Latest

ทุกประเด็นเกี่ยวกับแอลกอฮอล์

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมไปตรวจสุขภาพ CAC ได้ 244 หมอหัวใจให้กินยาแอสไพริน ยา statin และแนะนำให้ผมดื่มแอลกอฮอล์วันละสองดริ๊งค์ (ไวน์สองแก้ว) ปกติผมไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าผมควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคหัวใจตามที่หมอแนะนำไหมครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าหมอแนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาหัวใจ ควรดื่มไหม ตอบว่าไม่ควรดื่มครับ คำแนะนำเช่นว่านั้นไม่สอดคล้องกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน

ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว วันนี้ขอพูดถึงแอลกอฮอล์ในทุกประเด็นเลยนะ และผมจะให้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไว้อย่างละเอียดเพราะบทความนี้จะขัดแย้งกับคำแนะนำของหมอโรคหัวใจจำนวนมากที่ยังปักใจเชื่อว่าแอลกอฮอล์ลดอัตราตายของผู้ป่วยได้ ผมจะว่าไปทีละประเด็นนะ เอาทุกประเด็นที่ผมนึกได้

ประเด็นที่ 1. แอลกอฮอล์คืออะไร

แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ ethanol) เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา มีอยู่ในเบียร์ สุรา ไวน์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักพืชที่มีแป้งหรือน้ำตาลโดยอาศัยยีสต์เป็นผู้เปลี่ยนน้ำตาลหรือแป้งเป็นแอลกอฮอล์

ประเด็นที่ 2. หน่วยนับของแอลกอฮอล์

วงการแพทย์บอกปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มโดยใช้หน่วยเป็นดริ๊งค์ (drink) โดยหนึ่งดริ๊งค์เท่ากับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 14 กรัม หรือเท่ากับ เบียร์ (5%) 12 ออนซ์ หรือ 360 ซีซี. หรือลิเควียร์ (7%) 8 ออนซ์หรือ 240 ซีซี. หรือเท่ากับไวน์ (12%) 5 ออนซ์ (150 ซีซี.) หรือเท่ากับเหล้าสปิริต เช่น จิน รัม วอดก้า วิสกี้ (40%) หนึ่งช็อต หรือ 45 ซีซี. (1.5 ออนซ์) 

นอกจากนี้วงการแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจยังได้นิยามการดื่มพอประมาณ (moderate) ว่าคือการดื่มไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง

แอลกอฮอล์ไม่ว่าได้มาจากเครื่องดื่มชนิดไหน จะเป็นเบียร์เป็นไวน์ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกันหากดื่มในปริมาณหรือจำนวนกรัมของแอลกอฮอล์ที่เท่ากัน

ประเด็นที่ 3. ผลเสียระยะสั้นของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

  • เพิ่มการตาย บาดเจ็บ และทุพลภาพจากอุบัติเหตุ ลื่นล้ม จมน้ำ หรือถูกไฟคลอก6,7
  • เพิ่มพฤติกรรมรุนแรงรวมทั้งฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกาย ปลุกปล้ำข่มขืนกระทำชำเรา และความรุนแรงต่อคู่สมรสและบุตรธิดาของตนเองในครอบครัว 6-10
  • เกิดภาวะพิษแอลกอฮอล์ฉุกเฉิน ซึ่งนำไปสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้ 11
  • เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่นมีเซ็กซ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีเซ็กซ์กับคู่นอนหลายคน ซึ่งนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและเกิดโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรค HIV12,13
  • เพิ่มการแท้งบุตร ตายระหว่างคลอด กรณีผู้ดื่มเป็นหญิงตั้งครรภ์ 6,12,14,15

ประเด็นที่ 4. ผลเสียระยะยาวของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณเรื้อรังนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังระดับรุนแรงหลายโรค รวมถึง

  • โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจพิการ อัมพาต
  • โรคตับแข็ง และโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่นหลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร6,16
  • โรคมะเร็ง รวมทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 6,17
  • ทำให้ระบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพิ่มโอกาสป่วยและตายจากโรคติดเชื้อ 6,16
  • ทำให้ความจำเสื่อม สมองเสื่อม การเรียนรู้เสียหาย 6,18
  • ทำให้เกิดโรคทางจิตและประสาทหลายโรค รวมทั้งโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และเป็นบ้า (psychosis)6,19
  • ทำให้เกิดปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน และมีผลกระทบต่อการจ้างงาน6,20,21
  • ทำให้ติดสุราเนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารเสพย์ติดชนิดหนึ่ง 5

ประเด็นที่ 5. ความเข้าใจผิดว่าดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณแล้วลดอัตราตายได้

