ปรึกษาหมอ

วิธีดูแลผู้สูงอายุที่มีวาจาเชือดเฉือนระดับร้ายกาจ

สวัสดีคะคุณหมอสันต์
ดิฉันอายุ 44 ปี อยู่กับคุณแม่อายุ 74 ปี มีพี่ชาย 1 คน ซึ่งแยกออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว ดิฉันตอนนี้ทำงานในธุรกิจที่คุณแม่สร้างมาซึ่งตอนนี้ท่านทำน้อยลง เราจะอยู่ด้วยกันทั้งวัน มีปากเสียงกันบ้างเป็นบางครั้งคราว แต่ทุกครั้งที่มีปัญหา คุณแม่จะบอกว่าดิฉันเถียงท่าน ไม่เคยยอมรับความผิด และจะใช้คำพูดเสียดแทง เช่น “เมื่อก่อนฉันคิดว่าจะให้แม่ผัวตบเธอ แต่ตอนนี้คงไม่ต้องคิดแล้ว เธอคงไม่ได้แต่งงาน”  และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นการดูถูกเกียรติของมนุษย์ ดิฉันพยายามบอกให้ท่านใจเย็น แต่ยิ่งพูดท่านก็จะยิ่งสรรหาถ้อยคำเสียดแทงน้ำใจ
ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ท่านได้รับการวินิยฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทายา VALDOXAN 25 mg อยู่ 6 เดือนแล้วหยุดยา เริ่มทานใหม่เดือน มกราคม 2563 ขณะนี้ยังทานอยู่
ดิฉันขอคำแนะนำจากคุณหมดว่าดิฉันควรจะมีวิธีการรับมืออย่างไร เวลาที่ท่านใช้คำพูดที่เสียดแทง และแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยซึมเศ้า ว่ามีแนวทางการรับมืออย่างไร
หมายเหตุ ตอนนี้คุณแม่ออกกำลังกายด้วยการโยคะ อาทิตย์ละ 3 วัน
ขอบพระคุณอย่างสูงคะ

………………………………………………..

 
ตอบครับ
 
     ผู้สูงอายุที่มีอาการพูดไม่เข้าหูคน และชอบทะเลาะกับคนใกล้ชิดทุกวันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ภาษาหมอเรียกว่ามีการสูญเสียทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นอาการหนึ่งในหกของโรคสมองเสื่อม อาการเสื่อมของสมองมีหกส่วนคือ (1) สติสมาธิ, (2) ความจำ, (3) ภาษา, (4) การสังคม, (5) การทรงตัวและเคลื่อนไหว, (6) ความคิดวินิจฉัย ในกรณีของคุณแม่ของคุณนี้ความจำของท่านอาจจะยังพอใช้ได้อยู่ แต่เห็นได้ชัดว่าทักษะทางสังคมและการคิดวินิจฉัยของท่านได้เสื่อมลงไปแล้ว ดังนั้นคุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังเลี้ยงดูคุณแม่ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อม ไม่ใช่กำลังหาวิธีอยู่กับคุณแม่อย่างมีความยุติธรรมเชิงสิทธิมนุษยชน 
 
       ถามว่าทำไมคุณแม่จึงมีวาจาเชือดเฉือนร้ายกาจ ตอบว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเป็นแบบ “เชื่อง” หรือแบบ “ดุ” ขึ้นอยู่กับชนิดของความจำที่เหลืออยู่ เพราะคำพูดและพฤติกรรมของคนเราเกิดจากความคิด ความคิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วด้วยความจำจากอดีต เพราะความคิดก็คือการรีไซเคิลความจำจากอดีตนั่นเอง ความจำมันจะผลัดกันวนรอบขึ้นมาในห้วงความคิด กลายเป็นกลไกการย้ำคิด (compulsiveness) ที่เป็นธรรมชาติประจำตัวของมนุษย์ทุกคน แต่ผู้ป่วยสมองเสื่อมความจำส่วนหนึ่งจะถูกลบหายไป เหลืออยู่แค่บางส่วน ความจำส่วนที่เหลืออยู่นั่นแหละเป็นตัวกำหนดว่าจะเป็นผู้ป่วยแบบเชื่องหรือแบบดุ โดยธรรมชาติความจำที่สัมพันธ์กับอารมณ์ระดับรุนแรงเช่นความโกรธ เกลียด อิจฉา กลัว จะตราตรึงอยู่ได้นานและถูกลบยาก ทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ผ่านชีวิตมาแบบเล่นละครน้ำเน่าสไตล์ตบตี แก่งแย่ง ชิงดี โกรธ เกลียด อิจฉา เป็นตีมหลักมาทั้งชีวิตก็แน่นอนว่าเมื่อสมองเสื่อมก็จะกลายเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมพันธุ์ดุ
 
