Latest

ปฐม ก. กา สู่ความหลุดพ้นสำหรับคนวัยทำงาน

สวัสดีครับ อาหมอ
     ผมอ่านบทความของอาหมอ แล้วเข้าใจการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า เราจะวางความคิดลงได้อย่างไร ในเมื่อเรายังมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น ครอบครัว ลูก เป็นต้น เพราะบางครั้งเราก็ยังมีความเป็นห่วงอยู่ จะมีวิธีคิดอย่างไรให้เราสบายใจไม่เป็นห่วงมากจนเกินไป ถ้าเราตัวคนเดียวความข้องใจนี้คงหมดไป
รบกวนอาหมอช่วยแนะนำด้วยครับ
จาก คนที่ยังวางความคิดได้ไม่หมด

………………………………………………………

ตอบครับ

     วันนี้หยิบคำถามเบสิกขึ้นมาตอบบ้างนะ ไม่เฉพาะสำหรับผู้แสวงหาหน้าใหม่เท่านั้น แต่ยังเผื่อฟลุ้คว่าหน้าเก่าที่ก้าวหน้ามากแล้วแต่ติดแหง็กอยู่ที่ไหนสักแห่งไปต่อไม่ได้ อ่านแล้วอาจจะได้คิดอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์กับตัวเองขึ้นมา

     ประเด็นที่ 1. ภาพใหญ่ของการใช้เวลา

     ชีวิตคนเราวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง คือ

     เวลานอน ราว 8 ชั่วโมง
     เวลาทำงาน อีกราว 8 ชั่วโมง คือทำจริงบ้างไม่ทำจริงบ้างนับหมด
     เวลาอื่นๆนอกเวลาทำงาน มีอยู่ราว 8 ชั่วโมง เวลาเหล่านี้เราใช้ทำกิจอื่นเช่นอาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว เดินไปเดินมา ขับรถ ขี้นรถเมลหรือเรือบิน หรือทำเรื่องไร้สาระอื่นๆที่ไม่ใช่การทำงาน นี่คือภาพใหญ่ของเวลาคนเราที่มีในหนึ่งวัน

     ในการจะวางความคิดนั้นให้คุณโฟกัสที่เวลาอื่นๆนอกเวลาทำงานก่อน เอาแค่เนี้ยะ อย่าไปยุ่งกับเวลาทำงานหาเงินหรือเลี้ยงดูลูกเมีย เอาแค่เวลาที่ว่างจากการทำงานก่อน คุณจะได้ไม่อ้างได้ว่าเอาแต่ทำงานจะเอาเวลาที่ไหนมาวางความคิด

     ถ้าแค่นี้คุณก็ยังไม่ได้ ผมต่อรองขอให้คุณเริ่มต้นด้วยการเจียดเวลาส่วนตัวออกมาวันละครึ่งชั่วโมงก่อน เอาแค่นี้ก็ได้ แค่วันละครึ่งชั่วโมง เพื่อการหัดวางความคิด ถ้าแค่ครึ่งชั่วโมงคุณก็ยังยอมไม่ได้ก็จบข่าว เลิกพูดกันดีกว่า หันมาทำใจตามภาษิตชาวบ้านที่ว่า ..สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม

     ประเด็นที่ 2. การทำงานก็เป็นเครื่องมือวางความคิด

     ที่คุณอ้างว่าคุณทำงานเลี้ยงดูลูกเมียมากเหลือเกินนั้น จริงๆแล้วคุณทำงานจริงหรือเปล่า ก่อนจะพูดกันต่อไปผมขอพูดถึงหลักการทำงานที่เป็นของจริงก่อนนะ ไม่ว่าจะทำงานอะไร คนเดียวหรือหลายคน ผมมีคุณวุฒิที่จะพูดเรื่องนี้ได้อยู่บ้าง เพราะผมเองเคยเป็นทั้งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจมาก่อน และเคยเป็นทั้งอาจารย์สอนวิชาบริหารในระดับปริญญาโทมาด้วย ดังนั้นผมขอใช้สิทธิพูดถึงวิธีการทำงานสักหน่อย คือในการทำงานไม่ว่างานอะไร ใหญ่หรือเล็ก เรามีวิธีทำอยู่เจ็ดขั้น

     ขั้นที่ 1. เราวาดภาพใหญ่หรือ วิสัยทัศน์ (vision) ของชีวิตหรือโลกที่เราอยากเห็นอยากให้เป็นขึ้นมาก่อน

