Latest

กล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บ

เรียนคุณหมอสันต์   ใจยอดศิลป์ที่นับถือ
    ดิฉันหกล้มหงายหลังอย่างแรงเมื่อวันที่ ๑๔ .ค. ๕๕ ตอนหกล้มไปเปิดประตูรั้วหน้าบ้านและประตูล้มลงมา  ดิฉันกระโดดหนีประตูล้มหงายหลัง ไปหาหมอให้กินยา Norgesic และ Celebrex กินมาประมาณ  วัน วันที่  พ.ย. ๕๕ ปวดเหมือนเดิมอีก จะปวดมากเวลาลุกขึ้นจากที่นอน หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้านั่งตัวตรง ดิน หรือนอนเฉย ๆ จะไม่ปวด แต่นอนบางท่าก็ปวด หมอบอกว่ากล้ามเนื้อหลังอักเสบ อยากให้คุณหมอแนะนำ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การออกกำลังกาย การพักผ่อน การขจัดความเครียด ตามหลักที่คุณหมอสอนคนไข้ ดิฉันควรออกกำลังกายแบบไหน และถ้าจะนวดแผนโบราณ หรือประคบร้อนสมุนไพรจะช่วยได้หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องกินยาซึ่งมี side effect มาก เวลาดิฉันกินยาจะรู้สึกไม่สบายตัวเลย
    ดิฉันอายุ  ๕๘  ปี   น้ำหนัก  ๕๓  กก.  สูง ๑๖๐ ซม. ประจำเดือนหมดมา เกือบ ๑๐ ปีแล้วยังโสด  อาชีพรับราชการ เป็นงานนั่งโต๊ะเขียนหนังสือ   เดินทางไปปฏิบัติงานที่ต่างจังหวัดเดือนละประมาณ ๑  ครั้ง  ครั้งละ ๑-๒ วัน ออกกำลังกายโดยเดินตอนเย็นในหมู่บ้าน สัปดาห์ละประมาณ    วัน  วันละ  ประมาณ  ๓๐  นาที อาหารเช้ากินน้ำเต้าหู้ อาหารกลางวันกินข้าว  ผัก  ไข่  ไม่ใคร่ชอบกินเนื้อ จะเขี่ยออก แต่ถ้าเป็นหมูสะเต๊ะ  หมูปิ้งหรือทอดจะกินได้ ชอบกินไข่  ส่วนใหญ่อาหารจะเป็นไข่ ปลากินบ้างแต่ไม่บ่อย ส่วนมากจะเป็นผัก มื้อเย็นจะกินผลไม้  สลัด  หรือข้าวต้มขาว ส่วนใหญ่จะกินผลไม้  น้ำสมุนไพร เช่น ใบบัวบก น้ำข้าวโพด ตอนนี้กินยา Eltroxin มาเกือบ ๑๐ ปี เพราะเคยผ่าไทรอยด์ด้านขวา เป็นคนนอนหลับง่าย ดูละครทีวีไม่เคยจบเพราะหลับเสียก่อน 
คุณหมอช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ขอบคุณมาก
ด้วยความนับถือ
…………………………………
ตอบครับ
ขอบคุณที่ให้ข้อมูลมาครบถ้วนดีมาก น้ำหนัก 53 กก. สูง 160 ซม. ก็เท่ากับว่ามีดัชนีมวลกาย 20.7 ก็จัดว่ากำลังดี อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าแม้จะเป็นคนหกล้มหกลุกง่ายแต่ก็ไม่มีความเสี่ยงต่อกระดูกหักด้วยเหตุดัชนีมวลกายต่ำ น้ำหนักและส่วนสูงนี้เป็นข้อมูลที่บอกอะไรแยะมากในทางการแพทย์ เวลาไปหาหมอจึงมักจะถูกซักถึงความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักเสมอ จนฝรั่งเอามาเขียนเป็นโจ๊กบ่อยๆ อย่างโจ๊กเรื่องหนึ่งเล่าว่าหมอซักประวัติคนไข้
หมอ: คุณน้ำหนักตัวเท่าไหร่ครับ

