Latest

จะถอนพิษเฉียบพลันของ paracetamol ได้อย่างไร

(ภาพวันนี้ / เช้าวันหนึ่งในฤดูร้อนที่มวกเหล็กวาลเลย์ โปรดสังเกตเหงื่อแตก เพราะเพิ่งเดินขึ้นเขามา)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

คุณหมอที่เคารพ

ฉุกเฉินค่ะ ลูกหนูอายุสองขวบกินยาน้ำแก้ไข้พาราซีตามอลของพี่เขาไปจนหมดขวด กินตอนเที่ยงวันนี้ หนูพาไปโรงพยาบาล หมอไม่ได้ล้างท้อง แต่ให้น้ำเกลือเป็นซองและยาเม็ดดำมาบดกิน ให้กลับมาสังเกตอาการที่บ้านแล้วนัดอีกวันพรุ่งนี้เช้า หนูไม่สบายใจขอปรึกษาคุณหมอว่าควรจะทำอย่างไรดี

……………………………………..

ตอบครับ

1.. คำถามของคุณคือวิธีรักษาพิษของยาพาราเซ็ตตามอล เด็กกินสารพิษตอนประมาณเที่ยงวัน นี่มันหกโมงเย็น ก็ผ่านมา 6 ชั่วโมงแล้ว

ก่อนอื่นผมขอคำนวณน้ำหนักเด็กก่อนนะ เพราะตัวเองไม่ใช่หมอเด็กคิดในใจไม่ได้ คำนวณจากสูตรสมัยผมเรียนวิชาเด็ก คือ “2 คูณอายุปี บวกแปด” ก็ 2 คูณ 2 เป็นสี่ บวก 8 เป็น 12 กก.

แล้วก็มาคำนวณว่ากินยาไปมากถึงระดับเป็นพิษรุนแรงหรือเปล่า กล่าวคือหลักวิชามีว่าพิษพาราเซ็ตตามอลจะเกิดขึ้นแน่นอนหากินยามากกว่า 200 mg/kg หมดในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ดังนั้นระดับพิษสำหรับลูกคุณก็คือ 12×200 หรือ 2400 มก.ก็คือ 2.4 กรัม

แล้วก็มาดูว่าในน้ำยาที่กินมีเนื้อยาพาราเซ็ตตามอลเท่าไร ปกติเขาใส่มาสองความเข้มข้น คือ 125 กับ 250 มกต่อช้อนชา คิดทางร้ายไว้ก่อนว่ายาที่เด็กกินเป็นแบบความเข้มข้นมาก หากจะกินให้ถึงระดับเกิดพิษแน่นอนซึ่งต้องกินระดับ 2.4 กรัม ก็คือจะต้องกิน ยาหนึ่งกรัมได้จากน้ำยา 4 ช้อนชาใช่ไหม คือผมคิดจาก 1000/250 = 4 หากจะกิน 2.4 กรัมก็ต้องกิน 10 ช้อนชา นี่ลูกคุณกินเข้าไปทั้งขวดซึ่งมี 60 ซีซี. (คือขวดยาเด็กมันจุ 60 ซีซี.) ก็คือกินเข้าไป 12 ช้อนชา เพราะหนึ่งช้อนชามี 5 ซีซี. จึงกินเข้าไปเกินระดับที่จะเป็นพิษต่อตับแน่นอน ตามหลักวิชาแพทย์ก็คือต้องให้ยาแก้พิษทันทีในเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง

การรักษาปกติหากมาในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงหมอเขาจะใส่สายยางล้างท้องแล้วใส่ถ่านบดหรือ activated charcoal เข้าไปดูดพิษยา แต่นี่มัน 6 ชั่วโมงผ่านไปแล้วหมอเขาจึงไม่ล้างท้อง หลังจากนั้นปกติหมอเขาจะเจาะเลือดดูระดับพาราเซตตามอลในเลือดว่ามันสูงแค่ไหน ดูด้วยว่ามันกำลังเพิ่มขึ้นหรือมันกำลังลดลงก่อนที่จะตัดสินใจรักษา แต่นี่มันผ่านไป 6 ชั่วโมงแล้ว จะมามัวรอดูผลเลือดคงไม่ทันการแล้วละ ต้องรักษาแบบฉุกเฉินทันที เพราะงานวิจัยบอกว่าหากให้ยาแก้พิษได้ทันใน 8 ชั่วโมง จะป้องกันพิษต่อตับได้ 100% ตัวยาแก้พิษมาตรฐานก็คือ NAC หรือ N acetyl cysteine ซึ่งต้องให้กันแบบหยอดเข้าหลอดเลือดดำทางสายน้ำเกลือ

