Latest

หมอห้ามกินผลไม้เพราะกลัวฟรุ้คโต้ส

(ภาพวันนี้: เชจ สมุนไพรฝรั่งกำลังออกดอก)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูกำลังลดน้ำหนักและน้ำตาลในเลือดเริ่มสูง มีคุณหมอแนะนำหนูห้ามกินผลไม้และให้กินอาหารโลว์คาร์บ โดยบอกว่าผลไม้มีฟรุคโต้สสูง ตัวฟรุ้คโต้สต้องเผาผลาญที่ตับทำให้เกิดไขมันแทรกตับ ทำให้เกิดไตรกลีเซอไรด์สูง ทำให้กรดยูริกสูง

ขอปรึกษาความเห็นอาจารย์สันต์ค่ะ

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ในประเด็นน้ำตาลเพิ่มโดยรวม ในภาพใหญ่วงการแพทย์ทั่วโลกตกลงกันได้เอกฉันท์ว่าทุกวันนี้คนกินน้ำตาลเยอะเกินไป ควรจำกัดน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในอาหารและเครื่องดื่น (added sugar) นอกเหนือจากน้ำตาลที่พึงมีในอาหารนั้นตามธรรมชาติ โดยออกกฎหมายบังคับให้แสดง added sugar ไว้แยกเป็นอีกบรรทัดหนึ่งใต้ total sugar ในฉลากอาหาร (อเมริกัน) ที่ต้องแยกอย่างนี้ก็เพื่อมุ่งให้ลดน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้ามา แต่ไม่ลดการกินพืชผักผลไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งก็ตามมาด้วยการที่อุตสาหกรรมอาหารพากันตั้งชื่อใหม่ให้น้ำตาลด้วยคำแปลกๆในฉลากอาหาร (มีถึง 56 ชิ่อรวมทั้งชื่อ “ฟลอริด้า คริสตัล” หิ หิ) เพื่อหลอกผู้บริโภคว่าอาหารนั้นไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่ม

สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) แนะนำว่าควรลดการกินน้ำตาลเพิ่ม (added sugar) จากวันละ 22 ช้อนชาเหลือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาในผู้หญิง ไม่เกิน 9 ช้อนชาในผู้ชาย ขณะที่ WHO และรัฐบาลอเมริกันโดย USDA แนะนำว่าไม่ควรกิน added sugar เกิน 10% ของแคลอรี่ต่อวัน กล่าวโดยสรุปเป็นเอกฉันท์ว่า added sugar ในเครื่องดื่มไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่กินเลยได้ ก็จะดี

2.. ในประเด็นพืชผักผลไม้ ทุกองค์กรแนะนำให้กินพืชผักผลไม้มากขึ้นโดยไม่มีองค์กรไหนแนะนำให้จำกัดการกินพืชผักผลไม้เลยไม่ว่าจะหวานมากหวานน้อยก็ตาม เพราะพืชผักผลไม้ที่หลากหลายสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรังลดลง รวมทั้งโรคเบาหวานด้วย

3.. ในประเด็นความกังวลว่าฟรุ้คโต้สในพืชผักผลไม้และน้ำปั่นไม่ทิ้งกากจะก่อผลเสียต่อร่างกายนั้น งานวิจัยในแล็บพบว่าตัวถ่วงดุลไม่ให้เกิดผลเสียนี้คือกากที่มากับพืชผักผลไม้นั้นเอง เพราะกากเป็นตัวชลอการดูดซึมฟรุ้คโต้ส ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่พบว่าผู้บริโภคผลไม้มากไม่ว่าจะหวานหรือไม่หวานเป็นโรคเรื้อรังรวมทั้งโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้บริโภคผลไม้น้อย ดังนั้นฟรุ้คโต้สในผลไม้ต่างจากฟรุ้คโตสในน้ำเชื่อมที่ใช้ทำน้ำหวานขาย ทุกองค์กรทั่วโลกจึงต่างพยายามสอนคนว่าไหนๆจะกินรสหวานทั้งทีขอให้กินรสหวานที่นำมาซึ่งสิ่งดีๆตามธรรมชาติอันได้แก่กาก ไวตามิน แร่ธาตุด้วย แทนที่จะกินรสหวานเพื่อเอาแต่ความหวานอย่างเดียว