คนไข้: 100 กิโลกรัมค่ะ

หมอ: แล้วตอนที่คุณน้ำหนักตัวน้อยๆ คุณหนักเท่าไหร่

คนไข้: 98 กิโลกรัมค่ะ

หมอ: ไม่ใช่.. ผมหมายถึงตอนที่คุณน้ำหนักตัวต่ำที่สุดหนะ

คนไข้: 3 กิโลกรัมค่ะ
จบละ แคว่ก..แคว่ก..แคว่ก.. ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
          ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ผมขอชมที่คุณเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อายุ 58 ปี เติบโตมาตั้งแต่ยุคสมัยที่ใช้ตัวเลขไทยแทนตัวเลขอารบิก แต่เวลาประตูเหล็กจะล้มทับคุณกระโดดเผ่นหนีได้ทัน แสดงว่าคุณเป็นคนที่กล้ามเนื้อขามีความแข็งแรงและระบบกระดูกและข้อมีความยืดหยุ่นดีเกินวัย เมื่อสองปีก่อนผมไปงานศพของหลานสาว (ลูกเพื่อน) คนหนึ่ง ผมไปถึงงานแล้วต้องกอดเพื่อนซึ่งเป็นพ่อของคนตายอยู่ตั้งนานด้วยความเห็นอกเห็นใจ คนตายซึ่งเป็นลูกสาวของเขาเรียนจบหมอและเพิ่งจบการฝึกอบรมและได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และเพิ่งจะได้ย้ายมาทำงานที่จังหวัดบ้านเกิดและได้มาอยู่กับพ่อแม่ แต่เย็นวันหนึ่งเธอไปเปิดประตูเหล็กเลื่อนที่หน้าบ้านเพื่อจะเอารถเข้าเก็บ แล้วถูกประตูเหล็กล้มทับ..เสียชีวิตเลย

     เรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของระบบข้อของผู้สูงอายุนี้สำคัญมาก เพราะสถิติคนอเมริกันผู้หญิงเดี๋ยวนี้ตายด้วยกระดูกหักมากกว่าตายด้วยมะเร็งปากมดลูก เพราะเมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ก็หกล้มหกลุกง่าย ล้มแล้วไม่มีกล้ามเนื้อเป็นเบาะรอง กระดูกก็หักง่าย เข้าโรงพยาบาล ผ่าตัด มีภาวะแทรกซ้อน แล้วก็เดี้ยงหรือตาย อย่างนี้มีให้เห็นเป็นประจำ เหตุการณ์จะพลิกกลับจากร้ายเป็นดีชั่วพริบตาถ้าฝึกกล้ามเนื้อไว้ดี ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่ง ปีกลายนี้เองผมไปสอน health camp ให้ผู้เกษียณ มีผู้เรียนคนหนึ่งเอาแผลที่ข้อเท้ามาให้ดู ถามไปถามมาก็ได้ความว่าเธอเป็นหญิงชราที่ชอบเต้นรำตั้งแต่เรียนหนังสือ และชอบทำโน่นทำนี่เอง แม้กระทั่งงานซ่อมในบ้านก็ทำเอง มีอยู่วันหนึ่งเธอซ่อมห้องน้ำโดยการเอาเก้าอี้สี่ขาวางลงไปในอ่างล้างหน้า แล้วตัวเองขึ้นไปยืนบนเก้าอี้นั้นเพื่อยื่นมือขึ้นไปใส่หลอดไฟบนเพดาน คงนึกภาพออกนะครับว่าหลังจากนั้นอะไรเกิดขึ้น ขาเก้าอี้ลื่นไถลไปบนพื้นอ่างล้างหน้า ตัวเธอหงายหลังเอาหัวดิ่งพสุธาสู่พื้นห้องน้ำ เธอเล่าว่า
   “…ฉันรีบทำ spot turn แบบเต้น ชะ ชะ ช่า ควับ แล้วกางมือคว้าราวม่านกั้นที่อาบน้ำไว้ทัน”
   ผลก็คือราวม่านหัก แต่เธอพลิกท่าร่างจากโหม่งพสุธาเป็นท่าเอาข้อเท้าฟาดพื้นห้องน้ำแทนได้ บาดเจ็บข้อเท้าพอควร แต่นึกภาพถ้าเธอไม่มีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง ไม่คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วจากการเต้นรำ เธอก็คงไม่ได้มานั่งเรียน health camp กับผมแล้ว นึกภาพตอนแตงโมหล่นลงพื้นห้องน้ำ…โพล้ะ..บรื้อว..ว์
เลิกคุยเรื่องหวาดเสียวมาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1..ถามว่ากล้ามเนื้อหลังได้รับบาดเจ็บ  (ที่เรียกว่ากล้ามเนื้ออักเสบนั่นแหละ) มันจะเป็นอยู่นานไหม ตอบว่านานประมาณ 3-6 เดือน แต่บางรายก็ปวดยืดเยื้อเรื้อรังถึง 3 ปีก็มี