2.. ถามว่ากรณีที่หมอให้กลับบ้านแล้วโดยไม่ได้รับยาแก้พิษอะไรเลยควรจะทำอย่างไรต่อ ตอบว่าผมแนะนำให้คุณติดต่อศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โทร 1367 (24 ชม) แล้วทำตามเขาแนะนำว่าจะให้ไปโรงพยาบาลไหนที่ใกล้บ้านที่สุด เพราะไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลจะมียา NAC ไว้ฉีดแก้พิษ หากไปในที่ที่เขาไม่มียาหรือไปเจอหมอที่ถามว่ามียาแก้พิษพาราเซ็ตตามอลอยู่ในโลกนี้ด้วยเหรอ? ก็..จบข่าว

3.. ถามว่าในกรณีที่ไม่มีโอกาสได้ยาฉีด มีวิธีอื่นไหม ตอบว่าก็มีงานวิจัยใช้ NAC แบบยากินในขนาด 140 mg/kg ทันทีแล้วสี่ชั่วโมงต่อมาให้อีก 70 mg/kg ทุกสี่ชั่วโมงจนครบ 17 ครั้ง อย่างไรก็ตามแม้ว่ายา NAC แบบกินจะหาง่ายเพราะมันเป็นยาละลายเสมหะที่ใครก็หาซื้อบนโต๊ะได้ และกินหลังหลัดๆหรือแม้แต่กินพร้อมพาราเซ็ตตามอลก็ยังได้ แต่ผมก็ไม่แนะนำให้คนทั่วไปรักษาพิษของพาราเซ็ตตามอลด้วยตนเองยกเว้นเพื่อแก้ขัดเฉพาะหน้าขณะเดินทางไปโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะพิษของพาราเซ็ตตามอลนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ พลาดท่าเสียทีก็ตับวาย ต้องไปขวานขวายผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือไม่ก็..ตาย เด๊ดสะมอเร่

4.. อันนี้ไม่เกี่ยวกับคุณ แต่ผมเขียนไว้เผื่อมีหมอที่เป็นแฟนบล็อกและยังอยู่ในวัยหากินอยู่เวร ER อยากจะทบทวนความรู้เรื่องการฉีด NAC แก้พิษพาราเซตามอล ว่าวิธีคลาสสิกที่ใช้กันมานานแล้วมีอยู่อันเดียวคือของหมอ Prescott คือฉีด NAC ทางหลอดเลือดดำ (IV) ตูมเดียว 150 mg/kg จบในช่วงเวลา 15 นาที ตามด้วย 50 mg/kg ใน 4 ชม.ต่อมา ตามด้วย 100 mg/kg ในช่วงเวลา 16 ชม รวมโด้สโหลงโจ้ง 300 mg/kg จบในเวลา 20 ชม. 15 นาทีไม่ขาดไม่เกิน หลังจากนั้นหากมีเหตุให้ต้องให้ต่อก็ให้ในขนาด 6.25 mg/kg/hr (คนรุ่นหลังที่กลัวผลข้างเคียงของตัว NAC เองได้ปรับวิธีให้เป็น 150 mg/kg ในช่วงเวลา 60 นาทีแทนที่จะเป็น 15 นาที แล้วพบว่าได้ผลดีพอๆกัน)

ก่อนจบ อย่าลืม! ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี โทร 1367 (24 ชม.)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Prescott L., Illingworth R., Critchley J., Stewart M., Adam R., Proudfoot A. (1979) Intravenous N-acetylcystine: the treatment of choice for paracetamol poisoning. Br Med J 2: 1097–1100
  2. Kerr F., Dawson A., Whyte I., Buckley N., Murray L., Graudins A., et al. (2005) The Australasian clinical toxicology investigators collaboration randomized trial of different loading infusion rates of N-acetylcysteine. Ann Emerg Med 45: 402–408