Latest

การแฟกับการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก สนามฝึกแยกแยะชั้นของหลักฐาน

(ภาพว้นนี้ / โสกน้ำ)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอ

มีคุณหมอ … ออกคลิปเรื่องไม่ควรดื่มกาแฟเพราะจะทำให้กระดูกพรุนกระดุกหัก มันเป็นความจริงหรือคะ ขอรบกวน

……………………………………………

ตอบครับ

การอ่านงานวิจัยกาแฟเป็นสนามฝึกการแยกแยะชั้นของหลักฐานที่ดี เพราะงานวิจัยเกี่ยวกับกาแฟมีมาก โดยมีทั้งระดับต่ำและระดับสูง ระดับต่ำคืองานวิจัยในห้องทดลองและสมมุติฐานเชิงสรีรวิทยา เช่นกาแฟลดการดูดซึมแคมเซี่ยมจากลำไส้ หรือกาแฟเพิ่มการขับแคลเซียมทิ้งในปัสสาวะ แล้วเอาข้อมูลแบบนั้นมา “อนุมาณ” (แปลว่าเดา) เอาว่าจะทำให้กระดูกพรุน แบบนี้เรียกว่า extrapolation เป็นหลักฐานระดับต่ำที่ยังเอามาใช้แนะนำการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟในคนจริงๆยังไม่ได้ ในบล็อกของผมจะไม่พูดถึงและไม่วิเคราาห์หลักฐานระดับต่ำเลย เพราะเสียเวลาผู้อ่าน วิเคราะห์ไปก็แค่รู้ไว้ใช่ว่า เอาไปใช้ประโยชน์จริงยังไม่ได้

งานวิจัยกาแฟระดับสูงขึ้นมาคืองานวิจัยงานวิจัยแบบตัดขวางในคนจริงๆตัวเป็นๆเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเกิดกระดูกพรุนกระดูกหักในคนจริงๆจำนวนนับเป็นแสนๆคน อย่างหลังนี้เป็นงานวิจัยระดับสูงขึ้นมาพอที่จะเอามาแนะนำการดื่มกาแฟในคนได้ ในบล็อกของผมจะพูดถึงงานวิจัยแบบหลังนี้เท่านั้น จะไม่พูดถึงสมมุติฐานหรือทฤษฎีทางสรีวิทยาใดๆทั้งสิ้น

เมื่อราวปี 2015 มีงานวิจัยขนาดใหญ่เรื่องนี้อยู่สองงาน

งานวิจัยหนึ่ง[1] เป็นการยำรวมข้อมูลงานวิจัยย่อย (เมตาอานาไลซีส) นับถึงปี 2014 ตีพิมพ์ในวารสาร Osteoporos Int. สรุปผลว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเกิดกระดูกพรุน

อีกงานวิจัยหนึ่ง[2] เป็นการวิจัยยำรวมข้อมูลแต่เลือกเอามาแต่งานวิจัยที่ทำวิจัยแบบแบ่งกลุ่มตามไปดูข้างหน้าเท่านั้น (prospective cohort study) ซึ่งถือว่าเป็นระดับชั้นของการวิจัยที่สูงกว่า ได้ผลสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับกระดูกพรุนกระดูกหักเช่นกัน

จากนั้นก็มีงานวิจัยกระป๊อกกระแป๊กทะยอยออกมาเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่ากาแฟสัมพันธ์กับกระดูกหักกระดูกพรุน บ้างก็ว่าไม่ คอกาแฟพออ่านเจอฉบับที่บอกว่ามีความสัมพันธ์กันก็กระต๊ากกันที เป็นเช่นนี้มาช้านาน

