Latest

ตั้งครรภ์ 2 เดือน กลัว ไม่อยากฉีดวัคซีนโควิด

ดิฉันอายุ 36 ปี กำลังตั้งครรภ์ 2 เดือน คนรู้จักเขาช่วยจัดการให้ได้วัคซีน แต่ดิฉันไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยต่อลูก เพราะตัวดิฉันเองไม่กลัวภาวะแทรกซ้อนอะไรแล้ว แต่สำหรับลูกซึ่งต้องมีชีวิตไปอีกนานดิฉันไม่ต้องการเสี่ยงให้เขาต้องเจอกับอะไรที่ความรู้วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักในขณะนี้ เช่นโรคที่จะก่อให้เกิดโดยไวรัสที่เข้าไปเปลี่ยนยีนของเขา วัคซีนโควิดไม่เคยทำวิจัยในคนท้องเลยใช่ไหม นี่แหละที่ดิฉันกลัว ส่วนเรื่องการป้องกันตัวเองจากการติดโควิดนั้นดิฉันใช้วิธีป้องกันตัวเองเอาง่ายกว่า จึงลังเลมากไม่อยากจะเสี่ยง แต่หมอสูตินรีที่ดูแลอยู่บอกว่าต้องไปฉีดเพราะโอกาสจะมีปัญหาหากติดเชื้อขณะท้องมีมาก คนที่เขาหาวัคซีนให้ด้วยความหวังดีก็นัดวันเวลามาให้เสร็จว่าต้องไปฉีดให้ได้ในวันที่ … จึงอยากขอปรึกษาคุณหมอสันต์ ปรึกษาเป็นการส่วนตัวก็ได้ค่ะ หากมีค่าใช้จ่ายอะไรเป็นพิเศษดิฉันก็ยินดี เพราะดิฉันกังวลจริงๆและไม่เชื่อใจใครอื่นเท่าคุณหมอสันต์ ขอรบกวนคุณหมอด้วยนะคะ

…………………………………………………………………

ตอบครับ

หิ หิ หมอสันต์ขอบอกเป็นครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้แล้วว่าไม่รับปรึกษาเป็นการส่วนตัว เพราะการตอบคำถามของผมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไปในการดูแลตัวเอง อาศัยจดหมายที่ถามเข้ามาเป็นสื่อการเรียนรู้ จึงจะตอบเฉพาะทางบล็อกที่เปิดเผยให้คนทั่วไปได้อ่านฟรีทั่วกันเท่านั้น หากใครไม่อยากให้จดหมายของตัวเองถูกเปิดเผยก็ไม่ต้องเขียนมา เพราะถึงเขียนมายังไงผมก็ไม่ตอบให้เป็นการส่วนตัว

ผมจะตอบคุณโดยเจาะไปที่วัคซีนชนิด mRNA และ DNA เท่านั้นนะเพราะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีและคนกลัวกันมาก ส่วนวัคซีนเชื้อตายนั้นเป็นรูปแบบเก่าที่ใช้กันมานานซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีปัญหาอะไรกับการตั้งครรภ์

ก่อนตอบคำถามขอทำความตกลงกันก่อนนะ ว่าความกลัวที่เกิดจากความคิดฝันเชิงทฤษฎีผมไม่เอามาร่วมพิจารณาด้วยนะ เช่นความกลัวว่าวัคซีนชนิด DNA ที่ถูกไวรัสเว็คเตอร์พาเข้าไปในนิวเคลียสของเซลมนุษย์แล้วจะไปป่วนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์จนเกิดเรื่องเพี้ยนๆร้ายๆขึ้นในอนาคตอันไกลโพ้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นความกลัวเพราะความคิดเชิงทฤษฎี ไม่มีหลักฐานจริงๆว่าเรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้น ผมจะไม่เอามาพิจารณาประกอบในการตอบคำถามครั้งนี้ ผมจะเอามาแต่หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นๆเหน่งๆแล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงแล้วเท่านั้น

1.. ถามว่ายังไม่เคยมีการทำวิจัยวัคซีนโควิดในคนท้องเลยใช่ไหม แล้วมันจะปลอดภัยหรือ ตอบว่าใช่ครับ ยังไม่เคยมีการวิจัยในคนท้องก็จริง แต่เราได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากพอควรจาก

