Latest

อย่าเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายมากทำให้ไตเสียหายหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง

(ภาพวันนี้ / อะโวกาโด้ฝีมือหมอสันต์ กิ่งพันธ์ุดีที่เสียบตาไม่ออก มาออกที่กิ่งต้นตอ หมายความว่าไงเนี่ย)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่นับถือ

ดิฉันเขียนมาด้วยเหตุเพราะมีความคิดขึ้นมาเฉยๆ ว่า “พักหลังนี้คุณหมอไม่ได้พูดถึงเรื่องออกกำลังกายของตัวคุณหมอเอง” “คุณหมอยังคงออกกำลังกายหนักจนร้องเพลงไม่เพราะอยู่หรือเปล่า” “ปล่อยให้ลูกศิษย์คนนี้ออกอยู่คนเดียวหรือเปล่า อาจารย์ไม่ออก”  ฯลฯ ที่มีความคิดเรื่องออกกำลังกายเพราะดิฉันกำลังสงสัยตัวเองว่าออกกำลังกายมากเกินกว่าสภาพร่างกายตามอายุของตัวเองหรือเปล่า (ปีนี้ 61 ปี สูง 160 นน. 48 กก. ) เพราะผลตรวจค่า Cr. กับค่า eGFR ลดลง เมื่อผ่านมาครบนัดก็ไปตรวจอีก พอได้ผลแล็บ คุณหมอไตถึงกับยิ้มกว้าง เรื่องคือคุณหมอไตได้บอกล่วงหน้าไว้แล้วเมื่อเดือนก่อนว่าก่อนมาตรวจครั้งนี้ให้งดออกกำลังกายไปเลย 7-10 วันเพื่อกำจัดปัจจัยกวน เราจะได้หาสาเหตุที่ทำให้ค่าไตมันรูดต่ำลงจนน่าตกใจ ผลตรวจเลือดไตค่าคราวนี้ (11 กค 2566) คือ Cr. = 0.89 eGFR = 70.669 มันเพิ่มจากเมื่อวันที่ 15 มิย 2566 อย่าง significant แยะมากค่ะ คือคราวก่อน Cr. = 1.02 eGFR = 59.930 และก่อนตรวจดิฉันก็ดื่มน้ำเยอะขึ้นด้วยค่ะไม่ปล่อยตัวแห้งเกิน ขอเรียนปรึกษาว่า ดิฉันออกกำลังกายมากเกินไปหรือเปล่า ดูจากผลเลือดคราวนี้มันชวนให้คิดว่าออกกำลังกายเกินตัวไปหรือเปล่า ออกหนักมากค่ะ cardio นี่ตื่นขึ้นมาตี 4 ต้องได้อย่างน้อย 50 นาที หัวใจตาม apple watch บอกไปที่ 140-150 เลยค่ะ cardio ตามช่องในยูทูปค่ะ หนักและเหนื่อยมาก บางครั้งก็ออกแบบ HITT ด้วยค่ะ และออก(แทบ)ทุกวันค่ะ จริงๆ ค่ะ แถมบางวันมีรอบ 2-3 ถ้าหากกินเผือกนึ่ง/มันนึ่งเยอะเกินไปก็ลุกมาออกอีก  เหนื่อยแต่สนุกและสบายตัวและนอนหลับสนิท ชอบมากค่ะ คอยดู apple watch ตลอดทั้งวันว่าวันนี้เดินไปกี่ก้าว ผลาญ calorie ไปถึงเป้าหรือยัง เป็นลูกศิษย์คุณหมอสันต์ที่ดีมากค่ะ ไม่ใช่แค่ออกเหนื่อยจนร้องเพลงไม่เพราะเท่านั้นค่ะ ออกจนหอบ จนหมดแรงแบบหมดสภาพเลยค่ะ เหงื่อแบบอาบน้ำตากฝนเลยค่ะ คิดว่าบางที่ตัวเองอาจจะเสพติดออกกำลังกายแล้วก็ได้ เพราะบางครั้งตั้งใจว่าวันนี้จะพัก แต่พอผ่านไป apple watch มันก็โชว์อยู่นั่นว่ายังไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ต้องลุกขึ้นมาออกค่ะ 

เขียนมาเล่าค่ะอาจารย์ และเรียนถามข้อเดียวค่ะเรื่องออกกำลังกายว่าออกมากเกินไปจริงๆ หรือเปล่า มันจะอันตรายต่อไตไหมคะ มันจะทำให้ไตพังหรือเปล่าคะ  

ขอแสดงความนับถือ

……………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าการออกกำลังกายทำให้เป็นโรคไตเรื้อรังมากขึ้นหรือเปล่า ตอบว่าเปล่าครับ อย่าเข้าใจผิดตรงนี้เชียวตรงกันข้าม การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเป็นโรคไตเรื้อรัง เป็นคำแนะนำมาตรฐาน (guidelines) มาทุกยุคสมัยว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องออกกำลังกาย และงานวิจัยการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะพบว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ออกกำลังกายจะตายน้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย[1]

