Latest

ถามเทคนิคการทำ body scan

     ได้อ่านที่อาจารย์หมอพูดถึงการทำ body scan การรู้สึกทั่วตัว ซู่ซ่า หนูพยายามทำแล้วไม่เห็นจะรู้สึกอะไรเลย ไม่เลยสักนิด ทำแล้วพยายามมองหา ว่าความรู้สึกนั้นอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร ก็ไม่เจอ แล้วเดี๋ยวเดียวความคิดฟุ้งสร้านเรื่องอื่นๆก็เข้ามาแทรกทุกคร้้ง อยากให้อาจารย์หมอแนะนำเทคนิคการทำ body scan ขั้นละเอียด
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. การทำ body scan คือการลาดตระเวณความสนใจไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วสังเกตรับรู้ว่ามีความรู้สึกอะไร หรือไม่มีความรู้สึกอะไร แค่สังเกตรับรู้ ไม่ใช่ไปคาดคั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรก็จะให้มีความรู้สึกให้ได้ แบบว่า..บ้าจัง ทำไมไม่มีความรู้สึกอะไรอย่างคนอื่นเขาบ้างนะ อย่างนั้นเขาไม่เรียก body scan หรือลาดตระเวณดูร่างกายแล้ว แบบนั้นเขาเรียกว่าหาเรื่องทะเลาะกับร่างกายมากกว่า เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อสร้างความคิด ไม่ใช่เพื่อวางความคิด สรุปว่าในประเด็นนี้ หัวใจของเรื่องอยู่ที่สังเกตแล้วรับรู้ว่ามีหรือไม่มีความรู้สึกที่ผิวกายส่วนที่กำลัง scan ถ้ามีก็รับรู้ว่ามี ถ้าไม่มีก็รับรู้ว่าไม่มี ไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรกับการไม่มี เมื่อทำไปจนชำนาญ จนความคิดซาลงไป ความรู้สึกที่ผิวกายมันก็จะเด่นขึ้นมาเอง

     ประเด็นที่ 2. ในการรับรู้ความรู้สึกที่ผิวกาย เราจะต้องไม่ไปตั้งธงนิยามไว้ก่อนว่าอย่างนี้เรียกว่าความรู้สึก อย่างนั้นไม่ใช่ความรู้สึก เช่นอย่างนี้เรียกว่าซู่ซ่า อย่างนี้เรียกว่าวูบวาบ อย่างนี้เรียกว่าจิ๊ดๆจ๊าดๆ อย่างนี้เรียกว่าเจ็บๆ อย่างนี้เรียกว่าคันๆ อย่างนี้เรียกว่าขนลุกขนชัน อย่างนี้เรียกว่าเย็น อย่างนี้เรียกว่าร้อน การเอาภาษาเข้าไปนิยามสิ่งที่รับรู้ได้ เป็นการเอาความคิดเข้าไปเล่นด้วย ท้ายที่สุดเราจะตกไปอยู่ในความคิดเสียฉิบแทนที่จะออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวได้สำเร็จ สิ่งที่เรารับรู้มานั้นเป็นความรู้สึก (feeling) เป็นของจริงและเป็นของดีอยู่แล้วไม่ต้องเอาภาษาไปนิยาม เพราะภาษาเป็นความคิด (thought) มันเป็นของสมมุติ มันเป็นของเก๊ มันสื่อถึงความรู้สึกจริงๆไม่ได้หรอก ให้คุณรับรู้มาในรูปของความรู้สึก คือ feel เอา ไม่ใช่ think เอา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่ตรงกับคำไหนในภาษาไทยหรืออังกฤษเลยก็ยิ่งดี ให้รับรู้มาในรูปของความรู้สึกนั้นลุ่นๆเลย

     ประเด็นที่ 3. ที่เราลาดตระเวณรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายนั้น แท้จริงเป็นเทคนิคที่จะเชื่อมความสนใจของเราเข้ากับพลังงานของร่างกายหรือพลังชีวิต (ปราณ หรือ ชี่) เพราะพลังงานของร่างกายเป็นพลังงานล้วนๆไม่มีส่วนของสะสารที่จับต้องมองเห็นได้ มันจึงมีความละเอียดที่ใกล้ไปทางชีวิตส่วนที่ลึกที่สุดของเราที่ผมเรียกว่าความรู้ตัว หรือที่บางคนเรียกว่าจิตเดิมแท้ มันเป็นถนนที่จะไปถึงตรงนั้นได้ง่ายกว่าการไปกับอะไรที่หยาบกว่าอย่างเช่น สี แสง เสียง พลังชีวิตปรากฎอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะจับต้องมองเห็นมันไม่ได้แต่เราก็สัมผัสรับรู้มันได้ผ่านอายตนะ (sense organ) ที่อยู่บนผิวกาย พลังชีวิตนี้เนื่องจากมันเป็นคลื่นก็ย่อมจะต้องมีคุณสมบัติแบบไฟฟ้าด้วย นั่นเป็นเหตุที่มันกระตุ้นอายตนะบนผิวหนังได้ แต่ว่าสำหรับอายตนะที่ผิวหนังพลังชีวิตมันเป็นไฟฟ้าระดับที่อ่อนมาก หากเทียบกับไฟฟ้าที่เป็นกระแสวิ่งไปตามเส้นประสาทแล้วพลังชีวิตก็อ่อนกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีไฟฟ้าวิ่งอยู่ตามเส้นประสาทมากเช่นตอนที่กล้ามเนื้อของเรามีการหดเกร็งตัวมาก เมื่อนั้นเรารับรู้พลังชีวิตไม่ได้หรอก เพราะไฟฟ้าในเส้นประสาทมันกลบหมด ดังนั้นเทคนิคที่จะลดกระแสไฟฟ้าในเส้นประสาทลงก็คือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกาย  หายใจเข้าลึกๆแล้วหายใจออกช้าๆยาวๆพร้อมกับผ่อนคลาย ผ่อนคลาย..ย relax..x แล้วก็จะรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเทคนิค body scan นี้จึงต้องใช้ควบคู่กับเทคนิค relaxation เสมอ แบบว่าซู่ซ่า..ผ่อนคลาย ซู่ซ่า..ผ่อนคลาย

ประเด็นที่ 4. การทำ body scan มีเป้าหมายสุดท้ายเหมือนกับทุกเทคนิคที่ทำกันในทาง spirituality คือมีเป้าหมายอยู่ที่การมีชีวิตอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ being here and now โดยไม่มีความคิด การจะอยู่ที่เดี๋ยวนี้ได้หัวใจมันอยู่ที่การยอมรับ (acceptance) คือยอมรับทุกอย่างที่ปรากฎอยู่หรือเกิดขึ้นต่อเราที่เดี๋ยวนี้ ยอมรับตามที่มันเป็นโดยไม่ต้องไปคิดอะไรต่อยอด อย่าไปตั้งคำถาม อย่าไปวินิจฉัย อย่าไปพิพากษา ไม่งั้นจะไม่ใช่ body scan จะกลายเป็นการสัมนาความคิดไป

     คุณสงสัยประเด็นปฏิบัติแล้วถามมาก็ดีแล้ว มีท่านผู้อ่านจำนวนมากเล่าให้ผมฟังว่าได้อ่านบทความในบล็อกนี้แล้วเอาไปทำเอง แล้วประสบความสำเร็จในการวางความคิดด้วยดีโดยไม่เคยเห็นหน้าผมเลย คุณก็จะเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ให้คุณพยายามทำต่อไป โดยเอาสี่ประเด็นข้างต้นนี้ไปปรับเทคนิคของคุณ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์