Latest

นพ.สันต์พาพนักงานฝึกสมาธิแบบสามประสาน

ภาพวันนี้: ทะเลหมอกที่หน้าบ้าน เดือนกุมภา)

(หมอสันต์ พาพนักงานเวลเนสวีแคร์ฝึกสติสมาธิ)

เราทำงานในแต่ละวัน บางวันเราหงุดหงิด โกรธ ไม่มีความสุข เราก็อธิบายกับตัวเองว่าเพราะเพื่อนร่วมงานคนนั้นพูดอย่างนั้นเราได้ยินแล้วจึงเป็นทุกข์ เพราะลูกค้าคนนี้พูดอย่างนี้ เราได้ยินแล้วจึงเป็นทุกข์ คือเราอธิบายกับตัวเองว่าเพราะสิ่งเร้าจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรอบตัวเรามากระทบเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ ถ้าคนรอบตัวเราทำตัวดี เราก็คงจะเป็นสุข

ผมอยากให้พวกเราหัดมองมาจากอีกทางหนึ่งนะ ตื่นเช้ามาเราก็รู้สึกดีๆ สงบๆ อยู่ เรียกว่านิ่งๆ อยู่ตรงกลางๆ แต่พอมีสิ่งเร้าจากข้างนอกเข้ามา ใจเราก็เผลอแกว่งเข้าไปหาสิ่งนั้นถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบ หรือแกว่งหนีสิ่งนั้นถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ การแกว่งเข้าไปหาก็คือความ “อยากได้” การแกว่งหนีก็คือความอยากเหมือนกัน คือ “อยากหนี”

วิธีใช้ชีวิตให้สงบเย็นก็คือการอยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งเข้าหาสิ่งที่ชอบ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรเข้ามาหา โอเค.หมด ยอมรับมันตามที่มันเข้ามา ไม่กอดรัดเอาไวเพราะกลัวมันจะจากไป ไม่ขับไล่ไสส่งให้มันรีบๆไปเร็วๆ แค่ยอมรับให้มันผ่านเข้ามา ให้มันผ่านออกไป ตามธรรมชาติของมัน อยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งหาสิ่งที่ชอบ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ชัง แค่ “ยอมรับ” มันตามที่มันเป็น Acceptance นี่เป็นคีย์เวอร์ดหรือคาถาสำคัญในการใช้ชีวิต ยอมรับ หรือ Acceptance

แล้วการ “แกว่งหา” หรือ “แกว่งหนี” มันปรากฎต่อเราในรูปใดละ มันปรากฎต่อเราในรูปของความคิด ก็คือความอยากนั่นแหละ อยากได้ อยากหนี คำว่าอยากหนีอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น กลัว กังวล โกรธ เกลียด ก็จะร้องอ๋อทันที เพราะความอยากหนึก็คือความกลัว หรือกังวล หรือโกรธเกลียดนั่นเอง

ดังนั้นหัวใจของการมีชีวิตที่สงบเย็นคือการรู้จักลดทอนอิทธิพลของความคิดไม่ให้มันใหญ่เกินไป ผมเรียกง่ายๆว่าการ “วางความคิด”

ทำไมความคิดจึงมีอิทธิพลต่อเรามาก ก็เป็นเพราะเราไปสนใจมันมาก ในชีวิตนี้อะไรก็ตามที่เราให้ความสนใจมันจะใหญ่คับฟ้าขึ้นมาทันที ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเราสนใจและขลุกอยู่แต่ในความคิด ความคิดก็จึงใหญ่มากจนเราเองเอาไม่อยู่ หากเราหันเหความสนใจออกจากความคิดมาสนใจสิ่งอื่นที่ไม่มีพิษไม่มีภัยแทน ความคิดก็จะค่อยๆหมดพิษสงไปเอง

