Latest

โยคะสูตร ของปตัญชลี ฉบับวิเวกานันทะ ภาค 1

     นานมาแล้วผมเคยเล่าเรื่องย่อและแปลบางตอนของหนังสือโยคะสูตรของปตัญชลีให้อ่านในบล็อกนี้ โดยใช้ต้นฉบับที่คนอเมริกันและคนอินเดียร่วมกันแปล แต่วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเดียวกันนี้แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยโยคีอัจฉริยะของอินเดียผู้ล่วงลับไปตั้งแต่วัยหนุ่มชื่อวิเวกานันทะ  (swami vivekananda) ผมเห็นว่าแปลได้สละสลวยคมคายกว่าฉบับที่ผมเคยอ่านมาแล้วมาก จึงขอแปลต่อเป็นภาษาไทยทิ้งไว้ในบล็อกนี้อีกครั้ง โดยจะลงทีละบทเท่าที่เวลาอำนวย วันนี้เอาเฉพาะบทที่ I. (จากสี่บท) บทแปลนี้อาจจะน่าเบื่อสำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจคอนเซ็พท์ของการทำสมาธิแบบต่างๆ ก็ขอให้ท่านที่ไม่สนใจเปิดผ่านบทความนี้ไปโดยไม่ต้องแวะอ่าน ผมเขียนลงไว้ด้วยหวังว่าสำหรับท่านที่สนใจเรื่องการฝึกสมาธิ บางแง่มุมที่ปตัญชลีพูดไว้ อาจกระตุกให้เกิดการร้องอ๋อหรือเอาไปต่อยอดสิ่งที่ท่านกำลังติดขัดอยู่ได้ 

บทที่ I. ภาพรวมของสมาธิสู่ความหลุดพ้น

I.1 เอาละ ได้เวลาอธิบายว่าชีวิตเรารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร

I.2 ชีวิตรวมเป็นหนึ่งเดียวได้โดยการแยกความคิด ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับความรู้ตัว

I.3 เมื่อถึงตอนนั้น ผู้สังเกตได้ถอยออกจากการคิดกลับมาเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง

I.4 บ่อยครั้งผู้สังเกตไปสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองเป็นความคิด

I.5 การรู้เห็นโผล่ขึ้นมาในใจได้ห้าแบบซึ่งบ้างทำให้เป็นทุกข์ บ้างไม่ทำให้เป็นทุกข์

I.6 การรู้เห็นห้าแบบคือ (1) รู้เห็นตามที่มันเป็น (2) รู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น (3) จินตนาการ (4) นิทรา (หลับแบบไม่ฝัน)  (5) รู้เห็นจากความจำ

I-7 วิธีรู้เห็นอย่างถูกต้องมีสามแบบคือ (1) รู้เห็นตรงๆ (2) รู้เห็นจากการคิดหาผลเอาจากเหตุ (3) รู้เห็นจากการฟังเอาจากผู้รู้

I.8 การรู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น คือการทึกทักเอาในใจว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ในความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

I.9 จินตนาการคือความคิดที่กระโดดตามหลังคำบอกเล่าที่เพิ่งได้ยินมาโดยไม่มีความจริงตามนั้น

I.10 นิทรา (การหลับแบบไม่ฝัน) คือใจที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการกระเพื่อมอะไรให้รับรู้ได้เลย

I.11 ความจำคือการฟื้นสำเนาประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าเมื่อครั้งเก่าๆขึ้นมาใหม่

I.12 การเป็นนายความคิดหรือการหยุดความคิด ทำได้โดยการฝึกปฏิบัติปล่อยวางความยึดถือ

I.13 การฝึกปฏิบัติก็คือการพยายามตีกรอบความคิดให้อยู่ภายใต้การสังเกตของความสนใจ

I.14 เจ้าต้องฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องซ้ำซากยาวนานจึงจะเกิดพื้นฐานที่มั่นคง

I.15 การปล่อยวางความยึดถือคือการทิ้งความหิวกระหายอยากได้ในประสบการณ์ที่เคยได้รับ หรือในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาไปเสีย

