Latest

อย่าถอยกลับไปสนามหลวงครั้งแล้วครั้งเล่า

(ภาพวันนี้; บ้านของเพื่อนบ้านในวัยหนุ่มสาว สร้างบ้านทรงกล่อง แล้วเปิดอ้าซ่าหน้าทะลุหลัง)

คุณหมอสันต์ครับ

1.. ผมได้ฝึกวางความคิดมาหลายปี เวลาเกิดความคิดขึ้นในหัว แล้วลองใช้เสียงโอม เมื่อมีความคิดเกิด, ตามดูลมหายใจเข้า-ออก, การทำ body scan , การผ่อนคลายร่างกาย จากการสังเกตตัวเอง พบว่า บางทีการนั่งนิ่งๆ เป็นชั่วโมง ร่วมกับการผ่อนคลายร่างกาย แต่ยังเกิดความคิดจาก conditional reflex เดิมๆ จริงๆ แล้วพบว่า มันยากมากที่จะวางความคิดเดิมๆทั้งชีวิตที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ ในหัวลงได้ เพราะมันเป็นความคุ้นชินแบบต่อยอด สังเกตดูเรื่องมันก็แนวเดิมๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ  คำถามคือ เราจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคิดสั่วๆ ที่เป็นอัตโนมัติในหัวแบบนี้ได้อย่างไรครับ ถ้าหากเราใช้เครื่องมือพวกนี้ครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าความคิดยังเกิดขึ้นอยู่ จนยังเข้าไม่ถึงสมาธิ และทำให้การวางความคิดไม่สำเร็จ

2.. เราจะเข้าไปสังเกตความคิดที่เกิดขึ้นโดยตรงโดยไม่ต้องทำสิ่งที่บอกในข้างต้น ได้หรือไม่ครับ คือเน้นแต่ความตื่นตัวอย่างเดียวทีละแว๊บๆ ใช้ชีวิตไปในแต่ละขณะๆ เท่านั้น เพราะเคยไปสัมภาษณ์คนที่กระทำผิดซ้ำ หรือคนที่เคยทำผิดค่านิยมของคนในสังคม  เท่าที่สังเกตพบว่า คนพวกนี้มีจุดร่วมกันอย่าง หนึ่งคือ เป็นคนไม่คิดไรมาก ยอมรับทุกอย่างง่ายดาย วางอะไรในชีวิตได้ง่าย ไม่รู้สึกผิดในสิ่งที่ตนทำในอดีต มีชีวิตอยู่แต่กับปัจจุบัน หมายถึง พวกเขามักไม่สนใจคนอื่น สังคมรอบตัว คนแนวๆ นี้ดูมีบุญนะครับ เพราะความคิดเก่าๆเจาะเข้ามาในหัวเขาไม่ได้เลย กรรมคงตามเขาไม่ทัน 555  คงตามทันแต่คนที่คิดมาก หรือพวก  perfectionist ที่วางอีโก้ไม่ได้

คำถามคือ… คนที่มีบุคลิกคิดมาก อีโก้สูง จะวางความคิด และสร้างนิสัยใหม่แบบที่พวกที่กล่าวมาในข้างต้นได้อย่างไรครับ ถ้าพื้นฐานเราเป็นคนมีอัตตาสูงและยังใช้เครื่องมือที่คุณหมอให้ไม่ดีพอ มันมีวิธีการอะไรที่เป็นธรรมชาติ ให้ชีวิต acceptance  ในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาได้ไหมครับ 

3.การสังเกตความคิดโดยเริ่มจากการดูภาพในหัว สังเกตลมหายใจตัวเอง แล้วหลับตาสังเกตเสียงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก แล้วกลับมาดูความเงียบภายในตัวเอง หรือเมื่อเกิดความคิดมาแล้วย้อนดูหัวเรื่อง ตามลม ดูความคิดที่เป็นภาพในหัว รวมถึงวิธีการตื่นตัวรอดูความคิดที่เกิดขึ้น วิธีการพวกนี้ทำโดยไม่ต้องใช้สมาธิในรูปแบบเลยได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

