Latest

5+7 สูตรสำเร็จในการดูแลบุพการี

     อายุ 59 ออกจากงานมาดูแลทั้งคุณพ่อคุณแม่ซึ่งอายุ 89 และ 85 หนักมาก แต่ทนได้ อ่านมาแยะ ลองผิดลองถูกเรื่อยมา แต่อยากได้แนวทางการดูแลที่ดีแบบเบ็ดเสร็จรวบยอดจากคุณหมอสันต์อะค่ะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

     คุณเขียนมาก็ดีเหมือนกัน เพราะพิมพ์นิยมของชีวิตผู้สูงวัยวันนี้คือลูกอายุ 50-60 ต้องเป็นผู้ดูแลคุณพ่อคุณแม่อายุ 80-90 จึงมีคนที่มีหัวอกแบบคุณนี้แยะมาก ถ้าคุณจะเอาคำตอบแบบเบ็ดเสร็จ ผมสรุปคำแนะนำให้เป็นข้อๆ สิบข้อ ดังนี้

    ข้อ 1. การดูแลพ่อแม่มิใช่การรับใช้หรือการทำตามสิ่งที่ท่านต้องการตะพึด ไม่ใช่ว่าท่านสั่งอะไร แล้วรีบไปทำตามคำสั่งนั้นให้ดีที่สุด แต่เป็นการใส่ใจให้ท่านได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านควรจะได้โดยไม่หวังผลตอบแทน (คำชม) ต้องมองให้ขาดว่าสิ่งที่ท่านต้องการจริงๆ คืออะไร ซึ่งนั่นก็คือการที่ท่านจะสามารถเดินเหินใช้ชีวิตปกติไปได้นานที่สุด และกล้ามอบสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นให้ท่าน
     ดังนั้นผู้เป็นลูกควรกล้าถามความเห็น กล้าพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล กล้าเคี่ยวเข็ญและทำให้ท่านฝึกกายภาพบำบัดฟื้นฟูร่างกายทุกวิถีทาง และกล้าเตือนเมื่อเห็นว่าท่านทำในสิ่งที่จะเป็นผลเสียกับตัวท่านเอง

    ข้อ 2. การดูแลพ่อแม่ต้องทำเป็นทีม พี่น้องมีกี่คนต้องลากมาช่วยกันหมด อย่างน้อยคนไม่ทำอะไรก็ให้ช่วยส่งกำลังบำรุงก็ยังดี ทีมนี้อาจจะรวมไปถึงลูกจ้างที่ช่วยทำงานในบ้าน (ถ้ามี) อาจรวมเจ้าหน้าที่ของรพ.สต. (อนามัย) กรณีที่เราลงทะเบียนให้ท่านเป็นผู้สูงอายุติดเตียงเพื่อให้รพ.สต.มาสนับสนุนช่วยเหลือ

    ข้อ 3. ในการจัดทำแผนการดูแล ให้จัดลำดับความสำคัญเรื่องที่จะทำ ดังนี้

    ขั้นที่ 1. เน้นให้ทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน (ADL – Activity of Daily Living) ด้วยตนเองให้ได้นานที่สุด ได้แก่

     (1) สุขศาสตร์ส่วนบุคคล (personal hygiene) เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม

     (2) การแต่งตัว (dressing) เลือกเสื้อผ้าเองได้อย่างเหมาะสม

     (3) การป้อนอาหารตัวเอง (feeding)

     (4) การจัดการอึฉี่ (continence management) หมายถึงการอั้นเมื่อควรอั้น ปล่อยเมื่อควรปล่อย เมื่อไรควรไปห้องน้ำ และไปห้องน้ำเอง

     (5) การเคลื่อนไหวเดินเหิน (ambulating) การยันกายจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง การลงจากเตียงเอง การลุกจากท่านั่งขึ้นยืน การเดินไปเดินมาได้เอง

     ขั้นที่ 2. เมื่อทำ ADL ได้ดีแล้ว ในกรณีที่ถ้าท่านยังไม่ติดเตียง หรือถ้าสมควร จึงค่อยมาฝึกกิจวัตรประจำวันที่มีประโยชน์ (IADL – Instumental Activities of Daily Living) ให้ท่านทำเองให้ได้นานที่สุด ได้แก่

     (1) ความทนเหงา (Companionship and mental support) การอยู่คนเดียวแล้วมีความสุข สามารถสื่อสารกับคนอื่น (communication skill) เช่นพูดโทรศัพท์ได้ ใช้มือถือเป็น ส่งอีเมลได้ เป็นต้น

     (2) ความสามารถขนส่งตัวเอง (Transportation) การเดินทางในรูปแบบต่างๆด้วยตนเองตามความเหมาะสม เช่นขับรถเอง ปั่นจักรยานเอง เดินไปตลาดเอง

     (3) ความสามารถทำอาหารเอง (Preparing meals) เริ่มตั้งแต่การวางแผน จะกินอะไรบ้าง จะซื้ออะไร ขนของเข้าตู้เย็น หั่นหอม ซอยกระเทียม หุง ต้ม

     (4) ความสามารถช้อป (shopping) จะซื้อของกินของใช้อะไรเข้าบ้านบ้าง ตัดสินใจเองได้

     (5) ความสามารถจัดการที่อยู่ของตัวเอง (housework) ซักผ้า กวาดพื้น ถูพื้น ดูดฝุ่น เอาขยะไปเท เอาสัมภารกไปทิ้ง