การดื่มแอลกอฮอล์ระดับมากเป็นผลร้ายต่อสุขภาพนั้นเป็นที่ทราบและยอมรับกันดีมานานแล้ว แต่ในช่วงประมาณปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา วงการแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพอประมาณ (moderate) คือไม่เกินสองดริ๊งค์ในผู้ชายหนึ่งดริ๊งค์ในผู้หญิง กับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือด ตามผลการวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ได้มาในช่วงนั้น จึงได้นำมาสู่ความนิยมการดื่มแอลกอฮอล์และความเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณทำไห้สุขภาพดีอย่างกว้างขวาง ทั้งๆที่การสรุปข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยกวน (confound factors) ซึ่งพบร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ และซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อัตราตายลดลง ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มไวน์แดงในหมู่ผู้กินอาหารเมดิเตอเรเนียนไม่ได้คำนึงถึงตัวอาหารเมดิเตอเรเนียนซึ่งมีแคลอรีส่วนใหญ่มาจากพืชและอาจเป็นปัจจัยหลักที่ลดอัตราตายในกลุ่มผู้ดื่มไวน์แดงลง เมื่อวิเคราะห์แยกปัจจัยกวนลักษณะนี้ออกไปแล้วก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายรวมแต่อย่างใด และอีกปัจจัยหนึ่งคือการจำแนกว่าผู้ดื่มแอลกอฮอล์น้อยแม้ระดับเคยดื่มครั้งเดียวหรือสองครั้งในชีวิตก็ถูกจัดเข้ากลุ่มผู้ดื่มระดับพอประมาณหมดทำให้ให้ผลสรุปของงานวิจัยผิดเพี้ยนไป เพราะในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับลึกจะปรากฎเสมอว่าอัตราตายของกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นจะเป็นรูปตัว J คือต่ำมากในหมู่ดื่มน้อยมากและนานๆครั้งแล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ดื่มเป็นอาจิณและดื่มค่อนไปทางมาก

งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่รวบรวมข้อมูลวิจัยแบบไปข้างหน้ารวมประชากรในงานวิจัยได้ 3,998,626 คน มาจากงานวิจัย 87 งาน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตไปในระหว่างติดตามดู 367,103 คน เมื่อได้วิเคราะห์โดยแยกปัจจัยกวนต่ออัตราตายที่สำคัญทั้งเชิงบวกและเชิงลบออกไปอย่างละเอียดแล้ว พบว่าอัตราตายรวมของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ ไม่ได้แตกต่างจากอัตราตายของผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด22   

แม้ในข้อสรุปดั้งเดิมที่ว่าการดื่มแอลกอออล์ระดับพอประมาณสัมพันธ์กับการเกิดจุดจบเลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดลงนั้น ได้มาจากงานวิจัยฟรามิงแฮม24 ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติเดียว (อเมริกัน) กลุ่มเล็กๆ จำนวน 1948 คน ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลขนาดเล็ก งานวิจัยตามดูกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาในยุคต่อมามีหลายรายการที่ให้ผลที่หลากหลายไปคนละทาง งานวิจัยส่วนหนึ่งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลงแต่อย่างใด บางงานวิจัยกลับให้ผลไปทางตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยขนาดใหญ่ชื่อ INTERHEART study23 ซึ่งทำการศึกษาคนป่วยโรคหัวใจใน 52 ประเทศ จำนวน 15152 คนที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วหมดทุกคน เมื่อวิเคราะห์เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงร่วมกันของผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจสูงสุดเก้าปัจจัยเรียงจากเสี่ยงมากไปหาน้อย คือ

(1) บุหรี่  

(2) ไขมันในเลือดผิดปกติ (ApoB/ApoA)

(3) ความดันเลือดสูง

(4) เบาหวาน

(5) อ้วนลงพุง

(6) ความเครียด

(7) การกินผักผลไม้น้อยหรือไม่กิน

(8) การดื่มแอลกอฮอล์

(9) การไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

จะเห็นว่าในงานวิจัยนี้ซึ่งใหญ่กว่าและศึกษากับผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วโดยตรงจำนวนมากและหลากหลายชาติพันธ์ พบว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำมาสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ติดเก้าอันดับสูงสุดและแรงกว่าการไม่ออกกำลังกายเสียอีก ซึ่งขัดแย้งกับผลวิจัยเก่าก่อนหน้านี้ที่สรุปว่าแอลกอฮอล์เป็นตัวลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด  

โดยสรุป การทบทวนหลักฐานที่มีนับถึงวันนี้ แอลกอฮอล์ทำให้อัตราตายรวมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง

การตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดด้วย และการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ (1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย) ก็ไม่ได้สัมพันธ์การลดอัตราตายรวมลงแต่อย่างใดหากได้วิเคราะห์ผลวิจัยโดยแยกปัจจัยกวนออกไปอย่างละเอียดก่อน ดังนั้นหมอสันต์จึงแนะนำว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรเริ่มดื่มเลย ผู้ที่ดื่มอยู่แล้วควรลดปริมาณการดื่มลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หรือเลิกดื่มไปเลยยิ่งดี ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดอยู่หรือไม่ก็ตาม คำแนะนำนี้อาจขัดแย้งกับคำแนะนำของแพทย์โรคหัวใจจำนวนมาก ท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณาญาณทบทวนงานวิจัยที่ผมแนบท้ายบทความนี้ แล้วตัดสินใจเอาเองว่าท่านจะเชื่อใคร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Alcohol-Related Disease Impact Application website. Accessed February 29, 2024.
  2. Esser MB, Leung G, Sherk A, Bohm MB, Liu Y, Lu H, Naimi TS. Estimated deaths attributable to excessive alcohol use among US adults aged 20 to 64 years, 2015 to 2019JAMA Netw Open 2022;5:e2239485.
  3. Sacks JJ, Gonzales KR, Bouchery EE, Tomedi LE, Brewer RD. 2010 National and State Costs of Excessive Alcohol ConsumptionAm J Prev Med 2015; 49(5):e73–e79.
  4. U.S. Department of Agriculture and U.S. Department of Health and Human Services. 2020 – 2025 Dietary Guidelines for Americans. 9th Edition, Washington, DC; 2020.
  5. Esser MB, Hedden SL, Kanny D, Brewer RD, Gfroerer JC, Naimi TS. Prevalence of Alcohol Dependence Among US Adult Drinkers, 2009–2011Prev Chronic Dis 2014;11:140329.
  6. World Health Organization. Global status report on alcohol and health—2018. Geneva, Switzerland: World Health Organization; 2018.
  7. Alpert HR, Slater ME, Yoon YH, Chen CM, Winstanley N, Esser MB. Alcohol consumption and 15 causes of fatal injuries: A systematic review and meta-analysisAm J Prev Med 2022;63:286–300.
  8. Greenfield LA. Alcohol and Crime: An Analysis of National Data on the Prevalence of Alcohol Involvement in Crime  [PDF – 229 KB]. Report prepared for the Assistant Attorney General’s National Symposium on Alcohol Abuse and Crime. Washington, DC: U.S. Department of Justice, 1998.
  9. Mohler-Kuo M, Dowdall GW, Koss M, Wechsler H. Correlates of rape while intoxicated in a national sample of college womenJournal of Studies on Alcohol 2004;65(1):37–45.
  10. Abbey A. Alcohol-related sexual assault: A common problem among college studentsJ Stud Alcohol Suppl 2002;14:118–128.
  11. Kanny D, Brewer RD, Mesnick JB, Paulozzi LJ, Naimi TS, Lu H. Vital Signs: Alcohol Poisoning Deaths — United States, 2010–2012MMWR 2015;63:1238-1242.
  12. Naimi TS, Lipscomb LE, Brewer RD, Colley BG. Binge drinking in the preconception period and the risk of unintended pregnancy: Implications for women and their childrenPediatrics 2003;11(5):1136–1141.
  13. Wechsler H, Davenport A, Dowdall G, Moeykens B, Castillo S. Health and behavioral consequences of binge drinking in collegeJAMA 1994;272(21):1672–1677.
  14. Kesmodel U, Wisborg K, Olsen SF, Henriksen TB, Sechler NJ. Moderate alcohol intake in pregnancy and the risk of spontaneous abortionAlcohol & Alcoholism 2002;37(1):87–92.
  15. American Academy of Pediatrics, Committee on Substance Abuse and Committee on Children with Disabilities. 2000. Fetal alcohol syndrome and alcohol-related neurodevelopmental disordersPediatrics 2000;106:358–361.
  16. Rehm J, Baliunas D, Borges GL, Graham K, Irving H, Kehoe T, et al. The relation between different dimensions of alcohol consumption and burden of disease: an overview. Addiction. 2010;105(5):817-43.
  17. International Agency for Research on Cancer. Personal Habits and Indoor Combustions: A Review of Human Carcinogens, Volume 100E 2012. Available from: http://monographs.iarc.fr/ENG/Monographs/vol100E/index.php.
  18. Miller JW, Naimi TS, Brewer RD, Jones SE. Binge drinking and associated health risk behaviors among high school students. Pediatrics. 2007;119(1):76-85.
  19. Castaneda R, Sussman N, Westreich L, Levy R, O’Malley M. A review of the effects of moderate alcohol intake on the treatment of anxiety and mood disordersJ Clin Psychiatry 1996;57(5):207–212.
  20. Booth BM, Feng W. The impact of drinking and drinking consequences on short-term employment outcomes in at-risk drinkers in six southern statesJ Behavioral Health Services and Research 2002;29(2):157–166.
  21. Leonard KE, Rothbard JC. Alcohol and the marriage effectJ Stud Alcohol Suppl 1999;13:139–146.
  22. Stockwell T, Zhao J, Panwar S, Roemer A, Naimi T, Chikritzhs T. Do “Moderate” Drinkers Have Reduced Mortality Risk? A Systematic Review and Meta-Analysis of Alcohol Consumption and All-Cause Mortality. J Stud Alcohol Drugs. 2016 Mar;77(2):185-98. doi: 10.15288/jsad.2016.77.185. PMID: 26997174; PMCID: PMC4803651.
  23. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52. doi: 10.1016/S0140-6736(04)17018-9. PMID: 15364185.
  24. Friedman LA, Kimball AW. Coronary heart disease mortality and alcohol consumption in Framingham. Am J Epidemiol. 1986 Sep;124(3):481-9. doi: 10.1093/oxfordjournals.aje.a114418. PMID: 3740047.