Latest

(เรื่องไร้สาระ17) ภาพสลักนูนต่ำยุคทวารวดีในถ้ำ

วันนี้เราสามพ่อแม่ลูกออกจากบ้านกรุงเทพไปบ้านมวกเหล็ก เดินทางมาถึงทับกวางหมอพอก็เปรยขึ้นว่า

“ภาพสลักสมัยทวาราวดีมันอยู่ตรงไหนนะ”

ผมตอบว่า

“ต้องไปยูเทิร์นหน้าโรงปูนตรานก มองหาป้ายถ้ำพระโพธิสัตว์ พ่อก็ไม่เคยไปนะ ไม่รับประกันการหลงทาง”

เราให้อากู๋นำทาง ไปถึงเอาตอนพลบค่ำแล้ว จึงรู้ว่าต้องเดินบันไดขึ้นไปปากถ้ำอีก 350 ขั้น พอขึ้นไปเกือบถึงก็ชวนกันพิลาปรำพันว่ากระหายน้ำเหลือเกิน น่าจะเอาน้ำมาด้วย ในรถก็เผอิญไม่มีน้ำดื่มสักขวด พอขึ้นไปถึงปากถ้ำ พบว่ามืดตึ๊ดตื๋อ เห็นกล่องตู้ไฟรางๆอยู่ด้านขวามือ ผมจึงคลำเปิดสวิสต์ตู้ไฟ ไฟสว่างพรึบขึ้นให้เห็นถ้ำอันอลัง แล้ว โห อะไรนั่น ขวดน้ำดื่มหลายโหล แพคอย่างดีตั้งไว้มุมปากถ้ำ ผมรีบไปเอาน้ำดื่มออกมาแจกกันคนละขวด และบอกหมอสมวงศ์ว่า

“เดี๋ยวลงไปอย่าลืมเตือนให้ทำบุญให้หลวงพี่วัดนี้หน่อยนะ อะไรจะรู้ใจหมอสันต์ไปหมด ทั้งน้ำดื่ม และไฟส่องถ้ำ”

แล้วสิ่งแรกที่เตะตาอยู่ทางผนังถ้ำด้านซ้ายมือก็คือไฮไลท์ของการมาครั้งนี้ เป็นภาพสลักนูนต่ำบนหินผนังถ้ำ มีคนอยู่ในภาพสลักนี้อย่างน้อยห้าคน

คนที่ 1. เป็นพระพุทธแน่นอน แต่ไม่ใช่พระสมณโคดมหรือพระสิทธัตถะที่เราคุ้นเคยนะ เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปัทมะปาณี ซึ่งเป็นพระที่ถูกจินตนาการขึ้นมาหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วราว 500 ปี เป็นต้นแบบนิกายพุทธสายมหายาน พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณีนี้ไม่เคยมีตัวตนหรือคนตัวเป็นๆเดินอยู่ในโลกนี้ มีแต่ในจินตนาการว่าจะมาเกิดหลังกลียุคหรือยุคพระศรีอารย์ ยุคพระศรีอารย์นะ ไม่ใช่ยุคภาษีอาน พระโพธิสัตว์ในถ้ำนี้นั่งบนม้านั่งรูปกลีบบัวกึ่งห้อยขา มือขวาอยู่ในท่าให้พร มือซ้ายถือดอกบัวก้านยาวอันเป็นเอกลักษณ์พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณี

คนที่ 2. ใครจะว่าเป็นอะไรก็ช่างเขาเถอะ แต่ผมว่านี่เป็นพระอิศวร หรือ Shiva ตามคติของฮินดูชัดๆ เหตุที่ผมว่าเป็นพระศิวะก็เพราะการที่มีงูเห่าเป็นอาภรณ์ งูนี้บางครั้งก็พันคออยู่ บางครั้งก็ขึ้นไปขดเป็นหมวกอยู่บนหัวโผล่แม่เบี้ยให้เห็น มือหนึ่งถือลูกประคำและนั่งในท่าโยคีเดินลมปราณ (เอาส้นเท้าซ้ายยัดไว้ใกล้ทวารหนัก) พระศิวะนี้หากประเมินจากหนังสือเก่าของอินเดียผมว่ามีความเป็นได้สองอย่างคือ

ความเป็นไปได้อย่างแรกคืออาจจะเป็นคนจริงๆ เป็นโยคีรุ่นเก่า ผมเรียกว่ารุ่นนักกล้าม คือคนตัวเป็นๆเดินได้ มีอีกชื่อว่าอาดิโยคี ซึ่งน่าจะมีชีวิตอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนับเป็นพันปีขึ้นไป มีความฉลาดปราดเปรื่อง สอนวิชาโยคีให้คนตัวเป็นๆสมัยนั้นทิ้งไว้เจ็ดคนก่อนที่ตัวเองจะหายไปอย่างลึกลับ

