Latest

อยากให้การศึกษาแก่ตัวเองใหม่ไปพร้อมกับลูกอายุ 2 ขวบ

หนูมีลูกสาวอายุ 2 ขวบ หนูอ่านที่คุณหมอตอบคำถามท่านหนึ่งว่า (1) ไม่ควรส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย (2) ครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ (3) เริ่มต้นด้วยความตั้งใจจะทำเพื่อลูกจริงๆ
หนูเป็นแฟนคุณหมอมานานจนหนูยอมรับได้แล้วว่าการศึกษาที่หนูได้รับมาจนจบป.โทนี้มันใช้ประโยชน์ได้น้อย หนูอยากจะเริ่มต้นการศึกษาของตัวเองใหม่โดยทำไปพร้อมๆกับลูกอายุ 2 ขวบแบบว่าเป็นเพื่อนกันเรียนด้วยกันไป แต่หนูก็กลัวว่าทิศทางของหนูไม่มั่นคงแล้วจะทำให้ทั้งลูกทั้งตัวเองเป๋เหลวเป๋ว รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำทิศทางที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำแนะในบล็อกก่อน (ที่ว่ามุ่งที่ความคิดสร้างสรร จินตนาการ และปัญญาญาณ) สักหน่อย คือหนูอยากรู้ถึงระดับปฏิบัติว่าหนูกับลูกจะต้องทำอะไรอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด
ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ

………………………………………………………………….

ตอบครับ

     คนที่จะทำอะไรให้แก่มนุษยชาติได้มากนั้นไม่ใช่คนที่สะสมข้อมูลความรู้ไว้แยะ แต่ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้าง มีจินตนาการ และมีสมาธิมากพอจนเก็บเกี่ยวอะไรจากปัญญาญาณที่โผล่แสดงขึ้นมาในใจได้

     1. สารัตถะของการศึกษาที่แท้จริงคือการพัฒนาสมาธิ (concentration)

     ดังนั้น สำหรับผมสารัตถะของการศึกษาที่แท้จริงคือการพัฒนาสมาธิ (concentration) ไม่ใช่การสะสมจดจำข้อมูลความจริง การที่คุณซึ่งเพิ่งมีอายุเข้าวัยกลางคนยอมรับว่าการศึกษาที่คุณได้ร้บมามันยังใช้ไม่ได้ถือว่าคุณตั้งหลักได้เร็วกว่าผม ผมตอนนี้อายุใกล้เจ็ดสิบอยู่แล้วผมก็เพิ่งเริ่มต้นการศึกษาของตัวเองใหม่บนสโลแกนข้างต้น คือการศึกษาที่ดีไม่ใช่การสะสมจดจำข้อมูลความจริง แต่คือการพัฒนาสมาธิและการวางความคิด หากพัฒนาสมาธิจนมีพลังระดับหนึ่งและปล่อยวางความคิดยึดถือได้แล้ว ใจที่โปร่งใสนั่นแหละจะเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลความจริงที่ไม่มีเครื่องมือใดเสมอเหมือน

     2. สมาธิ หมายความว่า

     (1) เราจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำร้อยเปอร์เซ็นต์
   
     (2) มีความรู้สึกสงบเย็นพ้นความวุ่นวายที่บุคคลคนหนึ่งต้องประสบทุกเมื่อเชื่อวัน

     (3) เรารู้สึกถึงความโปร่งใส ว่าอะไรที่จะต้องทำ และจะต้องทำมันอย่างไร

     (4) มีความลื่นไหลบันเทิงและอยากทำมันต่อเนื่องไปไม่อยากหยุด

     (5) เราพ้นออกไปจากเวลา เวลามันผ่านไปเร็วกว่าปกติ

     3. ชีวิตของจริงเกิดที่ในตัว ไม่ใช่นอกตัว

     แล้วชีวิตของจริงเนี่ยมันดำเนินไปที่ข้างในคุณนะ ไม่ใช่ข้างนอกคุณ สิ่งต่างๆข้างนอกตัวคุณล้วนเป็นแค่ภาพหลอน

    คุณอย่าไปคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัวมันอยู่ที่ข้างนอก เปล่าเลย มันเกิดขึ้นที่ข้างในตัวคุณ สมมุติว่าคุณนั่งคุยกับผม ภาพของผมที่คุณเห็นเป็นแค่ลำแสงสะท้อนจากตัวผมไปตกกระทบจอตาของคุณ แล้วสมองของคุณสร้างภาพของผมขึ้นมาจากลำแสงนั้น ภาพของผมจะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับสมองของคุณจะเลือกสร้างขึ้น ทุกอย่างที่คุณเห็น ได้ยิน สรุปสารัตถะ มันเกิดที่ข้างในตัวทั้งสิ้น