นอกจากจะไม่ทำให้เป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว การออกกำลังกายยังทำให้โรคไตเรื้อรังดีขึ้นด้วย งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสพบว่าการออกกำลังกายช่วยทำให้ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR) เพิ่มขึ้น 2.16 mL/min/1.73 m2 [2]

2.. ถามว่าการออกกำลังกายหนักๆจะมีผลทำให้ตัวชี้วัดการทำงานของไตลดลงเป็นการชั่วคราวได้ไหม ตอบว่าได้ครับ เพราะเมื่อออกกำลังกายหนัก โปรตีนในกล้ามเนื้อรวมทั้งครีอาตินินจะสลายตัวออกมาในเลือดจึงเพิ่มค่าครีอาตินินซึ่งเป็นตัวที่ใช้คำนวนค่า GFR ผลก็คือคำนวณได้ค่า GFR ลดลงซึ่งนำไปสู่การแปลผลว่าไตทำงานแย่ลง แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงออกกำลังกายหนักไปทุกอย่างก็กลับมาปกติ งานวิจัยก่อนและหลังการออกกำลังกาย [3] พบว่าการออกกำลังกายหนักทำให้ค่า GFR ในผู้ใหญ่ลดลง 12% หลังการสิ้นสุดการออกกำลังกายหนักใหม่ๆ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่ามีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้นหลังการออกกำลังกายหนัก [4]

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในเรื่องนี้ทุกงานยืนยันตรงกันว่าการออกกำลังกายระดับหนัก (high intensity) แม้จะมีผลให้ตัวชี้วัดการทำงานของไตแย่ลงชั่วคราว แต่ไม่ได้ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่เนื้อไต (nephropathy) แปลไทยให้เป็นไทยว่าแม้หลังการออกกำลังกายหนักผลตรวจการทำงานของไตจะแย่ลงชั่วคราวแต่ไม่ได้หมายความว่าไตจะพังหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้นับรวมภาวะขาดน้ำ (dehydration) ที่นำไปสู่ภาวะใกล้ช็อก (pre-shock) หรือภาวะช็อก ขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดพยาธิสภาพที่ไตได้ และทำให้เกิดไตพิการแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นหากรักจะออกกำลังกายถึงระดับหนักต้องดูแลตัวเองไม่ให้ร่างกายขาดน้ำขณะออกกำลังกาย

3.. ถามว่าหมอสันต์จะแนะนำให้ลดความหนักของการออกกำลังกายลงไหม ตอบว่าถ้าออกหนักได้ดีอยู่แล้วก็สาธุที่ทำในสิ่งที่คนอื่นเขาทำไม่ได้ จงออกหนักต่อไปเถอะ เพราะการออกกำลังกายทุกระดับความหนักมีผลดีต่อร่างกายโดยรวมโดยไม่ได้มีผลเสียอะไรกับเนื้อไต เพียงแต่ขอให้ระวังการขาดน้ำไว้ให้จงดี

4.. ถามว่าทำไมระยะหลังหมอสันต์ไม่ค่อยพูดถึงการออกกำลังกาย หรือว่าตัวเองเลิกออกไปแล้ว ตอบว่ายังออกอยู่ในระดับที่คนแก่พึงออก คือออกแค่หนักพอควร ไม่เคยออกถึงหนักมาก..เพราะไม่มีปัญญา แต่ที่แน่ๆคือไม่ได้เลิก ในหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” ที่เพิ่งพิมพ์ไปหมาดๆนี้ มีรูปถ่ายผมใส่เสื้อกล้ามออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้ออยู่ในนั้นด้วย รูปพวกนั้นเพิ่งถ่ายไม่กี่เดือนนี่เอง เป็นหลักฐานว่าผมยังออกกำลังกายอยู่ แม้จะยอมรับอย่างอ้อมๆแอ้มๆว่าบางครั้งก็ห่าง บางครั้งก็ถี่ ระยะหลังนี้ห่างมากกว่าถี่ จดหมายของคุณเป็นเครื่องเตือนใจว่าผมควรจะถี่มากกว่าห่าง หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Beddhu S , Baird BC , Zitterkoph J et al. Physical activity and mortality in chronic kidney disease (NHANES III). Clin J Am Soc Nephrol 2009; 4: 1901– 1906
  2. Vanden Wyngaert K , Van Craenenbroeck AH , Van Biesen W et al. The effects of aerobic exercise on eGFR, blood pressure and VO2peak in patients with chronic kidney disease stages 3–4: a systematic review and meta-analysis. PLoS One 2018;13:e0203662
  3. Jacques R. Poortmans , Michel Ouchinsky, Glomerular Filtration Rate and Albumin Excretion After Maximal Exercise in Aging Sedentary and Active Men, The Journals of Gerontology: Series A, Volume 61, Issue 11, November 2006, Pages 1181–1185, https://doi.org/10.1093/gerona/61.11.1181
  4. Poortmans JR, Labilloy D. The influence of work intensity on postexercise proteinuria. Eur J Appl Physiol. 1988;57:260-263.