4.. ประเด็นฟรุ้คโต้สที่เรากินกันทุกวันนี้มันมาจากไหน งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาย้อนหลังพบว่าในสมัยที่ยังไม่มีหัวน้ำเชื่อม high fructose corn syrup (HFCS) คนอเมริกันกินฟรุ้คโต้สจากน้ำตาลทรายและพืชผักผลไม้กันอย่างมากสุดก็ได้ฟรุคโต้สเฉลี่ยไม่เกินคนละ 15 กรัมต่อวัน แต่พอมีหัวน้ำเชื่อมออกมาทำน้ำหวานทุกชนิดขาย คนอเมริกันปัจจุบันนี้กินฟรุ้คโต้สเฉลี่ยคนละ 55 กรัมต่อวัน ไม่นับวัยรุ่นที่กินคนละ 72 กรัมต่อวัน พูดง่ายๆว่าฟรุ้คโต้สที่เขากลัวกันคือน้ำหวานทั้งหลายซึ่งอยู่ในเครื่องดื่มซอฟท์ดริ๊งค์ ทั้งน้ำผลไม้ทิ้งกาก ชา กาแฟ น้ำอัดลม ที่ใส่ขวดใส่กล่องขาย

5.. แล้วใครกันนะที่พยายามสร้างความกลัวผลไม้ โดยอาศัยลูกเล่นโยงให้เข้าใจผิดว่าฟรุ้คโต้สในผลไม้มีปริมาณมากเท่ากัน ดูดซึมได้มากเท่ากัน และมีคุณค่าทางโภชนาการมากเท่ากันกับฟรุ้คโต้สในหัวน้ำเชื่อม ตอบว่าก็จะมีใครที่ไหนละครับถ้าไม่ใช่อุตสาหกรรมอาหารที่ได้ประโยชน์จากการสร้างความกลัวคาร์โบไฮเดรต สร้างความกลัวพืช เพื่อให้คนยังคงบริโภคเนื้อสัตว์กันมากๆต่อไปเหมือนเดิม นี่เป็นธรรมดาของการทำมาหากินโดยอาศัยวิทยาศาสตร์เทียมเป็นเครื่องมือ พวกนี้จะโปรโมทอาหารโลว์คาร์บบ้าง อาหารปาลิโอบ้าง อาหารคีโตบ้าง ซึ่งล้วนมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ชัดเจนแล้วว่าในระยะยาวทำให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น

การโปรโมทให้คนกลัวผลไม้โดยใส่ไฟว่าผลไม้จะทำให้เป็นตับอักเสบจากไขมันแทรกตับนั้นเป็นการกุเรื่องโดยไม่มีหลักฐานข้อมูลความจริงรองรับ และเป็นการไขว้เองฟรุ้คโต้สในหัวน้ำเชื่อมมามั่วกับฟรุ้คโต้สในผลไม้ นับถึงวันนี้ยังไม่เคยมีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้มากกับการเป็นโรคตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ (NASH)

การโปรโมทให้คนกลัวผลไม้โดยอ้างว่าจะทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้นก็ไม่จริง เพราะงานวิจัยที่ดีมากชิ้นหนึ่งของฮาร์วาร์ดแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้ชนิดต่างๆซึ่งมีระดับความหวานแตกต่างกันกับการลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน โดยเขาตามดูคน 187,382 คนนานสิบกว่าปี ( 3,464,641 คน-ปี) ในระหว่างติดตามมีคนเป็นเบาหวานเกิดขึ้น 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์พบว่าความเสี่ยงเป็นเบาหวานลดลงตามปริมาณการกินผลไม้ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หวานหรือไม่หวานก็ตาม แต่แน่นอนว่างานวิจัยอีกมากบ่งชี้ว่าการดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลมาก สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

