Latest

การนอนหลับกลางวัน สรุปว่าดีหรือไม่ดี

(ภาพวันนี้ / ค้นพบว่าถูกซุกซ่อนอยู่หลังบ้านเพื่อน)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

มีคนร่อนในไลน์ว่างานวิจัยของฮาร์วาร์ดว่าต้องนอนหลับกลางวันเพื่อลดอัตราตายลงไป 37% เท็จจริงอย่างไรคะ ถ้าจริงดิฉันจะได้นอนบ้าง เพราะปกติไม่เคยนอนกลางวันเลย

…………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่านอนกลางวันทำให้อายุยืนปลอดโรคปลอดไข้จริงหรือเปล่า นี่เป็นประเด็นคำถามเรื่องเฟสของการนอนหลับ (sleep phase) ว่าในแต่ละวันหลับครั้งเดียว (กลางคืน = monphasic) หรือหลับสองครั้ง (กลางคืน+กลางวัน = biphasic) จึงจะดี ตอบว่าไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดอกครับ เพราะข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มันไม่พอตอบ แต่ผมจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่มีให้คุณดูในบทความนี้

งานวิจัยชนเผ่าต่างๆในชุมชนดั้งเดิมในป่าอัฟริกาที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกพบว่าพวกเขานอนหลับวันละสองช่วง (biphasic sleep) คือนอนกลางคืนประมาณ 7 ชั่วโมง และตอนบ่ายอีกประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ขณะที่บางชนเผ่าเช่นชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียนอนหลับแบบสองช่วงเฉพาะในฤดูร้อน แต่พอเข้าฤดูหนาวก็เปลี่ยนมาหลับแบบเฉพาะช่วงกลางคืนช่วงเดียว และในการนอนหลับช่วงกลางคืนนั้น ทุกชนเผ่ามักจะเริ่มนอนหลับหลังจากตะวันตกดินไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง โดยเอาเที่ยงคืนเป็นจุดกึ่งกลางของการนอนหลับ

ปัจจุบันนี้ การนอนหลับวันละสองช่วงยังปฏิบัติกันอยู่ในหลายส่วนของโลก เช่นอเมริกาใต้ แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่ส่วนใหญ่ถูกวิวัฒนาการของการผลิตและค้าขายบีบให้เปลี่ยนเป็นนอนเฉพาะกลางคืนเท่านั้นแทน งานวิจัยที่คุณพูดถึงนั้นผมเคยเห็นใน Archive Internal Medicine นานสิบกว่าปีมาแล้ว มันเป็นการวิจัยแบบตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้าในยุโรป (prospective cohort) พบว่ากลุ่มที่ได้นอนหลับตอนบ่ายด้วย มีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอนหลับตอนบ่าย 37% นี่เป็นงานวิจัยที่มีคนทำไว้จริง แต่เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง ไม่ได้ยืนยันว่ามันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันหรือไม่ การจะแนะนำผู้คนให้ปิดร้านขายของหรือปิดโรงงานมานอนหลับตอนบ่ายกันดีกว่านั้น คงต้องมีหลักฐานระดับสูงมากกว่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่าหลักฐานแบบที่ว่าคงจะไม่มีดอก และคงไม่มีตลอดไป เพราะใครจะมาจ่ายเงินจ้างทำวิจัย

ปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางชุมชนที่คงมีวิถีชีวิตงีบหลับตอนบ่ายอย่างเหนียวแน่นเช่นเกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซซึ่งผู้ชายที่นั่นมีอัตราอายุยืนเกิน 90 ปีมากกว่าผู้ชายอเมริกันถึงสี่เท่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงกลไกให้เกิดความแตกต่างในอัตราตายนี้เพราะมีปัจจัยกวนมากมาย แต่แพทย์บางคนก็สรุปแบบ “เดา” เอาดื้อๆว่าการฝืนไม่หลับตอนบ่ายทั้งๆที่ง่วง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราตายของผู้ชายอเมริกันสูงขึ้น เท็จจริงแค่ไหนยังไม่มีงานวิจัยมายืนยันประเด็นนี้

ที่มีข้อสรุปแน่ชัดกว่าแล้ว คือการนอนหลับได้น้อยมีผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ต้องนอนวันละกี่ชั่วโมงจึงจะพอ งานวิจัยในชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพบว่าอัตราการนอนเฉลี่ยของพวกเขาคือ 6 ชั่วโมงในฤดูร้อน 7.2 ชั่วโมงในฤดูหนาว โดยให้เวลาตัวเองอยู่บนเตียงเพื่อการนอนหลับ 7 ชม.ถึง 8 ชม.ครึ่งต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่มูลนิธินอนหลับแห่งชาติสหรัฐ (NSF) และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) แนะนำว่าควรให้เวลากับการนอนหลับบนเตียงวันละ 7-9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่

ดังนั้นผมสรุปว่า นอนวันละครั้งเดียวหรือสองครั้ง จะเอายังไงก็ได้ครับ เอาแบบที่คุณถนัด แต่ที่แน่ๆชัวร์ป้าดเลยก็คือหากให้เวลาตัวเองบนเตียงนอนน้อยกว่าวันละ 7 ชั่วโมง หรือได้หลับจริงๆน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมงถือว่าคุณได้หลับน้อยกว่าธรรมชาติที่มนุษย์ปกติพึงได้ ซึ่งน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Naska A, Oikonomou E, Trichopoulou A, Psaltopoulou T, Trichopoulos D. Siesta in ealthy adults and coronary mortality in the general population. Arch Intern Med. 2007 Feb 12;167(3):296-301. doi: 10.1001/archinte.167.3.296. PMID: 17296887.
  2. Samson DR, Crittenden AN, Mabulla IA, Mabulla AZ, Nunn CL. Hadza sleep biology: Evidence for flexible sleep-wake patterns in hunter-gatherers. Am J Phys Anthropol. 2017 Mar;162(3):573-582. doi: 10.1002/ajpa.23160. Epub 2017 Jan 7. PMID: 28063234.
  3. Hirshkowitz M, Whiton K, Albert SM, Alessi C, Bruni O, DonCarlos L, Hazen N, Herman J, Katz ES, Kheirandish-Gozal L, Neubauer DN, O’Donnell AE, Ohayon M, Peever J, Rawding R, Sachdeva RC, Setters B, Vitiello MV, Ware JC, Adams Hillard PJ. National Sleep Foundation’s sleep time duration recommendations: methodology and results summary. Sleep Health. 2015 Mar;1(1):40-43. doi: 10.1016/j.sleh.2014.12.010. Epub 2015 Jan 8. PMID: 29073412.