Latest

ทำงานมากทำให้เป็นอัมพาตซ้ำซากได้หรือเปล่า

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
หนูเป็นทันตแพทย์ อายุ 54 ปี สามีเป็นทันตแพทย์รุ่นเดียวกัน เขาเป็น stroke มาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกพูดไม่ชัดอยู่พักใหญ่ พอรีบไปแผนกฉุกเฉินอาการก็หายไป ทำซีที.ไม่เห็นอะไร ต่อมาได้เกือบปีคราวนี้แขนอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือด แล้วแขนก็ค่อยๆกลับมาทำงานได้ประมาณ 80% โชคดีที่เป็นแขนซ้ายซึ่งไม่ได้ใช้ทำงาน หนูเห็นว่าเขาทำงานมากเกินไป คือเดิมเราทำคลินิกสามแห่ง เขาต้องทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 12-14 ชั่วโมง แทบไม่มีวันหยุดเลย หนูชวนให้เขาเลิกเหลือคลินิกเดียวก็พอ แต่เขาบอกว่าเขาเลิกไม่ได้เพราะเป็นห่วงคนไข้ หนูจึงตัดสินใจเลิกมาอยู่บ้านซะเอง ไม่ได้ประชดนะคะ แต่เพื่อมา support เขาเรื่องอาหารและเรื่องอื่นๆ พยายามพูดให้เขาลดการทำงานลงเขาก็บอกว่าแต่ว่ามันไม่เกี่ยวกัน เขารับปากว่าเขาจะตั้งใจดูแลเรื่องไขมันในเลือด ความดันเลือด และการกินยาต้านเกล็ดเลือด แต่ไม่รับปากว่าจะลดการทำงานเพราะพูดแต่ว่ามันไม่เกี่ยวกัน หนูจึงต้องหยุดงานมากำกับดูแลเรื่องอาหารและการเป็นอยู่ของเขา อาจารย์คะหนูอยากถามอาจารย์ว่าการที่คนเราทำงานมาก หมายถึงเวลาทำงานแต่ละวันนานเกินไปมันมีส่วนทำให้เป็น stroke ได้มากขึ้นไหมคะ

…………………………………………………

ตอบครับ

     ถามว่าการบ้างาน ทำงานวันละยาวนานหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้เป็นอัมพาตเฉียบพลันซ้ำซาก (recurrent stroke) ได้ไหม ตอบว่าข้อมูลที่มีอยู่นับถึงวันนี้ มีแต่ว่าการทำงานมากสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นสาเหตุกันจริงหรือไม่ หรือว่าสองเรื่องนี้บังเอิญฟลุ้คๆมาเกิดในคนๆเดียวกันก็ไม่ทราบ

     งานวิจัยที่ว่าการทำงานมากสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำที่ฝรั่งเศสชื่องานวิจัย CONSTANCES ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Stroke ในงานวิจัยนี้เขาตามดูคน 143,592 คน ตามดูอยู่นาน 7 ปี เพื่อจะดูว่าการทำงานมาก จะสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าคนที่ทำงานพอควรหรือเปล่า โดยนิยามว่าการทำงานมากคือทำงานวันละเกิน 10 ชั่วโมงขึ้นไปอย่างน้อยปีละ 50 วัน ผลปรากฎว่าเจ็ดปีผ่านไปมีคนเป็นอัมพาตไป 1,224 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ก็พบว่าพวกที่ทำงานมาก เป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าพวกที่ทำงานปกติ 29% ยิ่งถ้าทำงานมากติดต่อกันมานานอย่างน้อย 10 ปี จะเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าคนทำงานปกติถึง 45% เลยทีเดียว

     ข้อมูลแค่นี้ก็พอแล้วแหละที่จะใช้ชักชวนให้เขาลดการทำงาน เพราะในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกวันนี้วงการแพทย์เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรค เรารู้แต่ว่าอะไรบ้างที่พบร่วมกันการเป็นโรค ซึ่งเราเรียกง่ายๆว่าปัจจัยเสี่ยง และเราก็อาศัยจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เพื่อป้องกันการเป็นโรค ซึ่งก็ได้ผลดี โดยที่ไม่ต้องไปรอการพิสูจน์ว่าปัจจัยเสี่ยงตัวนี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคหรือเปล่าเลย เพราะการพิสูจน์อย่างนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในอนาคต

     แต่ถ้าใช้ข้อมูลแค่นี้ชักชวนแล้วเขายังไม่ยอมลดการทำงานลง คุณก็ต้องมองหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เขาไม่ยอมลดการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ เช่นสมมุติว่ามีนางยักษ์ขิณีอยู่ที่บ้าน เป็นตายอย่างไรเขาก็คงไม่ลดการทำงานใช่ไหมครับ (อะจ๊าก..ก ขอโทษครับ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Marc Fadel, Grace Sembajwe, Diana Gagliardi, Fernando Pico, Jian Li, Anna Ozguler, Johannes Siegrist, Bradley A. Evanoff, Michel Baer, Akizumi Tsutsumi, Sergio Iavicoli, Annette Leclerc, Yves Roquelaure, Alexis Descatha. Association Between Reported Long Working Hours and History of Stroke in the CONSTANCES Cohort. Stroke, 2019; DOI: 10.1161/STROKEAHA.119.025454