Latest

ฟังพระสวดในงานศพแล้วอยากเข้าใจความหมาย

(ภาพวันนี้: รักแรกพบ)

คุณหมอครับ

ผมไปงานศพ พยายามฟังพระสวด เปิดเน็ทดูคำแปล แต่ไม่เข้าใจเลยเพราะแปลแล้วเหมือนไม่ได้แปล คำแปลแต่ละเพจก็แปลไม่เหมือนกัน ต่างกันแบบคนละเรื่องเลยและทุกคำแปลอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่วางต้นฉบับซึ่งเหมือนกันไว้คู่คำแปล แต่แปลไม่เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าบทสวดนี้มันจะต้องมีความหมายดี ไม่งั้นจะเอามาให้สวดกันทุกงานศพทำไม คืนหนึ่งผมตัดสินใจเดินจี้ตามหลวงพ่อที่นำสวดแล้วเดินไปยิงคำถามท่านไป ท่านตอบว่าเรื่องมันยาวให้ผมเข้ามาเรียนปริยัติธรรม (ที่วัดนี้มีโรงเรียนปริยัติธรรม) ผมต้องเรียนหนังสือคงไปเข้าไม่ได้ แต่ผมอยากรู้จริงๆว่าในงานสวดบทที่พระสวดซ้ำๆซากๆทุกงานนั้นมันมีเนื้อหาสอนเรื่องอะไร ผมค้นในเน็ทแล้วชื่อของคุณหมอขึ้นมาเป็นผู้สอน Spiritual Retreat ผมจึงตามอ่านการตอบจดหมายของคุณหมอ อ่านแล้วผมเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คุณหมอพูดถึงเนื้อหาของธรรมจักรกัปวัตตนสูตร และอัตตลักขณสูตร ผมอ่านแล้วเข้าใจทันที

ผมขอรบกวนขอให้คุณหมอช่วยตอบคำถามของผมด้วยนะครับ

………………………………………………………………

ตอบครับ

จดหมายของคุณท่าจะมาผิดที่เสียแล้วกระมัง แต่ถามมาผมก็จะตอบให้

บทสวดในงานศพมีสองส่วนนะ

ส่วนที่ 1. ที่พระสวดตอนที่หยิบเอาผ้านุ่งห่มออกมาจากศพ ที่เรียกแบบบ้านๆว่าชักผ้าบังสุกุล เป็นบทสวดสั้นๆ ผมฟังบ่อยเสียจนจำภาษาบาลีได้จึงลงให้ดูด้วย

คำสวดจริงว่า.. “อนิจฺจา วต สังฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข”

หมอสันต์แปลว่า… “ความคิด เป็นของไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นธรรดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดความคิดเมื่อไหร่ ก็เป็นสุขเมื่อนั้น”

ผมแปลแบบถอดความคำต่อคำ แต่ถอดออกมาแล้วอาจไม่เหมือนคำแปลที่คุณเคยเห็นทั่วไป แต่ไม่ว่าใครจะแปลเพื้ยนหรือไม่เพี้ยน เนื้อหาของบทสวดนี้ตรงๆง่ายๆและมีประโยชน์ ผมแนะนำว่าทุกครั้งที่ฟังพระสวดบทนี้ ให้คุณคิดถึงเนื้อหาที่ผมแปลนี้ไปด้วย เพื่อเตือนตัวคุณเองไม่ให้ลืมที่จะฝึกหัดวางความคิดในชีวิตประจำวัน

ส่วนที่ 2. เป็นบทสวดเป็นชุด ที่คณะสงฆ์นั่งสวดเป็นแถวพร้อมกันหน้าศพให้ญาติโยมที่ไปอยู่เป็นเพื่อนศพฟัง ส่วนใหญ่จะสวดกันคืนละสี่รอบ เนื้อหาแต่ละรอบเหมือนเดิม คำสวดแต่ละรอบมี 7 ตอน แต่ละตอนเป็นการย่อเอาบางส่วนของหนังสือ “อภิธรรม” มาสวด จะว่าย่อก็ไม่เชิง เพราะบางบทเหมือนฉีกเอามาอ่านให้ฟังแค่ครึ่งหน้า ดังนั้นจะหวังให้ฟังบทสวดแล้วเข้าใจหนังสือคงไม่ได้