…………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. จะเข้าไปสังเกตความคิดตรงๆโดยไม่ต้องมัวแต่รำมวยใช้เครื่องมือต่างๆที่หมอสันต์สอนได้ไหม

ก่อนจะตอบคำถามนี้ สมมุติว่าผมเป็นนายช่างใหญ่ แล้วมีเท็คนิเชี่ยนลูกน้องคนหนึ่งมาถามว่า

“พี่ครับ ผมขอต่อปลั๊กไฟโดยไม่ต้องใช้คีม คัตเตอร์ ไขควง ได้ไหมครับ”

คุณจะให้ผมตอบว่าอย่างไร ผมก็ต้องตอบว่า

“ได้สิวะ หากเอ็งสามารถใช้ปากและฟันปอกสายไฟได้”

ฉันใดก็ฉันเพล ผมตอบคุณว่าได้สิครับ ถ้าคุณสามารถเจาะเข้าไปในเกราะอันแน่นหนาของความคิดที่ฟอร์มเป็นอัตตาของคุณได้ด้วยมือเปล่า

2.. ถามว่าจะเอาแบบอย่างโจรคืออยากทำไรก็ทำไปไม่คิดไรมากอยู่มันไปทีละขณะดีไหม ตอบว่าดีแน่นอนครับ โดยเฉพาะสำหรับคนมีคอนเซ็พท์มากหรือบ้าดีอย่างคุณ ปราชญ์ทุกยุคก็ล้วนเน้นย้ำความสำคัญของการที่จะต้องเลิกเป็นคน “บ้าดี” ให้ได้เสียก่อน คุณคงเคยได้ยินเรื่องหลวงพ่อนิกายเซ็นพาสามเณรบ้าดีไปเดินป่าข้ามลำธาร สบโอกาสหลวงพ่อก็อุ้มสาวเดิมข้ามน้ำโชว์ให้สามเณรดูซะเลย แต่ว่านั่นเป็นเรื่องระดับคอนเซ็พท์หรือนโยบายแค่นั้นนะ ผมเชื่อว่าคุณเปลี่ยนคอนเซ็พท์หรือทิศทางในการแสวงหาของคุณได้ไม่ยากหรอก แต่การลงมือทำจริงๆนี่สิ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะต้องใช้ “เครื่องมือ” การที่โจรประกอบความเลวแล้วอยู่ได้โดยไม่ทุกข์นั้นก็เป็นเพราะโจรเขาใช้เครื่องมือวางความคิดได้เก่งกว่าคุณ

ว่าที่จริงๆแล้วผมอยู่มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ก็ยังไม่เคยเห็นครูคนไหนระดับเจ๋งๆที่จะสอนให้หลุดพ้นจากความคิดได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือเลยนะ ผมเดาว่าคุณเป็นชาวพุทธ ยกตัวอย่างในคำสอนของพุทธะก็ได้ เวลาชาวพุทธมีญาติป่วยหนักจนหมดปัญญารักษา เขานิยมนิมนต์พระมาสวดข้างเตียงใช่ไหม บทสวดที่พระสวดให้คนป่วยฟังนั่นแหละ เป็นของดี ขอโทษนะผมต้องอ้างเป็นภาษาอังกฤษเพราะผมอ่านพระไตรปิฎกบ้างแต่ก็อ่านได้แต่ฉบับภาษาอังกฤษ ไม่รู้ภาษาบาลี สูตรนั้นเรียกว่า The Seven Factors of Enlightenment ฝรั่งเรียกง่ายๆว่า “Bhikkhu Sutta” ซึ่งผมแปลว่า “ปัจจัย 7 อย่างที่ช่วยให้ตรัสรู้ได้” ทั้งเจ็ดอย่างในบทสวดนั้นมีอะไรบ้าง ผมจะโค้ดต้นฉบับภาษาอังกฤษและบาลีมาแล้วแปลเป็นไทยให้ในภาษาของผมเองให้คุณดูนะ

