Latest

เดินแยะแล้วฉี่เป็นเลือด

กราบเรียนคุณหมอสันต์ค่ะ ดิฉันเป็นคุณแม่ที่ตอนนี้มีความทุกข์มากกับอาการของลูกค่ะ  เนื่องจากลูกสาว อายุ 16 ปีย่าง 17  มีอาการปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล ไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย   แม่ก็พาไปตรวจที่โรงพยาบาล  ผลปัสสาวะ คือ  rbc >100 ,  blood 3+ , wbc 20-30  คุณหมอให้ยาฆ่าเชื้อ 7 วัน  ยาห้ามเลือด 10 เม็ดเช้า กลางวัน เย็น ค่ะ   (น้องเริ่มมีอาการปวดท้องนิดหน่อยบางครั้งเวลาปัสสาวะเสร็จ กับ บางทีก็ปวดๆ ท้องค่ะ)  ผ่านไปตรวจครั้งที่ 2  rbc 20-30 , wbc 1-2 , (blood 3+ เท่าเดิม) คุณหมอให้กินยาห้ามเลือดอีก 15 เม็ด  นัดอัลตร้าซาว์ดช่องท้อง   ( ระหว่างนี้น้องปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลเหมือนเดิม 2-3 วันหลังจากไปเดินหลายกิโลจากงาน open house ค่ะ ) ถึงเวลานัด 1 สัปดาห์ ผลอัลตร้าซาว์ดปกติไม่พบอะไร  แต่ผลตรวจตรวจปัสสาวะ  rbc 50-100 , wbc 2-3 , blood 3+ คุณหมอบ่น อะไรว่ะ! มีประจำเดือนรึเปล่าค่ะ  เปล่าค่ะ ประจำเดือนหนูยังไม่มาค่ะ  คุณหมอบอกมันผิดปกตินะ งั้นเอายาห้ามเลือดไปกินอีก เพิ่มเป็น วันละ 4 เม็ด ให้มาทั้งหมด 60 เม็ดค่ะ  คุณหมอบอกว่าด้วยอายุเท่านี้ หมอคิดในทางแง่ร้ายกับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ น้อยมากๆ แต่อาจมีเซลล์ผิดปกติที่เพิ่งเริ่มเป็น อาจมองเห็นจากการส่องกล้อง ( กรณีนี้ทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดเลยหรือค่ะ)  ณ ตอนนี้ คุณแม่กลุ้มใจมากค่ะ กลัวลูกเป็นโรคร้ายแรงอะไรไหม อายุก็ยังน้อยอยู่เลย เครียดมากเลยค่ะ  รบกวนคุณหมอสันต์ช่วยวิเคราะห์โรคของน้อง ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคอะไรค่ะ

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

…………………………………….

ตอบครับ

     อาการที่เล่ามา และผลเลือดผลปัสสาวะที่ส่งมาให้ มีโอกาสเป็นมากที่สุดตามลำดับคือ

     1. เลือดออกในปัสสาวะจากการออกกำลังกาย (exercise-induced hematuria)
     2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
     3. เป็นประจำเดือนแต่น้องไม่รู้ว่าเป็นประจำเดือน
     4. มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
     5. ขาดเอ็นไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย

     ผมให้โอกาสเป็นโรคฉี่เป็นเลือดเพราะการออกกำลังกายไว้สูงสุดเพราะประวัติที่ว่าต้องไปทำงานพิเศษและเดินมาก ผู้ป่วยแบบนี้พบได้บ่อยมากจนมีคำเรียกโรคนี้แบบง่ายๆหลายคำเช่น marching hematuria (ทหารใหม่ฝึกแถวแล้วฉี่แดง) runner’s bladder (นักวิ่งฉี่แดง) stress hematuria (เครียดแล้วฉี่แดง) เป็นต้น ทั้งนี้ฉี่จะแดงง่ายขึ้นหากร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ

     การจัดการปัญหาก็คือให้คุณแม่และคุณลูกเฉยๆไว้ เดี๋ยวดีเอง ปกติพอพ้นสามวันหลังจากไปเดินหรือวิ่งมากๆแล้วอาการก็จะค่อยๆดีขึ้นจนหายไปเอง ในระยะนี้ก็ให้ดื่มน้ำมากเข้าไว้ เมื่อหายแล้วหากจะต้องไปทำงานแบบเดินมากหรือไปวิ่งออกกำลังกายก็ให้หารองเท้าดีๆใส่ หมายความว่ารองเท้าวิ่งที่มีชั้นรองฝ่าเท้าช่วยดูดซับแรงกระแทกที่ส้นเท้าและฝ่าเท้า เพราะวงการแพทย์เชื่อว่าเลือดออกจากการที่มีการกระแทกต่อหลอดเลือดฝอยบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้าจนเม็ดเลือดแตกเสียหายแล้วมาถูกขับทิ้งที่ไตแล้วออกมาทางปัสสาวะ

     หากเวลาผ่านไปนานอย่างน้อยสองเดือน (เพื่อวินิจฉัยแยกประจำเดือนกรณีที่น้องมีเมนส์แล้วไม่รู้ว่าเป็นเมนส์) แล้วยังมีเลือดออก ขั้นตอนต่อไปคือน่าจะต้องไปตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพื่อวินิจฉัยแยกนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและในไตก่อน เพราะบางครั้งนิ่วเล็กๆอุลตราซาวด์และเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่เห็น อีกอย่างหนึ่งความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิดเช่นถุงน้ำในไตก็จะเห็นได้โดยง่ายจาก CT และไหนๆเข้ารพ.แล้วก็ควรเจาะเลือดดูเอ็นไซม์ G6PD ว่าปกติดีหรือเปล่า เพราะหากขาดเอ็นไซม์ตัวนี้ก็มักมีเม็ดเลือดแตกง่ายด้วยเหตุเล็กน้อยเช่นเม็ดเลือดแตกเพราะกินยาแก้ปวดเป็นต้น ถ้า CT แล้วไม่พบอะไร และ G6PD ก็ปกติ คราวนี้ก็จำเป็นต้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) แล้วละครับ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคของทางเดินปัสสาวะอื่นๆที่พบไม่บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติทางกายวิภาคของกระเพาะปัสสาวะ

     ส่วนเรื่องที่กลัวน้องจะเป็นมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะนั้นมันมีโอกาสเป็นไปได้ก็จริง แต่มีโอกาสน้อยมาก อย่าเพิ่งตีตั๋วกังวลล่วงหน้าไปก่อนเลย จะทุกข์ฟรีเปล่าๆ ในสามเดือนแรกนี้ค่อยๆว่าไปทีละสะเต็พๆอย่างที่ผมแนะนำก่อนดีกว่า ตัวคุณแม่เองควรจะถือโอกาสนี้หัดสังเกตความคิดของตัวเองด้วย เมื่อมีความกังวลเกิดขึ้นให้ถอยออกมาสังเกตให้เห็นว่าเรากำลังคิดกังวล สังเกตมันอยู่ข้างนอกแล้วมันก็จะฝ่อไปเอง อย่าไปหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ในความคิดถึงเรื่องร้ายๆล่วงหน้าวกวนซ้ำซากเดี๋ยวจะสติแตกกลายเป็นคนป่วยไปอีกคน 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์