Latest

ถ้าข้อมูลเข้าแก๊บ คำตอบก็จะไม่เบ๊อะบ๊ะ

ขออนุญาต เขียนพาสาไทย
  ข่าพะเจ้า นางตุ้ย ไพวงมีไชย หลือเรียกอีกชื่อ นาง นุ่น และ มีนามในสามันสึกสา มีเจ้าอาวาดวัดบ้านหนองบอน,เมืองไชเสดถา,เวียงจัน นามว่า นาง มะนีไล ไพวงมีไชย เป็นบุดของ ท่าน จันเพ็ด และนาง อุ่นเรือน ไพวงมีไชย
   ปะหวัดบิดาของข้าพะเจ้า  อะดีดนักสึกสาอันดับ1ที่ สส เวียดนาม สาขาวิชา ปต. ถะแหลงข่าวและวัฒนธรรม ทำงานที่กงสูน ทูดต้อนรับแขก เยียมยาม ลาว-เวียดนาม ที่ ร่าโน้ย ส ส เวียดนาม ,อะดีด หัวหน้าและหัวหน้ากม ที่กะชวงการต่างปะเทดลาว ,อะดีดบันนามิการ ที่ สูนโคสะนาอบรมพักประติวัดลาว เนื่องจากสุขะพาภไม่อำนวยความสะดวกแก่งานที่ทำอยู่จึ่งออกมาเป็นนักธุรกิจ วิสาหะกิด ส่วนบุกคน ประเพดชื้อขายไม้ท่อน ผลิดจัดส่งพายในและโรงงานจนเถิงการส่งออกต่างประเทด ในไวแก่ จืงผันตัวออกมาเป็นสะมาชิกสะพาแห่งชาติลาว เสียชีวิดด้วยโลกประจำตัวเมื่อวันที 29.07.15 .
   ปะหวัดมานดาของข่าพะเจ้า อดีดนักสึกสา การเงินอุดสาหะกรรม ปต.ที่ ส ส เวียดนาม, อะดีดนักบันชีการเงินที่อุดโรงงานสาหะกรรม ลัดวิสาหะกิด ประเพด ไม้อัด และไม้แปรูบ ,เป็นเจ้าของผู้ถือวิสาหะกิดส่วนบุกคนการค้าพายในและต่างปะเทด ร้านบอลิหารไม้แปรูบทุกชะนิดและเฟีอนิเจอตามสั่ง ที่ถืกต้องตามกดหมายโดยธรรม ตะหลอดเกือบ30ปี.

“ข่าพะเจ้ามีเอกกะสานที่สามาดยั้งยืนต่อการพิจาละนาสะเหนอในคั้งนี้”.

   ข่าพะเจ้ามีจุดประสงปึกสาอาการโลกหัวใจ ผิดปกกะติ ตะหลอดละยะวิวัดทะนาการเติบโตของข่าพะเจ้า เนื่องจากอาการป่วยเมื่อ 2 วันก่อน ทำงานหนักเกินเวลาเถิง 6 ชั่วโมง มีอาการปวดหลังเสียบผันตงหัวใจ แหน้นและหายใจไม่สะดวก หลังจากนั้นให้หลานสะไพ้ ค่อยๆนวดและเยียบบันเทาผ่อนคายก้ามเนื้อหลังและแอวขาช้ายที่หักอยู่ปวดก้ามชาเนื้อร่างกายส่วนช้าย , เหมื่อยเลว ,ไม่แขงแรงเหมือนเมื่อก่อน, มีอาการ ตกใจ. ใจสั่นบางคั้งคาว,เหื่อมือออกตะหลอดเวลา, เมื่อตรวดอาการหัวใจเต้นผิดปกกะติทังช้าและเต้นไวเกิน ดั่งนั้นเมื่อมีอาการแบบนี้ จึ่งต้องการปึกสาแพดหมอโดยสะเพาะผู้เชี่ยวชานโลกหัวใจ นพ.สันต์ใจยอดศิลป์ ช่วยให้คำแนะนำต่อกะบวนการรักสานี้ด้วย เรียบเรียงด้วยความเคารบและนับถือเป็นอย่างสูงมานะที่นี้ด้วย.

