Latest

เด็กผู้ชายควรได้รับการฉีดวัคซีนเอ็ชพีวีหรือไม่

เพื่อนแนะนำว่าที่อเมริกาเขาให้เด็กผู้ชายฉีดวัคซีนเอ็ชพีวี อยากถามความเห็นคุณหมอว่าควรฉีดไหม

ตอบ

เชื้อเอ็ชพีวี. (HPV) เป็นเชื้อไวรัสที่กลายมาเป็นที่รู้จักเพราะมันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง เชื้อนี้ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ชายก็ติดเชื้อเอ็ชพีวีได้เหมือนกับผู้หญิง ศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา (CDC) ประมาณว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชายอเมริกันได้รับเชื้อเอ็ชพีวีในชั่วชีวิตของตน เมื่อได้รับเชื้อแล้ว มันมักจะไม่ก่ออาการอะไร มีส่วนน้อยที่ก่ออาการ คือไปทำให้เกิดหงอนไก่ (genital wart) ที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือขาหนีบ โรคหงอนไก่ไม่ได้เป็นโรคที่ซีเรียส ศูนย์ควบคุมโรคประมาณว่าผู้ชายอเมริกัน 1% เป็นหงอนไก่ไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่งในชีวิต หงอนไก่นี้รักษาให้หายได้ง่าย แต่ช่วงที่เป็นหงอนไก่ผู้ชายจะแพร่เชื้อต่อได้ ดังนั้นจึงควรใช้ถุงยางอนามัยถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระหว่างนั้น นอกจากทำให้เกิดหงอนไก่แล้ว มีบ้างเหมือนกันแต่ไม่มากที่เชื้อเอ็ชพีวีชนิดความเสี่ยงสูงไปทำให้ผู้ชายเกิดเป็นมะเร็งขึ้น เช่นมะเร็งอวัยวะเพศชาย (Ca penis) มะเร็งที่รอบรูทวารหนัก (Ca rectum) มะเร็งของหลอดคอและช่องปากที่สัมพันธ์กับเชื้อเอ็ชพีวี เป็นต้น สองอย่างหลังนี้มักเป็นในผู้ชายโฮโมเซ็กชวล อย่างไรก็ตามมะเร็งเหล่านี้มีอุบัติการณ์เกิดค่อนข้างต่ำ สมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ประมาณว่าผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งอวัยวะเพศเพียง 1:100,000 ส่วนมะเร็งทวารหนักก็มีอุบัติการณ์ต่ำพอๆกัน โดยที่ผู้ชายโฮโมเซ็กชวลมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายทั่วไป 17 เท่า

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์มีแต่วิธีตรวจหาเชื้อเอ็ชพีวีในผู้หญิงแต่ยังไม่มีวิธีตรวจหาเชื้อเอ็ชพีวีในผู้ชาย กรณีที่ผู้หญิงตรวจพบว่าติดเชื้อเอ็ชพีวี ไม่ได้หมายความว่าเธอจำเป็นต้องหยุดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เพราะในกรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อนเช่นเป็นคู่สมรสกันอยู่แล้ว ย่อมมีโอกาสสูงมากที่เชื้อเอ็ชพีวีได้ถ่ายทอดไปมาในระหว่างกันเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านั้น อีกประการหนึ่งการที่ฝ่ายหญิงตรวจพบเชื้อเอ็ชพีวีก็ไม่ได้เป็นหลักฐานว่ามีใครสักคน (ในระหว่างชายกับหญิงสองคน) แอบไปมีอะไรกับคนอื่นมาเมื่อเร็วๆนี้ เพราะเชื้อเอ็ชพีวีอาจเข้ามาอยู่ในตัวผู้หญิงตั้งนานมาแล้วก็ได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่าเชื้อเข้ามาอยู่ในตัวตั้งแต่เมื่อไร ข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่าเมื่อผู้หญิงรับเชื้อเข้ามาอยู่ในตัวแล้ว ร่างกายผู้หญิงประมาณ 91% จะกำจัดเชื้อให้หมดไปได้เองในเวลา 2 ปี แต่ก็มีผู้หญิงที่เหลือจำนวนหนึ่ง คือประมาณ 9% ที่เชื้อยังคงอยู่กับตัว ยังไม่สามารถกำจัดออกไปได้แม้จะพ้นสองปีไปแล้ว

ปัจจุบันองค์การอาหารและยาอเมริกัน (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันเอ็ชพีวีในผู้ชายอายุ 9-26 ปี เพื่อป้องกันการเป็นหงอนไก่ (type 6 และ type 11) งานวิจัยในคนเพศชายสี่พันคนที่มีอายุระหว่าง 16-26 ปีพบว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเป็นหงอนไก่ได้ 90% อนึ่ง เป็นที่คาดหมายกันว่าการฉีดวัคซีนนี้ย่อมจะป้องกันการเป็นมะเร็งที่เกิดจากเชื้อเอ็ชพีวี อันได้แก่มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Ca penis) มะเร็งทวารหนัก รวมไปถึงมะเร็งจากเชื้อเอ็ชพีวีที่ขึ้นมาเป็นเอาแถวลำคอและช่องปากได้ด้วย

งานวิจัยการฉีดวัคซีนนี้ในผู้ชายใช้วิธีฉีดเหมือนในผู้หญิงคือฉีด 3 เข็ม ในเวลา 6 เดือน ในแง่ของความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในคนเพศชายนั้น งานวิจัยที่ทำไปในผู้ชาย 4,000 คนพบว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัยดีใกล้เคียงกับในผู้หญิง จัดเป็นวัคซีนที่มีความเสี่ยงต่ำ

การตัดสินใจว่าจะให้เด็กผู้ชายและคนหนุ่มที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอ็ชพีวีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักระหว่างข้างหนึ่งคือประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีน อันได้แก่การป้องกันการเป็นหงอนไก่และมะเร็งต่างๆที่มีเชื้อเอ็ชพีวี.เป็นสาเหตุ กับอีกข้างหนึ่งคือค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ย่อมต้องเป็นการตัดสินใจของตัวผู้ชายหรือของผู้ปกครอง (กรณีเป็นเด็ก) เอง เนื่องจากองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้กำหนดคำแนะนำในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ผมจึงยังให้ความเห็นส่วนตัวตรงนี้ไม่ได้ครับ เดี๋ยวคนเขาจะนินทาว่ามีเอี่ยวกับบริษัทขายยา

…………………………………………….

บรรณานุกรม


■Block SL, Brown DR, Chatterjee A, Gold MA, Sings HL, Meibohm A, Dana A, Haupt RM, Barr E, Tamms GM, Zhou H, Reisinger KS. Clinical trial and post-licensure safety profile of a prophylactic human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) l1 virus-like particle vaccine. Pediatr Infect Dis J. 2010 Feb;29(2):95-101.

■Petaja T, Keranen H, Karppa T, Kawa A, Lantela S, Siitari-Mattila M, et al. Immunogenicity and safety of human papillomavirus (HPV)-16/18 AS04-adjuvanted vaccine in healthy boys aged 10-18 years. J Adolesc Health 2009;44:33-40.

■Block SL, Nolan T, Sattler C, Barr E, Giacoletti KE, Marchant CD, et al. Comparison of the immunogenicity and reactogenicity of a prophylactic quadrivalent human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) L1 virus-like particle vaccine in male and female adolescents and young adult women. Pediatrics 2006;118:2135-45.

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์