     ขั้นที่ 2. แล้วเราก็กำหนดลงเป็นทิศทางหรือ พันธกิจ (mission) ว่าชีวิตเรานี้หรือองค์กรของเรานี้จะมีอยู่เพื่ออะไร

     ขั้นที่ 3. เราลงมือ ตั้งเป้าหมาย (set goal) ในมิติของเวลาว่าเมื่อถึงวันนั้นเวลานั้น เรามีเป้าหมายว่าจะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง เพื่อให้บรรลุพันธกิจใหญ่ที่ตั้งไว้ในระยะยาว

     ขั้นที่ 4. เรานั่งลง วางแผน (planning) โดยระบุลงไปว่าเราจะมีกี่ขั้นตอน อย่างเช่นเราจะปูแผ่นหินเป็นทางเดินลัดสนามหญ้า เราก็วางแผนว่าเราจะปูแผ่นที่หนึ่งก่อน แล้วค่อยปูแผ่นที่สอง แล้วค่อยปูแผ่นที่สาม

     ขั้นที่ 5. แล้วเราก็ มอบหมายงาน (delegation) ถ้างานมีเราทำอยู่คนเดียวก็ง่าย คือเราเหมาหมด แต่ถ้าเราเป็นผู้บริหาร มีลูกน้อง เราก็มอบหมายให้คนนี้ทำงานนี้ คนนั้นทำงานนั้น

     ขั้นที่ 6. แล้วเราก็ ตามไปจี้จิก (supervision) นี่เป็นขั้นตอนการลงมือทำ ถ้าเราทำอยู่คนเดียวก็แค่ตามดูตัวเองว่าทำไปถึงไหนแล้ว แต่ถ้าใช้ให้ลูกน้องทำอาจจะยากขึ้นไปอีกหน่อย เพราะการกำกับตรวจสอบลูกน้องนั้นมันต้องมีเทคนิคบ้างเพราะลูกน้องเป็นคนที่มีสัญชาติญาณมีความคิดความอ่านของเขาเองไม่ใช่ลูกกะโล่ที่เราสั่งคำไหนแล้วจะเป็นคำนั้น นอกจากนั้นการตามงานอาจจะต้องใช้เครื่องมือกันลืม ตั้งแต่บันทึกกันลืม (to do list) ไปจนถึงตารางตามงานที่ระบุว่ามอบหมายให้ใครไปทำอะไรจะเสร็จเมื่อไหร่ ที่เรียกกันติดปากในภาษาบริหารว่า Gantz Chart

     ขั้นที่ 7. เราต้อง ประเมินผล (evaluation) การประเมินนี้ก็เพื่อการพัฒนา ต้องประเมินทุกแง่ทุกประเด็นไม่ใช่แค่ประเมินความสำเร็จของงาน ยังต้องประเมินแผนที่วางไปว่าเข้าท่าไหม ประเมินคนคือลูกน้องแต่ละคนว่าใครมีจุดอ่อนจุดแข็งที่จะต้องปรับปรุงอย่างไรแล้วแจ้งให้เขาทราบ จะมีการให้รางวัลหรือลงโทษก็ว่ากันไปตามความจำเป็น หัวหน้าจำนวนมากไม่กล้าประเมินลูกน้องเพราะกลัวลูกน้องไม่รัก..เวรกรรม ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือคนเรามักไม่กล้าประเมินตัวเองเพราะกลัวอัตตาเขาจะโกรธเอาที่ไปว่าเขาโง่..เวรกรรมอีกเหมือนกัน