อีกอย่างหนึ่งอภิธรรมนี้เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยคนรุ่นหลัง แต่ถูกมัดรวมเป็นหนึ่งก้อนในสามก้อนของพระไตรปิฎกโดยที่อีกสองก้อนเป็นคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า หนังสือประวัติศาสตร์ศาสนาบางเล่มเล่าว่าก่อนที่กองทัพเผ่าเตอร์กจะรุกเข้าไปในอินเดีย ศาสนาพุทธแตกออกเป็นถึง 18 นิกาย แต่ละนิกายก็มี “อภิธรรม” ของตัวเองซึ่งไม่เหมือนกัน เรียงหัวข้อก็ไม่เหมือนกัน ผมจึงจะจับเอาแต่ใจความใหญ่ ว่าในอภิธรรมนี้เขาเจาะจงพูดถึงแต่สิ่งที่เป็นของจริง (ปรมัตถ์) โดยแบ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นหมวดหมู่สี่หมวด คือ

(1) ความรู้ตัว ของปัจเจกบุคคล (individual consciousness) ที่เกิดขึ้นในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของใจ (mind) ของคนเรา หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะผู้สังเกต (the observer) ที่มองออกไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล

(2) ส่วนประกอบอื่นๆของใจ (mind) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้ตัวและเกิดในที่เดียวกับความรู้ตัวนั่นแหละ เช่น ความรู้สึก (feeling) ความจำ (memory) ความคิด (though) หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะของสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed)

(3) สิ่งที่จับต้องมองเห็นบอกเรือนร่างรูปทรงได้ เป็นเป้าของการสังเกตได้ หมวดนี้ก็จัดอยู่ในฐานะของสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) เช่นกัน

(4) ความรู้ตัวที่ปลอดส่วนประกอบอื่นๆของใจ (universal consciousness) หมายถึงความรู้ตัวที่ไม่มีความคิดไม่มีความรู้สึกใดๆของปัจเจกบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง หมวดนี้จัดอยู่ในฐานะของผู้สังเกต (the observer) ที่เป็นอิสระจากสำนึกว่าเป็นบุคคล

สี่อย่างนี้คือ scope หรือกรอบเนื้อหาของหนังสืออภิธรรม การตีความเนื้อหาผมจะตีความภายใต้กรอบนี้

เอาละทีนี้มาฟังสวด เวลาคุณฟังพระสวด ท่านจะสวดไปทีละบทๆ รวม 7 บท ซึ่งตัดมาจากอภิธรรม 7 คัมภีร์ ดังนี้

บทที่ 1. (พระสังคิณี) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา… ฯลฯ”

เนื้อหาผมแปลว่า “ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในใจมีหลายแบบ แบบคิดดีก็มี คิดไม่ดีก็มี คิดชนิดจะว่าดีก็ไม่ใช่ไม่ดีก็ไม่เชิงก็มี ให้เน้นที่คิดดีว่าเป็นอย่างไร ในแต่ละขณะให้มีปัญญารู้ทันสิ่งเร้าที่ความรู้ตัวเข้าไปรับรู้อย่างยอมรับมัน (กามาวจรกุศลจิต = consciousness of the sense) ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความคิดที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นอย่าฟุ้งสร้านไปตามสิ่งเร้า แค่เห็นมันเป็นกระแสของสิ่งหนึ่งก่อให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งต่อๆกันไปตามธรรมชาติ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าคิดดี”

บทที่ 2. (พระวิภังค์) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า.. “ปัญจะขันธา รูปักขันโธ เวทนากขันโธ… ฯลฯ”

