COVID-19

ถ้า..ถ้า…ถ้า เรื่อง COVID-19 ประเด็นการใช้สิทธิ UCEP

กราบเรียนคุณหมอสันต์
ถ้าตอนแรกนึกว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ไปรพ.เอกชน แล้วพบว่าติดเชื้อ COVID-19 ถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ในรพ.เอกชน แล้วเงินหมด อยากจะย้ายไปรพ.ของรัฐแต่ก็ย้ายไม่ได้เพราะเตียงเต็มหมด กรณีหากไม่ต้องการหมดตัวเพราะค่าใช้จ่าย จะต้องทำอย่างไร

………………………………………………

ตอบครับ

     มาอีกละ พวกหนีปัจจุบันไปอยู่กับ “ถ้า” เพราะตอนนี้คนสติแตกกันไปหมดแล้ว ทุกคนไปอยู่กับความกลัวในอนาคต ตื่นมาสิ่งแรกคือต้องเปิดหน้าจอเช็คยอดโควิดโดยลืมเรื่องการล้างหน้าแปรงฟันไปเลย  โปรดสังเกตว่าผมตอบจดหมายเรื่อง COVID-19 น้อยมาก ครั้งสุดท้ายรู้สึกผมจะติงคุณหมอหนุ่มท่านหนึ่งว่าอย่าไปสติแตกกับโมเดลทางระบาดวิทยามากเกินไป ตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้เขียนอีกเลย เพราะมีแต่จดหมายถาม ถ้า..ถ้า…ถ้า…. ซึ่งผมทิ้งลงตะกร้าหมดเพราะมันเป็นแค่ความกลัวอนาคตที่ไม่มีอยู่จริง ถ้าผมตอบจดหมายก็เท่ากับว่าผมหลวมตัวหนีไปอยู่กับความกลัวในอนาคตของท่านผู้อ่านด้วย แต่ครั้งนี้ผมตอบจดหมายของคุณเพราะเห็นว่าท่านผู้อ่านทั่วไปยังไม่รู้จักระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าของไทยดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบจ่ายเงินรักษาฉุกเฉินจากสามกองทุน (UCEP) การตอบจดหมาย “ถ้า” ของคุณ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะอธิบายถึง UCEP อีกสักครั้ง

      คือระบบการดูแลสุขภาพของเมืองไทยเรานี้ ซึ่งมีมาก่อนโรคโควิด19 เรียกว่าระบบดูแลแบบครอบคลุมถ้วนหน้า (universal coverage – UC) แปลไทยให้เป็นไทยว่าระบบสามสิบบาท แต่ในความเป็นจริงมันมีกองทุนของรัฐร่วมรับผิดชอบอยู่สามกองทุน คือคือ (1) กองทุนสามสิบบาท (2) ประกันสังคม (3) สวัสดิการข้าราชการ ทั้งสามกองทุนนี้ครอบคลุมคนไทยทุกคนแบบครอบจักรวาลไม่มียกเว้น เพราะคนไทยทุกคนจะต้องเป็นลูกสังกัดของไม่กองทุนใดก็กองทุนหนึ่งในสามกองทุนนี้

     ภายในระบบดูแลสุขภาพถ้วนหน้าครอบจักรวาลนี้ ยังมีระบบจ่ายเงินดูแลฉุกเฉินเป็นระบบย่อยเรียกว่า Universal Coverage for Emergency Patients มีชื่อย่อว่า ยูเซ็พ (UCEP) ซึ่งเป็นระบบที่ทำขึ้นมาเพื่อจ่ายเงินให้ผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงที่เข้ารับการรักษาทั้งในรพ.ของรัฐและเอกชน โดยนิยามผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายที่จะได้สิทธิภายใต้ระบบย่อยนี้ (สิทธิป้ายแดง) ว่าต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ “..หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ  หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง   ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม  เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต..”