1.1 งานวิจัยวัคซีนรุ่นใหม่ที่คุณกลัว (mRNA และ DNA vaccine) ในสัตว์ทดลองที่ตั้งท้อง ไม่พบประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยทั้งต่อแม่ ต่อลูก ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังคลอด

1.2 งานวิจัยวัคซีนแบบ DNA หรือเว็คเตอร์ไวรัส (พวกเดียวกับวัคซีน Astra ในบ้านเรา) ในคนตั้งครรภ์ได้เคยมีการทำวิจัยมาแล้วกับวัคซีนอีโบล่า (Ebola vaccination trial) ก็ไม่พบว่าวัคซีนจะก่อปัญหาให้กับทั้งแม่และทารกไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของการตั้งครรภ์แต่อย่างใด

1.3 การรวบรวมข้อมูลคนตั้งครรภ์ที่ได้วัคซีนโควิดในโครงการ V-Safe ของสหรัฐ พบว่ามีคนตั้งครรภ์ 35,691 คนที่ได้วัคซีนไปแล้วไม่ได้มีอุบัติการณ์เกิดอันตรายต่อแม่และทารกที่มากกว่าการตั้งครรภ์ปกติในแม่ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดแต่อย่างใด

ดังนั้นจากหลักฐานทั้งสามส่วนนี้ผมพูดกับคุณได้อย่างมั่นใจพอควรว่าวัคซีนโควิดปลอดภัยต่อทั้งแม่และทารกทุกระยะของการตั้งครรภ์ รวมทั้งสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ด้วย

2. ถามว่าการฉีดวัคซีนขณะท้องจะได้ประโยชน์คุ้มความเสี่ยงไหม ตอบว่าในแง่ของความเสี่ยง ข้อมูลนั้นชัดอยู่แล้วว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงหนึ่งในหลายๆกลุ่มที่เมื่อติดเชื้อโควิดแล้วจะมีโอกาสเกิดจุดจบที่เลวร้ายมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดครรภ์เป็นพิษและการคลอดก่อนกำหนดและอัตราตายของทารก ส่วนที่ว่าวัคซีนจะลดความเสี่ยงที่สูงนี้ลงได้จริงหรือไม่ก็มีงานวิจัยที่อิสราเอลทำออกมาแล้วว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้วัคซีน mRNA จะป่วยเป็นโรคโควิดน้อยกว่าและมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่ำกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วัคซีนโควิด ดังนั้นในแง่ของประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากแน่นอน

เมื่อด้านหนึ่งไม่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงที่ชัดเจนใดๆ และอีกด้านหนึ่งมีหลักฐานว่าวัคซีนให้ประโยชน์ป้องกันการป่วยเป็นโควิดได้ ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงลงได้ ด้านประโยชน์จึงมีมากกว่าด้านความเสี่ยง ถ้าผมเป็นหญิงตั้งครรภ์ผมก็จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดนะครับ

3.. อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่อาจเอาไปใช้ประโยชน์ได้ คือหญิงที่กำลังให้นมบุตรการฉีดวัคซีนโควิดมีความปลอดภัยต่อแม่และบุตรไหม ควรฉีดวัคซีนโควิดไหม ในเรื่องนี้มีงานวิจัยที่สรุปได้แน่ชัดแล้ว 2 ประเด็น คือ

(1) แม่ที่กำลังให้นมบุตร เมื่อได้วัคซีนโควิดแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลงเช่นเดียวกับหญิงทั่วไปที่ไม่ได้ให้นมบุตร โดยที่ไม่มีประเด็นความเสี่ยงอะไรต่อแม่และทารกที่ดื่มนมเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด

(2) มีหลักฐานว่าหญิงที่กำลังให้นมบุตรเมื่อได้วัคซีนแล้ว นอกจากภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นในเลือดของตนเองซึ่งป้องกันแม่จากการติดเชื้อได้แล้ว ภูมิคุ้มกันยังเพิ่มขึ้นในน้ำนมซึ่งจะป้องกันทารกที่ดื่มนมแม่จากการติดเชื้อโควิดได้ด้วย แต่วงการแพทย์ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาทางน้ำนมแม่นี้จะคุ้มกันทารกไปได้นานแค่ไหน

…………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (7 กย. 64)

