Latest

ความดัน 152/96 ถ้าไม่กินยาแล้วจะมีอะไรในกอไผ่ไหม

(ภาพวันนี้ / เช้านี้ หน้าบ้าน)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นวิศวกร อายุ 60 ปี ไปหาหมอทีไรวัดความดันได้ 152/96 ส่วนใหญ่จะวัดตัวบนได้เกิน 150 ไปนิดๆ แต่อยู่ที่บ้านจะวัดได้ราว 140 ผมไม่เคยมีอาการป่วยอะไร บุหรี่ผมก็ไม่สูบ แต่หมอก็จะยัดเยียดให้ผมทานยาลดความดันอยู่เรื่อย โดยให้ข้อมูลผมว่าถ้าผมไม่ทานยาลดความดันแล้วผมจะเป็นอัมพาต และเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ผมอยากทราบว่ามันจริงหรือครับ ถ้าจริงโอกาสที่ผมจะเป็นอย่างนั้นมันมีอยู่สักกี่เปอร์เซ็นต์ครับ และถ้าผมทานยา ผมจะลดความเสี่ยงนั้นลงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ผมจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะทานหรือจะไม่ทานยา

ขอบคุณคุณหมอที่ขยันให้ความรู้ที่มีประโยชน์มากครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าคนไม่มีอาการป่วยอะไรแต่ความดันสูงเกิน 140/90 แต่ไม่เกิน160/100 อย่างคุณนี้ซึ่งทางแพทย์เขาเรียกว่าคนเป็นความดันเลือดสูงระดับเบาชนิดไม่มีอาการ (asymptomatic mild hypertension) ถ้าไม่กินยาลดความดัน แล้วจะเป็นอัมพาตหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างที่หมอเขาว่าจริงไหม ตอบว่าไม่จริงครับ หากมองไปข้างหน้า 5 ปี

นี่ผมตอบตามงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสของหอสมุดโค้กเรนซึ่งเอาข้อมูลงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบสี่งาน ที่แบ่งผู้ป่วยความดันเลือดสูงระดับไม่เกิน 160/100 จำนวน 8913 คนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยาลดความดันของจริงเพื่อให้ความดันลงมาต่ำกว่า 140/90 อีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอกโดยไม่สนว่าความดันจะเพิ่มหรือจะลดเป็นเท่าไหร่ แล้วติดตามดูผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้ไป 5 ปี แล้วได้พบว่า

-อัตราตายรวม (total mortality) ไม่ต่างกัน (RR 0.85, 95% CI 0.63, 1.15).
-อัตราเป็นโรคหัวใจ (coronary heart disease) ไม่ต่างกัน (RR 1.12, 95% CI 0.80, 1.57)
-อัตราเป็นอัมพาต (stroke) ไม่ต่างกัน (RR 0.51, 95% CI 0.24, 1.08)
-อัตรเกิดเรื่องป่วยเกี่ยวกับหัวใจ (total cardiovascular events) ไม่ต่างกัน (RR 0.97, 95% CI 0.72, 1.32).

การรักษาผู้ป่วยความดันเลือดสูงที่วัดได้ต่ำกว่า 160/100 และที่ไม่มีอาการป่วยอะไรนี้ เรียกว่าเป็นการลดความดันเลือดเพื่อการป้องกันปฐมภูมิ (primary prevention) หมายความว่าให้ยาเพื่อป้องกันจุดจบที่เลวร้ายของโรคเรื้อรังแม้มันจะยังไม่เกิดขึ้น เป็นคอนเซ็พท์ที่วงการแพทย์ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน ด้วยความเชื่อว่ามันจะป้องกันได้ แต่ความเป็นจริงที่ได้จากงานวิจัยนี้คือมันไม่มีประโยชน์เลยแม้จะให้ยาไปนานถึง 5 ปี

