าไม่ได้ถอยออกมาสังเกตดูฟีลลิ่ง ฟีลลิ่งนี้มันจะเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะมันเคยของมันอย่างนั้น คราวนี้จากความคิดหนึ่ง ก็จะมีอีกความคิดหนึ่งมาต่อยอด ต่อๆๆกันไปไม่รู้จบจนคุณต้องนั่งร้องไห้

     ดังนั้นการรู้จักสังเกตดูอาการบนร่างกายก็ดี ความรู้สึกในใจก็ดี เสียตั้งแต่ก่อนที่ความคิดต่อยอดจะเกิดขึ้น เป็นสุดยอดวิชา ย้ำ..สุดยอดวิชา ของการที่คนเราจะปลดแอกตัวเองจากความจำสั่วๆหรือจากกรรมเก่าของตัวเราเอง

     ประเด็นที่ 2. ทำไมแผ่เมตตาก็แล้ว แต่ความคิดลบไม่ยอมหายไป ตอบว่าเป็นเพราะคุณเข้าใจผิดว่าแผ่การแผ่เมตตานี้คือการคิดเอา แบบว่านั่งคิดหรือพูดพึมพัมๆว่าส้ตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆเถิด ฮี่ ฮี่ ความคิดมันจะไปดับความคิดด้วยกันได้อย่างไร มีแต่จะกระทุ้งความคิดให้กระพือยิ่งขึ้น สิ่งที่เรียกว่าเมตตาธรรมหรือ grace นี้มันไม่ใช่ความคิด มันเป็นพลังงานพื้นฐานของจักรวาลนี้เปรียบเหมือนแสงสว่างซึ่งปรากฎอยู่ทั่วไปในเวลากลางวันและทำให้สรรพชีวิตดำรงอยู่ได้ หากคุณปิดหน้าต่างประตูปิดม่านหมด บ้านคุณก็จะมืด ไม่ได้รับแสงสว่างจากภายนอก แต่ถ้าคุณเปิดหน้าต่าง แสงสว่างจากภายนอกก็จะเข้ามาส่องให้บ้านสว่างได้ การเปิดหน้าต่างหมายถึงการไว้วางใจ (trust) สิ่งต่างที่ไม่ใช่ตัวตนที่คุณสมมุติขึ้นว่าเป็นคุณ หมายความว่าคุณยอมรับการเชื่อมโยงระหว่างคุณกับสิ่งภายนอกตัวคุณ ยอมรับว่าคุณกับคนอื่นชีวิตอื่นแท้จริงแล้วก็เป็นอันเดียวกันแชร์แสงสว่างเดียวกัน พูดอีกอย่างว่าการเปิดหน้าต่างเหมือนการยอมรับ (acceptance) ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่โดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ดังนั้น trust หรือ acceptance นี่แหละคือการแผ่เมตตา มันเป็นกลไกตรงๆที่สุดที่จะทำลายตัวตนสมมุติของคุณซึ่งเป็นต้นเหตุของความคิดกลัว โศกเศร้าเสียใจ ฯลฯ ได้อย่างชงัด ขอให้คุณเข้าใจมันและใช้มันให้เป็นเท่านั้น

     ผมทำได้แค่การสื่อสารคอนเซ็พท์ก้บคุณ ให้คุณเอาคอนเซ็พท์ไปทดลองใช้ในชีวิต ใช้แล้วหากมันติดขัดตีบตันหรือไม่เวอร์ค นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณขาดทักษะ ให้คุณลองมาหัดมีประสบการณ์กับความจริงดู โดยหาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์