Latest

ที่หมอสันต์สอนว่าอยู่กับปัจจุบันนั้น อยู่อย่างไร

     วันนี้ผมเพิ่งเดินทางมาถึงมวกเหล็กเอาตอนค่ำ แวะบ้านเพื่อนรุ่นพี่ๆบัญชีจุฬา หมายความว่าพวกพี่ๆท่านล้วนสูงวัยกว่าหมอสันต์ทั้งหมดและพวกท่านจบบัญชีจุฬา ไม่ได้หมายความว่าหมอสันต์จบบัญชีจุฬานะ เขากินเลี้ยงกันสิบกว่าคนแต่ละคนเป็นผู้สูงวัยในสไตล์คึกคัก active aging ที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมกลับมาบ้านก็ดึกแล้ว จึงตั้งใจว่าจะตอบจดหมายฉบับแรกที่เปิดเห็นเพราะไม่มีเวลาเลือก แต่ปรากฎว่าจดหมายสองฉบับแรกล้วนเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ แม่เฮย..น่าขำที่ฝรั่งมังค่าก็หันมาถามปัญหาแข่งกับคนไทยเสียแล้ว ผมจึงขอถือโอกาสนี้ประกาศย้ำอีกครั้งนะครับว่าบล็อกของหมอสันต์ไม่ตอบจดหมายในภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย เพราะบล็อกนี้เขียนเพื่อให้ความรู้คนทั่วไปโดยอาศัยคำถามในจดหมายเป็นสื่อการสอน ถ้าไปตอบเป็นภาษาประกิตแล้วคนทั่วไปจะอ่านได้พรื้อละครับ

จดหมายฉบับที่สามเป็นจดหมายสั้นๆฉบับนี้ครับ 

………………………………

     เพิ่งเป็นแฟนคลับคุณหมอหลังจากที่ทำงานส่งไปอบรมการกินการออกกำลังกายที่มวกเหล็ก จ. สระบุรีค่ะ อ่านจากในบทความคุณหมอจะพูดถึงเรื่องการอยู่กับปัจจุบันบ่อยมาก สงสัยว่าถ้าเรากำลังทุกข์ใจอยู่ การอยู่กับปัจจุบันคือการรู้ว่ากำลังทุกข์เรื่องอะไร ยอมรับมัน ไม่ต้องคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรหรือเปล่าคะ หรือไม่ต้องคิดอะไรเลยทำจิตว่างๆ คือบางครั้งก็เหมือนเข้าใจค่ะ แต่บางครั้งก็งงค่ะ รบกวนคุณหมออธิบายด้วยค่ะ

……………………………
ตอบครับ
     1. ถามว่าการอยู่กับปัจจุบันคือเมื่อทุกข์ให้รู้ว่ากำลังทุกข์เรื่องอะไรแล้วยอมรับมันใช่ไหม ตอบว่า..ถูกต้องแล้วครับ ประเด็นสำคัญคือการยอมรับ (acceptance) ทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่หนี ไม่จ่าย เอ๊ย..ไม่ใช่ ไม่เสียดาย (อดีต) ไม่ลุ้น (อนาตต) ไม่ตั้งความหวัง (อนาคต) ไม่กลัว (อนาคต) ไม่รอ (อนาคต) ยอมรับเอาแค่ที่มีที่เป็น แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว ดีแล้ว พอแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมาอีกก็ยอมรับอีก ยอมรับมันไปทีละช็อต จัดการมันไปทีละช็อต นั่นคือการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน นั่นคือการใช้ชีวิต เพราะชีวิตปรากฎต่อเราเฉพาะที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ถ้าไม่ยอมรับ ก็ไม่ได้ใช้ชีวิต เพราะมัวแต่ไปวิ่งหนีหรือแข็งขืนปฏิเสธเดี๋ยวนี้ ก็จะหมดเวลาไปกับการหวัง การรอ และการกลัว แล้วจะเอาเวลาตรงไหนมาใช้ชีวิต