พ้นจาก 5 ปีไปแล้วจะมีประโยชน์ไหม อันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะการจะตอบคำถามนี้ต้องระดมอาสาสมัครมากินยาซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยใน 5 ปีแรก โดยให้เขาสัญญาว่าจะกินยานี้ไปนานถึง 10 ปี คงจะระดมได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้นท่านอย่างเพิ่งไปอยากรู้ข้อมูลว่าหากให้ยาไปนานเกิน 5 ปีแล้วจะเป็นอย่างไรเลย เพราะข้อมูลนั้นอาจจะไม่มีเลยแม้ในอนาคต ให้ใช้ข้อมูล 5 ปีนี้ไปก่อน ซึ่งสรุปไดเแล้วว่าความดันต่ำกว่า 160/100 กินยาไม่กินยาก็แป๊ะเอี้ย แปลว่าไม่ต่างกัน

ขณะเดียวกันงานวิจัยนี้พบว่าผู้ป่วยที่กินยาจริงได้รับผลข้างเคียงหรือฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ของยามากกว่ากลุ่มที่กินยาหลอก 9% (ARR) แปลไทยเป็นไทยว่าขณะที่ยารักษาความดันสูงไม่ได้ป้องกันอัมพาตและหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยความดันไม่เกิน 160/100 นั้น การกินยาจะได้รับพิษภัยจากยาประมาณ 9% ของผู้กินทั้งหมด

2. ถามว่า เออ.. ประโยชน์ก็ไม่ได้ แถมได้แต่โทษ แล้วทำไมหมอให้กินยาละ ตอบว่าผมไม่ทราบ เพราะผมไม่ได้เป็นคนให้ยา (หิ หิ ขอโทษ เปล่ากวน) ถ้าจะให้ผมเดา ผมเดาเอาว่าเพราะหมอเขาคงใช้ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ทำวิจัยในคนที่มีอาการของโรคแล้ว เช่นเป็นอัมพาตหรือเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดแล้ว คนไข้พวกโน้นจะได้ประโยชน์จากการลดความดันเลือดที่สูงเกิน 140/90 แต่ไม่เกิน 160/100 อุปมาเหมือนคนทำผิดขึ้นศาลสองศาล ศาลแรกพิพากษาว่าผิด อีกศาลพิพากษาว่าไม่ผิด เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกัน หรือไม่ก็ตีความกฎหมายฉบับเดียวกันด้วยดุลพินิจที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของคนไข้ เป็นเรื่องของแพทย์เขาล้วนๆ คนไข้ก็ควรเอาแต่เรื่องของคนไข้ คือทราบข้อมูลครบถ้วนแล้วก็ตัดสินใจด้วยตัวเองซะ ว่าจะกินยาหรือไม่กินยา แค่ เนี้ยะ.. จบข่าว ไม่ต้องไปยุ่งกับส่วนที่ว่าทำไมแพทย์คนโน้นว่ายังงี้ทำไม่แพทย์คนนี้ว่ายังงั้น

3.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ ว่าความดัน 152/96 จะกินยาหรือไม่กินยานั้นผมไม่เกี่ยงเลย แต่จะไม่ทำอะไรเลยนั้นคงไม่ดี ผมแนะนำว่าอย่างน้อยคุณควรปฏิบัติตนไปในทิศทางที่จะทำให้ความดันเลือดลดลงใน 6 เรื่อง คือ

(1) ลดน้ำหนักถ้าอ้วน

(2) เปลี่ยนอาหารมากินอาหารที่มีพืชผักผลไม้มากๆ

(3) ลดการกินเกลือลง พูดง่ายๆว่าอย่ากินเค็ม

(4) ออกกำลังกาย

(5) ลดหรือเลิกแอลกอฮอล์

(6) จัดการความเครียดให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านอนไม่หลับก็ให้แก้ไขเสีย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Diao D, Wright JM, Cundiff DK, Gueyffier F. Pharmacotherapy for mild hypertension. Cochrane Database Syst Rev. 2012 Aug 15;2012(8):CD006742. doi: 10.1002/14651858.CD006742.pub2. PMID: 22895954; PMCID: PMC8985074.