เรามาเริ่มด้วยเครื่องมือวางความคิดชิ้นแรกก่อนนะ คือการผ่อนคลายร่างกาย เอ้าทุกคนนั่งให้หลังตรง คราวนี้ลองสั่งให้คอบ่อไหล่ผ่อนคลาย แล้วตามไปดูว่ามันผ่อนคลายจริงหรือเปล่า ถ้ายังไม่ผ่อนคลายก็สั่งใหม่ ให้มันผ่อนคลาย relax..x เอาจนมันผ่อนคลายจริง แล้วก็มาสั่งให้หน้าผาก หัวคิ้วที่ขมวดอยู่ ให้ผ่อนคลาย แก้มสองข้างให้ผ่อนคลาย รอบๆปากให้ผ่อนคลาย ยิ้มที่มุมปากนิดๆเหมือนพระพุทธรูปในโบสถ์ ถ้ายิ้มไม่ได้ก็แสดงว่ายังไม่ผ่อนคลาย เอ้าทุกคนลองยิ้มดูซิ

เมื่อมีความคิด กล้ามเนื้อจะเกร็งตัว สองอย่างนี้คือความคิดกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน เราแก้ที่ข้างหนึ่ง ก็จะมีผลต่ออีกข้างหนึ่งด้วย เมื่อเราผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความคิดก็จะฝ่อหายไป

การผ่อนคลายกล้ามเนื้อนี้จะทำได้ง่ายขึ้นหากเราควบกับเครื่องมือตัวที่สอง คือการหายใจ เอ้าทุกคนลองหายใจเข้าลึกๆอัดลมเข้าไปเต็มๆ แล้วกลั้นนิ่งไว้สักพัก แล้วปล่อยลมหายใจออกแบบให้มันออกไปตามสบาย แล้วสั่งให้กล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลายขณะหายใจออก ทำอย่างนี้หลายๆครั้ง

จะเห็นว่าการพ่วงการผ่อนคลายกล้ามเนื้อกับการหายใจนี้ทำให้เราผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น

คราวนี้เรามาทดลองใช้เครื่องมือตัวที่สาม คือพลังชีวิต

ชีวิตนี้ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบง่ายๆสี่ส่วนนะ คือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) พลังชีวิต (4) ความรู้ตัว

ในสี่อย่างนี้ ร่างกายเรารู้จักแล้ว ความคิดเรารู้จักแล้ว ความรู้ตัวเราพอเดาได้ว่ามันก็คือความตื่นความสามารถที่จะสังเกตรับรู้อะไรได้ ส่วนที่เรายังไม่ค่อยรู้จักก็คือพลังชีวิต

วันนี้เรามารู้จักพลังชีวิตกันหน่อย พลังชีวิตก็คือพลังงานที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตดำเนินไปได้ ส่วนที่หยาบที่สุดของมันก็คือลมหายใจ เราสูดมันเข้ามาจากข้างนอก ถ้าเราตามดูหรือผ่าศพดูก็จะพบว่าลมหายใจเข้าไปแค่ในปอดแล้วก็กลับออกมา จบแค่นั้น แต่หากเราตามโมเลกุลของก้าซในอากาศไปก็จะพบว่าออกซิเจนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจนั้นเกาะติดไปกับเม็ดเลือดซึ่งไหลกระจายไปทั่วร่างกายแล้วออกจากเม็ดเลือดเข้าไปในเซลล์ร่างกายทุกเซลล์ ไปก่อเป็นพลังงานของเซลล์เช่นพลังงานความร้อนทำให้ตัวเราร้อนกว่าอากาศข้างนอก แล้วพลังงานนั้นก็แผ่กลับออกไปสู่ข้างนอกผ่านผิวหนังและทุกรูขุมขนออกไป

เมื่อเราสนใจพลังชีวิต เรารับรู้พลังชีวิตได้สองทาง ทางร่างกายก็รับรู้ผ่านความรู้สึกบนร่างกาย เช่นความรู้สึกวูบวาบซู่ซ่า อีกแบบหนึ่งคือรับรู้ผ่านความรู้สึกในใจ เป็นความกระดี๊กระด๊า กระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็นอยากทำ