เนื้อหาผมแปลว่า ชีวิตนี้ประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ (1) สิ่งที่จับต้องมองเห็นได้ (รูป) (2) ความรู้สึก (3) ความจำ (4) ความคิด และ (5) ความรู้ตัว (consciousness)

รูป หมายถึงสิ่งจับต้องมองเห็นได้ ทั้งในอดีตปัจจุบันอนาคต ทั้งในกาย นอกกาย ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งที่ทราม ทั้งที่ปราณีต ทั้งไกล ทั้งใกล้ ทั้งหมดนี้จัดเป็นรูปที่จับต้องมองเห็นได้

บทที่ 3. (พระธาตุกถา) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า… “สังคะโห อสังคะโห สังคะหิเต อสังคะหิตัง… ฯลฯ

เนื้อหาผมแปลว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจเรานี้ บางอย่างมันจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกันได้ บ้างจัดเข้าเป็นหมวดเดียวกันไม่ได้เลย บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งได้แต่เข้ากับอีกอย่างไม่ได้ บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งได้แล้วยังเข้ากับอย่างอื่นได้อีกด้วย บ้างเข้ากับอย่างหนึ่งไม่ได้แถมยังเข้ากับอย่างอื่นไม่ได้เลยด้วย บ้างประกอบกันได้ (เกิดดับเหมือนกัน) บ้างประกอบกันไม่ได้ บ้างประกอบสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันเข้ากับสิ่งที่เกิดดับไม่เหมือนกันได้ บ้างประกอบสิ่งที่เกิดดับไม่เหมือนกันเข้ากับสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันได้ ทั้งนี้ไม่ควรเอาสิ่งที่เข้าหมวดหมู่ไม่ได้มาจัดเข้าหมวดหมู่

(บทสวดนี้เป็นแค่การตัดเอาบทเกริ่นนำของเนื้อหาหนังสือซึ่งจะสอนการจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ โดยเพิ่งพูดถึงแค่หลักการจัดหมวดหมู่สรรพสิ่ง ยังไม่ได้ลงไปจัดหมวดหมู่จริงๆเลย จึงอย่าแปลกใจที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง)

บทที่ 4. (พระปุคคะละปัญญัติ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “ฉะ ปัญญัตติโย ขันธะปัญญัตติ อายะตะนะ ปัญญัตติ… ฯลฯ” ส่วนนี้เป็นความพยายามของผู้หวังดีรุ่นที่หลังเขียนขึ้นเพื่ออธิบายบทที่ 3 (พระธาตุกถา) ซึ่งผมแปลแบบจับความว่าให้จำแนกหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆออกเป็น 6 หมวด คือ

หมวดที่ 1. ส่วนประกอบของชีวิตห้าอย่าง

หมวดที่ 2. อายตนะ (ตัวกลางสื่อการรับรู้ เช่นตา หู จมูก )

หมวดที่ 3. ธาตุ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ)

หมวดที่ 4. สัจจ (ถ้าเป็นสิ่งที่คนรวมหัวกันตั้งขึ้นเช่น ดีชั่ว ถูกผิด เรียกว่า “สมมุติสัจจ” ถ้ามันมีของมันอยู่ก่อนแล้วเช่น “ความรู้ตัว” เรียกว่าปรมัตสัจจ)

หมวดที่ 5. อินทรีย์ (คืออำนาจครอบงำ เช่นศรัทธามีอำนาจครอบงำความไร้ศรัทธา ความขยันมีอำนาจครอบงำความขี้เกียจ เป็นต้น)

หมวดที่ 6. บุคคล (เช่นอย่างนี้เรียก “ปุถุชน” อย่างนี้เรียกว่า “อริยบุคคล” เป็นต้น)