     2..ถามว่ากล้ามเนื้ออักเสบ นอกจากอาการปวดแล้วมีอันตรายอย่างอื่นไหม ตอบว่ามีเหมือนกัน คือเมื่อเราไปยอมให้กับอาการปวด พยายามตรึงส่วนนั้นให้นิ่ง ไม่ฝืนเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและข้อเข้าไว้ นานไปกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อที่เกี่ยวข้องก็จะติดขัด หรือมีพิสัยการเคลื่อนไหวที่แคบลง พูดง่ายๆว่าทุพลภาพได้

     3..ถามว่าถ้าไม่อยากกินยาแก้ปวดแก้อักเสบมาก จะทำอย่างไรดี ตอบว่าก็ทนปวดเอาสิครับ ความรู้สึกปวดเป็นการสนองตอบของสมอง ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นอะไรที่เราเลือกได้ว่าจะสนองตอบแค่ไหนอย่างไร ถ้าเราจะสนองตอบแบบร้องเรียนเอากับสามีหรือร้องเรียนเอากับเทวดาหรือพระเจ้า เราก็จะปวดมากโวยวายมาก ถ้าเราจะสนองตอบแบบฝืนๆจดจ่อทำอะไรที่เราสนุกต่อไปให้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็ปวดน้อย นอกเหนือจากนั้นวิธีต่อไปนี้ก็มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับว่าลดการปวดกล้ามเนื้อหลังลงได้ คือ

3.1 อย่านอน ให้ฝืนทำกิจกรรมโดยไม่ต้องสนใจอาการ ถ้าไปจำกัดกิจกรรมเพราะกลัวมีอาการ งานวิจัยพบว่าจะทำให้จบลงด้วยการมีโอกาสเป็นปวดหลังเรื้อรังมากกว่า กฎสำหรับคนปวดหลังคือห้ามอ้างปวดหลังแล้วนอนพักเกินสองวัน 

3.2 การประคบร้อนหรือประคบเย็นช่วยบรรเทาปวดและตึงได้ 

3.3 การบีบนวดช่วยบรรเทาอาการได้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และดีเทียบเท่าการรักษามาตรฐาน (การรักษามาตรฐาน หมายถึงไปหาหมอ กินยา ทำกายภาพ) 

3.4 ฝึกท่าร่างใหม่ แขม่วพุง หลังตรง ยืดอก ตลอดเวลา การทำเช่นนี้เป็นการฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง และช่วยพยุงกระดูกสันหลังในยามชราด้วย เรียกว่าแก้ปวดได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต

3.5 ออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและกล้าเนื้อหน้าท้อง หรือพูดง่ายว่าเล่นกล้าม (strength training) วิธีง่ายๆคือหัดรำกระบองตามป้าบุญมี ซึ่งผมลอกวิธีของคุณป้าเขามาไว้ในบล็อกนี้แล้วที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2011/09/blog-post_26.html คุณหาอ่านเอาเองได้ หรือถ้าคุณมีเงินมากอาจไปโรงยิมและจ้าง trainer ให้ฝึกการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้คุณก็ได้