ความเป็นไปได้อย่างที่สองคืออาจจะไม่ใช่คนจริงๆ แต่เป็นแค่เทพในจินตนาการซึ่งเป็นตัวแทนของพลังจักรวาล คือพูดง่ายๆว่าสอนคอนเซ็พท์เรื่องพลังจักรวาลมันเข้าใจยาก ปั้นเทพขึ้นมาเป็นตัวแทนมันง่ายกว่า

คนที่สาม นั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าคือพระวิษณุซึ่งเป็นเทพในจินตนาการของฮินดู จากหลักฐานที่มีสี่มือ มือหนึ่งถือกงจักรเงื้อง่า มือหนึ่งถือหอยสังข์ อีกสองมือกอดอกตั้งท่าเหมือนกับจะพูดว่า

“เอ็งจะเอายังไงก็ว่ามา”

เทพวิษณุนี้ ในหนังสือเก่าของอินเดียเป็นการสื่อถึงสิ่งที่เรียกรวมๆว่าพระเจ้าซึ่งสำหรับฮินดูแท้แล้วพระเจ้าไม่มีตัวตนไม่ใช่คนตัวเป็นๆ แต่เป็นพลังงานจักรวาลที่ลึกละเอียดและสถิตย์สถาพรอยู่ในทุกที่ทุกเวลาไม่เปลี่ยนแปลง แต่การพูดถึงพลังจักรวาลนี้อาศัยเทพซึ่งเป็นจินตนภาพเป็นสื่อมันง่ายกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นเรื่องของคนตัวเป็นๆคนหนึ่งชื่อรามายานา หรือพระรามซึ่งเป็นพระเอกเรื่องรามเกียรติ์ ถือว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ มีตัวตนอยู่จริงหรือเป็นแค่นิทานก็ไม่รู้นะ แต่หากมีตัวตนอยู่จริงเขาน่าจะมีชีวิตอยู่หลายร้อยปีก่อนพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีชีวิตระหกระเหิน เป็นเจ้าชายซึ่งตามคิวต้องได้เป็นกษัตริย์แต่พ่อลำเอียงเอาบัลลังก์ไปยกให้น้องแทนตัวเองก็ต้องออกจากเมืองไปอยู่ป่าตามคำขอของพ่อ แถมเมียซึ่งมีอยู่คนเดียวถูกฉกไปเสียอีกก็ต้องใช้เวลาครึ่งชีวิตตามหาเมีย รอนแรมลงไปทางอินเดียใต้ น้องชายซึ่งช่วยตามหาเมียถูกทำร้ายปางตาย แต่ไม่ว่าชีวิตจะระหกระเหินร่อแร่อย่างไรใจเขาไม่เคยว่อกแว่ก คงตั้งหน้าใช้ชีวิตทำหน้าที่อย่างไม่มีโกรธแค้นชิงชังอะไรใครทั้งสิ้น ถึงได้กลายเป็นเทพในใจคนไปเลยไง

ส่วนคนที่ 4 และคนที่ 5 ที่ลอยอยู่กลางอากาศนั้นผมเข้าใจว่าคงเป็นเทวดากระจอก หรือผู้มาลุ้นดูการประลองกำลังของสามผู้ยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่รู้

ผมยังงงอยู่ว่าสามผู้ยิ่งใหญ่นี้มาอยู่ด้วยกันที่นี่ในถ้ำนี้ได้อย่างไร ตามสันนิษฐาน (การเดา) ของน้กวิชาการกรมศิลป์ ระบุว่าศิลปะแบบนี้เป็นสมัยทวาราวดี น่าจะสลักไว้ช่วงปี พศ. 1300 – 1400 ซึ่งก็คือประมาณ 1200 ปีมาแล้ว ตามประมาณการของผมนี่เป็นฝีมือช่างสลักหินรุ่นทวาราวดีที่เนี้ยบที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ณ เวลานั้นถ้ำแห่งนี้อย่างดีก็เป็นที่อาศัยของฤษีชีไพรท่ามกลางป่าดงพญาเย็น การมีคนฝีมือดีขนาดนี้มาสลักภาพปริศนาสามผู้ยิ่งใหญ่ทำท่ากำลังจะดวลกันไว้ด้วยกันตรงนี้มันน่างืด (อัศจรรย์) มาก