จนล่วงมาถึงปี 2022 วารสาร Osteoporos Int. ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยแบบยำรวมข้อมูลครั้งใหญ่อีกครั้ง [3] คราวนี้ได้กลุ่มตัวอย่างใหญ่กว่าเดิมคือราวสามแสนคน เพราะรวบเอางานวิจัยหลายระดับเข้ามาอยู่ในเข่งเดียวกันแล้ววิเคราะห์ใหม่ ซึ่งได้ผลสรุปว่าการดื่มกาแฟมากสัมพันธ์กับการเกิดกระดูกพรุนน้อย (เป็นงั้นไป หิ หิ) แต่ยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเกิดกระดูกหักได้เพราะคุณภาพของงานวิจัยที่เอามายำไม่เท่ากัน หมายความว่าหากเอาแต่งานวิจัยดีๆมาวิเคราะห์จะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับกระดูกหัก แต่หากเอางานวิจัยระดับต่ำๆมาร่วมด้วยจะพบความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับกระดูกหัก ทำให้ตรงความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับกระดูกหักนี้ยังสรุปอะไรไม่ได้

ต่อมาเมื่อปีกลาย 2023 ก็ได้มีการยำรวมงานวิจัยขนาดใหญ่อีกรอบ[4] คราวนี้รวมคนได้มากถึง 508,312 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างใหญ่ที่สุด เป้าหมายคือหาความสัมพันธ์ระหว่างคาเฟอีน(ทั้งจากชาและกาแฟ) และการเกิดกระดูกพรุนกระดูกหัก ก็ได้ผลสรุปว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับกระดูกหัก

ล่าสุด มีการตีพิมพ์งานวิจัยแบบนี้อีกงานหนึ่ง[5] เป็นงานวิจัยการสำรวจสำมะโนสุขภาพประชากรสหรัฐฯ (NHANES) เพิ่งตีพิมพ์ในเดือนกพ.ปีนี้เอง คือไม่กี่สัปดาห์มานี้ เป็นการวิจัยแบบตัดขวางดูความสัมพันธ์การดื่มกาแฟกับกระดูกพรุนกระดูกบางแล้วสรุปผลว่าดื่มกาแฟวันละไม่เกิน 2 แก้วสัมพันธ์กับการมีความแน่นกระดูกดีกว่า (ดีกว่านะ) เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มเครื่องดื่มซอฟท์ดริ๊งค์อย่างอื่น

กล่าวโดยสรุป เรื่องกาแฟกับกระดูกพรุนกระดูกหักนี้ มาถึงวันนี้ยังสรุปความสัมพันธ์แน่ชัดไม่ได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า นับถึงวันนี้ข้อมูลในภาพใหญ่บ่งชี้ว่าการดื่มกาแฟไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Sheng, J., et al., Coffee, tea, and the risk of hip fracture: a meta–analysis. Osteoporos Int, 2014. 25(1): p. 141–50.
  2. Li S, Dai Z, Wu Q. Effect of coffee intake on hip fracture: a meta-analysis of prospective cohort studies. Nutr J. 2015 Apr 18;14:38. doi: 10.1186/s12937-015-0025-0. PMID: 25928220; PMCID: PMC4412140.
  3. Zeng, X., Su, Y., Tan, A. et al. The association of coffee consumption with the risk of osteoporosis and fractures: a systematic review and meta-analysis. Osteoporos Int 33, 1871–1893 (2022). https://doi.org/10.1007/s00198-022-06399-7
  4. Chen CC, Shen YM, Li SB, Huang SW, Kuo YJ, Chen YP. Association of Coffee and Tea Intake with Bone Mineral Density and Hip Fracture: A Meta-Analysis. Medicina (Kaunas). 2023 Jun 20;59(6):1177. doi: 10.3390/medicina59061177. PMID: 37374383; PMCID: PMC10301353.
  5. Xu J, Zhai T. Coffee Drinking and the Odds of Osteopenia and Osteoporosis in Middle-Aged and lder Americans: A Cross-Sectional Study in NHANES 2005-2014. Calcif Tissue Int. 2024 Feb 17. doi: 10.1007/s00223-024-01184-6. Epub ahead of print. PMID: 38367050.