ในแง่ของคนที่เป็นเบาหวานแล้ว มีงานวิจัยที่ดีมากอีกงานหนึ่งแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งรักษาเบาหวานโดยการจำกัดผลไม้ อีกกลุ่มไม่จำกัดปริมาณเลยทั้งหวานและไม่หวาน แล้วตามดูผลไป 12 สัปดาห์พบว่าผลการรักษาในแง่ของน้ำตาลในเลือดและความไวต่ออินสุลินไม่ต่างกันเลย แสดงว่าการจำกัดผลไม้ไม่ใช่วิธีรักษาโรคเบาหวานที่ได้ผล

6.. ในประเด็นกลไกการเผาผลาญน้ำตาล นั้นวิทยาศาสตร์ทราบแน่ชัดแล้วว่ากลูโค้สกับฟรุ้คโตสมีการเผาผลาญแตกต่างกัน ดังนี้

กรณีที่ 1. หากเป็นกลูโค้สเมื่อเข้าไปในกระแสเลือดแล้ว 80% จะถูกอินสุลินเอาไปเก็บไว้ในเซลล์แล้วถูกเซลล์เผาผลาญไปหมด ที่เหลือราว 20% จะเข้าไปในตับเพื่อให้เซลล์ตับเปลี่ยนเป็นพลังงานสำรองชื่อไกลโคเจนเก็บไว้ในตับ เหลือน้อยมาก ประมาณ 5% จะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันผ่านกลไกที่เรียกว่า de novo lypogenesis กล่าวคือเปลี่ยนกลูโคสเป็น acetyl coA แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์เก็บแทรกไว้ในตับและแจกไปเก็บไว้ตามเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย หากยังเหลืออีกอินสุลินก็จะเอาไปยัดเยียดเก็บไว้ในเซลกล้ามเนื้อจนเซลกล้ามเนื้อรับไม่ไหว ซึ่งเป็นที่มาของการที่เซลกล้ามเนื้อพากันดื้อขัดขืนต่ออินสุลินอันเป็นปฐมเหตุของโรคเบาหวาน

กรณีที่ 2. หากเป็นฟรุคโต้ส ร่างกายจะเผาผลาญต่างออกไปโดยเกือบทั้งหมดจะถูกเผาผลาญที่ตับ กล่าวคือ 29-54% ถูกเปลี่ยนเป็นกลูโค้ส 25% ถูกเปลี่ยนเป็นแลคเตท ทั้งสองตัวนี้ต่างก็ถูกเอาไปเผาผลาญเป็นพลังงานทั้งหมด อีก 15-18% ถูกน้ำไปเก็บเป็นไกลโคเจน มีแค่ราว 1% ที่ถูกนำไปสร้างเป็นไขมันเก็บแทรกไว้ในตับหรือในเซลไขมันต่างๆ

7.. ถามว่าก็ในเมื่อหัวน้ำเชื่อม (HFCS) มีผลเสียต่อสุขภาพแล้วทำไมไม่แบนมันเสีย หิ หิ ตอบว่าคุณมาจากส่วนไหนของโลกหรือครับ ไม่รู้หรือว่าในโลกนี้ใครเป็นหมู่ใครเป็นจ่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้กำหนดว่าคุณจะได้กินอะไร จะไม่ได้กินอะไร นี่คือสัจจธรรม

นอกจากกำลังภายในของอุตสาหกรรมอาหารแล้ว หลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่จะพิสูจน์ว่า HFCS ทำให้เกิดโรคที่นอกเหนือไปจากโรคที่ก่อโดยกลูโค้สยังไม่มี และคงจะไม่มีจนกว่ามนุษย์จะสูญพันธ์ไปแล้ว เพราะการวิจัยระดับสูงเพื่อเปรียบเทียบมันทำไม่ได้ในชีวิตจริงดอก การปะติดปะต่อเชิงตรรกะทางสรีรวิทยาว่าฟรุ้คโตสต้องเผาผลาญโดยตับเท่านั้น ซึ่งผลที่เหลือจากการเผาผลาญของตับคือไตรกลีเซอรไรด์ กรดยูริก และอนุมูลอิสระ ซึ่งล้วนไม่ใช่ของดี โอเค. ฟังดูแล้วน่าเลื่อมใส แต่ว่านั่นมันเป็นแค่หลักฐานในห้องวิจัยซึ่งเป็นหลักฐานระดับต่ำ ไม่ใช่หลักฐานวิจัยการเกิดโรคจริงในคนแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ เรื่องนี้จึงจะเถียงกันต่อไปได้ไม่มีวันเลิก ตอนนี้หากยึดถือตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ระด้บเชื่อถือได้เราบอกได้แค่ว่าน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากน้ำตาลในอาหารธรรมชาติ (added sugar) เป็นส่วนเกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ บอกได้แค่นั้น