     ในแต่ละขั้นตอนที่เราทำงาน เราทำอย่างจดจ่อตั้งใจ แน่นอนต้องมีการใช้จินตนาการ ใช้ความคิดวินิจฉัยจนเราวางแผนได้สำเร็จและเขียนลงไปเป็นขั้นตอนปฏิบัติได้ พอมาถึงขั้นตอนปฏิบัติ เราก็ลงมือปฏิบัติอย่างจดจ่อ เมื่อเราปฏิบัติขั้นที่ 1 เรามุ่งอยู่แต่การทำขั้นที่ 1 ให้สำเร็จ ไม่ไปคิดกังวลข้ามช็อตไปถึงขั้นที่เจ็ด ขั้นที่สิบ หรือขั้นสุดท้าย เรา concentrate นี่คือสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการไปสู่ความหลุดพ้น แบบว่าทำไปทีละขั้น ทีละขั้น one thing at the time เมื่อลงมือทำอะไรแล้วไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็ต้องทำให้จบและสรุปงานกับตัวเองให้ได้ว่าเรื่องนี้จบแล้ว เช่นตื่นนอนก่อนจะลุกไปก็ปูที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อนพร้อมกับบอกตัวเองว่าเราจบการนอนแล้ว การสรุปกับตัวเองตอนจบของแต่ละเรื่องที่ทำไปเป็นเทคนิคการสร้างจิตตานุภาพ (will power) ว่าตัวเรานี้จะทำอะไรก็ทำได้สำเร็จ เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อให้กับจิตของเรา ดังนี้แม้ในการทำงานหากทำให้เป็นคือวางความคิดไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำจากต้นจนจบก็เป็นเครื่องมือช่วยวางความคิดฟุ้งสร้านอยู่ในที ถ้าคุณอ้างว่าคุณทำงานแล้วฟุ้งสร้านมาก วางความคิดไม่ได้ คุณทำงานไม่เป็นแล้ว เพราะคุณมัวไปกังวลกับผลลัพท์แทนที่จะจดจ่อกับกระบวนการทำ ผลสุดท้ายก็คือเละตุ้มเป๊ะเอาดีไม่ได้ คุณต้องจดจ่อกับกระบวนการทำที่ตรงหน้า โดยถือไว้ก่อนว่าผลลัพท์จะเป็นศูนย์ก็ไม่ไปกังวลสนใจ (focus on process, zero result) แล้วผลสุดท้ายมันจะออกมาดีเอง

     ประเด็นที่ 3. ขั้นตอนการฝึกวางความคิดนอกเวลาทำงาน นอกเวลาทำงาน เป็นนาทีทองของชีวิต ให้คุณใช้ทุกเวลานาทีไปกับการฝึกวางความคิด ซึ่งผมแนะนำเบสิกให้คุณง่ายๆ 4 ขั้นตอน โดยไม่อิงหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาใด ดังนี้

     ขั้นที่ 1. ให้คุณเริ่มถอยความสนใจออกมาจากความคิด มาอยู่กับลมหายใจก่อน พูดง่ายๆว่าให้สังเกตลมหายใจ เผลอคิดก็ถอยออกมาจากความคิดซะ มาสนใจลมหายใจแทน อย่างน้อยให้รู้ว่าตอนนี้กำลังหายใจเข้า หรือตอนนี้กำลังหายใจออก ทำอย่างนี้ไปจนความคิดค่อยๆบางลง ขั้นตอนนี้ต้องลงทุนลงแรงมากหน่อยนะ เพราะความคิดของคนเรานี้มันยิ่งกว่าลิง ให้คุณเอาความสนใจของคุณเป็นผู้สังเกต ให้ความคิดและลมหายใจเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต ใหม่ๆความคิดกับลมหายใจจะแย่งซีนกัน คุณต้องถือหางลมหายใจเสมอ อย่าเผลอยอมพวกลิง เพราะ จับตัวนี้วางลง ตัวนั้นมาอีกละ หันไปจับตัวนั้นวาง ตัวเดิมกลับมาใหม่อีกแล่ว แต่อย่าท้อถอย ให้พากเพียรพยายามไป จงใจเลือกสนใจแต่ลมหายใจ selective attention ในที่สุดความสนใจก็สามารถจดจ่ออยู่ที่สิ่งเดียวได้เป็นเวลานานพักใหญ่
 นี่คือสมาธิ ตรงนี้ต้องขยันทำ ต้องทุ่มเท

     เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก เพราะความคิดนั้นมีแบ้คอัพที่แข็งแรงคือวงจรสนองตอบอัตโนมัติที่มีความจำในอดีตเป็นตัวขับเคลื่อน (conditioned reflex) ความจำนี้อาจถอยลึกไปถึงพันธุกรรมหรืออะไรกรรมๆเก่าๆทั้งหมดด้วย ขั้นตอนนี้คือการตัดทอนพลังของกรรมๆเก่าๆให้หมดพลังขับเคลื่อน โผล่มาก็จับวาง โผล่มาก็จับวาง พากเพียรทำไป ในที่สุดก็จะทำได้เอง มันไม่ใช่ศาสตร์ลึกลับอะไร แต่คนส่วนใหญ่มาจอดตายอยู่ตรงขั้นตอนนี้เพราะไม่พยายามมากพอในที่สุดก็เลยต้องยอมตัวเป็นลูกไล่ของพวกลิงไปตลอดชีวิต นั่นก็คือหมดโอกาสหลุดพ้นอย่างถาวร อนึ่งการทำอย่างนี้มันเป็นการทำชีวิตของคุณให้ง่ายขึ้นด้วยนะ คุณลดความคิดลง เท่ากับว่าคุณ simplify ชีวิตของคุณ คุณก็เบาลงแล้ว ยังไม่ทันหลุดพ้นจริงจังคุณก็เบาแล้ว