     ดังนั้น คุณกับลูกต้องฝึกใช้เทคนิคของเต่า คือหดกลับเข้าข้างใน เต่าเวลามันหด มันหดหมด ทั้งหัว ทั้งหาง และเท้าทั้งสี่ มันหดเข้าไปซ่อนไว้ในกระดองหมด ผมแนะนำให้คุณทำอย่างเดียวกัน คุณหดการรับรู้ผ่านอายตนะทั้งห้า ผมหมายถึงหด perception ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส หรือความคิด ให้คุณทิ้งมันไปจากความสนใจให้หมด หดความสนใจของคุณผลุบเข้าไปข้างใน เอาความสนใจไปจอดอยู่ในความว่างหรือความไม่มีอะไรที่ข้างใน ที่สำคัญคือที่ตรงนี้ต้องไม่มีความคิด ตรงนี้แหละเป็นจุดต้้งต้น ตรงนี้คือเดี๋ยวนี้ของจริง คือที่ที่คุณจะได้ใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายและสงบเย็น ฝึกทุกวัน บ่อยๆ ฝึกอยู่หลายเดือน หรือเป็นปีๆสุดแล้วแต่ว่าพัฒนาการของชีวิตคุณมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว ของใครของมัน ไม่มีการเปรียบเทียบ ในที่สุด ณ จุดหนึ่งคุณจะรู้ขึ้นมาเองว่าคุณควรจะไปทางไหนต่อ

     4. ความสัมพันธ์ระหว่างความท้าทายกับทักษะ (challenge vs skill)

     หากเราทำอะไรที่เราไม่มีทักษะ คือไม่รู้จักทุกการเคลื่อนไหวในกิจกรรมนั้นดีพอ พอเพิ่มเดิมพันให้มีความท้าทายเพียงเล็กน้อยเช่นต้องส่งผลงานเข้าประกวด เราเครียดทันที แต่ครั้นไม่มีความท้าทาย เราก็ตายด้านไม่อยากทำเพราะทำไปก็ทำได้ไม่ดีเป็นที่อับอายขายหน้าอย่างน้อยก็อายตัวเอง

     แต่หากเราพัฒนาทักษะในเรื่องนั้นจนเราเจนจัดทุกขั้นตอนการเคลื่อนไหว ถ้ามีความท้าทายต่ำเราก็ทำไปได้อย่างผ่อนคลายคือจดจ่อแต่ลื่นไหลไม่เครียดไม่เบื่อเพราะไม่ต้องกังวลว่าจะอับอายเพราะผลจะออกมาไม่ดี พอมีความท้าทายเพิ่มขึ้น มันจะกลายเป็นความตื่นเต้นเร้าใจสนุกสนานไปกับความลื่นไหลเพราะเราควบคุมสถานะการณ์สู่ชัยชนะได้ นี่เป็นหลักการทำงานให้มีความสุข คือจัดความท้าทายให้พอดีกับทักษะที่เรามี ยิ่งทักษะเราสูง ยิ่งต้องเพิ่มความท้าทายหรือเดิมพันได้มากขึ้นและยิ่งได้สมาธิระดับลื่นไหลใหลได้มากขึ้น หรือในทางกลับกันคือต้องพัฒนาทักษะให้ได้ระดับกับความท้าทายที่ถูกยัดเยียดมาให้ ในอีกด้านหนึ่งเราใช้หลักนี้ประเมินสถานะความเครียดของงานที่เราทำ ถ้าเราเครียด นั่นอาจเป็นเพราะเราไปจับงานที่ท้าทายมากเกินทักษะที่เรามีหรือเปล่า ก็ต้องปรับสองข้างนี้ให้ได้ดุลไม่เพิ่มข้างหนึ่งก็ต้องลดอีกข้างหนึ่ง

     5. ความอยากรู้ curiosity เป็นเครื่องผลักดันการศึกษาที่ดีที่สุด

     การศึกษาที่มีประสิทธิผลต้องใช้ความอยากรู้เป็นความบันดาลใจ (motivation) ให้เสาะหาความรู้ เพราะมันเป็นตัวกระตุ้นที่แรงและยั่งยืนที่สุด

     ความกลัวการจะไม่รอดชีวิต (survival instinct) อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการศึกษาได้แต่ก็เพียงระยะสั้น ถ้าเป็นการคุกคามต่อการอยู่รอดอย่างแท้จริงเช่นไฟไหม้บ้าน หรือน้ำท่วมบ้าน หรือเมื่อเกิดความจำเป็นต้องประดิษฐ์คิดค้นอะไรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้ามันเป็นสัญชาติญาณเพื่อความอยู่รอดปลอมซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดที่มีรากจากความกลัวสูญเสียตัวตนหรือความเป็นบุคคลของตน เช่นกลัวเสียหน้า กลัวเสียเกียรติ กลัวเสียเงิน กลัวไม่มีงานทำ เหล่านี้มันมีแรงกระตุ้นแค่ชั่วคราว และมักจะแผ่วหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้นว่าความกลัวนั้นมีสารัตถะแท้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งกระตุ้นนั้นมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อ หรือคอนเซ็พท์ของสังคม เช่นความดี ความยุติธรรม หรือ บาปบุญคุณโทษ