บทที่ 5. (พระกถาวัตถุ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “ปุคคโลอุปะลัพภะติ สัจฉิกัตถะปะนะมัตเถนาติ … ฯลฯ” มีเนื้อหาเป็นเหมือนคำวินิจฉัยความเข้าใจผิด (ของนิกายย่อยต่างๆ) อันไหนถูกอันไหนผิดไปจากคำสอนหลัก (เถรวาท) มีประเด็นวินิจฉัยเป็นร้อยๆประเด็น แต่ที่ตัดมาสวดในงานศพเป็นประเด็นการวินิจฉัยว่าการเข้าใจว่าความเป็นบุคคลเป็นความจริงที่ถาวร (ปรมัตถ์) นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยสวดเป็นบทถามตอบ ประมาณว่า

“..(ผู้ถาม) : ความเป็นบุคคลนี้เป็นของจริงแท้ถาวร(ปรมัตถ์) หรือ
(ผู้ตอบ) : ใช่
(ผู้ถาม) : ถ้าอย่างนั้นเราก็หาสิ่งที่จริงแท้ถาวร (ปรมัตถ์) ได้ในความเป็นบุคคลสิ
(ผู้ตอบ) : อย่าพูดอย่างนั้น
(ผู้ถาม) : อ้าว ท่านผิดแล้ว เพราะท่านยอมรับแต่หลักการแห่งตรรกะในข้อแรก แต่ไม่ยอมรับหลักการแห่งตรรกะในข้อหลัง ทั้งๆที่มันเป็นหลักการเดียวกัน คำกล่าวของท่านจึงผิด..”

บทที่ 6. (พระยะมะกะ) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “เย เกจิ กุสะลา ธัมมา กุสะละมูลา… ฯลฯ” มีเนื้อหาเป็นการสอนโดยวิธีถามย้อนแย้งให้คิดวิเคราะห์ในแต่ละเรื่องแบบเป็นคู่ๆในทางกลับกัน ซึ่งในหนังสืออภิธรรมจริงๆมี 10 เรื่องหรือ 10 คู่ แต่ที่ตัดมาสวดในงานศพมีคู่เดียว คือถามให้วิเคราะห์ว่ากุศลธรรม (การทำดี) เป็นกุศลมูล (รากเหง้าของการทำดี เช่น ปัญญา เมตตา ไม่โลภ เป็นต้น) หรือว่าในทางกลับกัน กุศลมูล เป็นเหตุให้เกิดกุศลธรรม

บทที่ 7. (พระมหาปัฏฐาน) ซึ่งตั้งต้นคำสวดว่า “เหตุปัจจะโย อารัมะณะปัจจะโย… ฯลฯ” มีเนื้อหาเล่าถึงกลไกธรรมชาติที่เมื่อมีสภาวะที่เป็นเหตุเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่ผล โดยยกตัวอย่างว่าผลที่เกิดขึ้นในใจมันเกิดขึ้นจากเหตุต่างๆอะไรได้บ้างเยอะแยะผมขอไม่แปลละเอียดแล้วนะ..เพราะง่วง

สรุป คอนเซ็พท์ใหญ่ของหนังสือ “อภิธรรม” คือ ในหนึ่งชีวิตนี้ มันมีสองอย่างเท่านั้น ได้แก่

(1) ความรู้ตัวหรือความสามารถในการรับรู้ (consciousness หรือ the observer) กับ

(2) สิ่งที่ถูกรับรู้ (the observed)

โดยกลไกที่โลกและชีวิตดำเนินไปก็คือการที่ the observer ไปรับรู้ the observed ถ้ารับรู้ให้เป็นหรือรับรู้ให้เท่าทันก็จะไม่ทุกข์

บทสวดงานศพทั้งเจ็ดบทตัดตอนมาจากหน้าแรกๆของแต่ละคัมภีร์ของชุดหนังสืออภิธรรม ไหนๆต้องไปนั่งฟังสวดอยู่แล้วก็ให้ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนสาระในภาพใหญ่ของหนังสืออภิธรรมตามไปด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์