     ขั้นที่ 2. ให้คุณหัดผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) พูดง่ายๆว่าสั่งกล้ามเนื้อให้คลายตัว กล้ามเนื้อแขนขาลำตัวของเรานี้เราสั่งมันได้ ให้คุณหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก เวลาหายใจออกให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆแล้วสั่งให้กล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดเท้า ลองเอาความสนใจไล่สำรวจดู ตรงไหนตึงหรือเกร็งมากก็สั่งให้ตรงนั้นผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เมื่อไหร่ที่เครียดก็หายใจเข้าลึกๆ เป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ ผ่อนคลาย relax..x….x ทำอย่างนี้เป็นการยิงนกทีเดียวได้สองตัว

     นกตัวที่หนึ่ง คือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการช่วยวางความคิด เพราะความคิดของคนเรานั้นมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระของความคิด อีกขาหนึ่งเป็นอาการตึงเกร็งของร่างกาย คุณลงมือที่ขาหนึ่ง อีกขาหนึ่งก็เปลี่ยนตาม คุณผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความคิดก็จะถูกวางลงไปโดยอัตโนมัติ

     นกตัวที่สอง คือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการลดกระแส (impulse) ไฟฟ้าในเส้นประสาทที่วิ่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อ ไฟฟ้านี้มันแรง หากมันวิ่งอยู่มันจะกลบพลังงานในรูปแบบคลื่นความสั่นสะเทือนอื่นๆที่ละเอียดกว่าเช่นพลังชีวิต (energy body) ไม่ให้คุณรับรู้ได้ แต่หากไฟฟ้าในเส้นประสาทนี้ลดลง สนามมันจะว่างจนคุณรับรู้พลังชีวิตของคุณในขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น

     ขั้นที่ 3. คือการถอยความสนใจจากร่างกายชั้นนอกไปอยู่กับชั้นของพลังชีวิต ตรงนี้เป็นอะไรที่คุณต้องใจเย็นๆทำความเข้าใจ แล้วเอาไปทดลองปฏิบัติ แล้วค่อยประมวลว่าอะไรเป็นอะไร อย่าประเมินเอาจากความคิดเชิงตรรกะ เพราะสิ่งที่ผมจะพูดถึงต่อจากนี้ไป ไม่อาจประเมินเอาได้จากความคิดเชิงตรรกะ ต้องประเมินเอาจากการมีประสบการณ์จริงเท่านั้น

     ก่อนอื่นให้คุณเข้าใจคอนเซ็พท์ที่เป็นพื้นฐานของกิจกรรมขั้นนี้ก่อน ว่าชีวิตเรานี้มันซ้อนกันเป็นชั้นๆจากหยาบลงไปถึงละเอียดหลายชั้น แต่ผมจะพูดถึงแค่สองชั้น คือ ชั้นนอกสุดคือร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้ (รูป หรือ physical body) เป็นชั้นที่มีขอบเขตชัดเจนคือผิวหนังที่หุ้มรอบอยู่นี้ ชั้นถัดเข้าไปคือชั้นของพลังชีวิต (energy body) ซึ่งเป็นพลังงานที่ภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” และภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” ชั้นนี้เป็นพลังงานที่ซ้อนร่างกายอยู่แต่ซ้อนกันแบบไม่มีขอบเขตชัดเจนเพราะมันเป็นแค่พลังงานเหมือนกับก้อนหมอกหรือก้อนเมฆที่หาขอบเขตชัดๆไม่ได้ แล้วเราจะไปจับต้องหรือมองเห็นมันก็ไม่ได้ แต่เราสามารถรู้สึกหรือ feel การมีอยู่ของมันได้ผ่านความรู้สึกบนร่างกายที่ภาษาบาลีเรียกว่า “เวทนา (feeling)” ในลักษณะของความรู้สึกวูบๆวาบๆจิ๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆซ่าๆหรือขนลุกขนชันบนผิวหนัง การฝึกรับรู้เวทนานี้คุณต้องหัดลาดตระเวณความสนใจของคุณไปบนผิวหนังทั่วร่างกาย (body scan) ลาดตระเวณไปพลางก็ใส่ใจรับรู้ความรู้สึกในบริเวณนั้นไปพลาง กิจกรรมที่คุณจะฝึก body scan ได้ง่ายก็เช่นการรำมวยจีน และการฝึกโยคะผสมสมาธิ เป็นต้น