     ดังนั้นคุณต้องอาศัยความอยากรู้เป็นเครื่องกระตุ้นการศึกษาของลูก เริ่มต้นด้วยความอยากรู้ในธรรมชาติรอบตัว เพราะธรรมชาติมีความมหัศจรรย์ ความน่าทึ่งชวนให้สืบเสาะค้นหาคำตอบอยู่เสมอ

     6. สิ่งที่ปรากฎต่อชีวิต ปรากฎที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้เท่านั้น

     ความทึ่ง การตื่นตลึง กับธรรมชาติที่ตรงหน้าเป็นพลังขับเคลื่อนการศึกษาของเด็กที่ดีที่สุด เพราะชีวิตจริงๆเกิดขึ้นที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ การเอาเรื่องราวในหนังสือซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไหร่เด็กไม่รู้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่าเด็กก็ไม่รู้มาให้เด็กเรียน เป็นวิธี motivate การเรียนรู้ที่ไม่เวอร์ค

     7. การรู้จักชีวิตจริงเกิดจากประสบการณ์ ไม่ใช่การคิด

     การมีชีวิตอยู่ หรือการใช้ชีวิต คือการมีประสบการณ์ผ่านอายตนะ ไม่ใช่การจดจำข้อมูลและคิดไตร่ตรองเอา จะเรียนรู้ชีวิตต้องเรียนรู้จากการทดลองมีประสบการณ์กับความจริง ไม่ใช่การถามตอบหรือบอกเล่าหรือจดจำ ให้คุณกับลูกลงมือมีประสบการณ์จริงกับการถอยกลับจากนอกเข้าในก่อน อย่างน้อยทุกวันๆ

     8. ตัวชี้วัดคือการมีความคิดน้อย มีความสงบเย็น มีความตื่นและรู้ตัวมาก 

     สูตรปกติของการศึกษา พวกนักการศึกษาเขาเรียกย่อว่า OLE ซึ่งเป็นตัวย่อของคำสามคำ คือ

     ตั้งวัตถุประสงค์ (Objective) 

     กำหนดประสบการณ์เรียนรู้ (Learning experience) แล้ว

     ประเมินผล (Evaluation) 

     ซึ่งมันเป็นสูตรที่ใช้ได้ไม่ว่าคุณคิดจะให้การศึกษาในรูปแบบไหน ตรงนี้ผมจะแนะนำคุณเฉพาะเรื่องการประเมินผล สมมุติว่าเราตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาว่าเพื่อให้ชีวิตมีความสุขและอยู่ในโลกอย่างผู้สร้างสรรค์ด้วย ผมแนะนำว่าในหลายๆปีแรกให้คุณใช้ตัวชี้วัดแค่สามตัว คือ (1) มีความคิดน้อยลง (2) มีความสงบเย็น (3) มีความตื่นและรู้ตัวมากขึ้น

     ตราบใดที่คุณวัดสามตัวนี้แล้วยังมีความก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ แสดงว่าคุณมาถูกทาง ไม่ต้องไปสนใจตัวชี้วัดอื่นเช่น การหานายจ้างได้ มีงานทำ มีอาชีพดี มีเงินเดือนมาก ได้การยอมรับ ได้สามีดี ผลิตชิ้นงานได้ดี ฯลฯ เหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับคอนเซ็พท์หรือสำนึกว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นแค่ความคิด และ..ไร้สาระ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………….

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
อาจารย์ครับ ในบางวิชาชีพที่เฉพาะทางอย่าง แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ที่ยังต้องมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันการศึกษา เราควรพิจารณาอย่างไรครับ

ตอบครับ

โอ้ เอาไกลขนาดนั้นเลยหรือ เรากำลังพูดถึงการศึกษาของเด็กอายุ 2 ขวบอยู่นะครับ อย่าเพิ่งไปไกลถึงสาขาอาชีพเลย รอให้อายุ 17-18 ปีค่อยคิดอ่านเรื่องจะมีอาชีพหรือไม่มี ถ้ามีจะมีอาชีพอะไรดี ดีกว่าไหม เพราะกว่าจะถึงตอนนั้นบางอาชีพอาจจะสูญพันธ์หรือถูกหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ทำแทนไปแล้วก็ได้ และอีกอย่างหนึ่ง ผมสังหรณ์ใจว่าในอีกหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนข้างหน้า ผู้คนส่วนใหญ่คงจะใช้ชีวิตไปโดยไม่มีอาชีพ
สันต์

…………………………………………………………