     แปลไทยให้เป็นไทยว่าคนที่ป่วยเป็น COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นระดับหอบพะงาบๆแต่ยังไม่ได้เข้าเครื่องช่วยหายใจ หรือระดับที่ไปติดแหง็กอยู่ที่รพ.เอกชน และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว ก็ล้วนได้สิทธิ์ UCEP นี้ในฐานะป่วยในลักษณะที่มีผลต่อการหายใจที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงสามารถใช้สิทธินี้นี้ได้ โดยวิธีใช้สิทธิต้องทำเป็นขั้นตอนดังนี้

      ขั้นที่ 1. ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองได้สิทธิ์ในกองทุนไหน ถ้าไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยให้เข้าเน็ทไปที่  https://www.nhso.go.th  แล้วทำไปทีละขั้นอย่างนี้นะ

     1.1 จะเห็นรูปวงกลมเรียงแถวขึ้นมาห้าวง ให้คลิกเข้าไปตรงวงที่สี่ที่มีชื่อว่า “ตรวจสอบสิทธิบัตรประกันสุขภาพ”
     1.2 จะเห็นช่องให้กรอกเลขบัตรประชาชน ก็กรอกลงไป

     1.3 จะเห็นช่องให้กรอกวันเดือนปีเกิด ก็กรอกลงไป

     1.4 จะเห็นช่องที่เขาเขียนว่า ” ระบุตัวอักษรตามภาพด้านบน”  ให้มองดูช่องสี่เหลี่ยมสี่ม่วงที่บรรทัดถัดขึ้นไป ในช่องนั้นมองให้ดีจะมีอักษรภาษาอังกฤษขึ้นมา ให้คุณอ่าน แล้วพิมพ์กรอกตามไปทีละตัวๆอักษรตัวเล็กตัวใหญ่ดูให้ดี กรอกให้เหมือนเขา
    1.5 จะเห็นปุ่ม “ตรวจสอบสิทธิ” ให้คุณคลิกเข้าไปในปุ่มนั้นแล้วเขาก็จะแจ้งข้อมูลมาให้ว่าคุณมีสิทธิอยู่ในกองทุนอะไร มีรพ.อะไรเป็นต้นสังกัด ให้คุณจดข้อมูลนั้นไว้ใส่กระดาษ ต้มกิน เอ๊ย..ขอโทษ พูดเล่น จดใส่กระเป๋าเงินไว้

     ขั้นที่ 2. เมื่อจะใช้สิทธิ์ ให้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินของ สพฉ. หรือเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินหรือไอซียู.ของรพ.ไม่ว่าจะเป็นรพ.รัฐ หรือรพ.เอกชนก็ตาม แจ้งเขาให้ทราบทันทีว่าคุณจะขอใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป แต่เนื่องจากคนไทยนี้ไม่ค่อยรู้กฎหมาย แม้กฎหมาย UCEP จะออกมาหลายปีแล้วแต่ก็เป็นไปได้ที่แพทย์หรือพยาบาลบางรพ.อาจจะเด๋อด๋าไม่ทราบว่า UCEP คืออะไร ให้คุณบอกเขาว่าฉันได้แจ้งคุณแล้วนะ มีคนคนนี้ (ชี้ไปที่พวกกันเองที่ยืนอยู่ข้างๆ) เป็นพยาน แค่นี้สิทธิของคุณก็มีผลแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะปฏิเสธการจ่ายเงินรักษาคุณ เพราะกฎหมายบังคับให้เขารักษาคุณ และบังคับให้กองทุนต้นสังกัดของคุณเป็นผู้จ่ายเงินให้เขา แต่ถ้าคุณไม่แจ้งเขาอย่างนี้ สิทธินั้นก็จะไม่เกิดขึ้น