     ใหม่ๆคุณทำ body scan ไปทีละส่วนของร่างกาย พอชำนาญเข้าคุณก็ลาดตระเวณตูมเดียวทั่วตัวในหนึ่งลมหายใจ รับรู้พลังชีวิตว่าเป็นกลุ่มก้อนของพลังงานโดยทิ้งความรับรู้ร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้ไปเสีย อย่าลืมว่าคุณต้องรู้สึก (feel) เอานะ ไม่ใช่คิด (think) เอา เพราะเรากำลังจะออกจากโลกของความคิดที่มีภาษากำกับ ไปสู่โลกของพลังงานความสั่นสะเทือนที่ทุกอย่างต้อง feel เอาโดยไม่มีความคิดหรือภาษากำกับ เมื่อทำได้แล้วให้คุณปักหลักความสนใจของคุณอยู่ที่พลังชีวิตนี้เป็นอาจิณ จะกลับออกไปคิดก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นในเรื่องการงานและการใช้ชีวิตเท่านั้น มาถึงจุดนี้คุณจะเริ่มพบว่าการเอาความสนใจมาไว้ที่พลังชีวิตนี้มันเป็นที่ที่สงบเย็น ไม่ต้องไปอินังขังขอบเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับความคิดซึ่งอยู่ข้างนอก แม้กระทั่งร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้เมื่อมันได้รับบาดเจ็บหากคุณอยู่ตรงพลังชีวิตนี้คุณก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ได้อินังขังขอบกับร่างกายเนื้อตันๆนัก พูดง่ายๆว่ามาถึงขั้นนี้คุณได้เริ่มย้าย “องค์” ของคุณจากที่เป็นร่างกายตันๆมาเป็นพลังชีวิตแทน ตรงนี้เป็นการเริ่มต้น shift of identity อย่างเนียนๆที่สำคัญมาก เพราะส่วนที่หินที่สุดของการวางตัวตนก็คือการวางร่างกายตันๆนี้ว่าไม่ใช่เรา แม้จะเป็นของเรา แต่ก็ไม่ได้เป็นเรา และวันหนึ่งเราก็ต้อง “คืน” ร่างกายนี้ให้กับผืนดินซึ่งเป็นที่มาของมันไป

     ขั้นที่ 4. สามประสาน เมื่อคุณปักหลักเอาพลังชีวิตเป็นบ้านหรือเป็นที่จอดของความสนใจได้ชัดเจนแน่นอนดีแล้ว ขั้นต่อไปเป็นขั้นที่ผมตั้งชื่อเรียกเองว่าขั้น “สามประสาน” สามอย่างที่จะประสานกันนี้มีอะไรบ้าง มีดังนี้

    ตัวประสานที่ 1. คือ ความสนใจ (attention) หรือสตินั่นแหละ

    ตัวประสานที่ 2. คือ พลังชีวิต (energy body) หรือปราณา หรือชี่ สุดแต่จะเรียก

    ตัวประสานที่  3. คือ พลังงานจากข้างนอก (grace) ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมหน่อยนะ คำว่า grace นี้ตรงกับคำภาษาสันสกฤตว่า “กรุณา” ดังนั้นหากผมจะใช้คำภาษาไทยว่า “พลังเมตตา” ก็น่าจะพออนุโลมความหมายว่าตรงกันได้ มันเป็นพลังงานเย็นๆจากภายนอกที่หลั่งมาเองเหมือนฝนที่โปรยให้กับทุกชีวิตเสมอหน้ากัน คุณยังไม่ตัองวินิจฉัยตัดสินด้วยความคิดเชิงตรรกะตอนนี้หรอกว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ แต่เอาไว้ให้คุณได้มีประสบการณ์กับตัวเองแล้วค่อยสรุปเอาเองภายหลังว่ามันมีหรือไม่มี

