Latest

สามนิสัยก่อ PVC ที่หมอหนุ่มๆสาวๆชอบทำ

เรียนปรึกษาอาจารย์เรื่อง PVC หลังออกกำลังกายค่ะ
หนูแต่งตั้งตัวเองเป็นลูกศิษย์อาจารย์ตั้งแต่สมัย นศพ. ที่ได้เรียนวิธีอ่าน EKG จากภาพการทำงานของหัวใจในตำราที่อาจารย์เขียนไว้ค่ะ
ตอนนี้หนูอายุ 30 กว่าๆ ความอ้วนที่เป็นปัญหาเริ่มออกฤทธิ์ (BMI > 30) เลยตัดสินใจ คุมอาหารด้วยการพยายามลดเนื้อสัตว์และเน้นพืช (ตามอาจารย์ค่ะ) แต่เริ่มลดจากเนื้อสัตว์ใหญ่ ตอนนี้โปรตีนหลักๆเป็นอาหารทะเลกับไข่ และออกกำลังกายด้วยการวิ่งสลับเดิน (HR120-145) ครั้งละ 40-60 นาที , 5-6 วัน/สัปดาห์
แต่กลับเจอปัญหาหลังวิ่ง มี PVC มาบ่อยเกือบทุกครั้งเลยค่ะ (ตอนเดินเร็วไม่มีมาค่ะ) เคยไปตรวจ EKG ก็ปกติดี และติด Holter monitor (ช่วงเป็นหนักๆมาเกือบ 9,000 ตัวใน 24 ชั่วโมง) ทำให้รำคาญมาก ต้องคอยทาน propanolol ทุกครั้งที่มา เลยขอเรียนปรึกษาอาจารย์ค่ะ ว่าหนูควรต้องปรับเปลี่ยนการออกกำลังกาย หรือทนลดน้ำหนักต่อไป รอผอมแล้วอาจจะหายไปเองดีคะ (เพราะวิ่งแล้วน้ำหนักลดและรู้สึกได้ว่าแข็งแรงกว่าแค่เดินเร็วค่ะ)
ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

………………………………………………….

ตอบครับ

     ผมรับประกันคุณหมอรุ่นเด็กๆว่าจะตอบจดหมายทุกฉบับที่พวกเขาเขียนมาหา กรณีของคุณหมอนี้ เขียนมาหาผมก็ดีใจ บอกว่าเป็นแฟนกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ตอนนี้อายุสามสิบกว่าแล้วเท่ากับว่าเป็นแฟนกันมาแล้วราวสิบปี แต่ยังอ้วนระดับ BMI เกิน 30 อยู่เลย นี่เป็นแฟนแบบไหนกันเนี่ย (หิ..หิ ล้อเล่นเฉยๆ ไม่ได้ว่าอะไรหรอกนะ)

     1. ถามว่าอ้วน หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ PVC ขณะออกกำลังกาย มีอะไรผิดปกติมะ ตอบว่ามันก็ผิดตามปกติ กล่าวคือมันเป็นสัจจธรรมว่าคนอ้วนเวลาไปออกกำลังกายก็มักจะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ PVC เคยมีคนทางยุโรปรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ไว้เป็นหลักฐานดีมาก [1]

     2. ถามว่าเกิด PVC 9,000 ตัวต่อวันมากไหม ถึงขั้นต้องไปรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (radio-frequency catheter ablation) หรือเปล่า ตอบว่าไม่มาก หากเกิน 20,000 ตัวต่อวันจึงจะนับว่ามาก และหากเกิน 35,000 ตัวต่อวันจึงจะนับว่าซีเรียส ส่วนการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้านั้นมันมีโอกาสกลับเป็นใหม่สูงหากตราบใดถ้ายังอ้วนอยู่ คุณหมออย่าเพิ่งไปทำเลย ให้ตั้งใจลดความอ้วน หากลดความอ้วนได้แล้ว PVC มันก็จะลดลงหรือหายไปเอง

     3. ถามว่าคนอ้วนเกิด PVC เป็นเรื่องไม่ดีใช่ไหม ตอบว่าเป็นเรื่องไม่ดีแน่นอน เพราะมันสัมพันธ์กับการเพิ่มความหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย (LV mass) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการตายกะทันหัน หรือซัดเด้นเด๊ดสะมอเร่ แต่ว่างานวิจัยให้ผลแน่ชัดว่า [2] เมื่อลดความอ้วนลงไปได้ ความหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจนี้ก็ลดลงไปด้วย และเมื่อน้ำหนักลงถึงระดับปกติ  LV mass ก็ลดลงมาปกติ และ PVC ก็ลดลงหรือหายไป ดังนั้นหากกลัวเด๊ดสะมอเร่แบบกะทันหัน ก็ให้ตั้งใจลดน้ำหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย

     คุณหมอไม่ใช่แฟนบล็อกคนเดียวของหมอสันต์ที่เป็นหมออ้วน มีหมอคนอื่นอีกหลายคนที่เป็นหมออ้วนเกินขนาดระดับนี้แล้วลดน้ำหนักลงมาได้อย่างน่าชื่นใจ หลายคนกลายเป็นแบบอย่างและความบันดาลใจให้คนไข้ของเขา ดังนั้นการเป็นหมออ้วนแล้วลดน้ำหนักได้นี้ มันไม่ใช่แค่ได้สุขภาพตัวเองดีอย่างเดียว มันได้บุญด้วยนะ ขอให้คุณหมอตั้งใจทำ

     4. ถามว่าต้องเลิกวิ่งออกกำลังกายไหม ตอบว่าไม่ต้องเลิก แต่ว่าเอาแค่ระดับหนักพอควร moderate intensity คือหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ก็พอ อย่าเอาถึงระดับหนักมาก คืออย่าเอาถึงระดับพูดไม่ได้ ที่ไม่ให้หยุดออกกำลังกายเพราะการตายกะทันหันในคนอ้วนสัมพันธ์กับ LV mass แต่ไม่ได้สัมพันธ์กับการออกกำลังกายระดับหนักพอควร ยิ่งไปกว่านั้น การออกกำลังกายยังเป็นเครื่องมือช่วยลดน้ำหนักซึ่งจะทำให้ LV mass ลดลง

     5. ถามว่าจำเป็นต้องกินยากั้นเบต้าไหม ตอบว่าอยากกินก็กินไม่อยากกินก็ไม่ต้องกิน เพราะยาในกลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้ลดอัตราตายของคนเป็น PVC หรือคนอ้วนลงแต่อย่างไร

    6. นอกจากการตั้งใจลดน้ำหนักอย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว อะไรที่จะเป็นตัวเหนี่ยวไก trigger ให้เกิด PVC ซึ่งตามหลักวิชาคุณหมอก็รู้อยู่แล้ว ขอให้คุณหมอเลิกเสียให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สามนิสัยก่อ PVC” ที่หมอๆหนุ่มๆสาวๆเขาชอบทำกัน คือ

(1) อดหลับอดนอน..แล้วก็

(2) อัดกาแฟเข้าไป..บวกกับการ

(3) ทำตัวเป็นคนขี้เครียดหรือเป็นคนเจ้าความคิด

     ทั้งสามอย่างนี้ต้องเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่งั้น PVC ไม่มีวันหมด

     ถ้าโรคโควิด19 จบแล้วหากคุณหมอยังลดน้ำหนักไม่สำเร็จให้มาเข้าแค้มป์ลดน้ำหนักที่เวลเนสวีแคร์นะ ผมจะให้เข้าฟรีเพราะได้สิทธิพิเศษในฐานะเป็นลูกศิษย์ประเภทเรื้อรัง ถ้าผ่านแค้มป์แล้วยังลดน้ำหนักไม่ได้อีกก็จะได้จำหน่ายชื่อออกจากบัญชีลูกศิษย์ซะเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Sabbag A, Sidi Y, Kivity S, Beinart R, Glikson M, Segev S, Goldenberg I, Maor E. Obesity and exercise-induced ectopic ventricular arrhythmias in apparently healthy middle aged adults. Eur J Prev Cardiol. 2016 Mar;23(5):511-7. doi: 10.1177/2047487315591442.
2. Mukerji R1, Petruc M, Fresen JL, Terry BE, Govindarajan G, Alpert MA. Effect of weight loss after bariatric surgery on left ventricular mass and ventricular repolarization in normotensive morbidly obese patients. Am J Cardiol. 2012 Aug 1;110(3):415-9. doi: 10.1016/j.amjcard.2012.03.045.
3. Abed HS, Wittert GA, Leong DP, et al. Effect of weight reduction and cardiometabolic risk factor management on symptom burden and severity in patients with atrial fibrillation: a randomized clinical trial. JAMA. doi:10.1001/jama.2013.280521.
4. Lavie CJ, Milani RV, Ventura HO. Obesity and cardiovascular disease: risk factor, paradox, and impact of weight loss. J Am Coll Cardiol. 2009;53(21):1925-1932.