     ขยายความคำพูดของคุณที่ว่า “เมื่อทุกข์ให้รู้ว่ากำลังทุกข์เรื่องอะไร” นิดหนึ่งนะ ว่ามันคืือการตั้งคำถามเพื่อเปิดโปงโคตรเหง้าศักราชของความคิดซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ว่าความคิดนี้มันมาจากไหน ใครเป็นคนชงขึ้นมา ชงขึ้นมาเพื่อนำเสนอใคร ด้วยจุดประสงค์อะไร เมื่อสืบโคตรเหง้าแต่ละความคิดลงไปแล้วก็จะพบรากที่มาของมัน ว่ามันล้วนมาจากอีกความคิดหนึ่ง ซึ่งมาจากอีกความคิดหนึ่ง ซึ่งมาจากอีกความคิดหนึ่งๆๆๆ ซึ่งสืบไปสุดท้ายก็จะพบว่าเจ้ากรมข่าวลือคือกลุ่มของความคิดที่ประกอบกันเป็นคอนเซ็พท์ใหญ่ที่เรียกรวมๆว่าความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นบุคคล (person identity) พูดภาษาบ้านๆว่าคือความเป็นห่วงตัวกู ของกู มันเสนอความคิดนี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่จะปกป้องความเป็นบุคคล (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) นี้ไว้ เมื่อคุณรู้ว่าอ้อ ตัวการเป็นเจ้ากรมข่าวลือหน้าเดิมนี่เอง คุณก็จะได้วางความคิดนั้นลงได้อย่างสะดวกใจไม่อาลัยอาวรณ์ และจะให้ดีคุณตีทะเบียนมันไว้เสียเลยว่าความคิดหน้านี้นะ มาจากสายนี้ของเจ้ากรมข่าวลือนะ ทีหลังเห็นหน้าก็ถีบทิ้งได้เลยไม่ต้องรอให้นำเสนอรายละเอียด ทำอย่างนี้ไปกับทุกความคิดที่ทำให้ทุกข์ ในที่สุดความคิดที่ถูกปล่อยมาจากเจ้ากรมข่าวลือก็จะน้อยลงๆ จนหมดเกลี้ยง 
     ดังนั้นตัวชี้วัดว่าคุณอยู่กับปัจจุบันได้จริงหรือเปล่าก็คือจำนวนความคิด ถ้าความคิดยังมีอยู่เพียบ ก็แปลว่าคุณยังไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้าความคิดหมดเกลี้ยง ทั้งๆที่ตาก็ยังลืมแป๋วยังเห็นต้นไม้ รถยนต์ ผู้คนเดินไปเดินมา หูก็ยังได้ยินเสียงนก เสียงแม่ค้า เสียงแอร์ เสียงรถ แต่ไม่มีความคิดอะไรค้างอยู่ในหัวเลย แม้แต่ความคิดจะพากย์หรือวิจารณ์สิ่งที่กำลังเห็นกำลังได้ยินก็ไม่มี มีแต่ความตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ นั่นคือคุณกำลังอยู่กับปัจจุบันแล้ว
    2. ถามว่าการอยู่กับปัจจุบันคือการไม่ต้องคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรหรือเปล่า ตอบว่า..ไม่ใช่เสียทีเดียวครับ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนที่ยังทำงานหาเงินอยู่นะ ในการทำงานมันมีอยู่สามเรื่อง คือ (1) เป้าหมาย (2) แผนปฏิบัติการ และ (3) การลงมือทำ ขณะที่เรากำหนดเป้าหมายก็ดี จัดทำแผนก็ดี จดจ่ออยู่กับขั้นตอนปฏิบัติการก็ดี เราอยู่กับปัจจุบันนะแม้ว่าการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนจะเป็นเรื่องในอนาคตแต่เราทำมันที่ปัจจุบันเช่นเดียวกับการจดจ่ออยู่กับขั้นตอนปฏิบัติการเหมือนกัน เราลงมือทำที่ปัจจุบัน แต่ถ้าเราเผลอหลุดจากขั้นตอนปฏิบัติการซึ่งอยู่ตรงหน้านี้ มัวไปห่วงพะวงว่าเป้าหมายที่วางไว้สูงอย่างนั้นจะทำได้สำเร็จหรือ นั่นเราหลุดจากปัจจุบันไปอยู่ในอนาคตทีี่ไม่มีอยู่จริงเสียแล้ว ดังนั้นการทำงานที่ได้ชื่อว่าอยู่กับปัจจุบันก็คือการจดจ่ออยู่กับขั้นตอนปฏิบัติการณ์ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ไม่ไปคิดถึงผลลัพธ์ว่าจะได้มากได้น้อย คือทำใจไว้ก่อนเลยว่าผลลัพธ์มันจะได้แค่ศูนย์ก็ช่างมัน ลงมือทำ ทำไป ทำไป ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่างเดียว  