8.. การเสพย์ติดรสหวานเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครยอมพูดถึง ผู้บริโภคก็ไม่โวยวายเพราะไม่อยากลงแดงจากการไม่ได้เสพย์รสหวาน วงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่าการเสพย์ติดน้ำตาลมีกลไกในสมองเหมือนการเสพย์ติดยาเสพย์ติดทั้งหลายเพราะการเลิกต้องมีการลงแดง (withdrawal symptom) และในบรรดารสอาหารที่คนเสพย์ติด รสหวานเป็นรสที่คนเสพย์ติดมากที่สุด

กล่าวโดยสรุปน้ำตาลทุกชนิดและการเสพย์ติดรสหวานเป็นผลเสียต่อสุขภาพ วิธีแก้ปัญหานี่ง่ายนิดเดียว ก็คือให้คุณเลิกเสพย์ติดรสหวานเสีย ยอมลงแดงสักพัก แล้วเลิกซื้อน้ำหวานกิน สุขภาพคุณก็จะดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับว่าฟรุ้คโต้สกับกลูโค้สใครเลวกว่ากัน ไม่ต้องไปลากผลไม้มาพัวพันว่าไม่ดีด้วย ไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรกับคนทำอาหารขาย แค่เลิกเสพย์ติดรสหวานและเลิกดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลด้วยตัวคุณเองเสีย แค่นี้ก็โอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Muriel P, López-Sánchez P, Ramos-Tovar E. Fructose and the Liver. Int J Mol Sci. 2021 Jun 28;22(13):6969. doi: 10.3390/ijms22136969. PMID: 34203484; PMCID: PMC8267750.
  2. Muraki Isao, Imamura Fumiaki, Manson JoAnn E, Hu Frank B, Willett Walter C, van Dam Rob M et al. Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies BMJ 2013; 347 :f5001
  3. Christensen, A.S., Viggers, L., Hasselström, K. et al. Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes – a randomized trial. Nutr J 12, 29 (2013). https://doi.org/10.1186/1475-2891-12-29
  4. 1. Walker RW, Dumke KA, Gran MI. Fructose content in popular beverages made with and without high-fructose corn syrup.  Nutrition 2014; 30 (7-8) : 928–935 DOI: http://dx.doi.org/10.1016/j.nut.2014.04.003
  5. 2. R. J. Johnson, M. S. Segal, Y. Sautin et al., “Potential role of sugar (fructose) in the epidemic of hypertension, obesity and the metabolic syndrome, diabetes, kidney disease, and cardiovascular disease1-3,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 86, no. 4, pp. 899–906, 2007.
  6. 3. I. H. Fox and W. N. Kelley, “Studies on the mechanism of fructose-induced hyperuricemia in man,”Metabolism, vol. 21, no. 8, pp. 713–721, 1972.
  7. 4. M. A. Lanaspa, L. G. Sanchez-Lozada, C. Cicerchi, et al., “Uric acid stimulates fructokinase and accelerates fructose metabolism in the development of fatty liver,” PLoS One, vol. 7, no. 10, Article ID e47948, 2012.
  8. 5. E. Fiaschi, B. Baggio, S. Favaro, et al., “Fructose-induced hyperuricemia in essential hypertension,”Metabolism, vol. 26, no. 11, pp. 1219–1223, 1977.
  9. 6.  K. L. Stanhope and P. J. Havel, “Fructose consumption: potential mechanisms for its effects to increase visceral adiposity and induce dyslipidemia and insulin resistance,” Current Opinion in Lipidology, vol. 19, no. 1, pp. 16–24, 2008.
  10. 7. K. A. Lê, D. Faeh, R. Stettler et al., “A 4-wk high-fructose diet alters lipid metabolism without affecting insulin sensitivity or ectopic lipids in healthy humans,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 84, no. 6, pp. 1374–1379, 2006.