 #เอกกสานส่วนตัวของพะเจ้าส่งมาพ้อมนี้

…………………………………………………..
ตอบครับ
     ปกติหมอสันต์ไม่ตอบจดหมายในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แบ่งแยกเชื้อชาติ ความเป็นคนชาติไหนสำหรับหมอสันต์ก็เท่ากันหมดเพราะเป็นคนเหมือนกัน แต่หากเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษหากตอบไปผมกลัวแฟนบล็อกที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษหงุดหงิดเอา

     ก่อนอื่นขอขอบคุณที่ให้ประวัติมาอย่างกว้างขวางครอบคลุมถึงโคตรเหง้าศักราชครบถ้วนพร้อมทั้งหลักฐานปริญญาของคุณพ่อคุณแม่ ขาดอยู่นิดเดียวคืออายุและน้ำหนักของตัวเองในฐานะผู้ป่วยและยาที่กำลังกินอยู่ เพราะหากมีแต่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับสุขะพาภ หมอสันต์ก็วินิจฉัยโรคไม่ถืกเหมือนกัน หิ..หิ 

     ผมจะตอบจดหมายนี้โดยเดาเอาว่าคุณอยู่ในวัยกลางคน ไม่อ้วน แต่เป็นคนที่ชอบทำงานหนักแบบลืมวันลืมเวลา จนสองวันก่อนหลังจากทำงานเกินเวลาไป 6 ชั่วโมงแล้วก็มีอาการปวดหลังเฉียบพลันทันทีตรงกลางหลังระดับหัวใจพอดี ควบกับอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่ม จากนั้นก็พบว่าตัวเองเหนื่อยง่าย ออกแรงไม่ได้เหมือนเดิม เหงื่อมือออก ใจสั่น รู้สึกว่าตัวเองหัวใจเต้นช้าบ้างเร็วบ้างไม่สม่ำเสมอ ข้อมูลทั้งหมดมีแค่นี้ ที่เหลือเป็นเอกสารประกอบซึ่งเหมาะจะใช้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมากกว่าใช้หาหมอ ทีหลังไม่ต้องส่งเอกสารพวกนี้มาให้ดูก็ได้นะจ๊ะ
     เริ่มต้นด้วยการวินิจฉัยก่อน ด้วยข้อมูลแค่นี้ อย่างเก่งผมก็ทำได้แค่ให้การวินิจฉัยแยกโรคว่าคุณอาจมีโอกาสจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง (differential diagnosis) เรียงตามความหนักเบาของโรค ดังนี้ 
1. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตก (acute aortic dissection) ตามด้วยหัวใจล้มเหลว (CHF)
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infection) ตามด้วยหัวใจล้มเหลว (CHF)
3. เจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (stable angina) โดยไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
4. โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงในปอด (pulmonary embolism)
5. โรคถุงลมในปอดแตกและลมคั่ง (spontaneous pneumothorax)
6. โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ร่วมด้วย
7. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน (hypoglycemia) ซึ่งหายแล้วหายเลย
8. โรควิตกวิตกกังวลที่มีการเต้นผิดปกติของหัวใจชนิด PVC ร่วมด้วย
     ขั้นตอนต่อไปก่อนที่จะไปถึงขั้นการรักษา ก็ต้องทำการสืบค้นเพื่อวินิจฉัยขั้นสุดท้าย (final diagnosis) ว่าคุณเป็นโรคใดเพียงโรคเดียวในแปดโรคนี้ กระบวนการสืบค้นอย่างน้อยกรณีของคุณนี้ต้อง
     1. ไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสัญญาณชีพ (vital sign) อันได้แก่ชีพจร ความดันเลือด อัตราการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย และวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้ว (SpO2) ว่ามีอะไรเร่งด่วนที่ใกล้จะถึงแก่ชีวิตหรือเปล่า และชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงเพื่อประเมินว่าคุณอ้วนเกินไปจนถึงระดับความเสี่ยงต่อโรคต่างๆหรือเปล่า ในการตรวจสัญญาณชีพหากออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติดีก็พอจะวินิจฉัยแยกโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงในปอดออกไปได้ การที่แพทย์มีโอกาสเอาหูฟังจ่อหน้าอกฟังเสียงหายใจก็ทำให้วินิจฉัยแยกโรคถุงลมในปอดแตกและลมคั่งในทรวงอกออกไปได้