I.16 การปล่อยวางความยึดถืออย่างยิ่ง รวมไปถึงการทิ้งความยึดถือในความรู้ตัว

I.17 ในการทำสมาธิสี่ขั้นตอนคือ (1) จดจ่อ (2)เกาะติดอย่างละเอียด (3) เกิดความเบิกบาน (4) มีตัวตนผู้สังเกตรับรู้ ทั้งหมดนี้เรียกว่าฝึกสมาธิแบบมีเป้าให้จดจ่อ

I.18 แล้วก็จะสามารถต่อยอดไปฝึกสมาธิอีกแบบหนึ่ง คือแบบปล่อยให้ความคิดหดกลับไปยังความว่างที่มันโผล่ออกมา เหลือแต่ความสนใจจอดนิ่งเงียบอยู่โดยไม่มีเป้าให้จดจ่อ

I.19 (สมาธิแบบหลังนี้) หากไม่ควบคู่กับการปล่อยวางความรู้ตัว จะกลายเป็นเหตุให้กลับมาเกิดใหม่อีก แม้ว่าจะมีฤทธิ์เดชเกิดขึ้นก็ตาม

I.20 สำหรับคนที่ไม่อยากมีฤทธิเดชอะไร สามารถหลุดพ้นได้ด้วยการปฏิบัติวิถีทั้งห้า คือ  (1) ศรัทธา (2) พลังงาน (3) (การเฝ้าดู) ความจำ  (4) สมาธิ (5) อาศัยปัญญาญาณแยกแยะ

I.21 ยิ่งใส่พลังงานเอาจริงเอาจังมาก ยิ่งประสบความสำเร็จมาก

I. 22 ความเอาจริงเอาจังยังแตกต่างกันสามระดับ คือ น้อย ปานกลาง มาก

I.23 หรือจะปฏิบัติบูชาแบบมอบกายถวายชีวิตแก่ความรู้ตัวอันเป็นสำนึกรับรู้บริสุทธิ์หรือพลังงานต้นกำเนิดของเราทุกคนก็ได้

I.24 พลังงานต้นกำเนิดหรือจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกแปดเปื้อนโดยความคิดรักชอบชังหรือกรรมใดๆ

I.25 ความรู้ตัว ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้บริสุทธ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้ เป็นปัญญาที่ไม่มีปัญญาใดยิ่งกว่า

I.26 ความรู้ตัว ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้เป็นครูของครูทุกคนมาแต่โบราณ เพราะมันไม่ได้อยู่ในมิติของเวลา

I.27 พลังงานจากการสั่นสะเทือนของเสียงเปล่ง “โอม” เป็นวิธีเข้าไปถึงความรู้ตัวอันเป็นพลังงานต้นกำเนิดนี้

I.28 การเปล่งเสียงโอมซ้ำซากและการนั่งสมาธิอยู่กับความหมายของเสียงโอมเป็นวิธีเข้าความรู้ตัวอันเป็นพลังงานต้นกำเนิด

I.29 ทำให้เกิดปัญญามากขึ้นๆ และค่อยๆทำลายอุปสรรคกีดขวางทั้งมวล

I.30 อุปสรรคที่ชักจูงให้หันเหออกไปจากเส้นทางสู่ความหลุดพ้นได้แก่ (1) ป่วย (2) ขี้เกียจ (3) ความสงสัย (4) ความสงบนิ่งเกินไป (5) การหยุด (6) การรู้เห็นผิดๆ (7) การละความอยากทางโลกไม่ได้ (8) การไม่มีสมาธิ (9) การหลุดลอย

I.31 สิ่งที่ควบคู่กับการไม่มีสมาธิคือ (1) เศร้า (2) เครียด (3) ร่างกายสั่น (4) หายใจไม่สม่ำเสมอ

I.32 วิธีแก้คือจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียว

I.33 การเข้าถึงความรู้ตัวทำได้โดยการ (1) สร้างมิตรไมตรี (2) เมตตา (3) ดีใจสุขใจด้วยกับคนที่มีความสุข (4) วางอุเบกขากับคนที่มีความทุกข์

