Latest

คนแก่อกหักรักคุด สิ่งที่อยากจะหนี คือความคิดของตัวเอง

(ภาพวันนี้: ช้างน้าว ที่บ้านมวกเหล็ก)

เล่าอย่างสั้นๆคือผมไม่ใช่เด็กแล้ว แต่ผมอกหัก ถูกชิงรัก ผู้ชิงจากผมไปก็คือเพื่อนร่วมงานของผมเอง เขากลายมาเป็นสามีของเจ้านายของผม ผมพยายามหักใจไม่เอาเรื่องส่วนตัวมายุ่งกับเรื่องงาน แต่มันก็อดไม่ได้ เพราะมันต้องเจอกันทุกวัน ต้องพูดคุย ต้องทำงานด้วยกัน จนผมกำลังคิดจะหาที่ทำงานใหม่ ไปให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆที่อึดอัดนี้เสีย แต่งานที่นี่เป็นงานที่ดี มั่นคง ผมมีรายได้ดี เจ้านายก็ดีกับผมมาก แต่ไม่มากพอที่จะเลือกผม ผมกำลังหักใจว่าอย่าเห็นแก่เงิน ไปเสาะหาชีวิตใหม่ดีกว่า

อยากขอคำแนะนำคุณหมอ เพราะติดตามอ่านและนับถือคุณหมอมานาน

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

ถ้าคุณไม่ขึ้นประโยคแรกว่าคุณไม่ใช่เด็กแล้วผมคงทิ้งจดหมายคุณลงตะกร้าไปแล้ว เพราะจดหมายวัยรุ่นเรื่องอกหักรักคุดมีเข้ามามากแต่ผมเลิกตอบไปแล้วเพราะมันไม่มีสาระอะไรใหม่ แต่ของคุณมันมีประเด็นใหม่อยู่ตรงที่ว่าถึงจะแก่แล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่พออกหักรักคุดขึ้นมา กลไกการแก้ปัญหาที่คุณกำลังใช้อยู่ มันก็ไปตกอีหรอบเดียวกันกับที่เด็กๆเขาใช้นั่นแหละ คือไม่ทุบมันให้แหลกหรือตายกันไปข้าง ก็ไปเสียให้พ้นๆจะได้ลืมๆกันไป ผมหยิบจดหมายคุณขึ้นมาตอบ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเราจะใช้ประโยชน์จากความแก่ในการแก้ปัญหานี้ให้แตกต่างจากเด็กๆได้อย่างไร

ดราม่าในชีวิตของคุณ ที่ว่าคุณตกหลุมรักเจ้านาย แต่เธอตัดสินใจไปกับคนอื่นซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เป็นเพื่อนร่วมงานซังกะบ๊วยที่คุณรู้เช่นเห็นชาติว่าเป็นนายงี่เง่านั่นเอง อันนั้นช่างมันเถอะ อย่าไปเจาะลึกเลย เพราะชีวิตใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคนยากจนหรือร่ำรวย ไร้การศึกษาหรือเรียนมากจบป.ตรีโทเอก หยิบขึ้นมาสักคนเถอะ มันล้วนเป็นเรื่องน้ำเน่าไร้สาระที่เขียนเป็นนิยายขายได้เป็นวรรคเป็นเวรทั้งนั้น เราอย่าไปพูดถึงมันเลย เพราะมันเป็นแค่นิยาย เป็นแค่ fiction หรือจะพูดให้มีระดับหน่อย มันก็เป็นแค่ life situation คือเป็นแค่สถานะการณ์ในชีวิต ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

มาพูดถึงตัวชีวิต หรือการใช้ชีวิต (living) ของคุณดีกว่า คุณบอกว่าทุกวันนี้คุณเป็นทุกข์เพราะเห็นอะไรตำตา ผมเข้าใจความคิดของคุณนะ เพราะความคิดของคุณเรา สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ทุกความคิดล้วนชงขึ้นมาเพื่อปกป้อง identity ของเราทั้งสิ้น อันนี้ใครๆก็เข้าใจได้ คุณก็เข้าใจ แต่ประเด็นของผมก็คือมันเป็นแค่ความคิดนะ คุณจะหนีไปทำงานที่อื่นเพื่อหนีความคิดของคุณ หิ หิ มันอาจจะสำเร็จในเรื่องนี้ แต่พอมีเรื่องใหม่เข้ามาก็..เอาอีกละ