    3. ถามว่าการอยู่กับปัจจุบันคือการต้องไม่คิดอะไรเลย ทำจิตว่างๆ ใช่หรือเปล่า ตอบว่า..ไม่ใช่ครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นคนที่ต้องทำมาหากินก็ไม่มีใครได้อยู่ในปัจจุบันเลยสิ การอยู่กับปัจจุบันหมายความรวมไปถึงการมีสมาธิจดจ่อที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ทุกรูปแบบ รวมทั้งการลงมือทำกิจตามหน้าที่่ด้วย ไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่งๆว่างๆเฉยๆ ประเด็นสำคัญคือขณะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ อย่าเผลอไปคิด “คาดหวัง” หรือ “กลัว” เรื่องในอนาคตหรือคิด “เสียดาย” หรือ “เสียใจ” เรื่องในอดีต
    ไหนๆคุณก็ชวนคุยถึงเรื่องปัจจุบันแล้ว ขอผมพูดให้ลึกลงไปอีกหน่อยนะเพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ตามเรื่องนี้มานานจะได้มุมมองกว้างขึ้น คุณจะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็อย่าซีเรียส คือโลกหรือชีวิตเนี่ยมันปรากฏต่อเราทีละแว้บนะ แว้บหนึ่งแล้วก็ดับไป แว้บหนึ่งแล้วก็ดับไป แต่มันแว้บถี่เสียจนใจเราจินตนาการความต่อเนื่องขึ้นมาว่าโลกหรืือชีวิตนี้มันต่อเนื่อง เหมือนหลอดไฟฟ้าที่ทำงานแบบเปิดแล้วปิด เปิดแล้วปิด แต่เปิดปิดถี่ๆเสียจนตาของเรามองเห็นเป็นแสงสว่างต่อเนื่อง เดี๋ยวนี้หรืือปัจจุบันก็คืือการที่เราสนองตอบต่อโลกทีละแว้บ แว้บหนึ่งก็หนึ่งปัจจุบันหรือหนึ่งเดี๋ยวนี้ อีกแว้บหนึ่งก็อีกหนึ่งเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้อันแรกแว้บแล้วดับไป แล้วเดี๋ยวนี้อันที่สองก็แว้บแล้วดับไป โดยที่เดี๋ยวนี้อันแรกกับอันที่สองไม่ได้เกี่ยวดองกันเลย ไม่ได้เป็นญาติกันด้วย แต่ใจเราไปจินตนาการให้มันเกี่ยวดองเป็นญาติกันโดยสร้างคอนเซ็พท์เรื่องเวลาขึ้นมาแล้วก็ไปหลงเชื่อคอนเซ็พท์นั้น 
     อุปมา อุปไมย สมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องฉายภาพจากคอมพิวเตอร์ขึ้นจออย่างทุกวันนี้ เวลาจะสอนหนังสือผมต้องใช้เครื่องฉายสไลด์ฉายภาพจากสไลด์แต่ละแผ่นขึ้นไปบนจอ โดยเอาสไลด์มาเรียงกันแผ่นต่อแผ่นอยู่ในถาดสไลด์เป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง เวลากดปุ่มเปลี่ยนสไลด์คล่อกแคล้กทีหนึ่งสไลด์อันที่กำลังฉายอยู่ก็จะถูกเด้งออกไปแล้วถาดจะเลื่อนสไลด์อันถัดไปเข้ามาแทน คนไม่เข้าใจชีวิตก็เข้าใจว่าความเป็นไปในชีวิตก็เหมือนสไลด์ที่เรียงแถวตอนเรียงหนึ่งอยู่ในถาดสไลด์นี้ สไลด์ที่อยู่ข้างหน้าฉายแล้วเด้งออกไป สไลด์ที่อยู่ถัดไปจะได้เลื่อนขึ้นมาแทนอย่างแน่นอนไม่มีบิดผัน แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