     ยังมีอีกแบบหนึ่งนะคือผู้ป่วยสมองเสื่อมแบบชอบ “เหวี่ยง” คือจะเหวี่ยงใส่คนข้างๆ การเหวี่ยงนี้ไม่ใช่แค่เหวี่ยงเล่นๆ แต่เป็นการเหวี่ยงแบบต้องเอาให้ได้เรื่อง คือต้องมีรายการหัวร้างข้างแตก เลือดตกยางออก หรือน้ำหูน้ำตาร่วงกันไปข้างหนึ่งให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะยังไม่เลิกเหวี่ยง คำพูดหรือพฤติกรรมแบบนี้มีรากมาจากความคิดที่เป็นผลจากการรีไซเคิลความจำส่วนที่เรียกว่า “ความกลัว” กลัวชีวิตตัวเองไม่มั่นคง กลัวคนอื่นไม่รักหรือไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง กลัวสูญเสียอำนาจควบคุม การเหวี่ยงเป็นการสนองตอบต่อความกลัว เป็นการพยายามพิสูจน์ว่าที่ตัวเองกลัวนั้นมันไม่จริง เมื่อพิสูจน์จนจบแบบ ซ.ต.พ. ได้แล้วจึงจะหยุดเหวี่ยง
 
      เมื่อได้เข้าใจธรรมชาติของผู้ป่วยสมองเสื่อมแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณที่ว่าจะมีวิธีรับมือกับคำพูดเสียดแทงของท่านได้อย่างไร ตอบว่าคุณควรจะ
 
     1. มองให้เห็นรูปแบบของความสัมพันธ์ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกตัญญูกำลังดูแลคุณแม่ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อม ไม่ใช่คนรุ่นใหม่กำลังจะพิสูจน์ตรรกะหรือคอนเซ็พท์เรื่องเหตุผลยุติธรรมคุณธรรมกับคนรุ่นเก่า
     
     2. ในระดับโลกิยะ หมายถึงในระดับที่สื่อกันได้ด้วยภาษาคน ให้คุณฝึกรับรู้และยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปรากฎต่อหน้าคุณที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยอมรับหมด ถ้าคุณเป็นคนเจ้าความคิดก็ขอให้คิดทางบวก ว่าถ้าคุณไม่ยอมรับท่านอย่างที่ท่านเป็นมันก็จะเป็นความโกรธเกลียดซึ่งเป็นความทุกข์ แต่ถ้าคุณยอมรับท่านอย่างที่ท่านเป็นมันก็จะกลายเป็นความรักซึ่งเป็นความสุข ดังนั้นให้คุณท่องคาถา ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา
 
     3. ฝึกสื่อสารกับคุณแม่โดยไม่ต้องพูด คือการอยู่ใกล้กันแบบเงียบๆแต่มีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน แค่อยู่ใกล้ๆกันแล้วคิดขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย และแผ่เมตตาสู่กันอยู่ในใจก็เป็นการสื่อสารที่ใช้ได้แล้ว เมื่อมีเรื่องฉุกเฉินอะไรก็ตาม อย่าคิดโต้กลับ ให้นิ่งเข้าไว้ก่อน สังเกตรับรู้ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นบนร่างกายและในใจของคุณเอง แล้วค่อยสนองตอบต่อเหตุการณ์ไปทีละช็อตอย่างมีสติ อย่าสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบปล่อยไปตามกลไกสนองตอบอัตโนมัติ (compulsiveness) ซึ่งจะทำให้ชีวิตคุณถูกบงการด้วยความจำแย่ๆของคุณในอดีต 
 
     4. ในระดับโลกุตระ ให้คุณหัดแยกให้ออกระหว่างความคิด (ของคุณเอง) กับความรู้ตัวของคุณ ว่ามันเป็นคนละอันกัน ความคิดเป็น “คุณ” ตัวนอก หรือคุณที่เป็นบุคคลคนหนึ่งซึ่งก็คือลูกสาวที่กำลังถูกคุณแม่ตื๊บอยู่ขณะนี้ ส่วนความรู้ตัวนั้นเป็น “คุณ” ตัวใน ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับคุณตัวนอกที่เป็นบุคคลคนหนึ่ง คุณแม่ก็เหมือนกัน ท่านก็มีท่านตัวนอกซึ่งก็คือความคิดของท่าน และท่านตัวในคือความรู้ตัวของท่าน จากมุมมองของความรู้ตัวนี้ คุณกับคุณแม่แท้จริงแล้วเป็นของสิ่งเดียวกัน หรือผมอาจพูดให้คุณยอมรับได้ง่ายขึ้นอีกหน่อยว่าแท้จริงแล้วงอกออกมาจากเหง้าเดียวกัน จะพูดอย่างไรให้เข้าใจดีนะ เหมือนอย่างคุณเป็นกำไลคุณแม่เป็นแหวน แต่ต่างก็ตีมาจากทองแท่งเดียวกันท้ายที่สุดก็จะถูกหลอมรวมกันไปเป็นแท่งเดียวกันเหมือนเดิม หรือเปรียบเหมือนลูกโป่งฟองสบู่สองลูกลอยอยู่กลางอากาศ เมื่อมันแตกออกลมข้างในนั้นก็จะมาผสมรวมกันเป็นอากาศซึ่งแยกไม่ออกดอกว่าตรงไหนมาจากฟองสบู่ฟองไหน ถ้าคุณเข้าถึงตรงนี้ความรังเกียจเดียดฉันท์คุณแม่จะหายไปโดยอัตโนมัติ จะเหลือแต่ความเมตตาต่อท่านอย่างลึกซึ้ง
 