คุณเขียนมาขอคำแนะนำ เอาละต่อไปนี้คือคำแนะนำนะ ผมแนะนำให้คุณเลิกคิดเรื่องจะทำงานที่ไหนเสีย ตรงนั้นไม่สำคัญจะเอายังไงก็แล้วแต่คุณ แต่เรื่องสำคัญคือให้คุณเริ่มออกเดินบนเส้นทางที่จะเปลี่ยนหรือทิ้ง identity เดิมของคุณจากการเป็นชุดอีโก้ที่คับแคบนี้ ไปเป็นความรู้ตัวซึ่งเป็นชีวิตในส่วนลึกที่สงบเย็นและไม่ระคายอะไรที่จะมากระทบหรือแม้แต่จะมาพังอีโก้ของคุณก็ตาม การออกเดินทางนี้ผมแนะนำให้คุณทำสองขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1. เป็นการดำเนินการในสนามความคิด พูดง่ายๆว่าเปลี่ยนมุมมองการคิด ทำแบบพวกจิตวิทยาคิดบวกเขาทำกัน ทำนองนั้นแหละ ในสนามความคิด หากคุณรู้จักเลือกความคิด คุณก็พัฒนาขึ้นไปเล่นในสนามที่สูงขึ้นไปได้ ในสนามความคิดนี้ผมแนะนำให้คุณเอาชนะอุปสรรคตัวเดียวคือการไม่ยอมรับ (non-acceptance) ทุกอย่างที่คุณมีอยู่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะการไม่ยอมรับเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คุณขึ้นไปเล่นในสนามที่สูงกว่านี้ไม่ได้ ได้แต่วนเวียนอยู่กับความคิด กลัว อิจฉา โกรธ เกลียด อยู่นั่นแหละ ในสนามระดับนี้แค่คุณรู้จักมองรู้จักคิด คุณก็พลิกเกมได้แล้ว ตรงนี้ผมขอยกกวีของบรมครูชาวมุสลิมชื่อ รูมี (Rumi) มาให้คุณอ่านแทนคำพูดของผมนะ รูมีสอนว่า

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความอิจฉา” ในชีวิตเรา 
     ก็การไม่ยอมรับสิ่งดีๆที่คนอื่นได้รับนั่นแหละคือความอิจฉา ถ้าเรายอมรับสิ่งดีๆที่คนอื่นได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราต่อไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความโกรธ” ในชีวิตเรา 
     ก็การที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายในชีวิตเรานี้มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรานั่นแหละคือความโกรธ หากเรายอมรับความจริงอันนี้ได้มันก็จะกลายเป็นความโอนอ่อนผ่อนปรนไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความเกลียด” ในชีวิตเรา 
     ก็การไม่ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละคือความเกลียดในชีวิตเรา หากเรายอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นได้ มันก็จะกลายเป็นความรักหรือเมตตาธรรมไป..”

      “..แล้วอะไรหรือที่เป็น “ความกลัว” ในชีวิตเรานี้ 
     ก็การไม่ยอมรับว่าทุกอย่างในชีวิตนี้มันล้วนไม่แน่นอนนั่นแหละคือความกลัวในชีวิต หากเรายอมรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้ ชีวิตก็เป็นเรื่องของการผจญภัยไม่ใช่เรื่องของความกลัวอีกต่อไป

ขั้นตอนที่ 2. ถึงบรมครูรูมีจะสอนให้คิดดีอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดอย่างไรเสียคุณก็ต้องเลิกเล่นกับความคิดเพื่อขึ้นมาเล่นในสนามที่สูงขึ้นมาจากสนามของความคิด ผมหมายถึงการพาความสนใจข้ามพ้นไปจากความคิดไปเป็นผู้สังเกตมองดูความคิด สนามนี้จะพาคุณหลุดพ้นจากความคิดและเกิดอิสรภาพในชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งการจะขึ้นมาเล่นในสนามนี้ได้คุณจะต้องฝึกวางความคิดผ่านการสังเกตดูความคิด (aware of a though) ซึ่งผมได้เขียนถึงบ่อยมาก คุณหาอ่านย้อนหลังเอาเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์