     ชีวิตจริงมันอุปมาเหมือนระบบฉายสไลด์เวลาที่ถาดสไลด์ขัดข้องแล้วครูถอดเอาถาดออก เอาสไลด์ทั้งหมดที่มีอยู่มาคลี่กระจายเต็มโต๊ะ ไม่มีการเข้าแถวเป็นเส้นตรง (linear arrangement) แต่กระจายอยู่ทั่วไปแบบโอกาสเป็นไปได้ (probability) ที่เป็นจุดจำนวนมากกระจายเต็มหน้ากระดาษ ทุกจุดมีโอกาสถูกเลือกได้หมดในแต่ละแว้บ คือฉายสไลด์นี้เสร็จแล้วครูก็หยิบออกด้วยมือแล้วอาจจะไปหยิบเอาอีกสไลด์หนึ่งซึ่งอาจจะอยู่ตรงไหนก็ได้บนพื้นโต๊ะมาเสียบเพื่อฉายต่อ หมายความว่าแต่ละแว้บของชีวิตนี้ เรากลายเป็นคนใหม่ขึ้นมาทันทีโดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวของกับอดีตของเราซึ่งเป็นคนเก่าเลย มันขึ้นอยู่ก้ับว่าเราจะเลือกสนองตอบต่อโลกในแว้บต่อไปอย่างไร เราจะเลือกสนองตอบแบบกระโดดไปหยิบสไลด์ที่ไกลมือมาฉายโดยไม่เกี่ยวกับสไลด์ที่เพิ่งฉายไปก่อนหน้านี้ก็ได้ เราสามารถกระโดดจากความจริงหนึ่งไปอยู่ในอีกความจริงหนึ่ง (reality shifting) ได้ทันที ไม่ว่าอดีตก่อนหน้านั้นจะนำมาด้วยอะไร นี่เป็นอิสระภาพที่มนุษย์เรามีอยู่แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ม้ัน เพราะเราไปติดคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ไปคิดว่าสไลด์มันจะต้องเข้าแถวมา ฉายแผ่นที่หนึ่งแล้วต้องไปฉายแผ่นที่สอง เราไปสร้างข้อจำกัดขึ้นมาครอบอิสรภาพที่จะเลือกการสนองตอบของเราเอง การย้ำให้ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ก็คือการสอนให้รื้อข้อจำกัดอันเกิดจากคอนเซ็พท์เรื่องเวลาซึ่งเป็นคอนเซ็พท์ที่ทำให้เราหลงเชื่อว่าอดีตเป็นของจริงทิ้งเสีย ม่ีชีวิตอยู่ทีละแว้บ แต่ละแว้บไม่เกี่ยวกัน อย่าไปสนว่าแว้บก่อนหน้านี้เป็นเรื่องอะไร แว้บใหม่อยู่ที่เราจะหยิบอะไรขึ้นมาก็ได้ ชอบจะให้ชีวิตเป็นอย่างไรก็หยิบชีวิตอย่างนั้นขึ้นมาฉาย แต่ละแว้บเราเป็นคนใหม่ ไม่ต้องไปสนอดีต เพราะอดีตของคนใหม่ ย่อมจะเป็นคนละอันกับอดีตของคนเก่า เพราะอดีตนั้นถูกมองออกไปจากปัจจุบัน เมื่อคนมองเป็นคนละคน จะมองเห็นอดีตอันเดียวกันได้อย่างไร ส่วนอนาคตนั้นไม่ต้องไปพูดถึง เพราะมันไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มีด้วย เพราะเมื่อมันมาถึงมันมาถึงในรูปของปัจจุบัน
     พูดมาทั้งหมดนี้เข้าใจไหมเนี่ย สรุปเลยดีกว่าว่าเวลาเป็นเพียงคอนเซ็พท์ ไม่ใช่ของจริง เราใช้ประโยชน์จากเวลาในการนัดหมายวางแผนงาน บันทึกเหตุการณ์ หรือส่งดอกเบี้ยให้แบงค์ได้ แต่อย่าให้คอนเซ็พท์เรื่องเวลามาก่อความคิดลบ (เสียดาย เสียใจ คาดหวัง กลัว) ในใจเรา ชีวิตมีแต่ปัจจุบัน ทีละแว้บ ทีละแว้บ เท่านั้น โดยที่แต่ละแว้บ เราเป็นคนใหม่ที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบใดก็ได้ที่เราชอบโดยไม่ต้องไปสนใจอดีตของเราซึ่งเป็นคนเก่าเลย    
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์