เอ้ามาลองหันเหความสนใจจากความคิดมาอยู่กับพลังชีวิตกัน ผมจะให้ลองใช้เทคนิคที่ผมเรียนมาจากพระภิกษุท่านหนึ่งนะ ท่านตายไปนานแล้ว เทคนิคของท่านมีสามขั้นตอน คือ สูดลม กองลม กระจายลม

สูดลม ก็คือสูดหายใจเข้าลึกๆจนเต็มปอด

กองลม ก็คือเอาลมที่สูดเข้าไป ไปกองไว้ตรงไหนสักแห่งที่ตัวเองถนัด ตรงนี้ใช้จินตนาการช่วยนิดๆในช่วงแรกจะกองไว้ที่หัว หรือคอ หรือหน้าอก หรือท้อง ก็ได้เอาตามถนัด จะให้ดีให้อยู่ในแนวเส้นตรงของกระดูกสันหลังนะ แบบที่โยคีเขาเรียกว่าจักระนั่นแหละ เลือกเอาสักจุดที่ชอบ ขณะที่เอาลมไปกองไว้นี้ก็ต้องกลั้นหายใจด้วยนะ

กระจายลม ก็คือปล่อยให้ลมหายใจออก ผ่อนคลายร่างกาย ติดตามสังเกตรับรู้ หรือ feel ความรู้สึกเมื่อพลังชีวิตแผ่สร้างออกจากกลางตัวไปทั่วตัวผ่านทุกรูขุมขนสู่ภายนอก ในรูปของความรู้สึกวูบวาบ ซู่ซ่า หรือจิ๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆชาๆ และรับรู้ความรู้สึกกระดี๊กระด๊าแจ่มใสที่เกิดขึ้นในใจ

เอ้ามาลองปฏิบัติดู ตั้งกายตรง หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้นานๆ พอทำท่าจะกลั้นไม่อยู่แล้วค่อยปล่อยให้ลมมันออกมาโดยไม่ได้ขับไล่ ผ่อนคลายร่างกาย แล้วตามสังเกตความรู้สึกวูบวาบซู่ซ่าขณะพลังชีวิตแผ่สร้านกระจายไปทั่วร่างกาย ผ่านทุกรูขุมขนออกไปสู่ภายนอก เป็นความรู้สึกวูบวาบ ซู่ซ่า ใหม่ๆเป็นจินตนภาพ นานไปจะเป็นความรู้สึกจริงๆ

หายใจเข้าลึกๆ รับเอาพลังจากภายนอกเข้ามา เอามากองไว้ที่ใดที่หนึ่งในตัว กระจายออกไปทั่วตัวกลับสู่ภายนอก รับรู้ความรู้สึกซู่ซ่า มองเข้าไปในใจตัวเอง รับรู้ความรู้สึกมีพลัง กระดี๊กระด๊า แจ่มใส ทำซ้ำๆสักหลายๆครั้ง

คราวนี้เราจะผสมสามเทคนิคเข้าด้วยกันนะ คือ หายใจลึก ผ่อนคลายร่างกาย รับรู้พลังชีวิต วิธีทำก็คือหายใจเข้าลึกๆรับเอาพลังเข้ามา กลั้นไว้เอาลมไปกองไว้ที่หนึ่ง ยิ้ม ปล่อยลมออก ผ่อนคลาย รับรู้ความรู้สึกซู่ซ่าบนร่างกาย และรับรู้ความรู้สึกกระดี๊กระด๊าเบิกบานในใจ

เทคนิคสามประสาน หายใจลึก ผ่อนคลายร่างกาย รับรู้พลังชีวิต นี้ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาทุกโอกาส คิดได้เมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น

ในวันนี้ผมจะให้เวลา 5 นาที เพื่อฝึกทำเทคนิคสามประสานนี้ ผมจะตีระฆังทุกนาทีเพื่อเตือนไม่ให้ใจลอย เอาเริ่มกันเลยนะ 5 นาที ฝึกสามประสาน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์