     ขั้นที่ 3. เป็นเรื่องของรพ.แล้ว คือเขาจะดำเนินการประเมินผู้ป่วยตามแนวทางที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด (Pre-authorization) ในกรณีที่เขามีปัญหาในการคัดแยก เป็นหน้าที่ของเขาทีจะปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.(หมายเลข 02-8721669) ซึ่งในกรณีเถียงกันไม่ตกฟาก กฎหมายกำหนดให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฉุกเฉินซึ่งอยู่ประจำศูนย์ศคส.สพฉ.ตลอดเวลา 24 ชม.อยู่แล้วให้ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเคาะการวินิจฉัยว่าคุณจะได้หรือไม่ได้สิทธิฉุกเฉิน (สิทธิป้ายแดง) คำวินิจฉัยของแพทย์คนนี้กฎหมายให้ถือเป็นที่สุด เมื่อแพทย์คนนี้เคาะแล้ว ก็จะลงทะเบียนคุณเป็นผู้มีสิทธิฉุกเฉิน ซึ่งภาษาคนทำงานเรียกว่าออก PA code แล้วแจ้งยืนยันให้รพ.ว่าผู้ป่วยคนนี้ได้โค้ดนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายใดๆใน 72 ชั่วโมงแรกสามารถเรียกเก็บกับสำนักงาน UCEP ได้โดยตรง ทั้งนี้สำนักงาน UCEP จะประสานงานกับกองทุนต้นสังกัดของคุณให้ดำเนินการจ่ายเงินให้รพ.เอง และอาจจะประสานงานกับรพ.ต้นสังกัด แล้วรพ.ต้นสังกัดอาจเอารถมารับไปรักษาที่รพ.ต้นสังกัดก็ได้ ถ้าเขาไม่มารับ เขาก็จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้คุณเอง ถ้าเขามารับเมื่อใด คุณก็ต้องยอมไปเมื่อนั้น เขาจะพาคุณไปรักษาที่ไหนเป็นเรื่องของเขา เพราะระบบการรักษาพยาบาลของรัฐเป็นระบบเครือข่ายกว้างใหญ่ไพศาลที่สมบูรณ์แบบและมีระบบส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ คุณอย่าไประแวงหรือเกี่ยงงอน แต่ถ้าคุณเกี่ยงงอน เช่นสมมุติว่าเขาบอกว่าจะพาคุณไปรักษาที่โรงพยาบาลเหมืองห้วยในเขา คุณบอก อ๊ะ..อ๊ะ ห่างไกลความเจริญอย่างนั้น ไม่เอาหงะ ก็เท่ากับว่าคุณสละสิทธิ UCEP คราวนี้การณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องของคุณแล้วนะ UCEP จะไม่จ่ายเงินให้สักบาท
   
    ถ้าคุณสงสัยคุณจะโทรศัพท์ไปถามเขาก็ได้นะ ตามสายด่วนที่เขาเปิดไว้ กล่าวคือ สายด่วนสปสช. 1330 สายด่วนประกันสังคม 1506 สายด่วนสพฉ. 1669 หรือแม้จะถามว่าอย่างนี้เป็นฉุกเฉินป้ายแดงไหมก็ถามได้ที่เบอร์ 028721669 ในการใช้สายด่วนและไม่ด่วนทั้งหลาย คุณไปลุ้นเอาเองนะ เพราะว่าที่นี่ประเทศไทย ทุกอย่างต้องมีลุ้น

     กรณีที่คุณเข้ารับการรักษาแล้วจบไปแล้วแต่จ่ายเงินไปมากเหลือเกิน อยากจะขอใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาฉุกเฉิน “ย้อนหลัง” ก็ยังมีโอกาสลุ้นนะ โดยส่งคำร้องเรียนไปที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติทางอีเมล ucepcenter@miems.go.th หรือโทรศัพท์ 028721669 โดยวิธีเปิดดาวน์โหลดแบบฟอร์มร้องเรียนจากเว็บของสพฉ.ที่ https://www.niems.go.th/pdfviewer/index.html
แล้วกรอกแบบฟอร์มแนบหลักฐานตามนั้น ก็จะไปเข้าระบบการพิจารณาของสพฉ.ว่าจะได้เงินย้อนหลังหรือไม่ได้โดยอัตโนมัติ ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรนั้นก็สุดแล้วแต่ว่ากรณีของคุณจะเข้าเกณฑ์ของเขาหรือไม่

     การใช้สิทธิ UCEP เป็นการใช้สิทธิพลเมืองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการขอให้รพ.เอกชนส่งตัวต่อ (refer) ไปยังรพ.ของรัฐซึ่งเป็นระบบสื่อสารประสานงานกันระหว่างโรงพยาบาล การส่งต่อหรือ refer อาจจะได้รับการปฏิเสธจากรพ.ปลายทางว่าเตียงเต็ม แต่การใช้สิทธิ UCEP ไม่มีการถูกปฏิเสธถ้าเป็นฉุกเฉินระดับหนักจริงจนมีผลต่อระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนเลือดจริง รพ.ต้นสังกัดจะถูกบังคับให้เข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยกฎหมาย ระบบ UCEP เป็นระบบที่ดีมากที่เป็นหลักประกันว่าไม่มีคนไทยคนไหนที่ป่วยเป็นโรคถึงขั้นฉุกเฉินระดับหนักหรือรุนแรง ไม่ว่าโควิดหรือไม่โควิดจะต้องหมดเนื้อหมดตัวหากไปเริ่มต้นรักษาที่รพ.เอกชน เพียงแต่ว่าจะต้องรู้วิธีใช้สิทธิ UCEP นี้