     ไหนๆก็ไหนๆแล้ว คุณควรจะถือโอกาสที่ต้องรับหน้าที่ดูแลคุณแม่นี้ฝึกตัวเองไปสู่ความหลุดพ้นจากความคิดงี่เง่าที่คอยแผดเผาตัวเองเสียด้วยเลย คือลงมือเปลี่ยนตัวตน จากการเป็นนางสาวอะไรก็ตามซึ่งคือความเป็นบุคคลอันรุ่งเรืองของคุณตั้งแต่อดีตถึงวันนี้ ไปเป็นแค่ “ความรู้ตัว” ที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความเป็นบุคคลเดิมของคุณอย่างสิ้นเชิง จะคิด พูด ทำ หรือสนองตอบเรื่องอะไร ไม่ต้อง “ไว้ลาย” ความเป็นคนเดิมของคุณ ลืมคนเก่านั้นไปเสีย สนองตอบต่อสิ่งเร้าออกไปตามผลสรุปที่เกิดจากการใช้สติประเมินความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเดี๋ยวนี้ นั่งสมาธิ (meditation) ทุกวันเพื่อทะยอยวางความคิดเก่าๆเดิมๆทิ้งไปให้หมด เอาความสนใจไปอยู่กับความรู้ตัวที่เป็นความว่างนิ่งเงียบและมีความสงบเย็นอยู่ในตัว ทำอย่างนี้ซ้ำๆซากๆหลายเดือนหลายปีจนความสงบเย็นกลายเป็นความจำดั้งเดิมของคุณแทนที่ความจำเก่าๆอย่างอื่นหมด แล้วก็หัดเลิกคาดหวังอะไรทั้งสิ้น ทั้งการคาดหวังเอากับคุณแม่ หรือการคาดหวังเอากับตัวเอง และการคาดหวังอะไรจากชีวิตที่เหลือ เมื่อใดก็ตามที่เรายังคาดหวังก็แสดงว่าเรายังเปลี่ยนตัวตนของเราไม่สำเร็จ แต่การไม่คาดหวังไม่ได้หมายความว่าไม่คิดทำอะไร เพียงแต่หากคิดทำอะไรให้ไครก็ให้เป็นการทำโดยไม่มีผลประโยชน์ของความเป็นบุคคลของเราเกี่ยวข้อง เพราะถ้าคิดทำอะไรเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองอยู่ก็แปลว่ายังเปลี่ยนตัวตนไม่สำเร็จ บอกตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคือเดี๋ยวนี้ อย่าเก็บอดีตไว้ในใจ ไม่ว่าเรื่องน่ารื่นรมย์หรือน่าเสียใจ ทิ้งไปให้หมด อย่ากังวลถึงอนาคตว่าความเป็นบุคคลของเรานี้จะถูกกระทบอย่างไร ให้อยู่แต่ที่เดี๋ยวนี้ สนองตอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกโยนเข้ามาใส่เดี๋ยวนี้ทีละช็อต ทีละช็อต การอยู่กับเดี๋ยวนี้คือวิธีเตรียมตัวเพื่ออนาคตที่ดีที่สุด เพราะเมื่ออนาคตมันจะมาถึงจริง มันจะมาถึงที่เดี๋ยวนี้ ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎต่อเราที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าวินาทีต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ออกจากกรอบความคิดที่อาศัยตรรกะของภาษาอธิบายได้ (known) ซึ่งเป็นร่องเดิมๆของความจำเก่าๆ ไปมีชีวิตอยู่ในความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด (unknown) นี่คือความสนุกสนานมหัศจรรย์ของชีวิต ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อย่างน้อยก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้าให้ได้ ยิ้มเป็นประจำ หากยิ้มอย่างกว้างขวางยังไม่ได้ก็ยิ้มที่มุมปากหรืออมยิ้มทุกครั้งที่คิดขึ้นได้ หัดหัวเราะให้บ่อยๆได้ก็ยิ่งดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำตัวเองให้เป็นคนที่ “สงบเย็นและเบิกบาน (joyful)” ซึ่งเป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญ ความสงบเย็นและเบิกบานในวันนี้ จะเป็นความจำสำหรับวันพรุ่งนี้ นั่นหมายความว่าเรากำหนดชีวิตวันพรุ่งให้เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเบิกบานได้ด้วย
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์