  11. 8. G. A. Bray, S. J. Nielsen, and B. M. Popkin, “Consumption of high-fructose corn syrup in beverages may play a role in the epidemic of obesity,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 79, no. 4, pp. 537–543, 2004.
  12. 9. F. B. Hu and V. S. Malik, “Sugar-sweetened beverages and risk of obesity and type 2 diabetes: epidemiologic evidence,” Physiology and Behavior, vol. 100, no. 1, pp. 47–54, 2010.
  13. 10.  V. S. Malik, M. B. Schulze, and F. B. Hu, “Intake of sugar-sweetened beverages and weight gain: a systematic review,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 84, no. 2, pp. 274–288, 2006.
  14. 11.  R. A. Forshee, P. A. Anderson, and M. L. Storey, “Sugar-sweetened beverages and body mass index in children and adolescents: a meta-analysis,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 87, no. 6, pp. 1662–1671, 2008.
  15. 12. V. Ha, J. L. Sievenpiper, R. J. de Souza, et al., “Effect of fructose on blood pressure: a systematic review and meta-analysis of controlled feeding trials,” Hypertension, vol. 59, no. 4, pp. 787–795, 2012.
  16. 13. M. B. Schulze, J. E. Manson, D. S. Ludwig et al., “Sugar-sweetened beverages, weight gain, and incidence of type 2 diabetes in young and middle-aged women,” Journal of the American Medical Association, vol. 292, no. 8, pp. 927–934, 2004.
  17. 14. S. Z. Sun, G. H. Anderson, B. D. Flickinger, P. S. Williamson-Hughes, and M. W. Empie, “Fructose and non-fructose sugar intakes in the US population and their associations with indicators of metabolic syndrome,” Food and Chemical Toxicology, vol. 49, no. 11, pp. 2875–2882, 2011.
  18. 15. D. I. Jalal, G. Smits, R. J. Johnson, and M. Chonchol, “Increased fructose associates with elevated blood pressure,” Journal of the American Society of Nephrology, vol. 21, no. 9, pp. 1543–1549, 2010.
  19. 16.  Y. H. Kim, G. P. Abris, M. K. Sung, and J. E. Lee, “Consumption of sugar-sweetened beverages and blood pressure in the United States: the national health and nutrition examination survey 2003–2006,”Clinical Nutrition Research, vol. 1, no. 1, pp. 85–93, 2012.
  20. 17. K. L. Teff, S. S. Elliott, M. Tschöp et al., “Dietary fructose reduces circulating insulin and leptin, attenuates postprandial suppression of ghrelin, and increases triglycerides in women,” Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism, vol. 89, no. 6, pp. 2963–2972, 2004.
  21. 18.  M. I. Goran, S. J. Ulijaszek, and E. E. Ventura, “High fructose corn syrup and diabetes prevalence: a global perspective,” Global Public Health, vol. 8, no. 1, pp. 55–64, 2013.
  22. 19. A. Masotti, “Comment on: Visinoni et al. The role of liver fructose-1,6-bisphosphatase in regulating appetite and adiposity, Diabetes, vol. 61, pp. 1122–1132, 2012,” Diabetes, vol. 61, no. 12, article e20, 2012.
  23. 20. J. R. Palmer, D. A. Boggs, S. Krishnan, F. B. Hu, M. Singer, and L. Rosenberg, “Sugar-sweetened beverages and incidence of type 2 diabetes mellitus in African American women,” Archives of Internal Medicine, vol. 168, no. 14, pp. 1487–1492, 2008.