Latest

ชีวิตวัยเกษียณที่ตีบตัน

(ภาพวันนี้ / ปาล์มสิบสองปันนากำลังออกดอก)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

คุณหมอสันต์ครับ

ผมเป็นวิศวกร อายุ 81 ปี ทำงานที่อเมริกามาหลายสิบปี ตอนนี้เกษียณร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มีความรู้สึกว่าชีวิตมันตีบตัน มันไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้พยายามไปหลายแง่หลายมุม ทั้งทำงานจิตอาสาก๊อกๆแก๊กๆ พบว่ามันไม่เวิร์ค ความที่เรียนมามากทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับอะไรที่อาศัยแต่ความเชื่อ ก็ได้ลองศึกษา consciousness ในแง่มุมของ quantum physics ก็ยิ่งไม่เวอร์คใหญ่ อยากถามคุณหมอว่าทำอย่างไรชีวิตวัยเกษียณจึงจะไม่ตีบตัน

……………………………………………………………

ตอบครับ1.. ก่อนตอบคำถาม ผมติดใจที่คุณพี่บอกว่าได้ศึกษา consciousness ในมุมของควันตั้มฟิสิกส์ ผมขอคุยกันตรงนี้ก่อนนะ ก่อนอื่นสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป โปรดอย่าสับสนระหว่างควันตั้มฟิสิกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดอร์นฟิสิกส์ กับเมตาฟิสิกส์ ผมขอเคลียร์ตรงนี้ก่อนนะ ว่า

ควันตั้มฟิสิกส์ (Quantum physics) คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานในระดับที่เล็กกว่าอะตอม ด้วยวิธีชั่งตวงวัดหรือใช้ตรรกะเชิงคณิตศาสตร์คิดคำนวณ วิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโมเดิร์นฟิสิกส์

โมเดิร์นฟิสิกส์ (Modern physics) คือวิชาฟิสิกส์ในยุคประมาณร้อยกว่าปีหลังมานี้ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานด้วยหลักคิดทฤษฏีใหม่ที่ทฤษฎีฟิสิกส์ยุคเก่าอธิบายไม่ได้ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพ ทฤษฏีความไม่แน่นอน เป็นต้น

เมตาฟิสิกส์ (Metaphysics) เป็นสาขาวิชาปรัชญาที่โฟกัส เรื่องความจริง (reality) การดำรงอยู่ (existence) หรือการมีชีวิตอยู่ (being) บางครั้งก็สนใจไปถึงคอนเซ็พท์ของเวลาและพื้นที่ว่างเปล่า (time and space) เฉพาะส่วนที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงยังอธิบายไม่ได้ ดังนั้นเมตาฟิสิกส์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ หรือจะพูดว่าเมตาฟิสิกส์เป็นไสยศาสตร์ก็ไม่ผิด

2.. ความตีบตันในชีวิตเกษียณ ที่คุณพี่พูดถึงนี้ ท่านไม่ได้หมายถึงจนแต้มในเรื่องหาเงินไม่พอใช้ หรือชีวิตขาดความสุขสบาย แต่ท่านหมายถึงความตีบตันในเรื่องการเรียนรู้และเติบโต เพราะมาถึงวัยนี้แล้ว มันเป็นแบบว่า Been there, Done that คือที่ไหนที่คนเขาอวดกันว่าได้ไป ตัวเองก็ไปมาหมดแล้ว อะไรที่คนเขาอวดกันว่าได้ทำ ตัวเองก็ทำมาหมดแล้ว แต่ชีวิตก็ยังอยู่ ยังไม่ตาย แล้วจะให้ทำอะไรต่อ ลองศึกษาเชิงลึกเข้าไปในเรื่องความรู้ตัว (consciousness) ในมุมของวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงควันตั้มฟิสิกส์ก็พบว่าไม่ส่งผลอะไรให้ มองเผินๆจึงรู้สึกว่ามันตีบตันเสียแล้ว ชีวิตนี้จะเรียนรู้เติบโตได้อย่างไรต่อไป หรือว่าต้องนั่งรอการมาของอาหารเย็น หรือความตาย สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (หิ..หิ พูดเล่น) ทั้งนี้คุณพี่ท่านมีข้อแม้ด้วยว่าต้องเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์นะ ไสยศาสตร์หรือความเชื่องมงายไม่เอา จบข่าว

3.. โอเค. ผมตอบคุณพี่ภายใต้กรอบของวิทยาศาสตร์ไม่เอาไสยศาสตร์..ว่า การจะเรียนรู้เติบโตต่อไป จะต้องสรุปด้วยตรรกะเหตุผลให้ลงตัวก่อนว่า “ฉัน” (consciousness) นี้ ไม่ได้เป็นอะไร โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ดอกว่า “ฉัน” นี้เป็นอะไร แค่นี้ก็ทะลายกรอบให้การเรียนรู้เติบโตเดินหน้าต่ออย่างฉลุยได้แล้ว โดยผมแยกเป็นประเด็นย่อยสามประเด็น คือ