I.34 หรือโดยการควบคุมพลังชีวิต ผ่านการควบคุมลมหายใจ ช่วงที่กักลมหายใจไว้ และช่วงที่หายใจออก

I.35 การทำสมาธิแบบจดจ่ออยู่กับประสบการณ์รับรู้สิ่งเร้าในลักษณะที่ทำให้การรับรู้ละเอียดแหลมคมขึ้นช่่วยทำให้มีความยืนหยัดมากขึ้น

I.36 หรือจดจ่ออยู่กับแสงเรืองที่ภายใน ก็จะทำให้ใจนิ่งและสงบได้เช่นกัน

I.37 หรือจดจ่ออยู่กับหัวใจที่ปล่อยวางทุกอย่างอย่างสิ้นเชิง

I.38 หรือจดจ่ออยู่กับการรู้ที่เกิดขึ้นในความฝัน

I.39 หรือจดจ่ออยู่กับเป้าอะไรดีๆที่ตัวเองที่ชอบหรือเคยประสบมา

I.40 แล้วใจก็จะนิ่งได้ ไม่ว่าจะอาศัยเป้าที่ใหญ่หรือเล็ก

I.41 เมื่อใจสงบนิ่งลงก็จะใสเหมือนผลึกแก้ว ที่รู้ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (ความคิด) ทั้งอาการที่เข้าไปรู้ (สติ) และทั้งตัวผู้รู้เอง (ความรู้ตัว)

I.42 สมาธิแบบหนึ่งเป็นการผสมผสานสามอย่าง คือ (1) คลื่นความสั่นสะเทือน (เสียง) (2) ภาษาหรือชื่อที่ใช้เรียกเสียงนั้น (3) ความหมายของชื่อนั้นในใจซึ่งหยิบเอามาจากความจำ ทั้งสามอย่างนี้ผสมกลมกล่อมกันไป เรียกว่าเป็นสมาธิแบบมีผู้สังเกตและมีเป้า

I.43 สมาธิอีกแบบหนึ่งเมื่อมีคลื่นความสั่นสะเทือนเกิดขึ้น มีภาษาตามมา แต่ความหมายของชื่อนั้นในความจำถูกกรองไม่ให้เอามาตีความชื่อนั้น ความคิดก็ไม่มีที่จะอยู่ เหลือแต่คลื่นความสั่นสะเทือนเป็นเป้าอยู่ในการรับรู้ เรียกว่าเป็นสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกต

I.44 สมาธิทั้งสองแบบเกิดได้ทั้งกับเป้าที่หยาบหรือเป้าที่ละเอียด

I.45 เป้าที่ละเอียดทั้งหลาย (เช่นความคิด และสำนึกว่าเป็นบุคคล) ล้วนไปสิ้นสุดที่สถานะดั้งเดิมที่ไร้รูป

I.46 สมาธิแบบทั้งหลายที่กล่าวมานี้ยังมีเมล็ดพันธ์ของความจำจากอดีตค้างอยู่ ไม่ได้ถูกทำลายไปไหน

I.47 เมื่อทำสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกตเกิดมากเข้า ความรู้ตัวจะค่อยๆยืนหยัดมั่นคง

I.48 เกิดปัญญาญาณหยั่งรู้

I.49 ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้แทงตลอดไปถึงสิ่งที่เหตุผลหรือคำแนะนำซึ่งอาศัยภาษาไม่เคยแทงทะลุไปถึงได้

I.50 ปัญญาญาณหยั่งรู้ก่อให้เกิดความเข้าใจแบบรับรู้ตรงๆตามที่มันเป็น ซึ่งจะลดความคิดอย่างอื่นที่เป็นการรู้มาผ่านภาษาลงไป (เหมือนไฟกองใหญ่จะดับไฟกองเล็กกองน้อยทั้งหลาย)

I. 51 เมื่อใดที่ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้ดับตามความรู้อื่นๆไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว สมาธิแบบไม่มีเป้า ซึ่งเป็นความหลุดพ้นแบบไม่มีเมล็ดพันธ์ใดๆจากความจำเหลืออยู่จึงจะเกิดขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์