3.6 ยา Cerebrex (celecoxib) ที่คุณพูดถึงเป็นยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ระงับเฉพาะเอ็นไซม์ COX-2 ที่ก่อการอักเสบ แม้ว่าจะกัดกระเพาะน้อยกว่ายารุ่นเก่าแต่ก็กัดอยู่ และจัดเป็นยาที่มีพิษต่อไตและต่อหัวใจสูง ไม่ควรใช้ต่อเนื่องหลายวัน ควรใช้บรรเทาอาการเฉพาะวันที่อาการมีอาการมากจนทนไม่ไหวเท่านั้น  

     4. ให้เวลารักษาตัวเองสัก 6 เดือน ถ้าไม่ดีขึ้นไปให้หมอเขาดูหน่อยก็ดีนะครับ เดี๋ยวหมอเขาจะไม่มีอะไรทำ    

    5. ขอบคุณมากครับที่เล่าไลฟ์สไตล์และอาหารการกินให้ฟัง ผมมีข้อวิจารณ์ดังนี้

5.1 การออกกำลังกายที่คุณเล่ามาที่ว่าออกไปเดินในหมู่บ้านอาทิตย์ละสามครั้งนั้นดีมาก แต่จะดียิ่งกว่านี้ถ้าปรับใน 3 ประเด็น คือ (1) ที่ทำไปเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องระดับเบา ผมแนะนำให้ปรับความหนักให้ถึงระดับหนักพอควร คือให้เดินเร็วๆจนหอบเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ นานครั้งละ 30 นาที  (2) ประเด็นความสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้งนั้นไม่พอ งานวิจัยใหม่ๆที่บอกว่าการออกกำลังกายให้ผลดีนั้นเขาทำกันสัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง (3) ที่ทำไปนั้นไม่มีส่วนของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท่อนบนและหลัง ผมแนะนำให้ปรับเพิ่มตรงนี้ โดยการรำกระบอง ยกดัมเบล หรือดึงสปริงยืดก็ได้ ผมเคยเขียนเรื่องการฝึกกล้ามเนื้อไปไม่นานมานี้ คุณลองหาอ่านดู

5.2 โภชนาการที่คุณเล่ามานั้นก็ดีอยู่แล้ว การที่ดัชนีมวลกายของคุณอยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นเครื่องยืนยันว่าโภชนาการของคุณโอเค.  ถ้าไขมันในเลือดดีก็ยิ่งโอเค.ใหญ่ แต่ถ้าไขมันในเลือดสูง สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าควรปรับคือการลดข้าวลงทั้งในมื้อกลางวันและข้าวต้มมื้อเย็น กรณีดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรก็ต้องไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม

5.3 เรื่องการรักษาไฮโปไทรอยด์มาราธอนมาสิบปีแล้วนั้น พักหลังนี้ได้ไปให้หมอต่อมไร้ท่อเขาตรวจเช็คเป็นประจำหรือเปล่าครับ เพราะไฮโปไทรอยด์ที่รักษาน้อยไป จะทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อรวมทั้งปวดหลังได้ อีกอย่างหนึ่งที่คุณเล่าว่าหลับง่ายขนาดดูนางเอกกับนางร้ายตบกันในทีวียังหลับได้นั้น อาจจะบ่งบอกว่าภาวะไฮโปไทรอยด์ของคุณยังได้รับการรักษาไม่พอ ผมเดาเอานะ เท็จจริงอย่างไรต้องไปให้หมอเขาตรวจดู
นพ.สันต์ .ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม 

1. Vane JR, Botting RM. Mechanism of action of NSAIDs. Am J Med 1998;104(3A):2S-8S. 
2. Silverstein FE, Faich G, Goldstein J, et al. Gastrointestinal toxicity with celecoxib vs NSAIDs for osteoarthritis and rheumatoid arthritis;the Class study. A randomized controlled trial-Celecoxib Long-term Arthritis Safety Study. JAMA 2000; 284:1247-55.