     เอาละ คราวนี้คุณมาฟังคอนเซ็พท์ก่อนว่าเทคนิคสามประสานนี้ทำอย่างไร สามประสานก็คือคุณเอาความสนใจหรือสติของคุณเป็นผู้ประสาน เมื่อคุณหายใจเข้า คุณ “เปิด” เปิดนี่เป็นคำสำคัญนะ เป็น key word เมื่อคุณหายใจเข้าลึกๆให้คุณเปิดรับเอา grace หรือพลังเมตตาจากข้างนอกเข้ามาสู่ตัวคุณ อั้นไว้สักพัก เมื่อคุณผ่อนลมหายใจออกช้าๆก็ให้พลังเมตตานี้คลุกเคล้าเป็นหนึ่งเดียวกับพลังชีวิตของคุณแล้วแผ่มันออกไปจากตัวคุณ ผ่านทุกรูขุมขนกลับไปสู่ภายนอก ให้มันเป็นพลังเย็นๆชุ่มฉ่ำไปหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นๆอย่างไม่เลือกหน้า ทั้งหมดนี้ให้คุณ feel เอานะ ไม่ใช่ think เอา ทำอย่างนี้เป็นอาจิณทุกลมหายใจ จนถึงจุดหนึ่งคุณจะบรรลุเรื่องสำคัญสองเรื่องคือ
     (1) ความเป็นคุณหรือ องค์ (identity) ของคุณนี้คือพลังชีวิต (energy body) ไม่ใช่ร่างกาย (physical body) อีกต่อไปแล้ว นี่เป็นการย้ายองค์ (shift of identity) ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมาก 
     (2) คุณจะค่อยๆรู้สึกหลังจากที่ได้แผ่พลังชีวิตของคุณผ่านทุกรูขุมขนออกไปสู่ภายนอกครั้งแล้วครั้งเล่าแล้ว ว่าคุณสามารถรับรู้ (sense) ได้ว่าขอบเขตของความเป็นคุณนี้ ใหม่ๆมันจำกัดอยู่แค่ที่หุ้มด้วยผิวหนังหรือออกไปอย่างมากก็แค่ปลายขนเท่านั้น แต่ต่อมาๆคุณจะค่อยๆรู้สึกว่าคุณสามารถรับรู้ หรือ sense ว่าขอบเขตของความเป็นคุณมันขยายออกไปได้ไกลจากที่ร่างกายตันๆนี้นั่งอยู่ จากใกล้ๆค่อยๆไกลออกไป จนไปได้ไกลมาก จนคุณรู้สึกว่าทั้งร่างกายของคุณก็ดี ความคิดของคุณก็ดี แม้กระทั่งต้นไม้ก็ดี ก้อนหินก็ดี ลูกเมียของคุณก็ดี รถโตโยต้าของคุณก็ดี ล้วนปรากฎอยู่ภายในขอบเขตของความเป็นคุณนี้ทั้งสิ้น และสิ่งต่างๆที่กล่าวมานั้นอย่างมากก็เป็นได้แค่สมบัติของคุณ แต่ไม่ใช่คุณอย่างเด็ดขาด เพราะความเป็นคุณได้ย้ายจากร่างกายที่แคบๆจำกัดอยู่แค่ใต้ผิวหนังมาเป็นความตื่นที่มีความสามารถรับรู้ สงบเย็น แม้จะจับต้องมองเห็นไม่ได้ แต่ก็สามารถรู้สึกเอาได้ว่ามีความกว้างไกลไร้ขอบเขต สิ่งนี้แหละที่ผมใช้คำเรียกว่า “ความรู้ตัว”
     การที่คุณสามารถเคลื่อนย้าย “องค์” เดิมของคุณจาก “ความเป็นบุคคล” ที่มีร่างกายตันๆนี้เป็นฐานที่มั่นมีความคิดความจำที่ผูกติดกับมันอยู่ มาเป็น “ความรู้ตัว” ที่เป็นพลังงานความสั่นสะเทือนซึ่งมีแต่ความตื่นและความสามารถรับรู้อันว่างเปล่าไร้ขอบเขตและไม่มีได้มีเสียอะไรกับใครที่ไหนนี้ นี่แหละเป็นการย้ายองค์ (shift of identity) ครั้งสำคัญที่สุด และหากคุณทำสำเร็จ ตรงนี้แหละ คือความหลุดพ้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์