  1. Mindfulness (sati) สติ
  2. Investigating (dhamma vicaya) การคัดสรรเลือกเฟ้น
  3. Energy (viriya) ตื่นตัวใส่พลัง
  4. Rapture (piti) เบิกบาน
  5. Relaxation (passaddhi) ผ่อนคลาย
  6. Concentration (samadhi) จดจ่อสมาธิ
  7. Equanimity (upekkha) ยอมรับง่ายๆตามที่มีที่เป็น

คุณดูทั้งเจ็ดข้อนี้ให้ดีนะ ทุกอันมันไม่ใช่คอนเซ็พท์หรือเข็มทิศบอกทางนะ แต่มันเป็นเครื่องมือปฏิบัติดีๆนี่เอง ยกเว้นตัวสุดท้ายซึ่งอาจจะเป็นทั้งเครื่องมือด้วยเป็นทั้งเป้าหมายด้วย ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณอย่ามัวแต่ถอยกลับไปสนามหลวงเพื่อตั้งลำหาทิศทางใหม่อยู่ร่ำไป แต่ให้คุณเอาดีกับการใช้เครื่องมือของคุณให้ได้ คีมอันเดียวกันแต่พอไปอยู่ในมือของช่างคนละคน คีมอันนั้นทำอะไรได้ต่างกันมาก อย่าโทษคีมแล้วเที่ยวไปเสาะหาวิธีซ่อมแบบใหม่ ให้ฝึกใช้คีมเอาดีจากการใช้คีมให้ได้

3.. ถามว่าการสังเกตความคิดตามลำดับที่หมอสันต์สอน จะทำโดยไม่ต้องใช้สมาธิเลยได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เพราะในบรรดาเครื่องมือทั้งหลายที่ผมสอน คุณไม่ต้องเชี่ยวชาญทุกชิ้นหรอก คุณถนัดคีมก็ใช้คีมมาก คุณถนัดไขควงก็ใช้ไขควงมาก เครื่องมือบางชิ้นคุณอาจจะไม่ได้หยิบมาใช้เลยคุณก็อาจจะจบงานซ่อมของคุณได้

อันที่จริงเมื่อพูดถึงคำว่าสมาธิ คุณอย่าไปยึดติดกับสมาธิแบบลึกๆนิ่งๆแบบนั่งเข้าฌานสิ สมาธิที่เราใช้ประโยชน์นี้เราเอาแค่เอาไว้จดจ่อที่อะไรสักอย่าง (selective attention) เพื่อกีดกันไม่ให้ความคิดเจ้าประจำเจาะยางเข้ามาได้ง่ายๆ เหมือนเราเป็นหญิงสาวไปดูหนังกับหนุ่มที่ไม่ไว้ใจเราพาน้องไปด้วยเพื่อกันท่าไม่ให้เจ้าหนุ่มลามปาม เมื่อคุณกันท่าความคิดเจ้าประจำออกไปได้สำเร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคุณต้องถอยออกมาสมาธิเพื่อเปิดโอกาสให้ความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าปัญญาญาณได้มีโอกาสโผล่ขึ้นมาบ้าง ย้ำ ปลายทางของการใช้สมาธิคือเพื่อกันความคิดเก่าออกไปเพื่อเปิดให้ความคิดชนิดใหม่คือปัญญาญาณได้โผล่บ้าง ปัญญาญาณนี้แหละที่จะนำทางคุณให้เห็นให้คุณยอมรับสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นแล้วปล่อยวางความคิดยึดถือในอัตตาได้สำเร็จ นั่นคือปลายทางที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าเราจะนั่งสมาธิกันเพื่อให้เกิดสมาธิลึกๆหรือเหาะเหินเดินอากาศได้ ไม่ใช่อย่างนั้น

กล่าวโดยสรุป ให้คุณพยายามต่อไป

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่น”

หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์