งานวิจัยที่คุณหมอกล่าวถึงติดตามในระยะยาวนานแค่ไหนคะ แล้วกลุ่มที่ได้นำข้อมูลว่าทำวิจัยมีจำนวนมากไหมคะ ในกรณีของการทดลองวัคซีนไวรัสอีโบล่า ลักษณะของไวรัสเหมือนหรือต่างกับไวรัสโควิด19 คะ ขอบคุณค่

ตอบครับ

Ebola vaccination trial ติดตามกันอยู่ 5 ปีครับ เริ่มต้นใช้คน 27000 คน แต่เลิกวิจัยไปกลางคันเพราะเชื้ออีโบล่าหมดไม่มีคนป่วย แต่ข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนยังมีให้ศึกษาค่อนข้างครบครัน ไวรัสอีโบล่าไม่เหมือนซารส์โควี2นะครับ คนละตัวกัน คนละตระกูล อีโบล่าเป็น Filoviridae family ส่วนซาร์สโควี2 เป็น Coronaviridae family เหมือนกันตรงที่ต่างก็เป็น RNA virus แต่ที่ผมอ้างถึงงานวิจัยนี้เป็นเพราะคอนเซ็พท์ของการทำ vector virus vaccine นั้นเหมือนกัน คือใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคนเป็นผ้าห่มหุ้มวัคซีนตัวจริงซึ่งเป็น DNA vaccine เข้าไปปล่อยในเซลร่างกายคน DNA vaccine นี้จะเข้าไปในนิวเคลียสของเซล ไปแจมกับ DNA ของคนเพื่อให้เกิดการสั่งให้ก๊อปปี้ mRNA ที่เป็นใบสั่งผลิต spike protein ขึ้นมา ส่งไปให้ไมโตคอนเดรียของเซลนั้นผลิตโปรตีนนั้นขึ้นตามคำสั่ง ผลระยะยาวต่อ DNA ของคนของวัคซีนนี้ยังไม่มีใครทราบ ต้องรอดูกันเป็นชั่วอายุคน แต่เท่าที่มีข้อมูลมาสี่ห้าปีนี้ ทุกอย่างยังโอเค.อยู่ครับ ยังไม่มีมนุษย์พันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเพราะวัคซีนชนิดนี้ (หิ ..หิ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Shimabukuro TT, Kim SY, Myers TR, et al. Preliminary Findings of mRNA Covid-19 Vaccine Safety in Pregnant Persons. N Engl J Med 2021; 384:2273-2282. DOI: 10.1056/NEJMoa2104983.
  2. Zauche LH, Wallace B, Smoots AN, et al. Receipt of mRNA COVID-19 vaccines during pregnancy and preconception and risk of self-reported spontaneous abortions, CDC v-safe COVID-19 Vaccine Pregnancy. Research Square (pre-print). https://www.researchsquare.com/article/rs-798175/v1external icon
  3. Goldshtein I, Nevo D, Steinberg DM, et al. Association Between BNT162b2 Vaccination and Incidence of SARS-CoV-2 Infection in Pregnant Women. JAMA. Published online July 12, 2021. doi:10.1001/jama.2021.11035
  4. Gray KJ, Bordt EA, Atyeo C, et al. Coronavirus disease 2019 vaccine response in pregnant and lactating women: a cohort study. Am J Obstet Gynecol. Published online March 25, 2021. DOI:https://doi.org/10.1016/j.ajog.2021.03.023
  5. Perl SH, Uzan-Yulzari A, Klainer H, et al. SARS-CoV-2–Specific Antibodies in Breast Milk After COVID-19 Vaccination of Breastfeeding Women. 2021;325(19):2013–2014. doi:10.1001/jama.2021.5782
    Kelly JC, Carter EB, Raghuraman N, et al. Anti–severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 antibodies induced in breast milk after Pfizer-BioNTech/BNT162b2 vaccination. Am J Obstet Gynecol. 2021;225(1):101-103. https://doi.org/10.1016/j.ajog.2021.03.031external icon
  6. Jakuszko K, Kościelska-Kasprzak K, Żabińska M, et al. Immune Response to Vaccination against COVID-19 in Breastfeeding Health Workers. Vaccines. 2021; 9(6):663. https://doi.org/10.3390/vaccines9060663external icon