     (6) ความสามารถบริหารยาตัวเอง (Managing medications) กินยาอะไรบ้าง แต่ละตัวกินเพื่ออะไร ขนาดที่ต้องกินเท่าไหร่ กินวันละกี่ครั้ง กินเมื่อใด มันมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง เมื่อไหร่ควรจะลดหรือหยุดยา

     (7) ความสามารถบริหารเงินของตัวเอง (Managing personal finances) ใช้จ่ายไม่เกินเงินที่ตัวเองมี จ่ายบิลต่างๆเช่นประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน

     ทั้งหมดนี้ (ADL 5 ข้อ, IADL 7 ข้อ) ผมเรียกง่ายๆว่า 5+7 เป็นสูตรสำเร็จสำหรับดูแลบุพการีที่ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลใช้กันทั่วโลก

     ข้อ 4. ห้ามนำอาหารไปเสิร์ฟที่เตียงนอนของท่าน แต่ให้ขอร้องแกมบังคับให้ท่านเดินไปทานอาหารที่ครัวเอง ในการทานอาหาร ให้กระตุ้นให้ท่านทานเอง ห้ามป้อนอาหาร ใช้มือข้างหนึ่งไม่ได้ ให้หัดใช้อีกมือหนึ่ง การป้อนจะทำเฉพาะในกรณีที่จำเป็นยิ่งยวด การทานอาหารเองเป็นโอกาสฟื้นฟูกล้ามเนื้อมือที่หายาก

     ข้อ 5. ถ้าท่านมีสติดีอยู่ห้ามใช้ผ้าอ้อมตอนกลางวัน แต่ให้ช่วยท่านไปเข้าห้องน้ำให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะทุกครั้งที่ท่านไปเข้าห้องน้ำเอง คือโอกาสฟื้นฟูร่างกายแบบบูรณาการเบ็ดเสร็จที่หาได้ยาก การใช้ผ้าอ้อมให้ใช้เฉพาะตอนกลางคืนเมื่อตัวคุณลูกจะเข้านอนแล้วเท่านั้น และเมื่อคุณเข้านอน ให้ถือว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องนอนด้วย ท่านไม่หลับก็เรื่องของท่าน ให้ปิดไฟ ปิดวิทยุโทรทัศน์ กล่าวราตรีสวัสดิ์ บอกท่านว่าเราจะไปนอนแล้ว หลังจากนั้นท่านจะทำเสียงอะไรกุกกักก็ไม่ต้องลุกมาดู รุ่งเช้าค่อยมาทักมาเปลี่ยนผ้าอ้อมและพาอาบน้ำ ไม่งั้นคุณต้องลุกมาดูทั้งคืน แล้วไม่กี่วันคุณก็จะหมดแรงหรือไม่ก็เป็นโรคประสาท

     ข้อ 6. ในตอนกลางวัน ห้ามปล่อยให้ท่านนอนนิ่งอยู่บนเตียงนานเกิน 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน ต้องวางแผนกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวทั้งวัน ต้องให้ทานข้าวเอง อาบน้ำเอง ฝึกการทรงตัว ฝึกโยคะ ฝึกเดิน และปล่อยให้ท่านช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด คนสูงอายุมักงีบหลับเป็นเวลา เช่นช่วงสิบโมงเช้า กับช่วงบ่ายสองบ่ายสาม เป็นต้น ให้จัดตารางการเคลื่อนไหวไปมาให้สัมพันธ์กับเวลางีบหลับ เช่นออกไปทำสวนแต่เช้าเมื่อแดดอ่อนๆ พอแดดแรงก็กลับเข้าบ้านกินข้าวเช้าแล้วงีบหลับ เป็นต้น

     ข้อที่ 7. ห้ามบังคับให้ท่านใส่ชุดใดชุดหนึ่งหรือใส่ชุดนอนตลอดศก ทุกเช้าต้องให้ท่านตื่นมาถอดชุดนอนเปลี่ยนใส่เครื่องแต่งกายปกติที่มีสีสันตามใจชอบที่ท่านเลือก และก่อนนอนก็ต้องเปลี่ยนเป็นชุดนอน การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายด้วยตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูร่างกายที่สำคัญมาก

     ข้อที่ 8. ห้ามเช็ดตัวท่านแทนการอาบน้ำ แต่ให้กระตุ้นให้ท่านลุกไปอาบน้ำเองโดยช่วยเหลืออยู่ห่างๆถ้าจำเป็น

     ข้อที่ 9. ห้ามใช้ล้อเข็นวีลแชร์ ไม้เท้า เสื้อกันปวดหลัง หรือกายอุปกรณ์อื่นใดทั้งสิ้น ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ให้เปิดโอกาสให้ท่านได้เคลื่อนไหวทรงตัวด้วยกล้ามเนื้อของตนเองให้มากที่สุด โดยใจเย็นและให้เวลาในการทำทุกกิจกรรม

     ข้อที่ 10. ลูกๆในฐานะผู้ดูแลต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายสุขภาพจิตดีอยู่เสมอ กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ออกกำลังกายทุกวัน ขยันฝึกจิต ฝึกวางความคิด นั่งสมาธิทุกวัน ยิ้มบ่อยๆ ฟังมากกว่าพูด ขยันเล่นโยคะ รำมวยจีน และมีเวลาให้ตัวเองโดยไม่ต้องนั่งเฝ้าพ่อแม่อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์