     2. ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) และ PVC และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 
     3. เจาะเลือดเพื่อตรวจดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ (FT4) เพื่อวินิจฉัยแยกว่าคุณเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไม่ ตรวจเอ็นไซม์ของหัวใจเพื่อดูการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และไหนๆก็เจาะเลือดแล้วควรดูระดับไขมันเลวในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และดูระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดเพื่อประเมินว่าเป็นเบาหวานหรือเปล่าเสียด้วย 
     4. ถ้าทำสามอย่างนั้นแล้วไม่พบอะไรผิดปกติเลย คราวนี้ก็น่าจะทำการตรวจสมรรถนะของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย คือวิ่งสายพานขณะติดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ด้วย เพื่อวินิจฉัยแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรงหรือขณะเครียด
     5. ถ้าตรวจทุกอย่างข้างต้นแล้วได้ผลปกติหมด ขั้นต่อไปนี้จะทำหรือไม่ทำแล้วแต่หมอแล้วนะ ถ้าเป็นหมอสันต์ คนไข้ที่มาด้วยอาการปวดหลังกะทันหันและรุนแรงแบบปึ๊ก..ก ทันทีอย่างนี้ ผมจะให้ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกซึ่งมีหลายแบบ บางแบบก็ทำให้ตายได้ง่ายๆ
     ทั้งหมดนี้เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยโรคแค่นั้นนะ ยังไม่ถึงขั้นตอนการรักษาเลย เพราะถ้าวินิจฉัยโรคยังไม่ได้ก็ไม่รู้จะรักษาอะไร ต้องวินิจฉัยโรคให้ได้ก่อนจึงจะแนะนำได้ว่าจะรักษาอย่างไร 
     แต่หากทำทุกอย่างข้างต้นได้ผลปกติหมด คราวนี้หมอก็จะวินิจฉัยเอาจากการแยกโรคอื่นทิ้ง (diagnosis by exclusion) ว่าคุณเป็นโรควิตกกังวล และก็จะให้การรักษาแบบโรควิตกกังวล โดยให้กลับไปบ้านและบริหารจัดการชีวิตเสียใหม่ไม่ให้เคร่งเครียด แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง
     นี่เป็นตัวอย่างว่าเวลาเขียนจดหมายมาหาหมอ หากให้ข้อมูลมาน้อย คำตอบที่ได้ก็จะเบ๊อะบ๊ะอาจเป็นนั่นก็ได้ อาจเป็นนี่ก็ได้ ซึ่งจะยังผลให้คุณเกิดความวิตกกังวลมากกว่านั่งอยู่เฉยๆไม่เขียนจดหมายมาซะอีก เพราะฉะนั้นทีหลังหากเขียนจดหมายหรือเวลาไปพบหมอ ต้องเตรียมข้อมูลที่เข้าแก๊บอย่างละเอียดให้พร้อม ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ ทุกวันนี้เป็นโรคอะไรและกินยาอะไรอยู่บ้าง เคยวัดความดันมาบ้างหรือเปล่า วัดได้เท่าไหร่ เคยตรวจเลือดเอ็กซเรย์หรือตรวจอย่างอื่นในโรงพยาบาลมาแล้วบ้างไหม ถ้าเคยตรวจมาแล้วผลการตรวจทั้งหมดเป็นอย่างไร ต้องให้ข้อมูลมาให้หมด ยิ่งมีข้อมูลมาก การวินิจฉัยของแพทย์ก็ยิ่งกระชับ ตรงเป้า ไม่เบ๊อะบ๊ะ ช่วยคุณแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยไม่ทำให้คุณกังวลโดยไม่จำเป็น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์