สำหรับท่านที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ ทวาราวดีเป็นยุคหนึ่งในดินแดนแหลมทองนี้ ก่อนที่ขอมจะเรืองอำนาจเข้ามาปกครอง ก่อนพระร่วงจะตั้งสุโขทัย ก่อนคนไทยสิบสองปันนาจะย้ายลงมาทางเชียงแสน ได้มีผู้คนอาศัยอยู่ตรงนี้อยู่ก่อนแล้วและได้สร้างสรรค์ศิลปะถาวรซึ่งมักเลียนแบบศิลปะอินเดียสมัยปาละ เช่นพระธาตุพนม พระธาตุไชยา พระธาตุหริภุณชัย ซึ่งทั้งสามแห่งถูกบูรณะซ้ำซากจนไม่มีใครรู้ว่าของเดิมจริงๆเป็นอย่างไร ของเดิมแท้ที่ไม่ถูกแต่งเติมที่ยังพอเห็นทุกวันนี้คือซากปรักหักพังของเมืองฟ้าแดดสูงยางที่จ.กาฬสินธ์ อย่างน้อยผมก็ได้เห็นใบเสมาหิน พระพิมพ์ดินเผา และศิลาจารึกภาษาของยุคโน้นซึ่งผมอ่านไม่ออก แต่ที่ถ้ำนี้ ผมว่าเป็นศิลปทวาราวดีที่เป็นของเดิมแท้ครบเครื่องและสวยงามที่สุด ท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์แหลมทองควรจะรีบมาดูไว้เสีย ไปภายหน้าผมมั่นใจว่าการระเบิดหินทำปูนโครมๆที่ทำกันอยู่ทุกวันไม่ห่างจากถ้ำนี้มากนักวันหนึ่งจะทำให้ถ้ำนี้ทรุดตัวลง เมื่อนั้นคนรุ่นหลังก็จะไม่ได้เห็นศิลปทวาราวดีที่ดีที่สุดนี้อีกแล้ว

ออกจากถ้ำเรากำลังจะกลับก็มาเจอเด็กวัดขี้เมาอายุราวสี่สิบ เขาเล่าว่าเขาเกิดและเติบโตที่นี่แล้วไปอยู่ที่วัดอื่นนานหลายปีเพิ่งกลับมา เขาบอกว่าทางด้านโน้นมีน้ำไหลออกมาจากปากถ้ำมาเป็นน้ำตก และพระพุทธเจ้าหลวงเคยมาเล่นน้ำตกนี้ และได้สลักชื่อจปร.ไว้ด้วย ผมถามว่ารอยสลักนั้นยังมีอยู่ไหม เขาบอกว่าน่าจะยังมีอยู่ แต่เขาไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน ผมจึงให้เขาพาพวกเราไปดู บรรยากาศปากถ้ำ มีน้ำลอดออกมาเป็นธารน้ำใสมีปลาเล็กปลาน้อยแหวกว่ายอยู่มาก ไม่นับลิงที่ยั้วเยี้ยอยู่บนต้นไม้ทั่วไป น้ำนั้นไหลมาเป็นน้ำตก เด็กวัดท่านนั้นพาไปชี้ดูตรงที่น่าจะเป็นรอยสลักพระปรมาภิไธย เราลงไปคุ้ยหาก็ไม่เห็นมี จึงชวนกันเดินสำรวจไปทั่วรอบๆปากถ้ำ จนไกลจากจุดที่เด็กวัดชี้ไปโข สักครู่หมอสมวงศ์ก็ชี้ไปที่หินก้อนหนึ่งข้างขวาของปากถ้ำตอนบน และว่า

“นั้นไงตัวเลข ๑๑๕”

ผมลงไปคุ้ยใบไม้ดูก็เป็นรอยสลักตัวเลข ๑๑๕จริงๆ พอคุ้ยใบไม้กิ่งไม้ที่ปกคลุมก้อนหินส่วนที่สูงขึ้นไปจึงได้เห็นรอยสลักพระปรมาภิไธยตัวเบ้ง จปร. ชัดๆ แม้ว่าตัว ร.จะเลือนไปบ้าง แสดงว่าเด็กวัดท่านนั้นแม้จะเมาแต่ก็พูดเรื่องจริง หิ หิ

ก่อนกลับผมให้เด็กวัดพาเดินไปหาตู้บริจาคเงินให้วัดเพื่อตอบแทนบุญคุณหลวงพี่ที่ทำไฟให้ส่องถ้ำและวางน้ำให้ดื่ม ผมต้องเดินตัวลีบเข้าไปในวิหารที่พระสงฆ์ประมาณสิบรูปกำลังสวดมนต์ทำวัตรกันอยู่อย่างเงียบเชียบเคร่งขรึม วัดนี้เป็นวัดป่า ผมหยอดเงินบริจาคลงตู้ด้วยความขอบคุณแล้วเดินย่องกลับออกมา กลับมาถึงบ้านมวกเหล็กผมยังติดใจเรื่องที่เด็กวัดเล่าไม่วาย จึงค้นเน็ทดู และได้ภาพในหลวง ร. 5 เล่นน้ำตกหน้าถ้ำโพธิสัตว์มาให้ท่านผู้อ่านดูประกอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์