1.. ร่างกายนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเสื่อมสลายไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนโมเลกุลกันไปกันไปมา ผ่านอาหาร น้ำ อากาศ แสงแดด เป็นต้น โดยที่เราควบคุมบังคับหรือเปลี่ยนแปลงได้เพียงระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับเล็กน้อย หรือพูดง่ายๆว่าหากเราเรียกตัวเราเองว่า “ฉัน” ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน” นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง เราอาจอ้างแบบสมมุติหรือออกโฉนดเอาแบบรู้แต่เฉพาะตัวเองว่ามันเป็นของฉัน แต่..มันไม่ใช่ “ฉัน”

2.. ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในใจเรา เป็นเพียงประสบการณ์ที่ “ฉัน” รับรู้และจดจำ เกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป ดังนั้น ความคิดก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์เหล่านี้ นี่เป็นประเด็นที่สอง

3.. ตัวตน (identity) ของเรา ที่เราร่วมกับคนรอบตัวสมมุติร่วมกันขึ้นว่าเราเป็นคนชื่อนี้ เพศนี้ เรียนจบสถาบันนี้ มีอาชีพนี้ อยู่ประเทศนี้ นับถือศาสนานี้ ชอบพรรคการเมืองพรรคนี้ เป็นคนดีอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เป็นคอนเซ็พท์หรือชุดของความคิดที่เราตั้งขึ้นและยึดถือแบบรู้อยู่แก่ใจของเราเอง จริงอยู่มันเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ในใจเราว่าต้องมีทิศทางปกป้องและเชิดชูตัวตนนี้เข้าไว้ แต่ตัวตนนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ที่เป็นเพียงผู้รับรู้ประสบการณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับตัวตนนี้ นี่เป็นประเด็นที่สาม

ข้อสรุปเพียงสามข้อแค่นี้ คือ (1) ฉันไม่ใช่ร่างกาย (2) ฉันไม่ใช่ความคิดอารมณ์ความรู้สึก (3) ฉันไม่ใช่ตัวตน แค่นี้ก็มากเกินพอแล้วที่จะทำให้ “ฉัน” มีความสุขจากการเรียนรู้เติบโตไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากการสามารถมองเห็นทุกอย่างแบบโปร่งใสไม่มีอะไรปิดบังบิดเบือน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนควันตั้มฟิสิกส์ด้วยซ้ำไปว่า “ฉัน” นี้มันเป็นใครมีหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และการที่ผมตั้งชื่อให้ “ฉัน” ว่าคือ “ความรู้ตัว” นี้ก็เป็นเพียงการตั้งชื่อให้เพื่อให้สื่อสารกันได้ง่าย แต่หากจะให้ผมนิยามคำว่า “ความรู้ตัว” นี้ให้ละเอียดผมก็นิยามให้ไม่ได้หรอก เหมือนกับที่คุณพี่ก็เห็นแล้วว่าพวกฝรั่งเขายังเถียงกันไม่ตกฟากเลยว่า consciousness นี้มันคืออะไรอยู่ที่ไหนหน้าตาอย่างไรทำงานอย่างไร เอาสูตรของผมง่ายกว่า คือไม่ต้องไปนิยาม “ฉัน” ให้ได้ดอก ไม่จำเป็น ไม่ต้องรู้หรอกว่า “ฉัน” เป็นอะไร แค่รู้ว่า “ฉัน” ไม่ได้เป็นอะไรก็เดินหน้าไปกับชีวิตได้ฉลุยแล้ว แล้วพูดก็พูดเถอะ อย่าหาว่า ส. ใส่เกือก เลยนะ มันคันปาก ควันตัมฟิสิกส์ก็ดี โมเดิร์นฟิสิกส์ก็ดี เมตาฟิสิกส์ก็ดี ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ประเด็น (irrelevant) มันล้วนเป็นการผลาญเวลาในชีวิตยามแก่ไปอย่างไร้สาระเท่านั้น

4.. เมื่อได้ยอมรับจากการชั่งตวงวัดด้วยตรรกะแบบวิทยาศาสตร์แล้วว่า “ฉัน” ไม่ใช่อะไรทั้งสามอย่างนั้นแล้ว และลงมือฝ่าข้ามความเชื่อ ความยึดติด หรือยึดถือพัวพัน กับสามอย่างนั้นไปให้พ้นเสียได้แล้ว ชีวิตมันก็จะโล่งไม่ตีบตันอีกต่อไปในแง่ของการเรียนรู้และเติบโต เพราะฉันที่เป็นอิสระจากร่างกาย จากความคิด และจากตัวตน มันเป็นฉันที่สามารถรับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ (unknown) ได้อย่างโปร่งใส อย่างไม่ถูกอะไรปิดบังหรืออำพรางไว้ และได้อย่างไม่สิ้นสุด นั่นแหละคือการเรียนรู้เติบโตต่อไปอย่างแท้จริงของผู้เกษียณทั้งหลาย สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆนับจากนี้ จะเป็นพลังสร้างสรรค์ให้ทำอะไรได้อีกไม่รู้จบตราบใดที่ยังมีพลังชีวิตให้ทำอะไรได้อยู่ แล้วคำว่าตีบตันก็จะไม่มีในพจนานุกรมของผู้เกษียณหรือผู้สูงวัยอีกต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์