     อีกประการหนึ่ง ท่านผู้อ่านบล็อกของหมอสันต์อย่าไปสติแตกไปกับข่าวว่าประเทศนั้นประเทศนี้เจอโรคโควิด19 หมอต้องใช้หลักศัลยกรรมสงครามคือจะเอาคนไหนให้รอดจะปล่อยคนไหนให้ตายเพราะทรัพยากรทั้งบุคคลและอุปกรณ์ที่จะให้การรักษามีไม่พอ แล้วก็มีจินตนาการต่อไปว่าถ้าตัวเองป่วยเป็นโควิด19 แล้วภาครัฐบาลไทยหมอหมด พยาบาลหมด จะไปโรงพยาบาลเอกชนก็กลัวหมดตัว จะไปรพ.รัฐบาลก็กลัวเขาไม่รับ โถ พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน..เอ๊ยไม่ใช่ อะไรมันจะน่าขันอย่างนั้น เรื่องอย่างนั้นไม่มีวันจะเกิดขึ้นในเมืองไทยหรอก คุณเป็นคนไทยอยู่เมืองไทยมาตั้งนานยังไม่รู้อีกหรือว่าเมืองไทยนี้มีระบบการสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้จะเป็นระบบถูลู่ถูกังในเชิงงบประมาณ แต่ก็มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมอย่างทั่วถึงไม่ว่ายากดีมีจนและเป็นระบบที่หน้าตักไม่มีหมด เพราะสามารถผ่องถ่ายคนไข้ไปมาหากันได้อย่างไม่ติดขัด เครือข่ายการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขไทยนั้นเป็นเครือข่ายใหญ่มหึมา ในโลกนี้ผมว่าจะเป็นรองก็แค่ระบบ NHS ของอังกฤษเท่านั้น แต่พูดก็พูดเถอะ ผมว่าความรวดเร็วของระบบไทยเราเจ๋งกว่า NHS ของอังกฤษ อย่างอังกฤษถ้าคุณเป็นไส้เลื่อนหรือหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดไม่ด่วน กว่าจะได้ผ่าตัดคุณรอสี่ปีอย่างต่ำ แต่เมืองไทยถ้าคุณเป็นไส้เลื่อนไม่เกินสามเดือนหมอจับคุณเจี๋ยนได้เรียบร้อย หรือถ้าคุณเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดไม่ด่วน แทบจะไม่ทันข้ามสองสามคืนหมอจับคุณทำบอลลูนแล้วเรียบร้อย หมอใหญ่ไม่ทำหมอน้อยก็จะทำให้คุณเอง ฟรีเหมือนกัน แต่เร็วกว่า แล้วเร็วเนี่ยไม่ได้เร็วแบบห่วยๆนะ เร็วและดีด้วย ที่ผมเล่ามาเนี่ยไม่ใช่ผมเข้าข้างกระทรวงสาธารณสุขนะครับเพราะผมเป็นคนนอกไม่มีได้เสียอะไรกับเขา แต่ผมมองจากมุมมองของการแพทย์การสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก ผมมีเพื่อนเป็นหมอหลายชาติทั้งฝรั่ง แขก และเอเซีย จึงรู้น้ำยาว่าประเทศไหนมีน้ำยาเท่าใด คนไข้ต่างประเทศเขาก็รู้ว่าของไทยดีและฟรีหรืออย่างน้อยถึงไม่ฟรีก็ราคาถูกจึงแอบแห่กันมาสิงสู่รักษาในระบบของเราโดยฝ่ายเราจะรู้ตัวหรือเปล่าผมไม่ทราบ แม้ในแวดวงงานวิจัยระดับนานาชาติก็รู้ขีดความสามารถของระบบไทยดี อย่างเช่นงานวิจัยของมหาลัยจอห์นฮอพคินส์ที่เสนอที่บรัสเซลเมื่อปีกลายก็ให้ไทยติดอันดับที่ 1 ของเอเซียและ ที่ 6 ของโลกจาก 195 ประเทศ ในแง่ของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ง่ายและพึ่งพาได้ในแง่ของการควบคุมโรค

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์